นักวิจัย มก. ลุยแหล่งน้ำธรรมชาติ เก็บตัวอย่างปลานิลมาศึกษาพันธุกรรม พบปนเปื้อนยีนปลาหมอเทศอย่างรุนแรงในแหล่งน้ำบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณสามร้อยยอด จ.ประจวบฯ หวั่นปลานิลแท้สูญพันธุ์ วอนช่วยกันอนุรักษ์และไม่เคลื่อนย้ายปลานิลข้ามถิ่น เพื่อป้องกันปลานิลพันธุ์ทางเข้ายึดพื้นที่
"ปลานิล" ปลาน้ำจืดที่มีอยู่มากในแหล่งน้ำธรรมชาติและเป็นอาหารจานเด็ดคู่บ้านของคนไทยมานานหลายสิบปี จนแทบจะปฏิเสธไม่ได้ว่าปลานิลกลายเป็นปลาสัญชาติไทยไปแล้ว แต่ปัจจุบันสถานภาพของประชากรปลานิลเริ่มน่าเป็นห่วง เพราะนับวันปลานิลแท้ๆ ที่ยังมีพันธุกรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษยิ่งลดน้อยลงทุกที ซึ่งจากรายงานการวิจัยของ น.ส.ศรีจรรยา สุขมโนมนต์ นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จากภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าปลานิลในธรรมชาติบางแห่งมีการปนเปื้อนยีนของปลาหมอเทศอย่างรุนแรง
ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการวิจัยของ น.ส.ศรีจรรยา เผยว่า ปลานิล หรือ ออรีโอโครมิส นิโลติคัส (Oreochromis niloticus) ถูกนำเข้ามาในประเทศครั้งแรกเมื่อกว่า 40 ปีก่อน โดยก่อนและหลังที่ปลานิลจะเข้ามาในไทย ก็มีการนำปลาในกลุ่มเดียวกันเข้ามาด้วย คือ ปลาหมอเทศ หรือ ออรีโอโครมิส มอสแซมบิคัส (Oreochromis mossambicus) และปลาออรีโอโครมิส ออเรียส (Oreochromis aureus) แต่อย่างหลังไม่ค่อยแพร่หลายมากเท่าไหร
"ปลาทั้ง 3 ชนิดนี้สามารถผสมพันธุ์กันได้ และลูกผสมที่เกิดมาก็ไม่เป็นหมันด้วย จึงทำให้เกิดการผสมปนเปและแพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญญานี้ก็พบมาแล้วในหลายประเทศ ขณะที่ในไทยยังไม่ค่อยได้ศึกษากัน และในแต่ละปีก็มีการบริโภคปลานิลกันมาก เฉพาะปลานิลที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติก็ไม่ต่ำกว่า 40,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลมาก" ศ.ดร.อุทัยรัตน์ เผยความสำคัญของปลานิลอันเป็นที่มาของการศึกษาพันธุกรรมปลานิลเพื่อหาทางอนุรักษ์พันธุ์ไว้ให้มีอยู่คู่แหล่งน้ำต่อไป
นักวิจัยศึกษาโดยเก็บตัวอย่างปลานิลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี, บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และ สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยตัดครีบปลาเพียงเล็กน้อยมาตรวจสอบพันธุกรรม ใช้หลักพันธุศาสตร์ประชากรร่วมกับเครื่องหมายพันธุกรรม และใช้ประชากรอ้างอิงเป็นปลาพันธุ์แท้ในกลุ่มปลานิล ได้แก่ ปลานิลพันธุ์จิตรลดา, อูกันดา, ไอวอรี่โคสต์ (Ivory Coast), กิฟต์ (GIFT), ปลาหมอเทศแท้ จากไอวอรี่โคสต์ และปลา Oreochromis aureus จากอียิปต์
"เมื่อตรวจสอบพันธุกรรมแล้วพบว่าปลานิลในประเทศไทยยังคงเกาะกลุ่มกันอยู่ โดยที่มีสายพันธุ์จิตรลดาเป็นบรรพบุรุษพันธุ์แท้สอดคล้องกับข้อมูลเดิม แต่ก็ยังพบว่าปลานิลจากแหล่งน้ำทั้ง 3 แห่ง มีพันธุกรรมแตกต่างกัน โดยพันธุกรรมของปลานิลจากบึงบอระเพ็ดมีความใกล้ชิดกับสายพันธุ์จิตรลดามากที่สุด รองลงมาเป็นปลานิลจากบางพระ และปลานิลจากสามร้อยยอดอยู่ห่างมากที่สุด" ศ.ดร.อุทัยรัตน์ เผย
เมื่อนักวิจัยศึกษาต่อก็พบหลักฐานบ่งชีว่าพันธุกรรมปลานิลในบางประชากรนั้นไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว เพราะพบมีบางยีนของปลาหมอเทศปรากฏอยู่ร่วมด้วยในปลานิลจากสามร้อยยอดมากที่สุด รองลงมาคือปลานิลจากบางพระ แต่ไม่พบในปลานิลบึงบอระเพ็ด ซึ่งยีนดังกล่าวที่พบปนเปื้อนนั้นเป็นยีนที่มีอยู่ในปลาเทศแท้จากไอวอรีโคสต์ทุกตัวที่นำมาใช้อ้างอิง แต่ไม่ปรากฏอยู่ในปลานิลจิตรลดา, อูกันดา และปลานิลอื่นๆ
ศ.ดร.อุทัยรัตน์ บอกต่อว่า ผลของการปนเปื้อนยีนของปลาหมอเทศในปลานิล จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของปลานิลลดลง สีสันกระดำกระด่าง ไม่น่ารับประทาน ที่สำคัญยังมีอัตราการรอดต่ำด้วย แต่เมื่อการปนเปื้อนเกิดขึ้นโดยธรรมชาติแล้วอาจแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่เรายังสามารถป้องกันและจำกัดการปนเปื้อนให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดได้โดยไม่นำปลานิลจากแหล่งที่ปนเปื้อนไปปล่อยในแหล่งน้ำอื่น ไม่นำไปทำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หรือนำไปปรับปรุงพันธุ์ ก็จะสามารถควบคุมไม่ให้แพร่กระจายไปได้
ส่วนปลานิลพันธุ์แท้จิตรลดาของไทยนั้นเป็นสายพันธุ์แท้ที่มีคุณภาพดีมาก และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ยังพบว่ามีความหลากหลายทางพันธุกรรมค่อนข้างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้สามารถปรับตัวให้อยู่รอดในธรรมชาติได้ และควรอนุรักษ์สายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีลักษณะดีเอาไว้ ส่วนในธรรมชาติ หากไม่จับปลามากเกินไป และรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ให้ทรุดโทรม แหล่งน้ำต่างๆ ก็น่าจะมีพันธุ์ปลานิลมากเพียงพอที่จะดำรงประชากรอยู่อย่างยั่งยืนได้
ด้านผู้บริโภคหายห่วงได้ เพราะ ศ.ดร.อุทัยรัตน์ บอกว่าปลานิลที่ขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดเป็นปลานิลเลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์จิตรลดาและกิฟต์ที่ทางราชการเผยแพร่ให้เกษตรกรไปนานแล้ว เพราะเมื่อหลายสิบยี่สิบปีก่อนจะมีปัญหาเรื่องพันธุ์ปลานิลที่ไม่น่ารับประทาน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการปนเปื้อนยีนของปลาหมอเทศนั่นเอง