อาจารย์ มก. เตรียมรับมือปัญหาละเมิดพันธุ์กล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่สอดรับกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอเครื่องหมายเข้าช่วยระบุเจ้าของ หวังปกป้องสิทธิทางปัญญาของผู้พัฒนาสายพันธุ์
ผศ.ดร.จุลภาค คุ้นวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาหาวิธีคุ้มครองพันธุ์กล้วยไม้ ใช้การตรวจสอบสายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอเครื่องหมาย เป้าหมายเพื่อช่วยเจ้าของตัวจริงเรียกร้องความเสียหาย เมื่อถูกละเมิดสิทธิทางปัญญาจากผู้ที่ฉกฉวยขโมยพันธุ์กล้วยไม้ผู้อื่นไปหาประโยชน์
"ประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเมื่อปี 2542 ซึ่งกล้วยไม้เป็นพืชชนิดแรกๆ ที่มีการขอจดทะเบียนเพื่อรับความคุ้มครอง โดยขณะนี้ได้รับการจดทะเบียนแล้ว 13 สายพันธุ์"
"ทว่าหากมีปัญหาว่าถ้ากล้วยไม้พันธุ์ใหม่ๆ ที่ได้รับความคุ้มครองแล้วถูกขโมยหรือถูกบุคคลอื่นละเมิดสิทธิ นำสายพันธุ์ดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์ โดยที่เจ้าของผู้พัฒนาสายพันธุ์ดังกล่าวไม่ได้รับประโยชน์หรือได้รับความเสียหาย ตรงนี้จะมีวิธีการอย่างไรช่วยเขาได้บ้าง?" ผศ.ดร.จุลภาคเผยที่มา
ผศ.ดร.จุลภาคเผยว่า กระบวนการขอคุ้มครองพันธุ์กล้วยไม้ที่พัฒนาขึ้นใหม่นั้น ก่อนที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพืชที่ได้รับการคุ้มครอง ทางเจ้าหน้าที่จะต้องนำกล้วยไม้ดังกล่าวไปปลูกเพื่อตรวจสอบว่ามีลักษณะคงที่หรือสเถียรหรือไม่ จะมีลักษณะที่ผิดเพี้ยนหรือสีเปลี่ยนไปจากเดิมไม่ได้
นักวิจัยกำแพงแสนแจงว่า กล้วยไม้ที่ภายนอกดูคล้ายกันมาก อาจยากที่จะระบุได้ว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเพาะเลี้ยง ซึ่งพันธุ์เดียวกันและเพาะเลี้ยงต่างสภาพแวดล้อมก็อาจให้ลักษณะที่ต่างกัน ขณะเดียวกันกล้วยไม้คนละสายพันธุ์ถูกเพาะเลี้ยงต่างสภาพแวดล้อมกันอาจมีลักษณะเหมือนกันได้ ทำให้สับสน แยกแยะได้ยาก แต่หากตรวจสอบดีเอ็นเอจะช่วยบ่งบอกได้ว่าเป็นสายพันธุ์อะไรกันแน่
การตรวจสอบสายพันธุ์ของกล้วยไม้ด้วยเทคโนโลยีเครื่องหมายดีเอ็นเอนี้สามารถระบุได้ว่ากล้วยไม้นั้นคือพันธุ์ใด พัฒนามาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สายพันธุ์ใด ซึ่งนักวิจัยจะต้องทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอของกล้วยไม้พันธุ์ที่ต้องการตรวจสอบเปรียบเทียบกับลายพิมพ์ดีเอ็นเอของกล้วยไม้ที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพื่อดูว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร พัฒนามาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ดังกล่าวตามที่ถูกระบุใช่หรือไม่
ทว่าการฟ้องร้องการละเมิดสิทธิสายพันธุ์กล้วยไม้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน แต่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตเนื่องจากเริ่มมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชบังคับใช้ ซึ่ง ผศ.ดร.จุลภาค พยายามหาแนวทางช่วยในการตรวจสอบพันธุ์กล้วยไม้เพื่อระบุเจ้าของที่แท้จริง เพราะกล้วยไม้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง ผศ.ดร.จุลภาค ยังเคยมีประสบการณ์ที่คนรู้จักได้พัฒนากล้วยไม้พันธุ์ใหม่ขึ้นมา แต่กลับถูกขโมยไปอย่างน่าเสียดาย หรือกรณีที่เจ้าของลงทุนลงแรงและใช้เวลานานกว่าจะปรับปรุงพันธุ์ได้ แล้วมีผู้อื่นซื้อหรือขโมยไปเพาะขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายเอง หรืออีกกรณีที่ซื้อพันธุ์ใหม่มาจากต่างประเทศและมาเพาะเลี้ยงขายในประเทศ ซึ่งอาจทำให้เจ้าของเดิมสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้ และการตรวจดีเอ็นเอเครื่องหมายหรือหลายพิมพ์ดีเอ็นเอของกล้วยไม้สามารถช่วยได้เมื่อมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น
ผศ.ดร.จุลภาค เผยว่าข้อดีการระบุสายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยการตรวจสอบดีเอ็นเอนี้สามารถทำได้ตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า ให้ผลแม่นยำ ใช้เวลาเพียง 1-2 วันก็รู้ผล ช่วยย่นเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการปลูกทดสอบ
ทั้งนี้ ผศ.ดร.จุลภาค สามารถทำลายพิมพ์ดีเอ็นเอของกล้วยไม้ได้แล้วประมาณ 20 สายพันธุ์ แต่นักวิจัยคาดหวังว่าจะต้องมีฐานข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็นเอของกล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ มากกว่านี้ อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 100 สายพันธุ์ หรือหากมีครบทุกสายพันธุ์ก็จะช่วยให้การตรวจสอบได้ผลดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การตรวจสอบเพื่อระบุสายพันธุ์กล้วยไม้นั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในห้องแล็บที่ได้มาตรฐาน และดำเนินการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยยังไม่มีห้องแล็บที่ทำการตรวจสอบดังกล่าว ส่วนในอนาคตจะมีหรือไม่อย่างไรนั้น นักวิจัยบอกว่าต้องขึ้นอยู่กับกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช.