xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ปล่อยผีฝรั่งแข่งไทย แก้กม.ต่างด้าวเปิดเสรี 4 ธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“พาณิชย์”เล็งเปิดเสรีอีก 4 ธุรกิจ ให้เช่า ลิสซิ่ง เช่าซื้อ และแฟคตอริ่ง ภายใต้บัญชีสงวนของกฎหมายคนต่างด้าว หวังดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น ระบุมีแผนเปิดเสรีถึง 12 ธุรกิจ พร้อมตั้งคณะทำงานศึกษาแก้ไขกฎหมายคนต่างด้าวใหม่ หลัง “บรรยิน”ไม่ยืนยันร่างเดิม คาดได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน ด้านลิสซิ่งไทยลั่นพร้อมสู้ต่างชาติหากเปิดเสรีจริง ยันข้อได้เปรียบจากวัฒนธรรมไทย เมื่อแบงก์ชาติออกใบอนุญาตให้แบงก์พาณิชย์ทำธุรกิจนี้เสมือนเปิดเสรีอยู่แล้ว

นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้เสนอการเปิดเสรีธุรกิจบริการในบัญชีแนบท้าย 3 (ธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขันกับต่างชาติ) ของพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 เพิ่มเติมอีก 4 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจให้เช่า ธุรกิจลิสซิ่ง ธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจแฟคตอริ่ง (การรับซื้อหนี้ทางการค้า) ให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการรับเรื่องไว้ และคาดว่า จะมีมติอนุมัติการเปิดเสรีได้ในการประชุมครั้งต่อไปเดือนเม.ย.นี้

“ที่ประชุมรับเรื่องไว้ก่อน แต่คาดว่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร และจะอนุมัติให้เปิดเสรีได้ในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 24 เม.ย.นี้ โดยธุรกิจลิสซิ่งจะเกี่ยวกับการให้บริการเช่าดำเนินการ และเช่าซื้อ ธุรกิจแฟคตอริ่ง เกี่ยวกับการรับซื้อหนี้ของลูกหนี้ ธุรกิจเช่าซื้อจะเกี่ยวกับการผ่อนส่ง ส่วนในการประชุมครั้งถัดไป กรมฯ จะเสนอให้พิจารณาเปิดเสรีอีกหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจรับจ้างผลิตให้กับบริษัทในเครือ เป็นต้น” นายคณิสสรกล่าว

สำหรับการเปิดเสรีธุรกิจดังกล่าว ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนต่างชาติที่จะเข้ามาลงประกอบธุรกิจในไทย เพราะเป็นธุรกิจที่คนต่างชาตินิยมขออนุญาตมากที่สุด อีกทั้ง พิจารณาแล้วเห็นว่า จะไม่กระทบต่อการดำเนินการธุรกิจของคนไทย โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการมีมติเปิดเสรีไปแล้วในหลายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจตัวแทนขาย ธุรกิจตัวแทนขายภูมิภาค ธุรกิจคู่สัญญารัฐ และที่ปรึกษาบริษัทในเครือ

ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนที่จะเปิดเสรีธุรกิจบริการ 12 ประเภทในบัญชีแนบท้าย 3 ได้แก่ ธุรกิจนายหน้าหรือตัวแทนธุรกิจค้าภายในเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลทางการเกษตรพื้นเมืองที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช ธุรกิจบริการ ทั้งธุรกิจบริการด้านคอมพิวเตอร์ ธุรกิจบริการควบคุมคลังสินค้าและขนส่งภายใน ธุรกิจบริหารจัดการให้แก่บริษัทในเครือหรือในกลุ่ม ธุรกิจโรงรับจำนำ ธุรกิจโรงเรียน และธุรกิจด้านบันเทิง (โรงมหรสพ) ซึ่งขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้วประมาณ 8 ธุรกิจ

นายคณิสสร กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 หลังจากที่พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ ไม่ยืนยันร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 ไปแล้วนั้น ล่าสุดกรมฯ ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาประเด็นต่างๆ ที่จะต้องแก้ไขแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จากนั้นจะนำเสนอต่อพ.ต.ท.บรรยิน หากผ่านความเห็นชอบก็จะตั้งคณะกรรมการยกร่างแก้ไข เมื่อเสร็จแล้วก็ทำประชาพิจารณ์ และเข้าสู่กระบวนการออกเป็นกฎหมายต่อไป

ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.บรรยิน ระบุว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ผ่านสนช.วาระ 2 ไปแล้ว ที่มีการแก้ไขนิยามคนต่างด้าวใหม่ ที่ให้เพิ่มอำนาจบริการจัดการ และสิทธิการออกเสียงนั้น ถือว่าเข้มงวดมากเกินไป และเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของคนต่างชาติ จึงจะแก้ไขใหม่เพื่อให้มีความผ่อนคลายมากขึ้น แต่ก็ไม่กระทบต่อธุรกิจของคนไทย โดยอาจจะให้คงตามนิยามเดิม ที่พิจารณาเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวที่ต้องไม่เกิน 49.99% เท่านั้น ส่วนบทลงโทษจะต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้กระทำผิดหลาบจำ ขณะบัญชีแนบท้าย 3 จะต้องระบุให้ชัดเจนว่า ธุรกิจใดจะเปิดเสรีหรือจะไม่เปิด

***ลีสซิ่งไทยท้าสู้ต่างชาติ
นายอิสระ วงศ์รุ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่ง กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หากรัฐบาลจะมีมาตรการเปิดเสรีธุรกิจเช่าซื้อประเภทต่างๆ จริงก็ถือเป็นเรื่องที่ดีของอุตสาหกรรมแต่การทำธุรกิจต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาการแข่งขันเดียวกัน ซึ่งการที่มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มากรายเท่าไรก็จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคมากขึ้นเพราะผู้บริโภคจะมีสินค้าและบริการที่หลากหลายให้เลือกตัดสินใจมากขึ้น

ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกใบอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำเนินธุรกิจลีสซิ่งได้ก็เสมือนการเปิดเสรีในธุรกิจประเภทนี้อยู่แล้ว และการที่บริษัทต่างชาติสนใจที่จะทำธุรกิจลีสซิ่งก็ไม่ใช้เรื่องแปลกแต่อย่างใด เนื่องจากในปัจจุบันนี้มีบริษัทต่างชาติเปิดให้บริการในธุรกิจเช่าซื้ออยู่แล้ว ทั้งกลุ่มซิตี้แบงก์และกลุ่มจีอีก็ได้ทำธุรกิจนี้ในประเทศไทยเช่นกัน

ทั้งนี้บริษัทสัญชาติต่างประเทศส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจลีสซิ่งในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการเท่าที่ควร บริษัทต่างประเทศที่ทำธุรกิจในประเทศไทยสำเร็จนั้นถือว่ายากพอสมควร เนื่องจากวัฒนธรรมของคนไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่นๆ การที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนการทำงานหลายด้านจึงจะประสบความสำเร็จได้แม้ว่าจะมีบริษัทแม่ที่มีเงินทุนที่มหาศาลและต้นทุนที่ถูกกว่าก็ตาม

"ธุรกิจลีสซิ่งของต่างชาติที่ดำเนินการในไทยนั้นแทบจะไม่มีรายใดประสบความสำเร็จสักราย สาเหตุสำคัญก็คือลูกค้าส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็คือคนไทย ยกตัวอย่างเช่น จีอี ที่ประสบความสำเร็จนั้นก็เพราะเขาจ้างคนไทยบริหารงานทำให้รู้วัฒนธรรมและความต้องการของคนไทย หากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาเปิดกิจการในไทยโดยใช้นโยบายการทำธุรกิจเช่นเดียวกับที่ทำในต่างประเทศก็คิกว่าคงจะไปไม่รอดกับการทำธุรกิจในประเทศไทยจะต้องปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยให้ได้" นายอิสระกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น