xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องมือทางการเมืองที่ชื่อ “โอลิมปิก” / สวรรยา ทรัพย์ทวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ "More Than a Game" โดย สวรรยา ทรัพย์ทวี

ช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมาข่าวที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิก 2008 ชิ้นหนึ่งทำให้ผู้เขียนกระตุกหัวใจอย่างแรงเมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากลประกาศตัดสิทธิประเทศอิรักในการเข้าร่วมมหกรรมกีฬาแห่งมนุษยชาติ ด้วยเหตุผลที่รัฐบาลอิรักไม่รับรองในสถานะของเอ็นโอซี อิรัก (NOC) หรือคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ

แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบเป็นอย่างยิ่งต่อชื่อเสียงของอิรักในเวทีระดับนานาชาติ แต่ที่เสียหายที่สุดเห็นจะเป็นนักกีฬาอิรักที่กำลังมุ่งมั่นฝึกซ้อมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขัน โดยทีมนักกีฬาขนาดเล็กของอิรักที่ได้สิทธิเข้าร่วมปักกิ่งเกมส์ นั้น ประกอบไปด้วยกีฬาเรือพาย, ยกน้ำหนัก, กรีฑา, ยูโด, ขว้างจักร และ ยิงธนู

ทันทีที่พวกเขาได้รับทราบข่าวร้ายความรู้สึกของนักกีฬาที่ถ่ายทอดผ่านมาทางสำนักข่าวรอยเตอร์ อย่าง อาลี อัดนาน นักกีฬายิงธนูหนึ่งเดียวที่ได้สิทธิในการเข้าร่วมปักกิ่งเกมส์ในครั้งนี้ กล่าวว่า "ผมไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องอะไรได้ เมื่อรัฐบาลอิรักต้องการแบบนี้เราทุกคนก็ต้องทำตาม แต่ความรู้สึกส่วนตัวมันยากจะเกินรับเพราะตลอดเวลาที่รู้ว่าตนเองได้สิทธิให้เข้าร่วมการแข่งขัน ผมตั้งใจซ้อมอย่างเต็มที่จนกระทั่งวันนี้พอรู้การตัดสินใจของรัฐบาลพวกเราก็คงได้แต่ทำใจ"

ข่าวต่อเนื่องล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลซึ่งต้องการให้นักกีฬาอิรักได้เข้าร่วมการแข่งขันส่งความพยายามขั้นสุดท้ายในการเชิญรัฐบาลอิรักให้เข้าร่วมถกปัญหาดังกล่าวที่สำนักงานใหญ่กรุงโลซานน์ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ พร้อมกับยืนยันว่าคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติของตนเองไม่ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎหมาย และแน่นอนว่าคำยืนยันดังกล่าวส่งผลต่อกฎข้อบังคับของไอโอซีทันที

อันที่จริงแล้วผลงานของนักกีฬาอิรักในอดีตนั้นถือได้ว่าเป็นชาติที่มีนักกีฬามากฝีมืออยู่หลายประเภทและส่งนักกีฬาเข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอแม้แต่ในช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของซัดดัม ฮุสเซนแฟนกีฬาทั่วโลกก็ยังได้เห็นนักกีฬาอิรักเดินทางไปอำลาท่านผู้นำ แต่สำหรับปักกิ่งเกมส์ในครั้งนี้โอกาสที่จะได้เห็นธงชาติอิรักในพิธีเปิดคงเป็นเรื่องที่ยากเต็มที

จากนี้เหลือเวลาอีกเพียง 9 วันการแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ซึ่งมีจุดกำเนิดจากแนวคิดของ บารอน เดอ คูเบอร์แตงส์ ที่ต้องการให้กีฬาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้เป็นการรวมตัวกันของคนหลากเชื้อชาติเพื่อให้เกิดมิตรภาพไร้พรมแดน

แต่การแข่งขันโอลิมปิกซึ่งดำเนินมาถึงครั้งที่ 29 ดูเหมือนแนวความคิดของ เดอ คูเบอร์แตงส์ เริ่มที่จะถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ขณะที่เกมการเมืองรวมไปถึงผลประโยชน์ระหว่างประเทศเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังเช่นปักกิ่งเกมส์ ในครั้งนี้ที่ช่วงเวลาก่อนหน้าการแข่งขันเต็มไปด้วยเหตุการณ์เรียกร้องให้ประเทศเจ้าภาพหันมาให้ความสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน

อันที่จริงแล้วปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานทางหากแต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มี องค์กร หรือ เอ็นจีโอหันมาให้ความสำคัญมากเท่ากับครั้งนี้ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเพราะนี่คือเวทีใหญ่และเป็นการยกระดับความสำคัญขององค์กรตนเอง

หรือแม้กระทั่งคำให้โอวาทของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ในวันที่ทัพนักกีฬาสหรัฐฯเข้าอำลายังมิวายที่จะต้องโยงการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเมื่อ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวว่ากับนักกีฬาของตนเองว่า

“พวกคุณจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นชาติของเรา ในฐานะทูตแห่งเสรีภาพ พวกคุณจะแสดงให้เห็นถึงความรักอิสระของชนชาวอเมริกัน และความเคารพในสิทธิของมนุษย์และความเท่าเทียมกัน”

ถึงวันนี้ถ้า บารอน เดอ คูร์ เบอแตงส์ ยังมีชีวิตอยู่และได้เห็นภาพที่จิตวิญญาณแห่งโอลิมปิกที่ถูกย่ำยีจนแทบจะกลายเป็นเครื่องมือของประเทศที่พยายามจะกอบโกยผลประโยชน์ ก็ไม่รู้ว่า ผู้ให้กำเนิดกีฬาแห่งมนุษยชาติ จะยังอยากให้มีการแข่งขันอยู่ต่อไปหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น