xs
xsm
sm
md
lg

การรุกด้านพลังงานของ “รัสเซีย” ทำเอา “สหรัฐฯ” ซวนเซ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Russia’s energy drive leaves US reeling
By M K Bhadrakumar
18/07/2008

ประธานาธิบดี ดมิตริ เมดเวเดฟ กำลังดำเนินนโยบายการทูตด้านพลังงานของรัสเซียโดยเจือด้วยความรู้สึกต้องการแก้เผ็ด ในฐานะอดีตหัวหน้าใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ “กาซพรอม” เขากำลังพยายามทำให้ยุทธศาสตร์การส่งออกของกิจการยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซียรายนี้ บังเกิดความสมดุลให้มากขึ้นระหว่างฟากยุโรปและฝ่ายเอเชีย-แปซิฟิก และเรื่องที่สำคัญยิ่งก็คือ เขายังทำให้กาซพรอมได้รับสิทธิที่จะดำเนินการกับผลผลิตทางด้านก๊าซ, น้ำมัน, และก๊าซธรรมชาติเหลว ทั้งหมดทั้งสิ้นของลิเบีย เมดเดเวฟยังกำลังร่วมมือกับอิหร่านในการฟื้นฟูแนวความคิดเรื่องการจัดตั้ง “องค์การประเทศผู้ผลิตก๊าซ” อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกันอย่างดุเดือดรุนแรงในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ก็ย่อมจะสั่นคลอนรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียโดยรวม

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ยักษ์ใหญ่กาซพรอมของรัสเซีย ผู้ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติเป็นปริมาณมากที่สุดของโลก ได้ประกาศแผนการที่จะสร้างท่อส่งข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อสูบก๊าซของลิเบียส่งมายังยุโรป นี่คือชัยชนะขั้นสุดท้ายแห่งยุทธศาสตร์ของวังเครมลิน ซึ่งทำให้กาซพรอมกลายเป็นผู้ดูแลจัดการผลผลิตก๊าซ, น้ำมัน, และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ทั้งหมดของลิเบีย ที่มุ่งส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐฯ

ลองมาดูคำแถลงจากกรุงมอสโกอันกะทัดรัดได้ใจความของกาซพรอมเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม “ทางฝ่ายลิเบียได้ประเมินผลอย่างเป็นบวก ต่อข้อเสนอของกาซพรอมที่จะซื้อก๊าซ, น้ำมัน, และก๊าซธรรมชาติเหลวในอนาคตทั้งหมดที่กำหนดไว้ให้ส่งออก ในระดับราคาที่สามารถแข่งขันได้”

วอชิงตันนั้นใช้ความละเอียดรอบคอบอย่างมาก กว่าจะยินยอมให้ลิเบียภายใต้พันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี “ภราดาผู้นำและผู้ชี้ทางแห่งการปฏิวัติลิเบีย” สามารถกลับคืนเข้าสู่ “ประชาคมระหว่างประเทศ” ได้อีกครั้งหนึ่ง บนพื้นฐานที่มีการทำความเข้าใจกันอย่างกระจ่างชัดเจน รัฐบุรุษฝ่ายตะวันตกตั้งแต่นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กอร์ดอน บราวน์ ไปจนถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโกลาส์ ซาร์โกซี และอดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี โรมาโน โปรดี ต่างยืนเข้าแถวขอร่วมส่วนในการปีนเข้าสู่หน้าต่างแห่งโอกาสทางธุรกิจซึ่งเปิดออกโดยคณะรัฐบาลบุช ครั้นแล้วปูตินก็ได้ไปเยือนเมืองหลวงตริโปลีของลิเบียในเดือนเมษายน ก่อนที่เขาจะอำลาตำแหน่งประธานาธิบดีไม่ถึงเดือน แล้วพันเอกในอดีตทั้งสองก็ตัดสินใจที่จะให้รัสเซียร่วมเป็นผู้ดูแลจัดการทรัพยากรพลังงานทั้งหมดของลิเบีย

นอกจากนั้นกาซพรอมยังวิ่งเต้นหาทางซื้อใบอนุญาตสำรวจขุดเจาะในประเทศไนจีเรีย รวมทั้งยื่นข้อเสนอที่จะสร้างท่อส่งจากที่นั่นไปยังแอลจีเรีย ขณะที่ในแอลจีเรีย กาซพรอมก็กำลังจัดทำข้อเสนอที่จะทำการตลาด “ร่วมกัน” สำหรับก๊าซของประเทศนั้นที่จะส่งไปยังยุโรป

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯต่างพากันโกรธกริ้วจนคลุ้มคลั่ง “กาซพรอมที่เป็นกิจการผูกขาดกำลังประพฤติตัวเหมือนกับที่พวกกิจการผูกขาดกระทำกัน กาซพรอมพยายามที่จะเข้าควบคุมตลาดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วก็จะขจัดการแข่งขันทิ้งไป มันชัดเจนเหลือเกินว่านี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น” เป็นเสียงคำรามของ แมตธิว ไบรซา รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการยูเรเชีย “วังเครมลินต้องการให้กาซพรอมกลายเป็นพลังครอบงำบงการในด้านพลังงานของทั่วโลก และเป็นพลังครอบงำบงการในด้านก๊าซของทั่วโลก การรวบรวมผูกมัดทรัพยากรก๊าซในเอเชียกลางและแอฟริกาก็คือส่วนหนึ่งของเรื่องนี้” เขากล่าวต่อ แผนการของรัสเซียก็คือทำให้กาซพรอมเข้าครอบงำบงการ “ในทั่วทุกซอกทุกมุมของพื้นพิภพนี้” เขาตั้งข้อหา

การระเบิดอารมณ์ของไบรซาเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ผลงานดีๆ ที่เขาอุตส่าห์ปูพื้นเอาไว้ เวลานี้ย่อยยับไปหมดแล้ว วอชิงตันรู้สึกโล่งใจที่ได้เห็นวาระสุดท้ายแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของปูติน ทว่าบัดนี้เป็นที่กระจ่างแจ้งว่า กาซพรอมอาจจะเพียงแค่ก้าวเดินไปตามจังหวะของเพลงโหมโรงภายใต้การชี้นำอันชาญฉลาดของเมดเวเดฟ นอกจากนั้นแล้ว ด้วยทรัพย์สินใหม่ๆ ในแอฟริกาของตน อีกไม่นานกาซพรอมก็จะเริ่มเคาะประตูเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯด้วยการเสนอขายแอลเอ็นจี พวกบริษัทยุโรปและบริษัทระหว่างประเทศที่ปรากฏตัวอยู่ในตลาดแอฟริกามาแต่ไหนแต่ไร ก็จะถูกบังคับให้ต้องเล่นบทบาทเค่ยืนอยู่เคียงข้างกาซพรอม

ทางฝ่ายวอชิงตันได้ตอบโต้เอาคืนด้วยการทำให้แน่ใจว่า เหล่าบริษัทรัสเซียจะถูกคัดออกไม่ได้ร่วมส่วนในสัญญาสัมปทานน้ำมันอันน่าจะทำกำไรงามรวมทั้งสิ้น 30 สัมปทาน ที่ทางการแบกแดดกำลังพิจารณาให้แก่บริษัทต่างชาติอยู่ เรื่องนี้ต้องถือเป็นความสูญเสียใหญ่สำหรับรัสเซีย เพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ มอสโกได้ยินยอมยกหนี้สินจำนวน 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดแล้วเท่ากับ 93% ของหนี้ที่อิรักติดค้างรัสเซียอยู่ ความเคลื่อนไหวคราวนี้ถูกตีความกันอย่างกว้างขวางว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วย ลุคออยล์ บริษัทน้ำมันรัสเซีย ให้ได้คืนสิทธิสัมปทานที่เคยได้รับมาในยุคซัดดัม ฮุสเซน ในการพัฒนาแหล่งน้ำมัน เวสต์ คูร์นา 2 อันใหญ่โตมหึมาของอิรัก ทว่าด้วยแรงกดดันของสหรัฐฯ เวลานี้รัฐบาลอิรักจึงกำลังมอบสัมปทาน เวสต์ คูร์นา 2 ให้แก่บริษัทเชฟรอนของอเมริกัน

วังเครมลินไม่ได้แสดงความโกรธกริ้วอะไรออกมาให้ปรากฏ แต่มันจะเป็นแค่ความบังเอิญหรือไม่ก็ตามที จู่ๆ อเล็กเซ มิลเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกาซพรอม ก็เดินทางไปกรุงเตหะรานในวันจันทร์(14) และเข้าพบหารือกับประธานาธิบดีมาหมุด อาหมัดดิเนจัด แห่งอิหร่าน ในการเรื่องจัดตั้งองค์การของบรรดาประเทศผู้ผลิตก๊าซ ไม่ต้องสงสัยเลย จากการที่รัสเซียมีที่ยืนอันมั่นคงในลิเบีย (ซึ่งมีก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่ประมาณ 1.47 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร) , เมื่อมีการร่วมมือกับแอลจีเรีย (ที่เวลานี้เป็นผู้ส่งก๊าซมากกว่า 10% ของที่ใช้กันอยู่ในยุโรป) , กาตาร์ (ที่มีก๊าซธรรมชาติสำรองที่พิสูจน์แน่ชัดว่าอยู่ 25.8 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร), และ อิหร่าน (ซึ่งมีก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากรัสเซีย) วันเวลาที่จะเกิด “องค์การโอเปกแห่งก๊าซ” ก็กำลังใกล้เข้ามาทุกที

ผู้นำอิหร่านผู้นี้ยังเสนอแนะต่อมิลเลอร์ว่า ควรทำข้อตกลงเรื่องส่วนแบ่งตลาดกัน เพื่อที่รัสเซียกับอิหร่านจะสามารถ “ร่วมกันสนองอุปสงค์ความต้องการใช้ก๊าซของยุโรป, อินเดีย, และจีน” ระหว่างการเยือนคราวนี้ ได้มีการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซของอิหร่านโดยเหล่าบริษัทรัสเซีย, ข้อตกลงว่าด้วยการเข้าร่วมของรัสเซียในการขนส่งน้ำมันดิบของอิหร่านจากทะเลสาบแคสเปียนไปยังทะเลโอมาน, ข้อตกลงร่วมมือกันในการพัฒนาแหล่งน้ำมัน นอร์ธ อาซาเดกัน อันเหลือเชื่อของอิหร่าน, และยังมีการหารือเกี่ยวกับความป็นไปได้ที่กาซพรอมจะเข้าร่วมในโครงการสร้างท่อส่งก๊าซสายอิหร่าน-ปากีสถาน-อินเดีย มีหลักฐานชัดเจนว่า มอสโกพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วที่จะเดินหน้าทำความร่วมมือด้านพลังงานกับอิหร่าน โดยที่มีการตีข่าวป่าวร้องกันไปทั่วโลกอย่างเอิกเกริก ชนิดไม่กลัวเกรงว่าจะทำให้สหรัฐฯไม่พอใจ และเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่เตหะรานชื่นชอบมาก

สำหรับความคิดเห็นของทางสหรัฐฯนั้น สะท้อนให้เห็นจากคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯคนหนึ่งที่บอกว่า “ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ในอิหร่านของรัสเซียเป็นการยืนยันให้เห็นอย่างอ้อมๆ ว่า เป็นเรื่องไร้ประโยชน์ที่จะไปวาดหวังว่ามอสโกจะร่วมมือกับวอชิงตันในการใช้มาตรการคว่ำบาตรอันมีผลจริงจังต่ออิหร่าน ในขณะที่พวกบริษัทยุโรปตะวันตกกำลังถอยออกมาจากอิหร่าน หรือกำลังระงับข้อตกลงต่างๆ ด้วยความหวั่นกลัวมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ (ซึ่งมุ่งลงโทษการลงทุนใดๆ ก็ตามในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซของอิหร่าน ที่มีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านดอลลาร์ต่อปี) แต่กาซพรอมกลับกำลังขยายรากฐานซึ่งตนเองมีอยู่แล้ว”

เราสามารถที่จะนึกภาพได้ว่า อันตรายที่อาจจะต้องสูญเสียพรมแดนด้านพลังงานแห่งสุดท้ายไปให้แก่รัสเซีย (และจีน) อาจจะเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้วอชิงตันต้องปรับเปลี่ยนนโยบายในเรื่องการเจรจาหารือกับอิหร่าน วอชิงตันเรียกการยูเทิร์นคราวนี้ว่า เป็นการส่ง “สัญญาณอันแรงกล้าต่อรัฐบาลอิหร่านว่า สหรัฐฯมีความมุ่งมั่นผูกพันที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการทูต” ทว่าตามรายงานของนิวยอร์กไทมส์ รัฐมนตรีต่างประเทศไรซ์ตัดสินใจในเรื่องนี้ ก็เพื่อที่จะ “ทดสอบอิหร่านว่ามีเจตนารมณ์หรือไม่ที่จะพิจารณาแพกเกจมาตรการจูงใจซึ่งนานาชาติเสนอมา ด้วยความมุ่งหมายที่จะโน้มน้าวให้อิหร่านยอมอ่อนข้อในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของตน” สิ่งที่เรายังไม่ทราบก็คือ คณะรัฐบาลบุชเข้าไปใกล้แค่ไหนกับการเกี่ยวข้องพัวพันกับภาคพลังงานของอิหร่าน ซึ่งก็เป็นส่วนประกอบหนึ่งในสิ่งที่เรียกกันว่า “แพกเกจมาตรการจูงใจซึ่งนานาชาติเสนอมา” ด้วย (ต้องไม่ลืมว่า ฮัลลิเบอร์ตัน ซึ่งรองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ เคยนั่งเป็นประธานมาก่อนนั้น เคยมีบทบาทแข็งขันมากในอิหร่าน)

มาถึงเวลานี้ย่อมต้องเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแก่คณะรัฐบาลบุชแล้วว่า ประธานาธิบดีที่ดูหนุ่มแน่น และเคยเป็นนักกฎหมายในยุคหลังการปกครองคอมมิวนิสต์ ซึ่งรับทอดตำแหน่งต่อมาจากปูตินผู้นี้ มิได้ยอมเสียเวลาเลยในการเจาะรูบ่อนทำลายยุทธศาสตร์ทั้งหมดของสหรัฐฯ ที่พยายามโยกคลอนฐานะของกาซพรอมในการเป็นผู้กุมชะตาการส่งก๊าซให้แก่ยุโรป การที่จะเกิดความรู้สึกโมโหเดือดดาลนั้นย่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจกันได้ ทว่าวอชิงตันมีแต่จะต้องโทษตัวเองเท่านั้นแหละ อาชีพความเป็นซาร์ทางด้านพลังงานของเมดเวเดฟ เป็นเสมือนหนังสือที่เปิดแบหราอยู่แล้วเฉกเช่นเดียวกับของเชนีย์ –หรือกระทั่งของไรซ์ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เขาก็เป็นผู้กุมบังเหียนกาซพรอม เวลานี้เขาควบคุมกาซพรอมจากวังเครมลิน

แทบไม่มีใครสังเกตเห็นว่า ตอนที่เขากล่าวอำลาอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการบริษัทของกาซพรอมในพิธีที่จัดขึ้น ณ กรุงมอสโก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมนั้น เมดเวเดฟแสดงความภาคภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการชี้ให้เห็นว่าในระหว่าง 8 ปีแห่งการบริหารของเขานั้น มูลค่าตามราคาตลาดหลักทรัพย์ของกาซพรอมได้พุ่งโด่งทะลุฟ้าถึง 46 เท่าตัว และเวลานี้ราวหนึ่งในห้าของงบประมาณแผ่นดินของรัสเซียได้มาจากกิจกรรมต่างๆ ของกาซพรอม เขาสรุปว่า “ผมต้องการที่จะกล่าวไว้ในคราวที่ผมออกมาพูดนี้ ว่าเรายังจะมีโอกาสได้พบกันอีก และหารือถึงสิ่งต่างๆ ในลักษณะของการประชุมทำงานร่วมกัน ดังนั้น ไม่มีอะไรที่มาถึงจุดจบหรอก มันเพียงแต่กำลังเริ่มต้นต่างหาก”

มองโดยภาพรวมแล้ว กระแสเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาตามสถานที่ต่างๆ ที่ห่างไกลกัน ตั้งแต่ ปราก, ฮอกไกโด, ทบิลิซีล, ฮาราเร, เตหะราน, และอาร์กติก ล้วนแต่ตอกย้ำให้เห็นว่า ภายหลังหยุดพักกันไปช่วงสั้นๆ ความเป็นปรปักษ์กันในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานก็ได้กลับฟื้นคืนขึ้นมาอีกแล้ว ด้วยความดุเดือดรุนแรงที่สามารถสั่นคลอนสมดุลแห่งความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียโดยรวมได้ทีเดียว สถานการณ์น่าที่จะรุนแรงขึ้นอีกในระยะต่อไปจากนี้ ภูมิรัฐศาสตร์แห่งความมั่นคงด้านพลังงานนั้นเป็นหัวข้ออันอ่อนไหวอย่างสูงสำหรับคณะรัฐบาลบุช โดยที่ความเชื่อมโยงอันลึกซึ้งที่คณะรัฐบาลนี้มีอยู่กับพวกบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ “บิ๊กออยล์” ก็มีอยู่มากมายเหลือคณา มันย่อมเป็นความเสียหน้าอย่างมหาศาลสำหรับบุช-เชนีย์-ไรซ์รวมกัน เมื่อมอสโกกำลังเฉือนคมสหรัฐฯได้ในแนวรบด้านพลังงาน

มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่คณะรัฐบาลบุชจะต้องรีบเร่งเครื่องในแนวรบด้านต่างๆ ในทางภูมิรัฐศาสตร์ของดินแดนยูเรเชีย และสร้างความเป็นศัตรูกันระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียอย่างชนิดสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อส่งมอบต่อให้แก่วุฒิสมาชิก บารัค โอบามา ถ้าหากเขาได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป ความรีบร้อนเบื้องหลังข้อตกลงปรากว่าด้วยระบบป้องกันขีปนาวุธ ส่อวี่แววของความคิดลักษณะดังกล่าว แทบจะเป็นเรื่องแน่นอนเลยว่า ไรซ์จะต้องกดดันให้มีการตัดสินใจในเรื่องแผนปฏิบัติการสำหรับการรับจอร์เจียและยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศขององค์การนี้ในเดือนธันวาคม

คำถามที่ว่า “ใครคือนายใหญ่ในรัสเซีย?” ดูเหมือนจะไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไปแล้ว

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี

  • การรุกด้านพลังงานของ“รัสเซีย”ทำเอา“สหรัฐฯ”ซวนเซ (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น