xs
xsm
sm
md
lg

การรุกด้านพลังงานของ “รัสเซีย” ทำเอา “สหรัฐฯ” ซวนเซ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Russia’s energy drive leaves US reeling
By M K Bhadrakumar
18/07/2008

ประธานาธิบดี ดมิตริ เมดเวเดฟ กำลังดำเนินนโยบายการทูตด้านพลังงานของรัสเซียโดยเจือด้วยความรู้สึกต้องการแก้เผ็ด ในฐานะอดีตหัวหน้าใหญ่ของรัฐวิสาหกิจ “กาซพรอม” เขากำลังพยายามทำให้ยุทธศาสตร์การส่งออกของกิจการยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัสเซียรายนี้ บังเกิดความสมดุลให้มากขึ้นระหว่างฟากยุโรปและฝ่ายเอเชีย-แปซิฟิก และเรื่องที่สำคัญยิ่งก็คือ เขายังทำให้กาซพรอมได้รับสิทธิที่จะดำเนินการกับผลผลิตทางด้านก๊าซ, น้ำมัน, และก๊าซธรรมชาติเหลว ทั้งหมดทั้งสิ้นของลิเบีย เมดเดเวฟยังกำลังร่วมมือกับอิหร่านในการฟื้นฟูแนวความคิดเรื่องการจัดตั้ง “องค์การประเทศผู้ผลิตก๊าซ” อย่างไรก็ตาม การแข่งขันกันอย่างดุเดือดรุนแรงในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน ก็ย่อมจะสั่นคลอนรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียโดยรวม

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

สัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดี ดมิตริ เมดเดเวฟ แห่งรัสเซีย ได้ถอดถุงมือโยนออกมาเป็นการรับท้าดวลจนได้ในที่สุด มันเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ไม่ช้าก็เร็วอยู่แล้ว ทว่าแทบไม่มีใครคาดหมายเลยว่ามันจะเร็วถึงขนาดนี้ เป็นที่ชัดเจนใสกระจ่างว่า ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ เดินแผนดำเนินการให้มีการดูหมิ่นดูแคลนในเชิงการทูตต่อเมดเวเดฟ ระหว่างที่พวกเขาเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำกลุ่ม 8 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี8) ณ เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

บุชออกมากล่าวชมเมดเดเวฟด้วยท่าทีแบบผู้ใหญ่กระทำต่อเด็ก ว่าเป็น “คนฉลาดเฉียบคม” ไม่นานนักหลังจากพวกเขาพบหารือกันที่ฮอกไกโดในวันที่ 9 กรกฎาคม ทว่านั่นเป็นเวลาหลังจากที่แน่ใจแล้วว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลิซซา ไรซ์ ได้เดินทางไปถึงกรุงปรากและลงนามเมื่อหนึ่งวันก่อนหน้านั้น ในข้อตกลงที่จะสร้างระบบเรดาร์สหรัฐฯขึ้นในสาธารณรัฐเช็ก โดยจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันขีปนาวุธที่ครอบคลุมภูมิภาคยุโรปกลางของอเมริกา

ถ้าหากภารกิจหลักของเมดเวเดฟในฮอกไกโด คือการย้ำยืนยันบทบาทที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของรัสเซียบนเวทีโลก ในฐานะหนึ่งในมหาอำนาจที่ฝ่ายตะวันตกจะต้องขับเคี่ยวด้วยแล้ว บุชก็ปฏิบัติเหมือนดังหนึ่งว่าเขาไม่แยแสสนใจเลย สหรัฐฯยังทำเมินเสียเฉยๆ ต่อข้อเสนอของเมดเวเดฟในที่ประชุม จี8 ที่ให้สร้างระบบความมั่นคงที่ครอบคลุมทั่วทั้งยุโรปอันรวมถึงรัสเซียด้วย เมดเวเดฟได้แสดง “ความผิดหวัง” ของเขาเมื่อทราบเรื่องข้อตกลงที่ปราก และราวกับจะยิ่งเน้นย้ำการดูหมิ่นดูแคลนให้ถนัดถนี่ขึ้นไปอีก ไรซ์ยังเดินทางต่อจากปรากไปเยือนบัลแกเรีย ประเทศซึ่งสหรัฐฯเพิ่งไปตั้งฐานทัพทหารได้เป็นครั้งแรก แล้วก็ต่อไปที่จอร์เจีย เพื่อเจรจาหารือเรื่องแผนการของประเทศนั้นที่จะขอเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้)

ระหว่างที่อยู่ในกรุงทบิลิซี เมืองหลวงของจอร์เจีย ไรซ์เรียกร้องให้มีการดำเนินการไกล่เกลี่ยโดยนานาชาติ เพื่อยุติความขัดแย้งที่กำลังแผ่ลามอยู่ใน เซาท์ ออสเซเชีย และ อับคาเซีย อันเป็น 2 แคว้นของจอร์เจียที่ประกาศแยกตัวออกจากรัฐบาลกลาง และก็กำลังเป็นจุดสร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นทุกที ด้วยการที่จอร์เจียกล่าวหารัสเซียว่ากำลังพยายามผนวกดินแดน 2 แคว้นดังกล่าว

เหมือนกับต้องการทำให้เรื่องราวยิ่งลามปามกันต่อไปอีก สหรัฐฯยังได้เริ่มการซ้อมรบทางทหารร่วมกับจอร์เจีย โดยใช้ชื่อรหัสว่า “การตอบโต้อย่างฉับพลันปี 2008” ในพื้นที่ใกล้ๆ กรุงทบิลิซี ซึ่งจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมนี้ การซ้อมรบคราวนี้ ซึ่งสนับสนุนทางการเงินโดยเพนตากอน และวางแผนโดยกองบัญชาการทหารเขตตะวันออกของสหรัฐฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะเป็นการเตือนรัสเซียว่า จอร์เจียคือโครงการในความดูแลของอเมริกา และวอชิงตันจะไม่ลังเลที่จะแสดงความสนับสนุนอย่างหนักแน่นบางประการ เพื่อพิทักษ์ “การปฏิวัติสีกุหลาบ” ของประเทศนี้

เมื่อมองกันจากภาพภายนอกแล้ว การแสดงความยโสขนาดนี้ช่างไม่สมเหตุสมผลและไม่จำเป็นเลย เนื่องจากตามเหตุตามผลทุกประการ ฝ่ายตะวันตกไม่ควรที่จะทำให้เมดเวเดฟรู้สึกอับอายขายหน้า ฝ่ายตะวันตกกำลังโฆษณาชวนเชื่อในช่วงไม่กี่เดือนหลังมานี้อยู่แท้ๆ ว่าประธานาธิบดีรัสเซียผู้หนุ่มแน่นผู้นี้ มีศักยภาพที่จะกลายเป็นผู้วางนโยบายในวังเคมลินที่มีความคิดเป็นอิสระ และเป็นผู้ที่ฝ่ายตะวันตกสามารถที่จะทำธุรกิจด้วยได้ ไม่เหมือนกับคนที่นั่งเก้าอี้ตัวนี้ก่อนหน้าเขา ซึ่งก็คือ วลาดิมีร์ ปูติน

เมธีวิจัยของศูนย์กลางคาร์เนกีแห่งมอสโก ดมิตรี เตรนิน สะท้อนความคิดเห็นเช่นนี้ของสหรัฐฯ ในข้อเขียนของเขาเมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่า ฝ่ายตะวันตกสังเกตเห็น “ความมีสติปัญญาฉับไวของเมดเวเดฟ, ท่วงทำนองอันสุขุมในการดำเนินการสนทนาของเขา, และความปรารถนาอันชัดเจนของเขาที่จะแสดงให้เห็นว่า เขาคือผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงในการดำเนินการทูตแบบรัสเซีย ... มีพื้นฐานอันหนักแน่นมากมายนักที่พึงคาดหมายว่า ดมิตริ เมดเวเดฟ ... จะรวมศูนย์อำนาจมาไว้ในมือของเขาเองอย่างช้าๆ ทว่ามั่นคงสม่ำเสมอ”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นบนเวทีตะวันออก-ตะวันตกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เอาเข้าจริงแล้วก็คือหนึ่งในบรรดาการแสดงละครใบ้ ที่ทั้งฝ่ายตะวันตกและฝ่ายรัสเซียต่างก็สันทัดช่ำชองพอๆ กันในการเล่น แต่สหรัฐฯดูเหมือนจะมีข้อสรุปแล้วว่า การยกยอปอปั้นทั้งหลายของฝ่ายตะวันตกต่อตัวเมดเวเดฟนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้เข้าไปในหัวของประธานาธิบดีรัสเซียคนใหม่เลย และตัวเขาเพียงแต่กำลังสาธิตให้เห็นทักษะความชำนาญของเขาเองในเรื่องการเล่นละคร แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรนักหรอกในรัสเซีย ผลสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักชี้ว่า ปูตินซึ่งเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังคงถูกมองจากชาวรัสเซียว่าเป็น “ผู้นำสูงสุด” ของพวกเขา ด้วยเรตติ้งความนิยมท่วมท้นเกินกว่า 70% โดยที่เมดเวเดฟได้มาเพียง 47% และความจริงอาจจะอยู่ตรงไหนสักแห่งใกล้ๆ กับสิ่งที่นักวิจารณ์ของมอสโกผู้หนึ่งบรรยายเอาไว้เมื่อเร็วๆ นี้ นั่นก็คือ เมดเวเดฟคือนักบินผู้ช่วยในห้องนักบินซึ่งปูตินยังคงเป็นกัปตันตัวจริง

นอกจากนั้น เมดเวเดฟทราบดีว่า ถึงแม้เขาปรารถนาที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้รัสเซียเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบคนยุโรป และก็เป็นสมาชิกในสโมสร จี8 อย่างเต็มภาคภูมิตามที่ฝ่ายตะวันตกเคยต้องการให้เขาทำตัวเช่นนี้ เขาก็จะต้องค้นพบว่าตัวเองทำไม่ได้หรอก เพราะไม่ได้สอดคล้องอะไรกับเงื่อนไขของประเทศของเขาเองเลย ทั้งนี้ตามผลการสำรวจความคิดเห็นโดยเครือข่ายโทรทัศน์รัสเซียรายหนึ่ง ที่เพิ่งเผยแพร่ในสัปดาห์ที่แล้ว ปรากฏว่า ผู้ที่ชาวรัสเซียมองเห็นเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนรัสเซียให้เข้าสู่ยุคใหม่แห่งสมัยปัจจุบันนี้ มิใช่ใครอื่นเลย หากเป็น โจเซฟ สตาลิน โดยที่สตาลินได้คะแนนชนิดทิ้งห่างไม่ว่าเมื่อเทียบกับ “วลาดิมีร์” ผู้มีสีสันเจิดจ้าทั้งสอง -นั่นคือ นักร้อง วลาดิมีร์ วีซอตสกี และนักปฏิวัติ วลาดิมีร์ เลนิน- หรือเมื่อเปรียบกับเหล่าวีรบุรุษรัสเซียตลอดกาลคนอื่นๆ อย่างเช่น พระเจ้าอีวาน เดอะ เทอร์ริเบิล หรือ กวีเอก อเล็กซานเดอร์ พุชกิน

อันที่จริงแล้ว เมื่อเมดเวเดฟลงนามในยุทธศาสตร์นโยบายการต่างประเทศฉบับใหม่ของรัสเซียเมื่อวันเสาร์(12)ที่แล้ว มันก็เป็นที่กระจ่างแจ้งว่า เป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีได้รับการจัดวางให้อยู่ในที่นั่งคนขับในการปฏิบัติมาตรการทางนโยบายการต่างประเทศ -ที่แต่ไหนแต่ไรมาเคยเป็นอภิสิทธิ์ของประธานาธิบดี- อีกทั้งยังเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า วังเครมลินจะดำเนินตามแนวทางที่วางไว้โดยปูตินในช่วงเวลา 8 ปีแห่งการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา ความคาดหมายอันคลุมเครือและเข้าใจยากที่ว่า นโยบายการต่างประเทศของเมดเวเดฟอาจจะมี “การเปลี่ยนไปในทางเสรี” กันในบางระดับ ก็ได้รับการพิสูจน์ว่าไม่มีมูลความจริงเลย

ทว่ามอสโกนั้นไม่ได้แสดงว่ายินยอมต่อการดูถูกดูหมิ่นของสหรัฐฯอย่างชนิดไม่ติดใจเอาเรื่อง ในการกล่าวปราศรัยต่อบรรดาทูตานุทูตของรัสเซียในกรุงมอสโกเมื่อวันอังคาร(15) เมดเวเดฟเน้นย้ำอย่างไม่กำกวมถึงความมุ่งมั่นของเขาที่จะดำเนินตามเส้นทางนโยบายการต่างประเทศของปูติน รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯในเรื่องการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ, การที่ฝ่ายตะวันตกไม่ยอมให้สัตยาบันสนธิสัญญาว่าด้วยกำลังอาวุธแบบไม่ใช่นิวเคลียร์ในยุโรปฉบับปรับปรุงแก้ไขใหม่, การประกาศเอกราชของโคโซโว ฯลฯ เขากล่าวว่า “เรายืนยันอย่างหนักแน่นว่า การนำเอาส่วนประกอบของระบบป้องกันขีปนาวุธระดับโลกมาติดตั้งประจำการในยุโรปตะวันออก มีแต่จะทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลง ... เราจะถูกบังคับให้ต้องทำการตอบโต้อย่างสาสมกัน...

“เรื่องนี้เชื่อมโยงกับข้อตกลงต่างๆ ระหว่างรัสเซียกับอเมริกาที่ว่าด้วยเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ เป็นที่ชัดเจนว่า มรดกอันได้รับตกทอดมาร่วมกันนี้จะไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ ถ้าหากฝ่ายหนึ่งในข้อตกลงได้รับอนุญาตให้เลือกทำลายองค์ประกอบหนึ่งๆ ในระบบเชิงยุทธศาสตร์นี้ เราไม่สามารถที่จะเห็นพ้องกับเรื่องนี้ได้”

ตามความคิดเห็นของ อเล็กซานเดอร์ ราห์ร ชาวเยอรมันที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องรัสเซียที่มีชื่อเสียงมาก การที่รัสเซียออกเสียงคัดค้าน(ซึ่งหมายถึงการใช้อำนาจยับยั้ง)ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ในร่างมติว่าด้วยซิมบับเว ก็คืออีกหนึ่งการตอบโต้ต่อการเคลื่อนไหวเรื่องระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ “การคัดค้านของจีนเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าใจเนื่องจากจีนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมายในซิมบับเว แต่รัสเซียนั้นไม่มีเลย การใช้อำนาจยับยั้งของรัสเซียคือการตอบโต้ต่อโล่ป้องกันขีปนาวุธ, ต่ออับคาเซีย, และต่อสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย ... รัสเซียกำลังพยายามแสดงให้เห็นว่า อเมริกาไม่สามารถที่จะตัดสินบงการทุกสิ่งทุกอย่างได้” ราห์รบอก

การใช้อำนาจยับยั้งของรัสเซียก่อให้เกิดการอธิบายเหตุผลอย่างใหม่จากฝ่ายอเมริกัน นั่นคือว่า เมดเวเดฟไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจสั่งการในวังเครมลิน และอาจจะถูกลงโทษสั่งสอนในเรื่องซิมบับเวนี้ ทว่ามอสโกบอกปัดการบ่งชี้เช่นนี้ กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง เรียกร่างมติว่าด้วยซิมบับเว ว่าเป็น “การสร้างแบบอย่างที่มีอันตราย ... ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและมีอันตราย ซึ่งจะนำไปสู่การไร้ความสมดุลของระบบยูเอ็นทั่วทั้งระบบ” คำแถลงยังกล่าวประณามแบบสั่งสอนวอชิงตันและลอนดอน โดยบอกว่า “รัสเซียพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า สถานการณ์ในซิมบับเวไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยยังไม่ต้องพูดถึงในระดับระหว่างประเทศ และจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ใช้มาตรการลงโทษต่อประเทศนั้น”

ครั้นมาถึงวันจันทร์(14)นี้ มอสโกก็ประกาศว่ารัสเซียกำลังจะทำการลาดตระเวนในบริเวณน่านน้ำอาร์กติกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เลิกราไปภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 เรื่องนี้เท่ากับว่า เมดเวเดฟกำลังส่งสัญญาณว่าเขายังคงเดินไปตามเส้นทางที่เริ่มต้นขึ้นมาโดยปูติน ในการขยายขอบเขตการลาดตระเวนทางทหารของรัสเซีย

ทำไมจังหวะในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซีย จึงมีการขยับให้เร็วระทึกขึ้นอย่างฉับพลันกันถึงขนาดนี้? คำตอบอาจจะพบได้ในอีกระนาบหนึ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง นั่นก็คือ เมื่ออธิบายกันในระนาบของความมั่นคงทางด้านพลังงาน

สิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้นอาจจะพูดได้ว่า มาจากการที่เมดเวเดฟกำลังดำเนินนโยบายการทูตด้านพลังงานอย่างแข็งขันจริงจังยิ่งกว่าปูติน ไม่นานนักหลังจากรับมอบตำแหน่งในวังเครมลินเมื่อเดือนพฤษภาคม เมดเวเดฟได้ออกคำสั่งให้ก่อสร้างงานช่วงแรกของท่อส่งน้ำมันสายไซบีเรียตะวันออก-แปซิฟิก (Eastern Siberia-Pacific Oil Pipeline หรือ ESPO) ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วภายในสิ้นปี 2009 ท่อส่งน้ำมันสาย ESPO มีบทบาทสำคัญมากในความพยายามของมอสโกที่จะทำให้ยุทธศาสตร์การส่งออกน้ำมันของตนมีความสมดุล ระหว่างการส่งออกให้แก่ฟากยุโรปและให้แก่ฝ่ายเอเชีย-แปซิฟิก มอสโกหวังที่จะบรรลุเป้าหมายในการส่งออกน้ำมันสู่เอเชีย-แปซิฟิกให้ได้เป็นสัดส่วนเท่ากับหนึ่งในสามของการส่งออกน้ำมันทั้งหมดของตนภายในปี 2020 จากที่อยู่ในระดับเพียงแค่ 3% ในปัจจุบัน

ตอนต้นเดือนกรกฎาคม เมดเวเดฟรับหน้าที่ออกตระเวนเยี่ยมเยียนทางการทูตในภูมิภาคริมทะเลสาบแคสเปียน ซึ่งครอบคลุมทั้ง อาเซอร์ไบจัน, เติร์กเมนิสถาน, และ คาซัคสถาน ในเมือหลวงบากูของอาเซอร์ไบจัน เขายื่นข้อเสนออันน่าตะลึงพรึงเพริดว่า รัสเซียพร้อมที่จะซื้อผลผลิตก๊าซทั้งหมดของอาร์เซอร์ไบจันในราคาตลาด ส่วนที่กรุงอาชคาบัต เขาทำให้เติร์กเมนิสถานยืนยันคำมั่นสัญญาที่จะทำการปรับปรุงท่อส่งสายเอเชียกลาง-ศูนย์กลาง (Central Asia-Center Pipeline) ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนทำการก่อสร้างท่อส่งสายเลียบริมทะเลสาบแคสเปียนสายใหม่

เมดเวเดฟประสบความสำเร็จเหนือคู่แข่งขันทางยุโรปและสหรัฐฯในการต่อสู้ช่วงชิงก๊าซของเติร์กเมนิสถาน เขายังทำให้เกิดความมั่นใจได้มากขึ้นว่า น้ำมันและก๊าซจากเติร์กเมนิสถาน และ คาซัคสถาน จะไม่ถูกขนส่งข้ามเลยรัสเซียไป ทว่าสิ่งที่ทำให้คณะรัฐบาลบุชรู้สึกโกรธกริ้วเดือดดาลจริงๆ กลับเป็นการที่กาซพรอมรุกเข้าไปอย่างน่าตื่นใจในทวีปแอฟริกา

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาได้รับมอบหมายให้ไปประจำอยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)

  • การรุกด้านพลังงานของ“รัสเซีย”ทำเอา“สหรัฐฯ”ซวนเซ (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น