xs
xsm
sm
md
lg

เจาะสนาม “โอลิมปิก 2008” / ธีรพัฒน์ อัครเศรณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนีห่าว หนีห่าว” สาวๆ เมืองจีนน่ารักทั้งน้านเลยคร้าบ !

ผมโชคดีได้มีโอกาสกลับมาเยือนประเทศจีนอีกครั้ง ตามคำเชิญของสื่อที่นี่อย่าง “People’s Daily” นอกจากจะได้มาทบทวนความหลังเปรียบเทียบมหานครปักกิ่งวันนี้กับเมื่อ 15 ปีก่อน ยังได้โอกาสมาลุยเลาะเจาะสนามที่จะใช้ในกีฬาโอลิมปิก 2008 ก่อนที่การแข่งขันจะระเบิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าด้วย

สังเวียนแข่งที่ทางจีนได้ตระเตรียมไว้นั้นมีอยู่หลายแห่งและกระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ตั้งแต่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน เฉิ่นหยาง ชิงเต่า ฮ่องกง และฉิงหวงเต่า ทั้งหมดรวมแล้ว 30 สนาม ใช้งบประมาณก่อสร้างไปทั้งสิ้นถึง 13,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 75,000 ล้านบาท แต่ที่น่าสนใจที่สุดวันนี้จะหยิบยกเพียงแค่ 3 สเตเดี้ยม ที่เด่นทั้งเรื่องของขนาดและความสวยงามด้านสถาปัตยกรรมมาให้ท่านผู้อ่านได้สัมผัสกันครับ

1. บุกรังนกแท้

“Bird’s Nest” National Stadium ไม่ต้องเดาว่าทำไมถึงชื่อนี้เพราะรูปร่างดูแล้วเหมือนรังนกเปี๊ยบเลย ทีมงานได้สร้างตามคอนเซปต์กรีนโอลิมปิกของการแข่งขันครั้งนี้ โดยความจุผู้ชมปกติแล้วรองรับได้ 8 หมื่นคน แต่สำหรับปักกิ่งเกมส์เจ้าภาพได้ยัดที่นั่งชั่วคราวเข้าไปเพิ่มอีก 11,000 ที่ เริ่มสร้างตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมปี 2003 แล้วเสร็จมีนาคม 2008 ลงทุนไปทั้งหมด 4 พันล้านหยวน หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาทไทยเท่านั้นเอง!

Bird’s Nest นั้นเด่นด้วยขนาดอันโอฬารด้วยพื้นที่ทั้งหมดถึง 258,000 ตารางเมตรและสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่งซึ่งเลียนแบบธรรมชาติของรังนกเราๆดีๆนี่เอง สื่อถึงความวิริยะ อุตสาหะ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของคนจีน

ทราบข้อมูลว่าเรื่องของการออกแบบนั้นต้องใช้การประสานงานกันหลายฝ่ายทีเดียว มีทั้งบริษัท Herzog & de Meuron และ ArupSport รวมทั้ง Ai Weiwei ศิลปินจีนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้วย เพื่อให้งานอ่อนช้อยและสื่อถึงวัฒนธรรมตะวันออก

โดยสนามกีฬาแห่งชาติแห่งนี้จะถูกใช้ในงานสำคัญที่สุดในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้นั่นคือพิธีเปิดและปิดการแข่งขัน รวมทั้งเป็นเมนสเตเดี้ยมในการจัดงานสำคัญครั้งนี้ด้วย

ผมมีโอกาสได้ไปยืนชื่นชม สัมผัสความใหญ่โตของสนามแห่งนี้ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่เคียงข้าง “วอเตอร์คิวบ์” เหมือนพี่เหมือนน้อง ใช้เวลาปลีกวิเวกแอ็คอาร์ทถ่ายรูปเสียยกใหญ่ มาทราบความจริงภายหลังว่า ระหว่างการก่อสร้างนั้นมีคนงานเสียชีวิตเฝ้าสนามแห่งนี้อยู่กว่าสิบศพแล้วได้แต่เสียวหลังวาบ...บรื้ออออ!!!

2. “วอเทอร์คิวบ์” ด้วยแรงแห่งสำนึกรักบ้านเกิด

“The Water Cube” National Aquatics Centre Beijing ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติ ( National Aquatics Centre ) มูลค่าประมาณ 6,250 ล้านบาทแห่งนี้ เริ่มโครงการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2003 แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2007 เป็นศูนย์กีฬาทางน้ำที่มีฉายาว่า “Water Cube” หรือก้อนน้ำ

สำหรับวอเทอร์คิวบ์แห่งนี้นั้นโดดเด่นมากเรื่องของสถาปัตยกรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติเช่นเดียวกับสนามกีฬาเด่นแห่งอื่นๆ ของจีน ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งนี้ถือว่าดึงดูดความสนใจมาตั้งแต่เริ่มต้นก่อสร้าง เพราะรูปทรงอันแปลกประหลาดของมัน โดยผู้ที่ออกแบบได้แก่ PTW บริษัทในเครือของ ArupSport นั่นเอง

โดยรูปทรงของวอเทอร์คิวบ์จะคล้ายกับก้อนน้ำเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนผนังทั้ง 4 ด้านและหลังคาซึ่งทุกคนเห็นเป็นตารางคล้ายรังผึ้งนั้นที่จริงแล้ว เขาบอกว่าเป็นโครงสร้างที่จำลองมาจากลักษณะของ “ฟองสบู่” ซึ่งต้องลงทุนไปทดสอบและออกแบบกันถึงประเทศออสเตรเลียกันเลยทีเดียว แหม!! สุดท้ายแล้ว น่าอิจฉานักกีฬาว่ายน้ำที่จะได้แข่งขันในสนามที่สวยเหลือเกิน

ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติแห่งนี่มีขนาด 80,000 ตารางเมตร จุผู้ชมได้ 10,000 คนระหว่างโอลิมปิก โดยหลังจากนั้นจะลดเหลือเพียง 7 พันที่นั่ง ใช้แข่งกีฬา ว่ายน้ำ กระโดดน้ำ โปโลน้ำ ยิมนาสติกลีลาทางน้ำ หลังการแข่งขันโอลิมปิก ที่นี่จะกลายเป็นศูนย์กีฬาที่สงวนให้เฉพาะผู้เป็นสมาชิกเท่านั้น (ต่างจากสนามอื่นๆที่จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้งาน)

สุดท้ายแล้วความสวยงามของ “วอเทอร์คิวบ์” อาจจะต้องยอมแพ้ให้กับคุณค่าทางจิตใจ เนื่องจากเงินลงทุนทุกเม็ดที่สร้างสนามแห่งนี้รัฐบาลจีนไม่ต้องลงทุนสักหยวน เพราะนี่คือเงินบริจาคที่ได้จากคนจีนโพ้นทะเลที่ประสบความสำเร็จร่ำรวย สามารถเดินทางไปสร้างรกรากและเจริญเติบโตยังประเทศต่างๆทั่วโลก แต่ถึงที่สุดแล้วด้วยสำนึกรักบ้านเกิด พวกเขาร่วมใจกันระดมทุนบริจาคเพื่อสร้างสนามแห่งนี้ให้แก่ประเทศชาติอันเป็นที่รัก

3. เมื่อหยดน้ำกลายเป็นสนามกีฬา

"เทียนจิน โอลิมปิก เซนเตอร์ สเตเดี้ยม" สนามกีฬาแห่งนี้ตั้งอยู่ในด้านตะวันตกเฉียงใต้ของ เทียนจิน (ที่คนไทยชอบเรียกว่าเทียนสินนั่นแหล่ะครับ) เมืองท่าและนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขนาดยักษ์ของจีน ซึ่งมีประชากรราว 10 ล้านคน เป็นเมืองที่สวยงามและได้รับการยกย่องว่าเปรียบประดุจเพชรแห่งอ่าวโบไห่ "Diamond of the Bohai Gulf"

พื้นที่ภายในนั้นมีลักษณะเป็นคอมเพล็กซ์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกที่ใช้ทำการแข่งขันนั่นคือสนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ ศูนย์แลกเปลี่ยนด้านกีฬา และยิมเนเซียม สองคือส่วนที่พัก และสุดท้ายคือส่วนทั่วๆไป ซึ่งมีสถานที่รองรับความต้องการด้านอื่นๆของผู้คน เช่น ศูนย์ประชุม ร้านขายของ ศูนย์แสดงสินค้า และที่ออกกำลังกายสำหรับประชาชน

ในส่วนของสนามฟุตบอลนั้นกินพื้นที่ 78,000 ตารางเมตรครับ โดยมีเก้าอี้นั่งที่สามารถจุคนดูได้ทั้งหมด 6 หมื่นคน (ใกล้เคียงกับสนามราชมังคลากีฬาสถานบ้านเรา) รวมทั้งเพรสส์ บ็อกซ์ สำหรับนักข่าวประมาณ 300 ราย

ปรัชญาในการออกแบบนั้นเขาเล่นกับน้ำครับ โดยบอกว่าตัวสเตเดี้ยมนั้นถูกออกแบบนั้นเหมือนกับหยดน้ำที่หล่นมาจากฟากฟ้า (เอ้า! พยายามมองให้เหมือนกันหน่อย)

สเตเดี้ยมนี้เคยจัดงานใหญ่มาแล้ว นั่นคือฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2007 ส่วนโอลิมปิกเที่ยวนี้ ที่นี่คือสังเวียนฟาดแข้งของเกมลูกหนังในรอบต้นๆ นอกจากยังจะเป็นสนามเหย้าของทีมชาติจีน ในการลงเตะฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือกอีกด้วย

บริษัท AXS SAWTO Inc ของญี่ปุ่นเป็นผู้ออกแบบ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 2003 แล้วเสร็จเมื่อมิถุนายนปี 2007 ออกแบบตามคอนเซปต์ของโอลิมปิกทั้ง “Green Olympic”, “High Tech Olympics” และ “People Olympics” ใช้งบไปทั้งหมดถึง 880 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 26,400 ล้านบาท

หวังใจว่าเมื่อถึงเวลาที่โอลิมปิก 2008 ครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 2008 นี้ นอกจากคุณๆ จะได้เพลิดเพลินกับการแข่งขันกีฬาหลากหลายชนิดแล้ว คงไม่ลืมดื่มด่ำไปกับความอลังการและการออกแบบที่สุดพิเศษของสนามกีฬาเหล่านี้ด้วย

เรื่องจากนิตยสาร "มาร์ส" ฉบับล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2551 โดย ธีรพัฒน์ อัครเศรณี





กำลังโหลดความคิดเห็น