xs
xsm
sm
md
lg

เยี่ยมยลนครปักกิ่งก่อนเปิดม่านโอลิมปิก ตอนที่ 2 “รังนก” “ลูกบาศก์น้ำ” สองขุนพลใหญ่รับศึกแข่งขันโอลิมปิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สนามกีฬาแห่งชาติ รังนก ผงาดอลังการ ทั้งขนาดและแบบสุดเฉี่ยว พร้อมเป็นทัพหน้านำทัพในศึกแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปักกิ่ง เดือนสิงหาคมนี้ ภาพถ่ายขณะจีนกำลังเร่งเก็บงานขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 พ.ค.
โดย สุรัตน์ ปรีชาธรรม

ผู้เขียนได้จับรถไฟฟ้าใต้ดินสาย ๒ จากสถานี “จีสุยถัน” ที่อยู่ใกล้เขตเมืองเก่าใจกลางกรุงปักกิ่ง ไปเปลี่ยนรถไฟใต้ดินสาย ๕ ซึ่งเป็นสายใหม่ ที่จะส่งผู้โดยสารไปถึงสถานี “ฮุ่ยซินซีเป่ยโค่ว” (Huixinxibeikou) ที่ใกล้บริเวณ สนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ “รังนก” และศูนย์กีฬาทางน้ำ "ลูกบาศก์น้ำ"

เพียงประมาณ ๑๐ นาที ผู้เขียนก็มาถึงสถานีรถไฟใต้ดินฮุ่ยซินซีเป่ยโค่ว สิ่งแรกที่เห็นเมื่อรถไฟเข้าเทียบสถานีคือผนังลายมือเขียนอักษรจีน ดูคลาสิก ซึ่งเป็นการตกแต่งดูโดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของสถานีรถไฟใต้ดินสายใหม่ของนครปักกิ่ง

จากนั้น ก็นั่งรถเมล์ไปอีก เพียงราว ๓ -๔ ป้ายรถเมล์ ในเวลาราว ๑๕ นาที ก็มาถึงป้ายรถเมล์ “เป่ยเฉิงเฉียวซี” (Beichengqiaoxi) หน้าบริเวณสวนโอลิมปิก กรีน(Olympic Green) ที่ตั้งของสนามกีฬารังนก และศูนย์กีฬาทางน้ำ “ลูกบาศก์น้ำ” เรียกได้ว่าการเดินทางโดยรถไฟใต้ดินมายังสนามกีฬารังนกนั้น ประหยัดด้วยค่าโดยสารเพียง 2 หยวน และค่ารถเมล์อีก 2 หยวน(ถ้าไม่หลงทาง) สะดวก และรวดเร็วมากทีเดียว แต่ก็ต้องเตรียมใจผจญคลื่นมหาชนทั้งชาวจีนและต่างชาติที่จะล้นหลามระหว่างโอลิมปิก เกมส์ อย่างไรก็ตาม ก็ดูจะเป็นเส้นทางเดินทางที่ดีกว่าการโดยสารแท็กซี่ ซึ่งค่าโดยสารย่อมแพงกว่าแน่นอน แถมตาร้ายอาจเจอการจราจรติดเป็นอัมพาต

บนสะพานลอยตรงป้ายรถเมล์เป่ยเฉิงเฉียวซี มีชาวจีน และต่างชาติจำนวนหนึ่ง มุงถ่ายภาพ สนามกีฬาสุดอลังการแห่งใหม่ เมื่อผู้เขียนเดินขึ้นไปสมทบ ก็พบว่ามันเป็นชัยภูมิที่ดีในการถ่ายภาพ "รังนก" และ"ลูกบาศก์น้ำ" สนามกีฬาทั้งสองหลังนี้ นอกจากได้ขึ้นทำเนียบสิ่งก่อสร้างใหม่มหัศจรรย์ ยังเป็นขุนพลใหญ่แห่งสนามศึกแข่งขันกีฬาโลกและชูธงโอลิมปิกเขียว

สนามกีฬาแห่งชาติ “รังนก” จะเป็นสนามกีฬาหลักของมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก อันได้แก่ การแข่งขันกรีฑา การแข่งขันฟุตบอล และจะเป็นสถานที่ทำพิธีเปิดและปิดโอลิมปิก เกมส์ ๒๐๐๘

“รังนก” นี้ เป็นผลงานออกแบบร่วมระหว่างบรรษัท Herzog and De Meuron Architekten AG แห่งสวิสเซอร์แลนด์ ผู้ชนะรางวัลสถาปนิกโลก Pritzker Prize และ China Architecture Design Institute เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อปี ๒๐๐๔ และขณะที่ผู้เขียนไปแวะชมในปลายเดือนพฤษภาคม คนงานกำลังเร่งเก็บงานในขั้นสุดท้าย

เพื่อบรรลุ “โอลิมปิกเขียว” ที่เจ้าภาพปักกิ่งได้ชูธงเป็นหลักการใหญ่ในการจัดมหกรรมแข่งขันกีฬาโลกครั้งนี้ สถาปนิกจึงได้วางแบบให้โครงสร้างของสนามกีฬา สามารถระบายอากาศในตัวมันเอง ตัวอาคารจึงไม่มีเปลือกผนังปิดทึบ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีที่กำบังให้แก่ทั้งผู้ชม และนักกีฬาเช่นเดียวกัน จนอาจกล่าวได้ว่า “รังนก” เป็นสนามกีฬาที่เป็น “มิตรกับสิ่งแวดล้อม” ที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน

ผู้ออกแบบได้คำตอบสำหรับโจทย์การออกแบบ โดยมองไปที่ธรรมชาติ จากนั้น ก็ได้วาดแบบโครงสร้างชั้นนอกสุด เป็นเส้นสายกิ่งไม้งิกงอที่ถักทอเป็นรังนก และเปิดพื้นที่โล่งระหว่างโซนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเทตามธรรมชาติ

จุดเด่นที่สุดของการออกแบบอาคารสนามกีฬาแห่งนี้ อยู่ที่ผนังด้านนอก ซึ่งออกแบบโดยใช้เหล็กดิบสีเทาเสมือนกิ่งไม้ถักทอประสานเหมือนรังนก และใช้วัสดุโปร่งใสเคลือบเส้นเหล็กดิบนั้น ซึ่งช่วยขับแสงภายในให้สว่างและอ่อนโยน

อย่างไรก็ตาม ก็มีกระแสวิจารณ์ว่า แบบสนามกีฬารังนก ล้ำหน้าและล้ำสมัยเกินไป แหวกแนวคิดตามประเพณี แต่ผู้เชี่ยวชาญวงในก็ได้ยืนยันว่า โครงการดังกล่าวไม่อาจสำเร็จลุล่วงออกมาได้ หากปราศจากความเข้าใจปรัชญาโบราณของจีน และแนวคิดจีนเกี่ยวกับจังหวะเวลาที่ดี ความสอดคล้องกับภูมิประเทศ และเอกภาพในสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์

นักออกแบบ De Meauron อรรถธิบายถึงการออกแบบของสนามกีฬารังนกนี้ว่า ประการแรก มันเป็นตึกอาคารร่วมสมัยของจีน, ประการที่สอง มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับวัฒนธรรมจีน, และประการที่สาม มีความเชื่อถือได้ในการใช้เทคโนโลยี สถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ ๒๐ นั้น มุ่งเน้นเทคโนโลยี และในศตวรรษใหม่ มันก็สะท้อนวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งโอลิมปิก เกมส์ สนามกีฬาแห่งนี้ ออกแบบมาเพื่อประชาชน และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ “อ่อนโยน” ยังเป็นการแสดงความนับถือแด่นักกีฬาในสนามฯด้วย

อ้าย เว่ยเว่ยศิลปินชาวปักกิ่ง ที่ปรึกษาการออกแบบสนามกีฬารังนก บอกว่า “เราไม่ได้ออกแบบมา เพื่อให้มันเป็นจีน มันเป็นเป้าหมายร่วมของโลก”

ด้านความใหญ่โตโอฬารนั้น มิต้องพูดถึง “รังนก” แห่งนครปักกิ่งนี้ สามารถจัดวางที่นั่งสำหรับผู้ชมได้ถึง ๙๑,๐๐๐ ที่นั่ง โดยในจำนวนนี้ ได้รวมส่วนที่เป็นเก้าอี้เสริม ๑๑,๐๐๐ ที่นั่ง หลังการแข่งขัน สนามกีฬารังนก จะมีที่นั่งมาตรฐาน ๘๐,๐๐๐ ที่นั่ง

อาณาบริเวณของสนามกีฬารังนกครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ๒๕๘,๐๐๐ ตร.ม. โดยมีพื้นที่ใช้สอย ๒๐๔,๐๐๐ ตร.ม. นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ห้องใต้ดิน ๑๑,๐๐๐ ตร.ม. ซึ่งใช้ผนังห้องที่ทำจากวัสดุกั้นน้ำ ตัวอาคาร มีความสูงโดยเฉลี่ย เท่ากับ ๖๘.๕ ม. ความกว้างจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตก เท่ากับ ๒๙๗ ม. และความยาวจากทิศใต้ถึงทิศเหนือ เท่ากับ ๓๓๓ ม. เหล็กทั้งหมดที่ใช้ในการประกอบโครงสร้าง มีน้ำหนัก ๔๒,๐๐๐๐ ตัน สำหรับสนนราคาการก่อสร้าง สนามกีฬารังนก ๓,๕๐๐ ล้านหยวน หรือ ๔๒๓ ล้านเหรียญ

รังนกได้ทุบสถิติโลก ๓ ด้านในแวดวงสนามกีฬาด้วยกัน ได้แก่ มีขนาดใหญ่มโหฬารที่สุด ใช้เหล็กมากที่สุด เป็นงานก่อสร้างที่ยากที่สุด นอกจากนี้ ยังติดอันดับ “ ๑๐ สิ่งก่อสร้างใหม่ของโลก ที่สร้างความมหัศจรรย์ใจ” ของ “ข่าวสารสิ่งก่อสร้าง” ประจำปี ๒๐๐๖ แห่งอังกฤษ

สำหรับศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งชาติ  “ลูกบาศก์น้ำ” ตั้งอยู่ในบริเวณสวนโอลิมปิก กรีน เคียงข้าง “รังนก” จะเป็นสนามแข่งขันกีฬาทางน้ำ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาว่ายน้ำ การแข่งขันดำน้ำ กระโดดน้ำ โปโลน้ำ ระบำใต้น้ำ หลังเสร็จสิ้นโอลิมปิก เกมส์ ลูกบาศก์ ก็จะกลายเป็นสวนสันทนาการทางน้ำสำหรับประชาชนทั่วไป

อาคารลูกบาศก์น้ำ ที่มีแบบพื้นผิวรูปฟองสบู่เกาะทั่วอาคาร เริ่มก่อสร้างในเดือนมกราคม ๒๐๐๓ เป็นผลงานออกแบบร่วมของคอนซอร์เทียม ระหว่าง PTW Architects (ออสเตรเลีย),China Construction Design International (CCDI ) and Ove Arup (ออสเตรเลีย) ซึ่งพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบจากฟองสบู่

อาคารยังได้สะท้อนความเชื่อปรัชญาโบราณของจีน ที่เชื่อว่า “ฟ้าเป็นวงกลม แผ่นดินเป็นสี่เหลี่ยม” นอกจากนี้ ในวัฒนธรรมจีน ยังถือน้ำเป็นองค์ประกอบธรรมชาติที่สำคัญ ช่วยสร้างความสงบแก่บรรยากาศ และบันดาลความสุข

แบบของอาคาร “ลูกบาศก์น้ำ” ยังสอดคล้องกับแนวคิดโอลิมปิกเขียว โดยผนังภายนอกของอาคารลูกบาศก์ ประกอบจากเยื่อหุ้มอัดลมพลาสติกโปร่งใสที่จะขับรัศมีสีฟ้าใสในตอนกลางคืน เยื่อหุ้มอัดลมนี้ ทำจากเทฟลอนชนิด ETFE ซึ่งมีน้ำหนักเบามาก แต่มีความแข็งแกร่งคงทนเกินกว่าที่จะจินตนาการ ถึงกับสามารถนำรถยนต์ ๑ คัน วางลงไปโดยที่พื้นผิวไม่ยุบตัวเสียหายเลย นอกจากนี้ ยังรับประกัน แสงธรรมชาติเข้าไปได้ถึงร้อยละ ๙๐

เทฟลอน ETFE นี้ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมสีเขียว โดยใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูหนาว และในฤดูร้อนจะสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์ออกมา ซึ่งจะช่วยให้อุณหภูมิภายในตัวอาคารเย็นสบาย

การออกแบบ ยังรองรับระบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับอุ่นสระว่ายน้ำ ซึ่งติดตั้งระบบหมุนเวียนน้ำ เพื่อนำน้ำกลับมาใช้อีก

ETFE ยังมีลักษณะพิเศษ โดยสามารถทำความสะอาดโดยตัวเอง เนื่องจากคุณสมบัติที่ไม่เปียกน้ำ สิ่งสกปรกอย่างพวกฝุ่นละอองที่จับเกาะพื้นผิว จะถูกล้างออกไปเมื่อฝนตกลงมา เป็นการทำความสะอาดโดยธรรมชาติ ไม่ต้องใช้แรงงานคนหรือเทคโนโลยี

ลูกบาศก์น้ำ ตั้งอยู่บนพื้นที่ ๕๐,๐๐๐ ตร.ม. มีที่นั่งสำหรับผู้ชมการแข่งขัน ๑๗,๐๐๐ ที่นั่ง สนนราคาการก่อสร้าง ๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ

การก่อสร้าง “ลูกบาศก์น้ำ” นี้ ยังได้รับเงินทุนสำหรับก่อสร้างจากการบริจาคของเพื่อนร่วมชาติชาวจีนในฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ตลอดจนชาวจีนโพ้นทะเล ในวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๐๐๗ ยอดบริจาคดังกล่าว สูงถึง ๘๔๐ ล้านหยวน และเพื่อขอบคุณน้ำใจของเพื่อนร่วมชาติเหล่านี้ เทศบาลนครปักกิ่ง จึงได้สร้างกำแพงหลังหนึ่งสำหรับสลักรายชื่อของบุคคลเหล่านี้ ในบริเวณ “ลูกบาศก์น้ำ” โดยชื่อของผู้บริจาคมากกว่า ๑๐๐ เหรียญสหรัฐขึ้นไป จะได้รับการสลักประทับอยู่บนกำแพงรายชื่อตลอดกาลนาน

เยี่ยมยลนครปักกิ่งก่อนเปิดม่านโอลิมปิก ตอนที่ 1: เทอร์มินอล 3 “ป้ายประกาศยุคจีนโฉมใหม่” หน้าประตูบ้านพญามังกร

ลูกบาศก์น้ำ  อีกหนึ่งขุนพลใหญ่แห่งสนามศึกแข่งขันกีฬาโลก  เคียงข้าง รังนก
อาคารลูกบาศก์น้ำ ออกแบบพื้นผิวเป็นรูปฟองสบู่ ทำจากเยื่อหุ้มอัดลม ETFE  ช่วยสรรค์สร้างโอลิมปิกเขียวของปักกิ่ง
ในแต่ละวันจะมีชาวจีนแห่แหนมาถ่ายภาพคู่กับสนามกีฬา รังนก และศูนย์กีฬาทางน้ำ ลูกบาศก์น้ำ  ที่ได้ขึ้นทำเนียบเป็นสิ่งก่อใหม่ที่มหัศจรรย์ของจีน
สาวจีนถ่ายภาพคู่สิ่งก่อสร้างมหหัศจรรย์แห่งจีนโฉมใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น