โดย สุรัตน์ ปรีชาธรรม
ณ วันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ผู้นำเหมา เจ๋อตง ได้ประกาศก้อง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินว่า “ณ บัดนี้ จีนลุกขึ้นยืนได้แล้ว” และ ณ วันนี้ ก็มีสารที่ดูเหมือนจะประกาศก้องว่า “ บัดนี้ จีนยืนผงาด “ใหญ่ และทรงพลัง” เหนือสากลโลกแล้ว” ทว่า สารนี้ มิได้เปล่งดังจากปากผู้นำสูงสุดจีนท่านใด มันได้สะท้อนจากสิ่งที่จีนได้สร้างขึ้น จากสุดยอดสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์ใหม่ของจีน นับ 10 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นเสาหลักรับโอลิมปิก เกมส์ในปักกิ่งอย่าง สนามกีฬาแห่งชาติใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกตามแบบว่า “รังนก”, ศูนย์กีฬาทางน้ำ ซึ่งมีชื่อเรียกตามแบบว่า “ลูกบาศก์น้ำ”, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกตามแบบว่า “ไข่ยักษ์”
นี่คือ สิ่งที่ผู้เขียนได้ครุ่นคิดในใจหลังจากได้เยี่ยมยลนครปักกิ่ง ช่วงสองเดือนก่อนวันเปิดม่านโอลิมปิก เกมส์ ผู้เขียนเดินย่ำตระรอนๆไปท่ามกลางม่านฝุ่นดิน หมอกมลพิษ กองขยะซากตึกอาคารเก่าที่ถูกรื้อถอนทิ้ง กองดิน กองทรายเกลื่อนตามทางเท้าริมถนนทั่วนครปักกิ่ง สิ่งก่อสร้างใหม่มากมายที่กำลังก่อรูป และทั้งที่แล้วเสร็จสดๆร้อนๆ ผงาดขึ้นมา ได้เห็นอากัปกิริยาการพลิกเปลี่ยนครั้งสำคัญของนครปักกิ่ง ซึ่งเป็นหัวใจของการพลิกโฉมใหม่ของจีน
จีนได้ตระเตรียมการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าเมืองใหม่เพื่องานมหกรรมการแข่งขันกีฬาโลกโอลิมปิกในเดือนสิงหาคมนี้ ผุดโครงการใหญ่นับร้อย และเหล่ามหาโครงการ 10 แห่ง ที่ยักษ์ใหญ่นิตยสารบิสซิเนสวีคของอเมริกัน ขึ้นทำเนียบเป็น “สิ่งก่อสร้างใหม่มหัศจรรย์ของจีน” โดยมีสนามกีฬาแห่งชาติใหม่ “รังนก”, ศูนย์กีฬาทางน้ำ“ลูกบาศก์น้ำ”, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติใหม่ “ไข่ยักษ์”รวมอยู่ด้วย ทว่า สารัตถะที่ลึกลงไปนั้น ก็คือวันเปิดม่านโอลิมปิก เกมส์ ปักกิ่ง มิผิดอะไรกับวันมหาฤกษ์ ที่จีนจะประกาศอำนาจศักดาแห่งจีนใหม่นี้
ในอีกแง่มุมอื่นๆ โครงการเหล่านี้ ได้สูบแหล่งเหล็กโลกมหาศาล แต่มันก็ได้กลายเป็นสวรรค์ของสถาปนิกมือหนึ่งของโลกจากตะวันตก และพวกเขาก็ได้พบว่าจีนเป็นสนามประลองวิทยายุทธการออกแบบที่เยี่ยมจริงๆ โดยไม่เพียงด้วยพื้นที่ในจินตนาการ ยังอุดมด้วยทุนทรัพย์สำหรับงานสถาปนิกทันสมัย ที่ ณ วันนี้ ยากที่จะหาใครสามารถทุ่มเทให้ได้ถึงปานนี้ กระนั้น ก็ตามฝ่ายจีนก็คุยว่า ผลงานตึกซีซีทีวีรูปตัว “Z” ของ Remment Koolhaasแห่งเนเธอร์แลนด์, “รังนก” ของ Herzog and de Meuron แห่งสวิสเซอร์แลนด์, “ไข่ยักษ์” ของ Paul Andrewจากฝรั่งเศส, “ลูกบาศก์น้ำ” ของ PTW Architectsจากออสเตรเลีย เทียบได้เพียงเศษเสี้ยวเล็กๆของทักษะฝีมือของกลุ่มสถาปนิกชื่อดังของจีน
เทอร์มินอล3 โฉมใหม่สนามบินนานาชาตินครหลวงปักกิ่ง อลังการเทียบชั้นสากลด้วยบุคลิกจีน
เสียงประกาศ ห้ามถ่ายภาพ ขณะที่เครื่องบินกำลังลดระดับลงสู่สนามบินนานาชาตินครหลวงปักกิ่ง ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นหนึ่งในมาตรการความปลอดภัยระหว่างที่จีนกำลังเปิดม่านโอลิมปิกในสองเดือนข้างหน้า ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2008 ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่อาจบันทึกภาพเทอร์มินอล3 ซึ่งได้พลิกโฉมใหม่ให้แก่สนามบินนานาชาตินครหลวงปักกิ่ง แต่ก็ได้โอากาส ที่ตอนขากลับเมืองไทย ผู้เขียนมาถึงสนามบินก่อนเวลาเที่ยวบิน 4 ชั่วโมง และก็พบว่า สามารถถ่ายภาพภายในตัวอาคารได้อย่างอิสระ
จีนทุ่มทุนมหาศาล 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ สร้างเทอร์มินอล 3 หรือ T3 เพื่อยกระดับปรับปรุงศักยภาพการรับรองแขกบ้านแขกเมืองจากทั่วโลก และสร้างหน้าตารูปลักษณ์ ที่ทันสมัยเทียบชั้นสากล ขณะที่ยังคงแฝงด้วยบุคลิกจีน สนามบินรูปโฉมใหม่นี้ มิผิดอะไรกับป้ายประกาศจีนโฉมใหม่ ที่ติดไว้หน้าประตูบ้าน
เทอร์มินอล3 มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ถึง 986,000 ตารางเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับพื้นที่สนามฟุตบอล 170 สนามรวมกัน ประกอบด้วยเทอร์มินอล 3 C เป็นอาคารผู้โดยสารหลักที่ผู้โดยสารเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศเข้ามาเช็คอิน, เทอร์มินอลD และเทอร์มินอลE เป็นอาคารเทียบเครื่องบิน โดยมีพื้นที่บนพื้นดิน 5ชั้น และใต้ดิน 2 ชั้น เทอร์มินอล3 ได้ขยายศักยภาพสนามบินนานาชาตินครหลวงปักกิ่ง ให้สามารถรองรับผู้โดยสาร ได้มากถึง 43 ล้านคน/ปี ในเบื้องต้น นอกจากนี้ปักกิ่งยังมีแผนจะขยับขยายสนามบินให้สามารถรับผู้โดยสารมากขึ้น เป็น 55 ล้านคน/ปีใน2015 ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะผลักดันให้สนามบินนานาชาติของปักกิ่ง ขึ้นทำเนียบ 10 สนามบินที่ใหญ่สุดในโลก
สำหรับผู้ออกแบบเทอร์มินอล3สุดอลังการแห่งนี้ เป็นฝีมือของ Foster & Partners ซึ่งวางหลักการออกแบบโดยคำนึงถึงประสบการณ์ผู้เดินทางเป็นหลัก ให้ผู้โดยสารเดินเท้าน้อยที่สุด
มองจากจุดที่เครื่องบินลงจอด ไปยังตัวอาคารที่จะเดินเข้าไป ก็จะเห็นอาคารกระจกทอดตัวยาว หลังคาออกแบบดูเหมือนกับครีบปลาสีแดงๆเรียงไล่ประชิดกันเป็นแถวโผล่ขึ้นมา ผู้เขียนเดินเข้ามาในอาคาร ก็ได้สัมผัสบรรยากาศใหม่ ความใหม่เอี่ยมอ่องของเทอร์มินอล3 ซึ่งเพิ่งสร้างแล้วเสร็จชนิดกลิ่นสีใหม่ยังไม่ทันจางหาย และเพิ่งเปิดใช้งานจริงในวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมานี้เอง
สีแดง ดูจะเป็นสิ่งแรกที่สะดุดตาอาคันตุกะที่มาเยือนปักกิ่งทันทีที่โผล่พ้นจากตัวเครื่องบิน เสาสีแดงต้นยักษ์ตระหง่านเรียงรายทั่วอาคาร ซึ่งสีแดงนี้ นอกจากเป็นสีประจำชาติมังกรแล้ว ตามความเชื่อประเพณีจีนนั้น ยังหมายถึงโชคดี เป็นการอวยพรให้ผู้มาเยือนโชคดีนั่นเอง
เพดานอาคารเทอร์มินอล3 นั้น ออกแบบเป็นลายทางสีขาว พื้นสีส้มซึ่งเป็นสีที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นกลมกลืนกับสีแดง โดยอาคารแต่ละหลังของเทอร์มินอลใหม่แห่งนี้ เล่นโทนจากเหลือง ส้ม และแดง เจาะหน้าต่างนับสิบบนหลังคาสีส้มๆ ที่มองจากภายนอกเหมือนครีบปลาเรียงไล่ประชิดกันเป็นแถวโผล่ขึ้นมา เพื่อให้แสงตะวันส่องเข้ามาแลดูสว่างเรืองรอง และข้างช่องหน้าต่างหลังคานั้น ติดตั้งไฟสำหรับเปิดเล่นแสงให้แลดูสว่างเรืองในยามราตรี
องค์ประกอบความเชื่อประเพณีโบราณจีน ได้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบ ไม่ว่าเป็นสิ่งของสัญญลักษณ์จากพระราชวังต้องห้ามอย่าง “เหมินไห่” (门海) โอ่งยักษ์ทองแดงที่ใช้ใส่น้ำสำหรับดับเพลิงและเป็นสิ่งมงคลในพระราชวังต้องห้าม, จื่อ เวย เฉินเหิง(紫微晨恒) รูปทรงกลมสัญลักษณ์แทนฟ้าหรือจักรวาลในความเชื่อจีน แสดงการเคลื่อนไหวของดวงดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ เป็นเครื่องมือกำหนดยามในหนึ่งวันหรือนาฬิกาน้ำของจีน และลวดลายแกะสลักรูปมังกรเลียนแบบจาก จิ่วหลงปี้ (九龙壁) อันลือชื่อของกรุงปักกิ่ง เป็นต้น
กระทั่งผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ผู้เขียนก็เดินตามผู้โดยสารคนอื่นๆไปตามป้ายชี้ทางไปรับกระเป๋าสัมภาระ เดินเรื่อยมาสักพักใหญ่ ก็มาถึงชานชาลาขึ้นรถราง โดดขึ้นรถรางตามผู้โดยสารคนอื่นๆไปอย่างอัตโนมัติ รถแล่นออกไปนานจนผู้เขียนเกิดความไม่มั่นใจว่าจะหลงทางหรือเปล่า จึงหันไปถามฝรั่งข้างๆ ก็ได้คำตอบว่ารถรางจะพาไปยังอาคารที่รับกระเป๋าสัมภาระ มาถึงแท่นสายพานลำเลียงกระเป๋า ผู้เขียนรอกระเป๋านานถึงพักใหญ่ๆ กระเป๋าจึงถูกส่งมาตามแท่นสายพาน
ต่อมา จึงได้รู้ว่าอาคารที่จะไปรับกระเป๋าสัมภาระนั้นคือ อาคาร T3C ซึ่งห่าง 2 กิโลเมตร จากอาคารT3E ซึ่งเป็นอาคารเทียบเครื่องบินและด่านตรวจคนเข้าเมือง
ระบบการขนส่งกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารนี้ เป็นไฮท์ไลท์อย่างหนึ่งของระบบเครื่องอำนวยความสะดวกภายในเทอร์มินอล3 ซึ่งใช้เงินลงทุนไปกับระบบนี้ ถึง 240ล้านเหรียญสหรัฐ ติดตั้งกล้องมากกว่า 200ชุด เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวภายในบริเวณขนส่งกระเป๋า ระบบฯดังกล่าวสามารถขนส่งกระเป๋า 19,200 ชิ้นต่อชั่วโมง ผู้ออกแบบระบบคำนวณไว้ว่า ผู้โดยสารจะได้รับกระเป๋าภายในเวลา4.5 นาที หลังจากที่เจ้าหน้าที่ขนกระเป๋าลงจากเครื่องบิน
หลังจากได้รับกระเป๋า ผู้เขียนก็ออกมา ตามป้ายบอกทิศทาง จนถึงทางออกจากอาคาร มองไปที่ป้ายผนังอาคารตรงทางลง ซึ่งระบุช่องทางไปยังจุดขึ้นแท็กซี่ จุดขึ้นซัตเตอร์บัส และเป้าหมายอื่นๆ
บริเวณหน้าอาคารที่เป็นจุดเรียกแท็กซี่นี้ มีเจ้าหน้าที่หลายคนคอยดูแลคิว ให้ผู้โดยสารเรียกแท็กซี่ ขึ้นรถอย่างเป็นระเบียบเข้าสู่นครหลวงปักกิ่ง...
ตรงบริเวณหน้าอาคารเทอร์มินอล3 นี้ เป็นศูนย์การคมนาคมที่จีนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ มีพื้นที่ปฏิบัติการและให้บริการถึง 300,000 ตร.ม. และบริเวณหน้าอาคารนี้ ยังมีพื้นที่กว้างพอสำหรับจอดรถได้อีกราว 7,000 คัน หากลานจอดรถใต้ดิน 2 ชั้น เต็ม
ภายในบริเวณศูนย์คมนาคมนี้ ยังมีสถานีรถไฟขนาดเล็ก ผู้โดยสารที่สัมภาระไม่หนักหนาสาหัส สามารถนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินจากใจกลางกรุงปักกิ่งที่สถานีตงจื๋อเหมิน (Dongzhimen) เดินทางมาถึงสถานีหน้าเทอร์มินอล3 ภายในเวลาประมาณ 18นาที โดยไม่ต้องนั่งลุ้นเวลาท่ามกลางการจราจรติดขัดบนท้องถนน
ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับความใหญ่โตโอฬารและแบบอาคารเทอร์มินอล3 ของผู้เขียน สะดุดหยุดลง เมื่อรู้สึกว่านั่งอยู่บนเครื่องบินนานเลยกำหนดเวลาเที่ยวบินบินขึ้นไปมาก อีกทั้งเสียงบ่นไม่หยุดของชาวจีนที่นั่งข้างหน้า ซึ่งโวยลั่นว่า “สนามบินใหญ่ยักษ์ขนาดนี้ ทำไม เครื่องบินต้องต่อแถวยาวรอบินขึ้นนานอย่างนี้”
ผู้เขียนซึ่งได้ที่นั่งริมหน้าต่าง หันไปดูขณะเครื่องบินเลี้ยวสู่อีกทิศ ก็เห็นเครื่องบิน 4-5 ลำ บนทางวิ่งหรือรันเวย์ คลานต้วมเตี้ยมๆตามกันไป กว่าจะบินขึ้นได้ก็ล่าช้าไปกว่าชั่วโมง เพื่อนที่เพิ่งกลับจากปักกิ่งก่อนหน้าไม่กี่วัน ก็ได้เล่าว่าเที่ยวบินบินขึ้นล่าช้าไปถึงเกือบ 2 ชั่วโมง โดยมีรายงานสาเหตุของความล่าช้าตรงหน้าจอที่นั่งว่า เป็นเพราะระบบของสายการบินไทย ต่อมาก็รายงานสาเหตุว่าเครื่องบินรอสัญญาณไฟจากทางสนามบิน...
จะอย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าว ก็ทำให้นึกถึงปัญหาเก่าๆของสนามบินปักกิ่ง รายงานการสำรวจของนิตยสารฟอร์บ ที่เพิ่งเปิดเผยในต้นปีนี้ว่าสนามบินนานาชาตินครหลวงปักกิ่งติดแชมป์อันดับสองของโลกในด้านเที่ยวบินบินขึ้นล่าช้า โดยมีเที่ยวบินเพียงร้อยละ 33 ที่ขึ้นบินตรงตามกำหนดเวลา ตอนนั้น สนามบินปักกิ่งก็ออกโรงโต้กลับไปว่า เที่ยวบินจากสนามบินนานาชาติปักกิ่ง บินขึ้นตามกำหนดเวลาร้อยละ 86.28
ก็ได้แต่ลุ้นๆว่าในช่วงโอลิมปิกเดือนสิงหาคม ที่ผู้คนจากทั่วโลกจะมาแห่แหนมายังปักกิ่ง สนามบินปักกิ่งจะสามารถสะสางปัญหาเก่าๆ บุคลากร และระบบต่างๆจะพลิกโฉมสมกับรูปลักษณ์อันเลิศอลังการของจีนใหม่ และผงาดขึ้นเป็นจีนใหม่ที่ “ใหญ่ และทรงพลัง” บนเวทีโลกอย่างสมบูรณ์ มิใช่เป็นจีนโฉมหน้าใหม่ ที่มีเพียงเฟอร์นิเจอร์อันเลิศหรูอลังการเท่านั้น.