xs
xsm
sm
md
lg

โอลิมปิกครั้งนี้มีเชียร์ลีดเดอร์! / ธีรพัฒน์ อัครเศรณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ ล้ำหน้า โดย ธีรพัฒน์ อัครเศรณี (จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์)

อีกหนึ่งสีสันในกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ที่อดพูดถึงไม่ได้นั่นก็คือ เชียร์ลีดเดอร์ ครับ

ถามว่าเชียร์ลีดเดอร์มาเกี่ยวข้องกับ จีนได้อย่างไร ในเมื่อเจ้าภาพครั้งนี้คือชาติในเอเชียค่อนข้างอนุรักษ์นิยม แถมมีคอนเซปต์จะเน้นสะท้อนวัฒนธรรมตะวันออกต่อสายตาชาวโลก

ทราบกันดีว่าสาวๆผู้ทำหน้าที่นำเชียร์เหล่านี้คือวัฒนธรรมที่มาจากทางตะวันตกซึ่งคณะกรรมการจัดการแข่งขันก็เผยว่าตอนแรกคิดอยู่นานและกังวลเหมือนกันว่าสีสันและความแหวกแนวแบบนี้กองเชียร์ชาวจีนจะรับได้หรือไม่ ก็เลยตัดสินใจทดลองใช้ในกีฬาบีชวอลเล่ย์บอล FIVB เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2007 ก่อน ปรากฏว่าผลตอบรับกลับดีเกินคาด ผู้ชมชาวจีนชอบและตื่นเต้นไปกับการแสดงของสาวๆเหล่านี้ พวกเธออาจเปรียบเหมือนดอกไม้ที่โผล่ขึ้นมากลางท้องทุ่งที่เคยแห้งแล้ง

นั่นคือจุดเริ่มต้นและต่อมาคณะกรรมการได้ทดสอบใช้อีกครั้งในการแข่งขันแบดมินตันระดับนานาชาติในปี 2007 เช่นเดียวกัน ซึ่งเสียงตอบรับก็ออกมาดีผู้ชมยังคงให้การตอบรับชื่นชอบกันเป็นอันมาก

ในที่สุดจีนก็เลยตัดสินใจให้มีทีมเชียร์ลีดเดอร์ในปักกิ่งเกมส์ เพื่อโปรโมท "สปริตของกีฬาโอลิมปิก" ซึ่งหลายฝ่ายก็ยังข้องใจเหมือนกันว่ามันเกี่ยวข้องกันหรือไม่อย่างไร แต่อย่าลืมว่าทุกข้อที่คนข้องใจเจ้าภาพสามารถพิสูจน์และลบคำสบประมาทมาได้หมดแล้ว ตั้งแต่เรื่องของความพร้อม การสร้างสนาม สาธารณูปโภคต่างๆ

ทั้งนี้เชื่อว่าน่าจะมีการปรับภาพลักษณ์และการแสดงออกให้เหมาะสม มิได้เซ็กซี่มากเหมือนของฝรั่งมังค่า แต่มีการคัดเลือกเด็กสาวตั้งแต่อายุ 8 ขวบขึ้นไปจนถึงระดับมัธยมและอุดมศึกษา ซึ่งแน่นอนก็เพื่อเป็นตัวเลือกให้เหมาะสมกับการเชียร์และการแสดงหลากหลายรูปแบบ

สำหรับเส้นทางการมาเป็นเชียร์ลีดเดอร์ในกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้มิใช่เรื่องง่ายๆ เพราะพอเปิดรับสมัครเท่านั้นปรากฏว่ามีสาวน้อยสาวใหญ่กว่า 10,000 คนที่ยื่นความจำนง โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากเมืองต่างๆ ที่ต้องการประสบการณ์และมีส่วนร่วมกับทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ ขั้นแรกคณะกรรมการคัดใบสมัครเหลือ 600 ก่อนจะทำการทดสอบแล้วคัดสาวที่เหมาะสมที่สุด 200 รายเข้าบ้านเอเอฟ เอ๊ย มิใช่! มาเป็น "เชียร์ลีดเดอร์" ประจำปักกิ่งเกมส์ 2008

รายละเอียดของการทดสอบนั้นแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือหนึ่งทดสอบเรื่องของสภาพร่างกาย สองคือความสามารถในการแสดงออก

ถามว่าหน้าที่ของพวกเธอต้องทำอะไรบ้างในการแข่งขันครั้งนี้?

อย่าได้ดูแคลนว่าเป็นงานหมูๆ หรือดูถูกว่าพวกเธอสวยใสไร้สมองเชียวนา เชียร์ลีดเดอร์พวกนี้มีหน้าที่กระจายไปตามสนามต่างๆที่จัดแข่งขัน และนำเชียร์ นอกจากนี้ยังต้องมีการฝึกโชว์ต่างๆ ถึง 300 รูปแบบ (มีทั้งลักษณะการเชียร์ การเต้น รวมทั้งบางรูปแบบเป็นกึ่งกายกรรมด้วย) เพื่อแสดงในโอกาสต่างๆในโอลิมปิกครั้งนี้

หนึ่งในนั้นเป็นการแสดงที่จะต้องสวมเครื่องแต่งกายเป็น ฟูหวา (FUWA) หรือกลุ่มมาสคอต ที่เป็นสัญลักษณ์การแข่งขันครั้งนี้ด้วย ซึ่งแน่นอนจะต้องอาศัยความอดทนเป็นพิเศษ เพราะทั้งชุดที่หนักแล้วยังต้องเจอกับอากาศร้อนด้วย

สรุปแล้วฝ่ายจัดการแข่งขันยืนยันว่าเชียร์ลีดเดอร์เหล่านี้จะทำหน้าที่สำคัญในการประสานแฟนกีฬาเชื่อมกับเกมการแข่งขันให้เป็นหนึ่งเดียว

งานนี้ต้องติดตามล่ะครับว่าพวกเธอจะขโมยหัวใจผู้ชมในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ไปได้มากน้อยขนาดไหน?

กำลังโหลดความคิดเห็น