ในที่สุด ซูเปอร์อากูริ-เอฟวัน ได้กลายเป็นเพียงอดีตทีมแข่งในศึกรถสูตรหนึ่งเป็นที่เรียบร้อย หลังจากอากูริ ซูซูกิ เจ้าของทีม ประกาศถอนทีมอย่างกะทันหันก่อนที่ศึก เตอร์กิช กรังด์ปรีซ์จะเริ่มขึ้นเพียง 5 วันโดยสาเหตุหลักของการยุบทีมอากูริครั้งนี้ก็หนีไม่พ้นปัญหาเรื่องการเงิน ปัจจัยสำคัญในการสร้างทีมแข่ง
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นจะพบว่าทีมซูเปอร์อากูริ เริ่มเข้าสู่วงการความเร็วทางเรียบโลกในปี 2006 โดยใช้เวลากว่า 4 เดือน ก่อนจะผ่านเกณฑ์ที่สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ) กำหนดไว้และได้ลงทะเบียนเป็นทีมแข่ง ก่อนที่ เอฟวันฤดูกาล 2006 จะเริ่มต้นเพียงไม่กี่อึดใจโดยมีฮอนด้า ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนด้านเครื่องยนต์ รวมถึงส่งนักขับที่ไม่มีที่ว่างในทีมฮอนด้าทีมใหญ่ อย่าง ทาคูมะ ซาโตะ และแอนโธนี่ เดวิดสัน มาเป็นนักแข่งตัวจริง
แม้ทีมงานจะเห็นแววสดใสจากการที่ ซาโตะ เก็บคะแนนประวัติศาสตร์ให้ทีมได้สำเร็จ ในปี 2007 ที่สเปนและสหรัฐอเมริกา แต่ทว่าท้ายฤดูกาลที่ผ่านมา สปอนเซอร์หลักของทีมอย่าง เอสเอส ยูไนเต็ด กรุ๊ป กลับอาศัยช่องโหว่ของสัญญาด้วยการถอนตัวและไม่จ่ายเงินสนับสนุนตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้ปัญหาทางการเงินถาโถมเข้าใส่ทีมแข่งท้ายแถวอย่าง ซูเปอร์อากูริ ในทันที
ก่อนเริ่มฤดูกาล 2008 ทีมแข่งจากแดนปลาดิบทีมนี้ทำท่าจะไม่ได้ออกสตาร์ทสนามแรกที่ออสเตรเลีย เมื่อการเจรจากับ แม็กมา กรุป กลุ่มทุนรายใหม่จากอังกฤษล้มเหลว ขณะที่ทีมต้องยกเลิกงานเปิดตัวรถแข่งคันใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงยกเลิกการนำรถลงทดสอบเพื่อเตรียมความพร้อมร่วมกับอีก 10 ทีมแข่ง ที่คาตาลุนญ่า เซอร์กิต ประเทศสเปน เนื่องด้วยอะไหล่บางส่วนของรถ "SA08"ยังไม่ถูกจัดส่งมาถึงทีมงาน
นอกจากนี้การร้องขอความช่วยเหลือไปยังฮอนด้าผู้สนับสนุนด้านเครื่องยนต์ ที่ต้องการให้ค่ายรถญี่ปุ่นสนับสนุนทีมมากกว่าที่ผ่านมา หากต้องการให้ทีมซูเปอร์ อากูริ คงอยู่อยู่ในวงการรถสูตรหนึ่งต่อไป ก็ดูจะไม่เป็นผล เมื่อบอร์ดบริหารฮอนด้ามองว่าเป็นการเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ แต่สุดท้ายฮอนด้าก็ยื่นมือให้ความช่วยเหลือทีมของ อากูริ ซูซูกิ ในระดับหนึ่ง ด้วยการจัดแจงหากลุ่มทุนรายใหม่เข้ามาเจรจา
ซูเปอร์อากูริ ก็ได้ออกสตาร์ทฤดูกาล 2008 ควบคู่ไปกับการเจรจากับ "ไวกัล กรุป"(Weigl Group) กลุ่มทุนจากเยอรมัน แต่จนแล้วจนรอด ช่วงเวลาที่กำหนดไว้โดยฝ่ายจัดการแข่งขันก็สิ้นสุดลง ทีมแข่งจากแดนอาทิตย์อุทัยไม่สามารถหาเงินมากู้วิกฤตทีมได้ทันเวลา ก่อนศึกเตอร์กิช กรังด์ปรีซ์จะเปิดฉากขึ้นไม่ถึง 1 สัปดาห์
อากูริ ซูซูกิ อดีตนักขับเอฟวันชาวญี่ปุ่นที่ทำความฝันของตัวเองได้สำเร็จด้วยการมีรถเอฟวันของตัวเองลงสู่กริดสตาร์ท ประกาศในการแถลงข่าวที่กรุงโตเกียวว่า "ในฐานะเจ้าของทีมผมภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมกับฟอร์มูล่า วัน ตลอด 2 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ผมจะต้องแจ้งให้ทุกคนรับทราบว่า ซูเปอร์อากูริ จะยุติบทบาทของตัวเองตั้งแต่วันนี้(6 พ.ค.)เป็นต้นไป"
การประกาศถอนทีมแบบกะทันหันของทีมแข่งจากญี่ปุ่นในครั้งนี้ ส่งผลให้ศึกฟอร์มูล่า วัน 2008 ตั้งแต่การแข่งขันที่อิสตันบูล พาร์ค ประเทศตุรกีในช่วงเย็นวานนี้ ไปจนถึงสนามสุดท้ายที่ประเทศบราซิลในเดือนพฤศจิกายน จะเหลือรถเข้าแข่งขันเพียง 20 คัน จาก 10 ทีมแข่ง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับจากหมดฤดูกาล 2005 เป็นต้นมา
แม้ซูเปอร์อากูริ จะได้รับการสนับสนุนเครื่องยนต์จากค่ายที่สร้างชื่อในวงการรถสูตรหนึ่งมายาวนานอย่างฮอนด้า รวมถึงมีเจ้าของทีมที่เป็นอดีตนักขับเอฟวันชาวญี่ปุ่นโดยตรงอย่างอากูริ ซูซูกิ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินทุนคือหัวใจหลักสำหรับการทำทีมแข่งในกีฬาชนิดนี้ ซึ่งสุดท้าย ซูเปอร์อากูริ ก็ถึงจุดจบ ด้วยปัญหานี้ เช่นเดียวกับทีมรุ่นพี่ในอดีตอย่าง จอร์แดน, มินาดี หรือ แอร์โรส์ ด้วยวัยเพียง 2 ปี 4 เดือน
ย้อนรอยทีมถังแตกในเอฟวัน
ปี 2005 "จอร์แดน กรังด์ปรีซ์" ทีมที่เคยบ่มเพาะนักขับตำนานอย่าง มิชาเอล ชูมัคเกอร์ ถูกเทคโอเวอร์โดยมิดแลนด์กรุป แต่ก็ไปไม่รอด จนถูกมหาเศรษฐีอินเดีย ชื้อทีม และกลายเป็น"ฟอร์ช อินเดีย"ในปัจจุบัน
ปี 2005 "มินาดี" ทีมเก่าแก่จากอิตาลี ถูกกลุ่มเรดบูลเข้าซื้อกิจการ โดยเปลี่ยนเป็นทีมโตโร รอสโซ่ ในปัจจุบัน
ปี 2004 "จาร์กัวส์" ทีมจากค่ายรถฟอร์ด ถูกกลุ่มเรดบูลเข้าซื้อกิจการ โดยเปลี่ยนเป็นทีมเรดบูล เรซซิ่ง ในปัจจุบัน
ปี 2003 "แอร์โรส์" ทีมที่ลงแข่งเอฟวันมถึง 382 เรซ ในเวลา 25 ปี ต้องประกาศยุบทีมด้วยปัญหาหนี้สิน
ปี2002 "พรอสต์" ทีมของอดีตแชมป์โลก 4 สมัย อแลง พรอสต์ ประสบภาวะล้มละลาย หลังร่วมแข่งขันเอฟวันได้ 5 ฤดูกาล