ว่ากันว่าความสนุกตื่นเต้นของเกมกีฬานอกเหนือจากผลแพ้ชนะแล้ว การทำลายสถิติถือเป็นน้ำจิ้มที่เพิ่มรสชาติให้เกมการแข่งขันจัดจ้านมากขึ้น แต่น่าเสียดายไม่น้อยที่ในอนาคต สถิติอาจไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการจ้าวสระ หลังผลการแข่งขันว่ายน้ำมีการทุบสถิติโลกถี่ยิบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการทุบสถิติโลกถึง 14 ครั้งในรอบ 3 เดือน โดย 6 ครั้ง 5 รายการเกิดขึ้นในการแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์ยุโรป ที่เนเธอร์แลนด์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง อแล็ง แบร์นาร์ ฉลามหนุ่มจากเมืองน้ำหอม สร้างความฮือฮาด้วยการทำแฮตริก ทำลายสถิติโลก 3 ครั้ง ภายใน 3 วัน โดยเป็นการแข่งขันฟรีสไตล์ 100 เมตร 2 ครั้ง และฟรีสไตล์ 50 เมตร 1 ครั้ง
ขณะที่ การโค่นสถิติโลกที่เหลือตกเป็นของ มาร์ลีน เวลด์ฮูอิส เงือกสาวชาวเจ้าถิ่น ในการแข่งขันฟรีสไตล์ 50 เมตร เฟเดริก้า เปลเลกรินี่ เงือกสาวจากอิตาลี ในการแข่งขันฟรีสไตล์ 400 เมตร และทีมเงือกสาวเจ้าถิ่น ในการแข่งขันผลัดฟรีสไตล์ 4 คูณ 100 เมตร
นอกจากนี้ ในการแข่งขันคัดเลือกนักกีฬาว่ายน้ำไปโอลิมปิก 2008 ของทีมชาติออสเตรเลีย ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์ยุโรป สเตฟานี ไรซ์ เงือกสาววัย 19ปี ก็สามารถสร้างสถิติโลกใหม่ได้ถึง 2 รายการด้วยกัน ได้แก่ เดี่ยวผสม 200 เมตร และ 400 เมตร ขณะที่ โซฟี เอดิงตัน เงือกสาวออสซี่อีกคน ก็สามารถว่ายน้ำแตะขอบสระทุบสถิติโลก ผีเสื้อ 50 เมตร ของ เอมิลี ซีบอห์ม นักว่ายน้ำเพื่อนร่วมชาติ ที่ทำได้ก่อนหน้าเธอเพียงไม่กี่วัน
ปรากฏการณ์ทำลายสถิติโลกเป็นว่าเล่นในกีฬาว่ายน้ำในรายการดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับชุดว่ายน้ำรุ่นแอลซีอาร์ เรเซอร์ ของ สปีโด ซึ่งจากการทำลายสถิติโลก 14 ครั้งในปีนี้ 13 ครั้งเป็นของนักกีฬาที่สวมใส่รุ่นใหม่ของสปีโด ขณะที่มีเพียง เปลเลกรินี่ เงือกสาวอิตาลี เพียงคนเดียวที่ใส่ชุดว่ายน้ำของอารีน่า แล้วสามารถทำลายสถิติโลกได้
ที่สำคัญนี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่โลกแห่งสถิติถูกทำลายย่อยยับ เพราะช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว หลังจากที่สปีโด เปิดตัวชุดว่ายน้ำรุ่นใหม่ ก็มีการทำลายสถิติกันมากถึง 11 ครั้งในการแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลกที่เมลเบิร์น แค่รายการเดียว
เคล้าด์ ฟัวเกต์ ผู้อำนวยการเทคนิค สมาคมว่ายน้ำฝรั่งเศส ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้ชุดว่ายน้ำรุ่นใหม่ที่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับนักกีฬา เผยว่า “ผมคิดว่า ควรมีการถกเรื่องนี้กันจริงๆ ซะที และควรให้คณะกรรมการด้านศีลธรรมและจริยธรรมเข้าร่วมไต่สวนด้วย” พร้อมทั้งชี้ว่า ปัญหาดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบในอนาคตอย่างแน่นอน “เราไม่คิดถึงผลต่อเนื่องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากมีการนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ นั่นหมายความว่า ชุดว่ายน้ำกำลังจะกลายเป็นส่วนสำคัญในเกมการแข่งขัน”
เช่นเดียวกับ มาร์ก ชูเบิร์ต หัวหน้าโค้ชของทีมว่ายน้ำสหรัฐฯ ซึ่งแม้จะสนับสนุนการนำเอาเทคโนโลยีมาเข้าประยุกต์ใช้กับชุดว่ายน้ำ แต่ก็ยอมรับว่า ในอนาคตการทำลายสถิติอาจไม่ค่อยมีความหมายเท่าใดนัก “เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ของชุดว่ายน้ำ การทำลายสถิติอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป แต่ความสำคัญจะไปตกอยู่ที่ผลการแข่งขันซะมากกว่า”
“สถิติต่างๆ กำลังจะถูกทำลายลงอย่างแน่นอนที่สุด นับตั้งแต่การแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลกที่เมลเบิร์น โลกของกีฬาชนิดนี้กำลังจะเปลี่ยนเพราะชุดว่ายน้ำ” ชูเบิร์ต ทิ้งท้าย ขณะเดียวกัน นักกีฬา ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงกลับมองว่า ประสิทธิภาพของชุดว่ายน้ำที่ดีขึ้นจะยิ่งเพิ่มความสนุกและตื่นเต้นให้กับเกมการแข่งขัน โดย ไรซ์ ที่เพิ่งทุบสถิติโลก 2 ครั้ง ในรอบ 3 วัน เผยว่า “มันเยี่ยมมากและฉันก็คิดว่ามีหลายคนที่อยากเห็นการทำลายสถิติโลก เพราะตั้งแต่มีชุดว่ายน้ำรุ่นนี้ มันก็ช่วยให้ว่ายน้ำได้ดีขึ้น และให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวเวลาแหวกว่ายอยู่ในน้ำ”
ขณะที่การเดินหน้าทุบสถิติโลกยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดสต็อบลง ล่าสุด อีมอน ซุลลิแวน ฉลามหนุ่มชาวออสซี่ ก็จัดการทวงคืนสถิติโลกฟรีสไตล์ 50 เมตร จาก แบร์นาร์ ไปเรีอบร้อยแล้ว เมื่อว่ายแตะขอบสระทำเวลาได้เร็วกว่าในการแข่งขันคัดเลือกตัวแทนไปโอลิมปิกของออสเตรเลีย
แต่ก่อนหน้าที่ประเด็นชุดว่ายน้ำจอมทำลาย (สถิติโลก) จะถูกนำมาถกกันอย่างจริงจังอีกครั้ง ในการแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์โลกที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนเมษายนตามที่ คอร์เนล มาร์คูลเซคู ประธานกรรมการบริหารสหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (ฟีน่า) ออกมาเผยเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว คงต้องย้อนถามกันว่า แท้ที่จริงแล้ว การทำลายสถิติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีปัจจัยมาจากอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น การซ้อมที่หนักขึ้น สภาพร่างกายของมนุษย์ที่แข็งแกร่งขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบางอย่าง เพราะหากจะโทษชุดเพียงอย่างเดียว ก็คงเหมือนการหาแพะรับบาปมาให้กับกับการทำลายสถิติที่เกิดขึ้นบ่อยจนเริ่มกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อซะมากกว่า และที่สำคัญ คือ ต้องไม่ลืมว่า “สถิติมีไว้ทำลาย” มิใช่หรือ?