xs
xsm
sm
md
lg

จับตามิถุนาฯ อาถรรพ์ ชี้หาก ‘ทักษิณ’ ได้ประกันตัว ปิดฉากการเมืองแน่!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.พิชาย” ชี้ถ้าไม่ได้ประกันตัว คดี 112 “ทักษิณ” เผ่นแน่ แบบไปแล้วไปลับ เพราะโอกาสติดคุกสูง แต่หากได้ประกันคงเลิกเดินสาย ไร้บทบาทในพรรค เพื่อลดกระแสต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์ เชื่อ “เศรษฐา” ไม่ถูกถอดจากนายกฯ เหตุ “ชนชั้นนำ” มองว่าสถานการณ์ขณะนี้ไม่มีใครเหมาะสมเท่า “เสี่ยนิด” อีกทั้งมี “วิษณุ” คอยกำกับ จึงไม่น่าออกนอกลู่นอกทาง ขณะที่กรณี “ยุบก้าวไกล” ยัง 50 : 50 ด้านชนชั้นนำ “สายเหยี่ยว” อยากให้ยุบ แต่ชนชั้นนำ “สายพิราบ” เห็นว่ายุบไปก็ไม่มีประโยชน์ และสามารถใช้กลไกกฎหมายสกัดก้าวไกลไม่ให้ขึ้นมามีอำนาจได้

นับได้ว่าเป็น “มิถุนาฯ อาถรรพ์” จริงๆ เพราะภายในเดือนเดียวมีคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองและพรรคการเมืองเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันหลายคดี และที่สำคัญยังเป็นคดีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมืองใหญ่อย่างเพื่อไทย และก้าวไกลอีกด้วย

ส่วนว่าจะมีคดีใดบ้าง และจะมีผลต่อการเมืองไทยอย่างไรนั้น คงต้องไปฟังความเห็นจากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์การเมือง

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ว่า คดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือน มิ.ย.นั้นคงไม่ได้ส่งผลใหเกิดความวุ่นวายในลักษณะการออกมาชุมนุมประท้วง แต่จะเป็นเดือนที่มีความเข้มข้นทางการเมืองสูงและน่าจับตามองเป็นพิเศษ อีกทั้งอาจส่งผลกระทบทางการเมืองพอสมควร

โดยกรณีที่จะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้นมีอยู่ 2 กรณีคือ 1) การยื่นถอดถอน “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี จากกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาท เจ้าของฉายา “ทนายถุงขนม” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะครบกำหนดที่นายเศรษฐาต้องยื่นชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 28 มิ.ย.ต่อไป และ 2) กรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดคดี ม.112 และ ม.98 ซึ่งจะยื่นฟ้องต่อศาล 18 มิ.ย.นี้

รศ.ดร.พิชาย ชี้ว่า สำหรับกรณีการยื่นถอดถอนนายเศรษฐา นั้นถ้าผลการพิจารณาออกมาว่าเศรษฐารอดจากการถูกถอดถอน รัฐบาลคงจะสามารถบริหารต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่อาจถูกกำกับโดยนายวิษณุ เครืองาม ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งถ้าการกระทำใดที่ล่อแหลม ส่อจะถูกยื่นถอดถอน ถูกองค์กรอิสระตรวจสอบหรือยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา นายวิษณุ คงแนะนำให้หลีกเลี่ยง เช่น การแจกเงินดิจิทัล ถ้านายวิษณุ แนะนำว่าทำเต็มรูปแบบไม่ได้ เสี่ยงเกินไปที่จะออก พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อนำเงินมาใช้ในโครงการ รัฐบาลอาจจะลดขนาดโครงการลง จากเดิมที่จะแจกให้ทุกคนก็แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางเท่านั้นโดยใช้เงินจากวงเงินงบประมาณเพียงอย่างเดียว


แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายเศรษฐา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยระส่ำระสาย ขณะที่ในทางกฎหมายนั้นหากนายกรัฐมนตรีถูกถอดถอนจะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีหลุดจากตำแหน่งทั้งคณะด้วย จึงต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใหม่ทั้งหมด ถึงตอนนั้นคงต้องดูว่าพรรคเพื่อไทยจะยังคงเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลอยู่หรือไม่ ถ้ายังเป็นแกนนำรัฐบาลอยู่ต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมพร้อมทั้งพิจารณาว่าจะให้ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายเศรษฐา ถ้าให้อุ๊งอิ๊งขึ้นมาเป็นนายกฯ เท่ากับยอมให้อุ๊งอิ๊ง ออกมาเสี่ยง ซึ่งคาดว่าบริหารงานไปสักพักคงมีบาดแผลเต็มตัว แต่หากให้ชัยเกษมขึ้นมาเป็นนายกฯ จะช่วยเซฟอุ๊งอิ๊งได้ แต่อาจไม่ราบรื่นอีกเนื่องจากนายชัยเกษมมีปัญหาเรื่องสุขภาพ

“แม้ว่าคุณเศรษฐาไม่ได้ไปต่อโอกาสที่พรรคเพื่อไทยยังคงเป็นแกนนำรัฐบาลต่อไปยังมีสูง แต่ต้องเลือกว่าคนที่จะมานั่งเก้าอี้นายกฯ จะเป็นคุณอุ๊งอิ๊ง หรือคุณชัยเกษม ซึ่งส่วนตัวคิดว่าตระกูลชินวัตรคงอยากเซฟอุ๊งอ๊ง และผลักดันให้คุณชัยเกษมเป็นนายกฯ มากกว่า แต่ไม่รู้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะว่าอย่างไร ถ้าพรรคเพื่อไทยเสนอคุณชัยเกษม แล้วพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ไม่กล้าให้คุณอุ๊งอิ๊ง ออกมาเสี่ยงเพราะกลัวว่าจะบอบช้ำเนื่องจากถูกถล่มจากทุกสารทิศ เพื่อไทยอาจจะยอมให้แคนดิเดตจากพรรคอื่นขึ้นมาเป็นนายกฯ แทน ซึ่งส่วนตัวคิดว่าในสถานการณ์เช่นนี้ชนชั้นนำยังเอาคุณเศรษฐาอยู่นะเพราะจากตัวเลือกที่มีอยู่ตอนนี้นั้นเศรษฐามีความเหมาะสมเป็นอันดับสอง รองจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งขึ้นไปเป็นองคมนตรีแล้ว อีกทั้งนายกฯ มีคุณวิษณุไปช่วยกำกับแล้วคงจะประคองกันไปได้โดยไม่ทำให้ประเทศเสียหาย ซึ่งถ้ามองมุมนี้เชื่อว่าคุณเศรษฐา น่าจะรอดจากการถูกถอดถอนและยังได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า ถ้าเพื่อไทยไม่เป็นแกนนำรัฐบาล ต้องดูว่าพรรคไหนจะเป็นแกนนำแทน ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ หรือรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเท่าที่ทราบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังอยากเป็นนายกฯ อยู่นะ แต่ความชอบธรรมอาจจะน้อยเนื่องจากเป็นพรรคขนาดเล็ก อีกทั้งคะแนนนิยมที่มีต่อ พล.อ.ประวิตร ก็น้อย อยู่ที่ 0.4% เท่านั้น ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คะแนนนิยมอยู่ที่ 3.5% ส่วนนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่ติดโผ ดังนั้นหากทั้ง 3 ท่านขึ้นมาเป็นนายกฯ อาจจะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ซึ่งอาจทำให้เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน เพราะแม้แต่ฝั่งอนุรักษ์เองไม่ได้อยากได้ทั้ง 3 ท่านเป็นนายกฯ แต่อยากได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งท่านเป็นองคมนตรีไปแล้ว ดังนั้นถ้าทั้ง 3 ท่านขึ้นมาเป็นนายกฯ อาจจะถูกรุมถล่มจากทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษ์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองเตรียมตัวม้วนเสื่อกลับบ้านในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้เลยเพราะคะแนนนิยมจะดิ่งลงมหาศาลเช่นกัน

อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ส่วนกรณีของของทักษิณ นั้น “รศ.ดร.พิชาย” มองว่า หากนายทักษิณได้รับการประกันตัวในคดี ม.112 จะเป็นบทเรียนสำคัญให้ทักษิณซึ่งที่ผ่านมาหลังจากได้รับการพักโทษก็เดินสายเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเข้าไปกำกับควบคุมการทำงานของรัฐบาลมากเกินไป ซึ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้าน ดังนั้นหลังจากได้รับการประกันตัวทักษิณคงลดบทบาทลง ลดการออกสื่อสาธารณะ และวางระยะห่างกับรัฐบาลมากขึ้น โดยปล่อยให้นายเศรษฐา บริหารประเทศภายใต้การกำกับของนายวิษณุ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

ส่วนว่าเพื่อไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลต่อคดีของนายทักษิณด้วยนั้น คงรอดูท่าทีว่าคดีของนายทักษิณ จะไปทิศทางใด เพราะถ้าผลีผลามไปร่วมผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งพรรคก้าวไกลพ่วงคดี ม.112 ไปด้วยนั้น อาจจะทำให้ฝ่ายอำนาจเก่าไม่พอใจซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพิจารณาคดี ม.112 ของนายทักษิณ แต่หากเป็นกรณีที่ทักษิณไม่ได้รับการประกันตัวเชื่อว่าทักษิณคงต้องหนีออกนอกประเทศเพราะจากประวัติที่ผ่านมาของนายทักษิณนั้นเชื่อว่าเขาไม่ยอมติดคุกแน่ ขณะเดียวกัน โอกาสที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้กลับมาประเทศไทยน่าจะน้อยลง ซึ่งการที่ยิ่งลักษณ์จะกลับมานั้นมีแค่ 2 วิธีเท่านั้น คือ 1.ออกกฎหมายนิรโทษกรรม และ 2.ขอพระราชทานอภัยโทษ

“หากคุณทักษิณไม่ได้รับการประกันตัว เชื่อว่าทักษิณ คงจะหนีเพราะเขาคงไม่ยอมติดคุกแน่ โดยช่วงนี้เขาคงดูทิศทางลม เจรจาต่อรองและอาจจะเตรียมแผนไว้หลาย scenario (สถานการณ์) ซึ่งคงรอดูวันใกล้ๆ ให้ได้สัญญาณที่ชัดเจนก่อนว่าจะเอาอย่างไร ถ้าได้รับการประกันตัวอยู่ในประเทศไทยต่อ แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าจะได้รับการประกันตัวหรือเปล่าเขาคงหนี เพราะถ้าครั้งนี้ไม่ได้รับการประกันตัวก็แปลว่ามีโอกาสสูงที่จะติดคุกและไม่สามารถไปนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลได้แล้ว และคราวนี้คงไปแล้วไปลับเลย” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

ส่วนผลกระทบที่จะมีต่อพรรคเพื่อไทยหลังจากที่นายทักษิณหนีออกนอกประเทศนั้น "รศ.ดร.พิชาย" มองว่า หากทักษิณหนีคดีไปต่างประเทศในครั้งนี้ย่อมส่งผลให้พลังของพรรคเพื่อไทยอ่อนลง แต่อีกด้านหนึ่งน่าจะเป็นผลบวกต่อกลุ่มอำนาจเก่าซึ่งจะสามารถควบคุมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี ในระยะยาวอาจส่งผลต่อคะแนนนิยมของกลุ่มอาจเก่าและพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกัน จะส่งผลเชิงบวกให้พรรคก้าวไกลเพราะถ้าคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลง คนอาจจะเทคะแนนไปยังพรรคก้าวไกลซึ่งชูประเด็นเรื่องประชาธิปไตยเหมือนกัน นอกจากนั้น พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่สนิทใจกับกลุ่มอำนาจเก่าเหมือนเดิมซึ่งอาจส่งผลให้เพื่อไทยต้องตัดสินใจทางการเมืองใหม่ก็เป็นได้ โดยเพื่อไทยอาจจับมือกับพรรคก้าวไกลในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และมีแนวโน้มที่จะเป็นมิตรกับพรรคก้าวไกลมากขึ้น

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขณะทำกิจกรรมติดสติกเกอร์ ยกเลิก ม.112
ส่วนกรณีของพรรคก้าวไกล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะนัดพิจารณาคดียุบพรรคในวันที่ 12 มิ.ย.นี้นั้น “รศ.ดร.พิชาย” มองว่า ขณะนี้สถานการณ์ 50 : 50 โดยในทางนิติศาสตร์ก็สามารถออกได้ทั้งสองมุม คือ ถ้าศาลตัดสินยุบพรรคก้าวไกลน่าจะเป็นเหตุผลที่เกี่ยวโยงกับความพยายามในการแก้ไข ม.112 และการหาเสียงของพรรคก้าวไกลซึ่งก่อนหน้านี้ศาลมีคำพิพากษาว่าก้าวไกลเป็นภัยต่อความมั่นคง ขณะที่อีกมุมหนึ่งมีนักกฎหมายบางส่วน เช่น อ.แก้วสรร แก้วสรร อติโพธิ ที่มองว่าในเมื่อศาลได้ตัดสินลงโทษในกรณีดังกล่าวไปแล้ว พร้อมทั้งห้ามให้พรรคก้าวไกลประพฤติในลักษณะดังกล่าว ดังนั้นศาลจะใช้ข้อเท็จจริงเดิมมาตัดสินซ้ำในอีกคดีหนึ่งไม่ได้ และหลังจากที่ถูกศาลตัดสินครั้งแรกไปแล้วพรรคก้าวไกลยังไม่กระทำผิดอีก

ส่วนในทางรัฐศาสตร์นั้นต้องประเมินผลกระทบจากการยุบพรรคก้าวไกลว่าจะส่งผลดีผลเสียต่อกลุ่มอนุรักษ์อย่างไรบ้าง เช่น สามารถตัดโอกาสไม่ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีในช่วง 3-4 ปีนี้ เพราะหากถูกยุบพรรค นายพิธาซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคในช่วงที่เกิดการกระทำผิดจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แต่หากคิดว่าถ้ายุบพรรคก้าวไกลแล้วจะทำให้คะแนนนิยมของก้าวไกลถดถอยคงเป็นไปไม่ได้ เพราะแม้ว่าจะถูกยุบพรรคและมี ส.ส.ส่วนหนึ่งที่เป็นกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองไป ก็ยังเหลือ ส.ส.ก้าวไกลอีกจำนวนมากที่สามารถย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นมารองรับและทำงานในสภาเพื่อสร้างผลงานต่อไปได้ ในทางตรงกันข้ามกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลซึ่งมีอยู่ประมาณ 40 ล้านคนจะมองว่าถูกกลุ่มอนุรักษนิยมรังแก และเกิดความไม่พอใจต่อองค์กรอิสระ ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปถึงสถาบันอื่นๆ ด้วย และอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งหน้าคนหันมาสนับสนุนพรรคก้าวไกลมากยิ่งขึ้น

“เท่าที่ฟังมาชนชั้นนำมี 2 สาย สายเหยี่ยวอยากให้ยุบพรรคก้าวไกลไปเลย ขณะที่สายพิราบบอกว่าอย่าไปยุบเลย ปล่อยให้ก้าวไกลทำงานในสภาไปเถอะ เพียงแต่ใช้กลไกกฎหมายควบคุมอย่าให้ก้าวไกลเข้ามามีอำนาจรัฐก็พอ เช่น ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจมีการก้ไขกฎหมายเลือกตั้งเพื่อลดสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อลง เพื่อตัดคะแนนพรรคก้าวไกล หรือถ้าก้าวไกลจะแก้ไขมาตรา 112 ก็ใช้กลไกศาลรัฐธรรมนูญเบรกเอาไว้น่าจะดีกว่า เพราะหากยุบพรรคก้าวไกลอาจจะเกิดแรงต้านจากบางกลุ่มตามมา” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น