เมืองไทย 360 องศา
ไม่น่าเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคจะอยู่ในภาวะ ถดถอย หรือ“ขาลง” ได้ถึงเพียงนี้ สาเหตุหลักก็คงไม่มีอะไรซับซ้อน นอกเหนือจากต้องการ “เอาตัวรอด” และให้ตัวเองได้ประโยชน์เท่านั้น เหมือนกับคราวนี้ เขาทำทุกทาง เพื่อที่จะกลับมาเป็นรัฐบาล กุมอำนาจรัฐในมือให้ได้ก่อน หลังจากห่างหายไปนานนับสิบปี
แต่การเป็นรัฐบาลคราวนี้ กลับกลายเป็นสาเหตุของความถดถอยและเสื่อมศรัทธา แบบที่คาดไม่ถึง และไม่เคยเป็นมาก่อน เริ่มจากการ“ข้ามขั้ว” เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ที่ทำให้มวลชนเสื่อมศรัทธา และเกิดความระส่ำระสาย แม้ว่าการข้ามขั้วดังกล่าวมันมีรายละเอียด มี “ดีลลับ” บางอย่าง ซึ่งในที่นี้ต้องมองไปที่ “ดีลลับฮ่องกง” ระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของพรรคก้าวไกลตัวจริงมากกว่า ซึ่งต้องมาว่ากันในรายละเอียดทีหลัง
วกมาที่ความเสื่อม จากการข้ามขั้วดังกล่าว หรือที่มีการประณามว่า “ตระบัดสัตย์” นั่นแหละ (ทั้งที่ระดับเจ้าของมีข้อตกลงกันแล้ว) แต่บรรดา “ด้อม” ทั้งหลายกลับมองเห็นไปอีกทาง แต่ก็นั่นแหละ เป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อม และการเป็นรัฐบาลที่ถูกมองว่าทำให้ตัวเองได้กลับบ้าน แต่การกลับมาแล้ว “ไม่ยอมติดคุก” แม้แต่วันเดียว เป็น “นักโทษเทวดา” ทำตัวเป็นอภิสิทธิ์ชน ทำให้สังคมส่วนใหญ่รับไม่ได้
ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนเป็นความเสื่อม ที่กระทบในวงกว้าง ประกอบกับการบริหารงานของรัฐบาลก็ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน นโยบายที่เป็นเรือธงทุกเรื่อง ไม่ว่านโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” เลื่อนออกไป จนไม่สร้างความเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็ยังทำไม่ได้ตามจำนวนที่หาเสียงเอาไว้ เพราะเพียงแค่วันละ 400 บาท ที่ประกาศว่าจะปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ก็ยังลูกผีลูกคน เนื่องจากฝ่ายนายจ้างยังผนึกกำลังค้านสุดตัว ปรากฏการณ์ความเสื่อมดังกล่าวยังส่งผลไปถึงทางยาทการเมืองอย่าง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่นับวันกระแสความนิยมลดลงไปเรื่อย ๆ จนไม่มีแววกลายเป็น “ดาวเด่น” ได้เลย
สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นชัดหากพิจารณาจากผลสำรวจล่าสุด ล้วนปฏิเสธไม่ได้ หากทบทวนกันอีกทีว่า พวกเขาถดถอยหรือ “เสื่อม” ได้ขนาดไหน
สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี 1 ปี หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566” เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่าถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด ในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ผู้ตอบร้อยละ 35.7 ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล รองลงมา ระบุว่า จะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย คิดเป็นร้อยละ 18.1 ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 11.2 ผู้สมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 9.2 ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.8 ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5 เป็นต้น
เมื่อนำผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่า พรรคก้าวไกล จะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นถึง 49 ที่นั่ง เป็น 208 ที่นั่ง ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนนิยมลดลง อาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสเสียที่นั่งที่มีอยู่เดิมไป 28 ที่นั่ง จะเหลือ 105 ที่นั่ง
เมื่อสอบถามว่า ถ้าเลือกได้ ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในช่วงเวลานี้มากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ระบุว่าอยากให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คิดเป็นร้อยละ 46.9 รองลงมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 17.7 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 10.5 นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 8.7 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี หากติดตามการเมืองมาตลอดจะเห็นแนวโน้มแบบนี้มาแล้ว โดยเฉพาะผ่านการสำรวจจากสำนักต่างๆ ที่เคยเผยแพร่ออกมา แต่คราวนี้น่าสนใจก็คือความนิยมของพรรคก้าวไกลที่สะท้อนผ่านผลสำรวจออกมาแบบก้าวกระโดด ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีลักษณะถดถอยอย่างชัดเจนและ “แรง” ในแบบที่ “ไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้น” คืนมาได้เลย
เมื่อผลออกมาอย่างที่เห็น ทำให้บรรดาแกนนำพรรคก้าวไกลแสดงท่าทีฮึกเหิม ถึงกับรีบ “ตัดขาด” พรรคเพื่อไทยทันที โดยย้ำชัดว่า จะ“ไม่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย” โดย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ได้ย้ำท่าทีทันทีหลังจากทราบผลสำรวจดังกล่าวไม่นาน และยืนยันว่า พรรคจะเสนอ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เวลานี้เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างถึงความชอบธรรม
แน่นอนว่า นั่นคือผลสำรวจความนิยมที่ผ่านสายตาของชาวบ้านที่มองเข้าไป ซึ่งหลายคนยังไม่เข้าใจถึงความซับซ้อนซ่อนเงื่อน ที่ซ่อนอยู่ภายใน หรือมี “ดีลลับ” เป็นข้อตกลงหรือคำขอร้องระหว่าง “เจ้าของ” ทั้งสองฝ่าย แต่เป็นการมองในเชิงของการแข่งขันทางการเมืองที่คิดว่า พรรคเพื่อไทยกำลังแข่งขันกับพรรคก้าวไกล ซึ่งที่ผ่านมาก็เหมือนจะเป็นแบบนั้น แต่หากพิจารณากันในรายละเอียดแล้ว มันเพียงแค่ “ฉาบฉวย” เล่นกันไปตามน้ำเท่านั้น ไม่ได้จริงจัง เพราะอย่างที่บอกไปแล้วนั่นคือ ระดับ “เจ้าของ” เขา “ดีล” กันไว้แล้ว และมีการเชื่อมโยงระหว่างกันในพรรค ไม่เชื่อก็ลองสังเกตไปที่รัฐมนตรีในพรรคเพื่อไทย ที่นามสกุล “จึงรุ่งเรืองกิจ” ว่าทำไมที่พรรคก้าวไกลไม่เคยแตะต้อง ไม่เคยเอ่ยถึงชื่อของคนๆนั้นเลย สักครั้งเดียว
อย่างไรก็ดีในเรื่องของผลสำรวจก็ว่ากันไป ที่ดูเหมือนเป็นการแข่งขัน และพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายที่มีแนวโน้มพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างหมดรูปก็ตาม
แต่เมื่อหันมาโฟกัสเฉพาะ พรรคเพื่อไทย และ นายทักษิณ ชินวัตร เวลานี้ถือว่าโอกาสฟื้นกลับมาแทบมองไม่เห็น ตรงกันข้ามมีแต่ทรุดลงเรื่อยๆ และแม้ว่าหากพิจารณาเชื่อมโยงไปถึงรัฐบาล ที่ล่าสุดจะมีผลสะท้อนผลผ่านสำนัก “สถิติแห่งชาติ” ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะออกมาเป็นตรงกันข้ามกับการสำรวจจากสำนักอื่นก็ตาม นั่นคือ กลายเป็นว่าประชาชนนิยมรัฐบาล และนโยบายหลายอย่างค่อนข้างสูง เช่น 30 บาท พักหนี้ การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่าสามารถพิสูจน์ได้ตามนั้นหรือเปล่า
แต่ถึงอย่างไรสำหรับพรรคเพื่อไทย และ นายทักษิณ ชินวัตร สรุปได้ทันทีแล้วว่า กำลังอยู่ในภาวะถดถอย หรือหากจะเรียกว่า “ขาลง” ก็ไม่ผิดนัก เพราะน่าจะเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่พวกเขาถูกวิจารณ์อย่างเปิดเผย โดยเฉพาะจากคนที่เคยอยู่ใกล้ชิดหลายคนที่ออกมาแฉโพยเป็นรายวัน แม้ว่าที่ผ่านมาเขาพยายามแก้เกม แต่ทุกอย่างดูเหมือนยิ่งแย่กว่าเดิม โดยพาะสังคมสื่อสารในยุคดิจิทัล สื่อสารออนไลน์ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเป็นฝ่ายตั้งรับ มีแต่ติดลบทุกวัน !!