โฆษกรัฐบาลยกข้อมูลร่ายยาว แก้ครหาให้สำรวจโพลสสช.มาหักล้างโพลพป. แก้เกมทำคะแนนนิยมรัฐต่ำ ชี้เข้าใจคลาดเคลื่อน เหตุสสช.สำรวจตามรอบอยู่แล้ว ทำล่วงหน้าก่อนพป. เป็นหน่วยงานมีเกียรติเป็นที่ยอมรับ ลั่นเคารพทุกโพลไม่ตั้งแง่ ขอฟังเห็นต่าง
วันนี้ (2มิ.ย.) นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล ผ่านX ถึงผลโพลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ล่าสุด VS ผลโพลของสถาบันพระปกเกล้า (พป.) ล่าสุด
หัวข้อสำรวจ :
สสช : ความคิดเห็นของประชาชนต่อ การบริหารงานของรัฐบาล พ.ศ. 2567 (ครบ 6 เดือน)
พป : ความนิยมในพรรคการเมือง และนายกรัฐมนตรี
วันที่สำรวจ :
สสช : 22/4-15/5 ,2567
พป : 7/5-18/5 ,2567
หมายเหตุ : สสช เริ่มทำการสำรวจก่อนที่ พป จะเริ่มสำรวจ 15 วัน และ สสช สำรวจเสร็จก่อน พป 3 วัน
วิธีการสุ่มตัวอย่าง :
สสช : Stratified Three-Stage Sampling
พป : Stratified Random Sampling
จำนวนตัวอย่าง :
สสช : 6,970 คน
พป : 1,620 คน
สังกัดของหน่วยงาน :
สสช : กระทรวงดิจิทัลฯ
พป : รัฐสภา
แหล่งของเงินที่ใช้ในการสำรวจ :
สสช : งบประมาณแผ่นดิน
พป : งบประมาณแผ่นดิน
วิธีการสำรวจ :
สสช : สัมภาษณ์แบบพบหน้ากัน ( face to face )
พป : สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
ดังนั้นใครที่คิดเอาเองว่า พอรัฐบาลเห็นว่าโพลของ พป ล่าสุดออกมาในทางที่ชี้ให้เห็นว่าความนิยมของรัฐบาลต่ำกว่าฝ่ายค้าน จึงได้มอบหมายให้ สสช เร่งทำการสำรวจเพื่อนำผลมาหักล้างผลสำรวจของ พป นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงเพราะ: 1) นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา สสช จะต้องทำหน้าที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลเช่นนี้อยู่แล้ว ทุกๆรอบ 6 เดือน มาตลอด 22 ปี จนถึงปัจจุบัน
2) ในครั้งนี้ สสช ได้เริ่มทำการสำรวจไปก่อนที่ พป จะเริ่มสำรวจ 15 วัน ไม่ใช่พอเห็นผลสำรวจของ พป แล้ว จึงค่อยมาทำการสำรวจ
3) หน่วยงานของ สสช มีเกียรติประวัติเป็นที่ยอมรับในความเป็นมืออาชีพด้านการวิจัยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนมานานถึง 109 ปี ผลงานเป็นที่ประจักษ์และยอมรับของทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างยาวนาน
4) เมื่อคราวที่ผลโพลล่าสุดของ พป ถูกประกาศออกมาว่า ความนิยมของพรรคแกนนำรัฐบาลได้รับความนิยมต่ำกว่าพรรคแกนนำฝ่ายค้าน นายกเศรษฐาและผู้นำของพรรคร่วมรัฐบาลต่างออกมาน้อมรับฟังผลโพลของ พป ไม่เคยมีการตั้งแง่เลยว่า ผลโพลดังกล่าวมีอคติ หรือ ถูกปั้นแต่งข้อมูลโดยฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล
สรุป : รัฐบาลให้ความเคารพในเกียรติภูมิของทุกสถาบันที่ทำโพล และพร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนผ่านการสำรวจของทุกสำนักด้วยความจริงใจ โปรดเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งย่อมต้องมีอยู่เป็นธรรมดาในสังคมประชาธิปไตยทั่วทุกแห่งในโลกใบนี้