xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลรัฐบาลพรรคเดียว ฝันใหญ่ ไปถึง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เมืองไทย 360 องศา

เป็นการตอกย้ำให้เห็นภาพอีกครั้งสำหรับผลสำรวจล่าสุด ที่เป็นของ “สถาบันพระปกเกล้า” ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมต่อพรรคการเมือง และตัวบุคคลออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยชี้ให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลกำลังได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด ขณะที่พรรคเพื่อไทย กำลังอยู่ในช่วงถดถอยอย่างชัดเจน

สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี 1 ปี หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566” เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ถ้ามีการเลือกตั้งส.ส.ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ผู้ตอบร้อยละ 35.7 ระบุว่า จะเลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล รองลงมา ระบุว่า จะเลือกผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย คิดเป็นร้อยละ 18.1 ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 11.2 ผู้สมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 9.2 ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.8 ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5 เป็นต้น

เมื่อนำผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่า พรรคก้าวไกล จะได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น 49 ที่นั่ง เป็น 208 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมลดลง อาจส่งผลให้พรรค มีโอกาสเสียที่นั่งที่มีอยู่เดิมไป 28 ที่นั่ง จะเหลือ 105 ที่นั่ง

เมื่อสอบถามว่า ถ้าเลือกได้ ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ในช่วงเวลานี้มากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ระบุว่า อยากให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คิดเป็น ร้อยละ 46.9 รองลงมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 17.7 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 10.5 นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 8.7 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี หากติดตามการเมืองมาตลอดจะเห็นแนวโน้มแบบนี้มาแล้ว โดยเฉพาะผ่านการสำรวจจากสำนักต่างๆ ที่เคยเผยแพร่ออกมา แต่คราวนี้น่าสนใจก็คือ ความนิยมของพรรคก้าวไกลที่สะท้อนผ่านผลสำรวจออกมาแบบก้าวกระโดด ขณะที่พรรคเพื่อไทย มีลักษณะถดถอยอย่างชัดเจน และ “แรง” ในแบบที่ “ไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้น” คืนมาได้เลย

เมื่อผลออกมาอย่างที่เห็น ทำให้บรรดาแกนนำพรรคก้าวไกล แสดงท่าทีฮึกเหิม ถึงกับรีบ “ตัดขาด” พรรคเพื่อไทยทันที โดยย้ำชัดว่าจะ “ไม่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย” โดย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ได้ย้ำท่าทีทันทีหลังจากทราบผลสำรวจดังกล่าวไม่นาน และยืนยันว่า พรรคจะเสนอ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่เวลานี้เป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี โดยอ้างถึงความชอบธรรม

ขณะที่อีกคนก็คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และถือว่ามีความเชื่อมโยงกับพรรคก้าวไกล ในปัจจุบัน ออกมายืนยันเป้าหมายของพรรคก้าวไกล ว่า ต้องการให้ได้ ส.ส.เกิน 250 คนขึ้นไป เพื่อจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว นั่นเอง

นายธนาธร กล่าวถึงผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้า ว่า ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ให้ความไว้วางใจเพื่อนของตน ในพรรคก้าวไกล หวังว่าเพื่อนของตนในพรรคก้าวไกล จะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำงานโดยไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตน มุ่งมั่นจะพัฒนาประเทศไทย ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้ประเทศไทยกลับมามีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อีกครั้ง “แต่ผมใส่ “แต่” ตัวใหญ่ๆ เลย ถึงแม้ผลออกมาจะเป็นที่น่าพอใจ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ แต่ตัวนี้ ตัวใหญ่มาก จะเพียงพอ หมายถึงต้องได้ 250 เสียง"

“เหลือเวลาอีก 3 ปี จะว่าไปก็ 3 ปีพอดีเลย พรรคก้าวไกล ต้องทำงานหนักกว่านี้ เราต้องการข้ามเส้น 250 ให้ได้ ถ้าทำได้ ในปี 2570 ทศวรรษ 2570 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง อีก 3 ปี ทำงานให้หนัก วันนี้มาไกลกว่าที่พวกเราคิดตอนก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่แล้ว แต่ยังไม่พอ เรามีเวลาอีก 3 ปีไปสู่จุดนั้น ขอส่งข้อความไปถึงพรรคพวกที่อยู่ในพรรคก้าวไกล 3 ปีนี้ ใช้ทุกวันให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ให้ประชาชนเห็นถึงความจริงใจ แน่วแน่ของเรา ที่อยากพาประเทศไทยไปข้างหน้าให้ได้มากที่สุด เมื่อวันเลือกตั้งมาถึง เราจะได้มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ ทำนโยบายของพวกเราให้เป็นจริง" นายธนาธร กล่าว

แน่นอนว่า ทั้งท่าทีและเป้าหมายทะเยอทะยานดังกล่าวของ แกนนำพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะการรีบออกมายืนยันทันที และชัดเจนว่า “ไม่ร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย” อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการ “เล่นกับกระแส” ในเวลานี้ ที่มั่นใจว่าประชาชน ต้องการให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ขณะเดียวกันก็จับทิศทางได้ว่า พรรคเพื่อไทยกำลังเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อยๆ หลังจาก “ข้ามขั้ว” มาจัดตั้งรัฐบาล

แม้ว่าที่ผ่านมาจะเห็นการเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นทุกอย่างของพรรคเพื่อไทย ในแบบที่เรียกว่า “โหมหนัก” เพื่อเรียกความนิยมให้กลับมา แต่หลังจากไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว เมื่อพิจารณาจากอารมณ์ความรู้สึกจากสังคมไม่น้อยที่รับไม่ได้ กับลักษณะ “อภิสิทธิ์ชน” หรือ “คนไม่เท่ากัน” แม้ว่ายังมีคนแห่ต้อนรับจำนวนมาก แต่ก็ไม่คึกคักเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งสะท้อนออกมาทางผลสำรวจว่า ความนิยมของพรรคเพื่อไทย ไม่กระเตื้องขึ้นเลย

อย่างไรก็ดี เมื่อวกกลับมาที่พรรคก้าวไกลอีกครั้งกับเป้าหมายรัฐบาลพรรคเดียวในการเลือกตั้งคราวหน้า ว่าจะทำได้ตามความฝันหรือไม่ มันก็ขึ้นอยู่ “เงื่อนไข” บางอย่างด้วยเหมือนกัน แม้ว่านาทีนี้หลายคนจะเชื่อว่าจะชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มากที่สุด จะเป็นไปได้มากที่สุด แต่การที่จะได้เสียงส.ส.250 คน หรือเกินครึ่งสภาผู้แทน จากจำนวน 500 คนนั้น อาจจะไม่ง่าย

เพราะหากพิจารณาจากกระแสระหว่างสองพรรคคือ ก้าวไกล กับเพื่อไทย พิจารณาจากผลสำรวจที่ออกมา ก็ยังออกมาแบบ “สองพรรค” หลัก โดยพรรคเพื่อไทย อาจจะมาเป็นอันดับสอง แต่ก็ยังเป็นพรรคหลัก ยิ่งเมื่อมองเห็นแนวโน้มที่เห็นจากความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร พยายามควบรวมกับอีกหลายพรรค หรือ “จับมือบ้านใหญ่” ในหลายจังหวัด ก็ไม่อาจมองข้ามเหมือนกัน

อีกทั้งเงื่อนไขสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเสี่ยง “ยุบพรรคก้าวไกล” ที่ใกล้มาถึงจุดชี้ขาด ในศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หากผลออกมาในทางลบ ก็อาจเกิดการ “ไหล” ออกไปตามพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งก็ต้องจับตา “แรงดูด” จากพรรคเพื่อไทยด้วย แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป “กระแส”จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย และหากเลวร้ายลงไปอีกกับการวินิจให้มีการ “ตัดสิทธิ์การเมือง” กับกรรมการบริหารพรรค ในยุคที่มีการเสนอกฎหมายแก้ไข มาตรา 112 เข้าไปอีก ก็ถือว่า “ไปยกยวง” ซึ่งในจำนวนนั้นมีชื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รวมอยู่ด้วย

แม้ว่าจะวัดกันด้วย “กระแส” เป็นหลัก แต่ต้องไม่ลืมว่า ในผลสำรวจชื่อของ นายพิธา มาเป็นอันหนึ่งสำหรับความต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป มากกว่าใคร หากไม่มีชื่อของนายพิธา แล้ว รวมไปถึงระดับแกนนำ ที่มีชื่อติดหูติดตาอีกหลายคน มันจะทำให้พรรคก้าวไกล หรือในชื่อใหม่ ยังจะได้รับเลือกเข้ามาถล่มทลาย อีกหรือไม่ นี่ยังไม่นับเรื่องการฝังใจในเรื่อง “ล้มเจ้า” ที่เชื่อว่ามีหลายคนในสังคมไม่เอาด้วย และหันกลับมาผนึกกำลังต้านเข้ามาประกอบอีก มันก็น่าคิดเหมือนกัน

แต่เอาเป็นว่า กระแสในเวลานี้ และแนวโน้มไปถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกล สามารถฟันธงค่อนข้างแน่ว่าจะชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.มากที่สุด แต่จะได้ถึง 250 ที่นั่ง หรือไม่ น่าจะเป็นเรื่องยาก และยิ่งในสถานการณ์เลวร้ายหากพรรค “ถูกยุบ” รวมไปถึงกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์การเมือง มันก็น่าจะไปถึงเป้าหมายยาก แม้ว่าหลายคนจะมองอีกมุมว่าจะกลายเป็น “กระแสเร่ง” ก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่า จะต้อง “เลือกนายกฯ”ไปด้วย แต่คนที่เหลือให้เลือกนั้นมันป๊อปปูล่าพอหรือเปล่า 

ขณะที่ พรรคเพื่อไทยนาทีนี้แม้เข้าสู่ภาวะถดถอย ขาลงแล้ว “กระแสทักษิณ” ฟื้นยาก แต่พิษสงยังมีอยู่เหลือเฟือ อย่างน้อย ก็ต้องผนึกกำลังกับ “บ้านใหญ่” และขั้วอนุรักษ์นิยมที่ต้องกอดคอกันสกัดกั้นอีกฝ่าย โดยมีแนวโน้มต้อง “ดีลใหม่” ที่ห้ามล้ำเส้น ไม่เช่นนั้นจะพังกันหมด อะไรประมาณนี้ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น