เมืองไทย 360 องศา
อาจเป็นเพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เป็นใจ ขณะเดียวกันเมื่อทุกอย่างกำลังบีบคั้นเข้ามาทำให้ยิ่งต้องเร่งเกม แต่ก็ยิ่งเร่งมันก็พลาด เป้าหมายที่วางเอาไว้ก็ยิ่งห่างไกล
อย่างไรก็ดีหากพิจารณาให้ดีอาจเป็นเพราะทุกอย่างต้องเริ่มมาจากเหตุ หากเริ่มต้น “ผิดพลาด” หรือประเมินสถานการณ์ และอารมณ์ของสังคมผิดพลาดมันก็ยิ่งทำให้ผลออกมาผิดเป้าหมายออกไป
สำหรับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ต้องเริ่มที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหลัก เพราะเขาเป็นทุกอย่าง หากพิจารณาจากความผิดพลาดก็ต้องเริ่มจาก การกลับมาแบบ “ไม่ต้องติดคุกสักวันเดียว” ซึ่งหากเปรียบกันในทางตรงกันข้ามกับ “ยอมติดคุกวันเดียว” หรือสัก 2-3 วัน ความรู้สึกของสังคมจะต่างกันแค่ไหน
แน่นอนว่าด้วยอำนาจและบารมีของเขาที่มีย่อมทำให้สถานะของเขาในคุก ย่อมไม่ต่างจาก “เทวดา” อยู่แล้ว แต่ภาพที่ “เคารพกฎหมาย” ยืดอกเดินเข้าคุกอย่างสง่างาม แม้ว่าอาจจะยังมีข้อโต้แย้งในเรื่องที่ว่า “ถูกกระทำ” หรือไม่ก็ตาม แต่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่หากเขาเลือกเดินทางนี้ ก็น่าจะเชื่อว่าจะได้ใจจากสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เคยต่อต้านก็จะมีความรู้สึกที่อ่อนลง ส่วนคนรุ่นใหม่ๆที่ไม่ค่อยรู้จักตัวเขา ที่บูชาในเรื่อง “คนเท่ากัน” ก็ต้องมองในมุมบวกมากกว่าลบแน่นอน
เมื่อ นายทักษิณ ชินวัตร เลือกที่จะท้าทายอารมณ์ความรู้สึกของสังคม โดยประเมินว่าเขาคุมทุกอย่างเอาไว้ในมือ รวมไปถึงยังมั่นใจว่าความนิยมเก่าๆที่ยังมีอยู่เหลือเฟือทำให้เขาทำอะไรก็ได้ ทำให้คราวนี้เขาประเมินผิดพลาดไปไกลมาก ทั้งที่น่าเข้าใจตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรก
แต่ก็อย่างว่า สำหรับ นายทักษิณ ก็เป็นแบบนี้ ที่เอาตัวเองเป็น “ศูนย์กลาง” เอาตัวรอดไว้ก่อน เหมือนกับคราวนี้ที่หลายคนเชื่อว่า “มีดีลลับ” ทำให้เขา “ได้กลับบ้าน” จนต่อรองไม่ต้องติดคุกหรือเปล่า และให้พรรคเพื่อไทยข้ามขั้วมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็แลกมาด้วยความ “เสื่อมถอย” ในทุกด้านอย่างที่เห็น โดยเฉพาะในเรื่องความนิยมที่เสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด และนับวันยิ่งถอยลงเรื่อยๆ พิสูจน์ได้จากผลสำรวจที่ออกมาที่ลดลงไปแบบมองไม่เห็นทางฟื้น
หากสังเกตหลังจากที่ นายทักษิณ ได้รับการ “พักโทษ” ที่สังคมต่างก็เข้าใจตรงกันว่านี่คือ “อภิสิทธิ์ชน” เหยียบย่ำกระบวนการยุติธรรม และยังออกเดินสายขึ้นเหนือล่องใต้ ทำตัวเหนือนายกรัฐมนตรี โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี ตรวจงานราชการ แม้ว่าจะแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีบารมีทุกคนสยบยอม แต่ในสายของสังคมแล้วย่อมออกมาเป็นลบมากกว่าบวก และสะสมความรู้สึกอึดอัดมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันสิ่งที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวยังผลกระทบไปยัง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ นายทักษิณ ชินวัตร กำลังปั้นให้เป็นทายาทสายตรงให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และพยายามจะผลักดันโครงการ และนโยบายสำคัญให้เธอทำ ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์, 30 บาทรักษาทุกที่ หรือแม้แต่ สงกรานต์เฟลติวัลทั้งเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ปังอย่างที่คิด
ล่าสุดเมื่อวันทที่ 3 พฤษภาคม 67 พรรคเพื่อไทยมีการจัดงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” เป้าหมายสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ มีเจตนาจะดันให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้แสดงวิสัยทัศน์ ในบทบาทของ “ผู้นำยุคใหม่” แต่เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมๆแล้ว มันก็ยังไม่ได้ผล เพราะเนื้อหาในการนำเสนอแม้จะพยายามทำให้เร้าใจและมีความหวัง มีความสำเร็จ แต่ด้วยภาพลักษณ์ของความเป็น “ลูกเถ้าแก่” ที่ไม่เคยผ่านการพิสูจน์ มีผลงานในเชิงประจักษ์ โตแบบผิดธรรมชาติ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะพยายามนำเสนอนโยบายและวิธีการทำงานในหลายเรื่อง
แต่ที่ถูกวิจารณ์หนักหน่วงตามมาแบบไม่คาดคิดก็คือการ วิจารณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ “แบงก์ชาติ” ที่กล่าวหาว่า “ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจ”
“พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมากที่สุด หากไม่เป็นแกนนำรัฐบาลผสมคงยากที่ปัญหาหมักหมมจะแก้ไขได้ กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานนี้ได้ 10 เดือนที่ผ่านมา เราใช้ความพยายามในการวิเคราะห์ เข้าใจ เพื่อแก้ปัญหาที่ยาก และซับซ้อน และก้าวเดินต่อในทุกมิติ เพราะเราเสียเวลาและโอกาสไปถึงเกือบ 2 ทศวรรษจากการรัฐประหาร เรามั่นใจว่าเราทำได้ และจะทำให้ได้คะแนนเต็ม 10 ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า”
แน่นอนว่าคำพูดดังกล่าวของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เหมือนกับการเปิดศึกกับแบงก์ชาติ ที่ไม่ทำตามความต้องการของฝ่ายการเมือง หรือรัฐบาล ซึ่งเป็นท่าทีที่สวนทางกับหลักการสากล ที่ต้องมีความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง ซึ่งหากมีการชี้นำหรือ “สั่งได้” ทุกอย่างย่อมต้องมีผลกระทบกับความเชื่อมั่นจะส่งผลกระทบตามมามากมาย
อีกทั้งคำกล่าวดังกล่าวของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นการ “อ่านโพย” ซึ่งมองอีกด้านหนึ่งเหมือนกับการตั้งใจมาพูด มีเจตนาเปิดศึกกับแบงก์ชาติโดยตรง ทำให้มองกันว่านี่คือการกดดันบีบคั้นให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ลาออกหรือไม่ก็ “ปลด” เป็นลำดับถัดไป ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องใหญ่
แต่นั่นไม่เท่ากับผลกระทบที่ย้อนกลับมาหาตัวเธอเอง และพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงรัฐบาล เพราะหากสำรวจความเห็นที่ออกมาล้วนมีแต่เสียงวิจารณ์ในทางลบแทบทั้งสิ้น
หากวิเคราะห์กันว่าการเคลื่อนไหวแต่ละอย่างที่ออกมาในช่วงนี้ทั้งจาก นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่มองกันแบบเข้าใจ เหมือนกับมีแรงกดดันให้เร่งมือ เพราะต้องการกลับมาให้ได้รับความนิยมแบบเดิม พยายามทำทุกทางให้ออกมาในลักษณะ “ต้องเหนือกว่าคนอื่น” เหมือนกับการคิดคำว่า “เพื่อไทยคิดใหญ่ทำเป็น” แต่กลายเป็นว่า “ทำไม่เป็น” ยิ่งเร่งยิ่งห่าง เช่น นโยบาย “ดิจิทัล วอลเล็ต” ที่แม้ว่าในที่สุดจะมีการแจกจริงๆ แต่ก็ถือว่าเสียเครดิต ไม่เป็นตามที่เคยพูดเอาไว้ เวลานี้ก็ยังต้องลุ้นกันอยู่ว่าจะออกมาแบบไหน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน มีเสียงวิจารณ์ดังขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นการที่บอกว่า “จะทำให้เต็มสิบ” ก่อนการเลือกตั้ง ดูตามรูปการณ์แล้ว น่าจะติดลบกว่าเดิมมากกว่า !!