xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 2 แนวทาง ‘ยิ่งลักษณ์’ ไม่นอนคุก ขอพักโทษ-จำคุกนอกเรือนจำ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



‘รศ.ดร.พิชาย’ เผยหลังกลับไทย ‘ยิ่งลักษณ์’ มี 2 แนวทางที่จะ‘กลับไปนอนอยู่บ้าน’ ขณะรับโทษจำคุก โดยหาก ‘ขอพักโทษ’ ต้องรับโทษจำคุกก่อน 2 ใน 3 แต่หากเลือก ‘จำคุกนอกเรือนจำ’ อาจง่ายกว่า เพราะพิจารณาอนุมัติโดยคณะกรรมการของกรมราชทัณฑ์ เชื่ออดีตนายกฯ ปู จะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ และล้มป่วยทันทีที่เข้ารับโทษ จากการตรวจสอบพบยังค้างอยู่ 2 คดี แต่น่าจะมีผลคดีเดียวคือ ‘คดีจำนำข้าว’



ประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในขณะนี้คือข่าวการเดินทางกลับไทยของ ‘น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งหนีคดีคอร์รัปชันไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลาหลายปี ด้วยหลายฝ่ายมองว่าการเดินทางกลับมาครั้งนี้น่าจะใช้โมเดลเดียวกับ ‘นายทักษิณ ชินวัตร’ ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งกรุยทางไว้ก่อนหน้า โดยแม้จะเข้ามอบตัวหลังเดินทางกลับไทย แต่ได้สร้างอภินิหาร ‘ติดคุกโดยไม่ต้องนอนคุก แม้แต่เพียงวันเดียว’

ส่วนว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์จะใช้วิธีการใด? และมีโอกาสจะได้กลับไปนอนบ้านเหมือนอดีตนายกฯ ทักษิณหรือไม่? คงต้องไปไล่เรียงกัน

แนวทางหลังเดินทางกลับไทยของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าขณะนี้คดีของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์นั้นยังเหลืออยู่ 2 คดี คือ

1.‘คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว’ หรือที่เรียกกันว่า ‘คดีจำจำข้าว’ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 ปี เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 โดยคดีนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาศาลเพื่อมาให้ถ้อยคำและฟังการไต่สวนครบทุกนัด ยกเว้นวันนัดฟังคำพิพากษาที่ไม่มา ก่อนจะทราบข่าวในช่วงสายวันเดียวกันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ทำให้ศาลฎีกาพิพากษาลับหลังจำเลย พร้อมกับออกหมายจับ และอายุความยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

2.‘คดีการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้เอกชน’ ซึ่งขณะนี้ยังค้างอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบเรื่องการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้เอกชน ภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2555 มีมติให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) รอบใหม่ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คัดเลือกและเจรจาเพื่อจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) กับบริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนิ (ไทยแลนด์) จำกัด รวมกำลังการผลิต 5,000 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนของอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ หากไล่เรียงดูจากสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าความเข้มข้นในการดำเนินคดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด และขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีคดีที่ค้างอยู่เพียง 2 คดีเท่านั้น แต่คดีที่น่าจะส่งผลต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดูจะมีเพียง ‘คดีจำนำข้าว’ ซึ่งศาลได้ตัดสินถึงที่สุดไปแล้ว ส่วน ‘คดีการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้เอกชน’ นั้นอาจจะมีน้ำหนักไม่มากนัก เนื่องจากการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าให้เอกชนเป็นหนึ่งในนโยบายพลังงานที่อยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองของพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชี้แจงว่า ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือปี พ.ศ.2555 เศรษฐกิจเติบโตถึง 7.2% คาดการณ์ว่าในปี 2556เศรษฐกิจจะโตกว่า 10% จึงต้องเตรียมพลังงานรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ว่าจะขยายได้ปีละ 5% จึงต้องเปิดประมูลเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ ส่วนที่หลายฝ่ายข้องใจว่าเหตุใดสัญญาจึงอิงกับเอกชน เพราะการสร้างโรงไฟฟ้านั้นต้องลงทุนสูง และหากสร้างแล้วรัฐรับไม่ซื้อไฟฟ้า โรงไฟฟ้าก็เจ๊ง ดังนั้นรัฐจึงต้องมีมาตรการจูงใจให้เกิดการลงทุน อย่างไรก็ดี คดีนี้ขึ้นอยู่กับการรวบรวมข้อมูลหลักฐานของอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.ว่าจะไปถึงตรงไหน อย่างไร

นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ส่วนคดีอื่นๆ นั้นอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์รอดหมดแล้ว เช่น คดีจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย หรือ Thailand 2020 วงเงิน 240 ล้านบาท ที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวก ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มี.ค.2567 ศาลฎีกามีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าไม่พบว่ามีเจตนาเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย

ขณะที่ คดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ ซึ่งเป็นคดีที่สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงขั้นที่ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อเร็วๆ นี้คือเมื่อวัน 26 ธ.ค.2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำสั่งยกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในข้อหาตามมาตรา 157

ดังนั้น การเดินทางกลับมาประเทศไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้นั้น ทีมกฎหมายของตระกูลชินวัตรจึงเน้นไปที่การรับมือกับ ‘คดีจำนำข้าว’ ซึ่งมีโทษจำคุก 5 ปี เป็นหลัก โดยต้องเลือกดำเนินการในแนวทางที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะได้รับโทษน้อยที่สุด รวมถึงรับโทษอยู่ในสถานที่ที่สะดวกสบายเช่นเดียวทักษิณซึ่งเป็นพี่ชาย ซึ่งแน่นอนว่าต้องไม่ใช่ ‘เรือนจำ’

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ชี้ว่า จากการประเมินในทางคดีแล้วเชื่อว่า เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับมาถึงเมืองไทยจะขอมอบตัวเพื่อเข้ารับโทษจำคุกในคดีจำนำข้าว จากนั้นคงจะขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ

1.ไม่ต้องรับโทษจำคุกเลย โดยจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นเวลา 5 ปีนั้น หากยื่นขอพระราชทานอภัยโทษแล้วทรงโปรดเกล้าพระราชทานอภัยลดโทษให้ทั้งหมด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ต้องรับโทษ ซี่งกรณีนี้อาจจะมีความเป็นไปได้ เนื่องจากหากเทียบกับกรณีของนายทักษิณซึ่งมีโทษจำคุก 8 ปี และได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือแค่ 1 ปี ขณะที่ยิ่งลักษณ์มีโทษจำคุก 5 ปีเท่านั้น และในทางปฏิบัติแล้วยิ่งลักษณ์ไม่ได้เกี่ยวพันกับคดีจำนำข้าวโดยตรง เป็นเพียงผู้คุมนโยบายในฐานะนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

2.ได้รับโทษจำคุกบางส่วน โดยเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษแล้วทรงโปรดเกล้าพระราชทานอภัยลดโทษให้บางส่วน จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้ารับโทษจำคุก แต่แน่นอนว่าหากดูจากทักษิณโมเดลแล้ว น้องเล็กของตระกูลชินวัตรคงไม่ต้องเข้าไปสัมผัสพื้นเรือนจำ โดยคงมีกระบวนการที่ทำให้ไม่ต้องนอนคุกแม้แต่เพียงวันเดียว เช่นเดียวกับพี่ชาย

รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า วิธีที่จะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถรับโทษอยู่นอกเรือนจำน่าจะเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ ขอพักโทษ และจำคุกนอกเรือนจำ

สำหรับการ ‘ขอพักโทษ’ นั้นจะมี 2 แบบด้วยกัน คือ

1) การขอพักโทษกรณีปกติ ซึ่งมีเงื่อนไขว่า นักโทษรายนั้นๆ จะต้องรับโทษจำคุกไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของโทษจำคุกที่ได้รับ

2) การขอพักโทษกรณีพิเศษ ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 3 ข้อ คือ

- จะต้องเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป

- มีภาวะป่วย ชราภาพ

- ต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก หรือต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป

ซึ่งจากคุณสมบัติของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นดูจะไม่เข้าเกณฑ์การขอพักโทษกรณีพิเศษ ดังนั้นหากจะขอพักโทษน่าจะเป็นการ ‘ขอพักโทษกรณีปกติ’ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์จะต้องรับโทษจำคุกไปแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของโทษจำคุกที่ได้รับ


ส่วนการ ‘จำคุกนอกเรือนจำ’ นั้น เนื่องจากหลังจากที่มีการลงนามประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วย ‘การดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566’ โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ซึ่งออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 โดยกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ไปออกระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะได้รับสิทธิคุมขังนอกเรือนจำว่าต้องมีคุณสมบัติเช่นไร ต้องรับโทษจำคุกมาแล้วกี่ปี คดีลักษณะใดบ้างที่ไม่เข้าข่าย และหากต้องไปคุมขังที่อื่นซึ่งไม่ใช่เรือนจำจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร มีกิจกรรมประจำวันอะไรบ้าง สถานที่ใดบ้างที่สามารถใช้เป็นสถานที่คุมขังแทนเรือนจำ รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่คุมขังด้วย โดยคาดว่าระเบียบดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2566 และสามารถบังคับใช้ได้ในปี 2567 แต่จนถึงขณะนี้กรมราชทัณฑ์ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมา

อย่างไรก็ดี ทันทีที่มีการลงนามประกาศเรื่องการจำคุกนอกเรียนจำก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าระเบียบดังกล่าวออกมาเพื่อเอื้อให้ 2 อดีตนายกฯ จากตระกูลชินวัตรซึ่งมีคดีติดตัวสามารถใช้ชีวิตอยู่นอกเรือนจำได้อย่างสะดวกสบายหลังจากเดินทางกลับไทย แม้ว่าในทางนิตินัยแล้วทั้งสองจะอยู่ในฐานะนักโทษซึ่งอยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกก็ตาม ดังนั้น การที่มีข่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 5 ปีจากคดีจำนำข้าวจะเดินทางกลับไทยในเร็วๆ นี้ จึงเป็นที่คาดการณ์กันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ น่าจะเลือกช่องทาง ‘การจำคุกนอกเรือนจำ’ มากกว่าการขอพักโทษ เนื่องจากน่าจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะแม้ว่าจะไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ยังสามารถอาศัยระเบียบการจำคุกนอกเรือนจำซึ่งอาจจะกำหนด ‘ระยะเวลารับโทษจำคุก’ ก่อนขอจำคุกนอกเรือนจำสั้นกว่า ‘ระยะเวลารับโทษจำคุก’ ก่อนขอพักโทษก็เป็นได้


ที่สำคัญในระเบียบของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ‘ผู้ที่จะเข้าเกณฑ์จำคุกนอกเรือนจำ’ ต้องเป็นผู้ต้องขังที่ผ่านการประเมินจาก ‘คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง’ โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะถูกแต่งตั้งโดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และอีกส่วนจะเป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ซึ่งแน่นอนว่าในเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ซึ่งกำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ มาจากพรรคประชาชาติ ซึ่งถูกกล่าวขานกันว่าเป็นสาขาสองของพรรคเพื่อไทย การที่คณะกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกรมราชทัณฑ์จะพิจารณาอะไรก็ต้องเกรงอกเกรงใจเจ้ากระทรวง และแกนนำรัฐบาลเป็นธรรมดา

“หากคุณยิ่งลักษณ์ได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ก็สามารถขอพักโทษแบบปกติได้ คือพอกลับมาถึงเมืองไทยคุณยิ่งลักษณ์ อาจจะป่วยเลย หรืออาจจะเป็นลมต้องหามส่งโรงพยาบาล แล้วทำเรื่องขอมอบตัว รับโทษจำคุก แต่เนื่องจากป่วยจึงรับโทษจำคุกอยู่ในโรงพยาบาล แล้วยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ หรือได้ลดโทษเหลือกี่ปีก็สุดแล้วแต่พระมหากรุณาธิคุณ เมื่อนับเวลารับโทษครบ 2 ใน 3 ก็ขอพักโทษ กลับไปอยู่บ้านได้ หรือหากคุณยิ่งลักษณ์จะขอจำคุกนอกเรือนจำก็มีความเป็นไปได้ เพราะอำนาจการพิจารณาอยู่ที่คณะทำงาน ซึ่งแต่งตั้งโดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

ทั้งนี้ ประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายต่างจับตาคือปฏิกิริยาของสังคมที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากปรากฏการณ์ “ไม่ต้องนอนคุกแม้แต่เพียงวันเดียว” ของสองพี่น้องตระกูลชินวัตร ซึ่ง ‘รศ.ดร.พิชาย’ มองว่า ระบบยุติธรรมของไทยจะถูกทำลายอย่างย่อยยับเป็นครั้งที่สอง ส่งผลให้เกิดกระแสความไม่พอใจในสังคมว่าระบบยุติธรรมไทยขึ้นอยู่กับว่าใครมีอำนาจในบ้านเมือง ใครมีอำนาจก็สามารถใช้อำนาจบงการให้ระบบยุติธรรมเป็นไปในทิศทางที่ตนเองต้องการได้

“การกระทำดังกล่าวของกรมราชทัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการให้นักโทษคดีคอร์รัปชันสามารถกลับไปอยู่บ้าน โดยอาศัยข้อกำหนดเรื่องการพักโทษ หรือการจำคุกนอกเรือนจำ ก็เท่ากับเป็นการลบล้างคำตัดสินของศาลซึ่งได้พิพากษาจำคุกไปแล้ว แต่คนเหล่านี้กลับไม่ต้องติดคุก เมื่อเป็นเช่นนี้คำพิพากษาของศาลก็ไม่มีความหมาย แล้วระบบยุติธรรมไทยจะเดินต่อยังไง” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น