xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจ "พม่า" ระส่ำหนัก! นักลงทุนไทยกระทบยาว ‘แรงงานพม่า’ ทะลักเข้าไทยไม่หยุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.อัทธ์” เผยพม่ากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การค้า-การลงทุนลดฮวบ ท่องเที่ยวนิ่งสนิท รัฐบาลทหารเร่งกว้านเก็บดอลลาร์เสริมทุนสำรองระหว่างประเทศ อีกทั้งขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก ชาวบ้านต้องต่อคิวซื้อแบบเดียวกับลาว หลายพื้นที่ไฟดับทั้งเมือง ขณะที่ภาคการผลิตหยุดชะงัก ชี้ “รัฐบาลทหารพม่า” พ่ายสงครามข่าวสาร ด้าน “รศ.ดร.ปิติ” หวั่นนักธุรกิจแห่ปิดกิจการ ทำแรงงานไหลเข้าไทย แนะผู้ประกอบการไทยในพม่าอดทน รอดูสถานการณ์ เชื่อหากรัฐบาลทหารและกลุ่มชาติพันธุ์ยังตกลงกันไม่ได้ภายในครึ่งปีหน้า สถานการณ์จะลากยาว ขณะที่ “สมาคมท่องเที่ยว” ระบุ บริษัททัวร์ส่วนใหญ่ไม่กล้าเสี่ยงจัดทัวร์พม่า เหตุประกันไม่รับเคลม

กรณีการสู้รบในพม่ากลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหลังจากข่าวลือสะพัดว่ามีการปลด “พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย” ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และนายกรัฐมนตรีพม่า ออกจากตำแหน่งเนื่องจากพ่ายศึกโกก้าง ทำให้ "มินอ่องหล่าย" ต้องเดินสายโชว์ตัวเพื่อสยบข่าวลือ โดยนำผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพพม่า เดินทางไปเยี่ยมและให้กำลังใจครอบครัวทหาร-ตำรวจที่เมืองล่าเสี้ยว

แต่หลายคนยังสงสัยว่าแท้จริงแล้วสถานการณ์ในพม่าเป็นเช่นไรกันแน่ และจะส่งผลกระทบต่อไทยหรือไม่ อย่างไร?

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากพม่า เปิดเผยถึงสถานการณ์ของพม่าในขณะนี้ ว่า การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในครั้งนี้นั้นมีอยู่ 2 สมรภูมิ คือ การสู้กันด้วยอาวุธ และการสู้กันด้วยข่าวสาร โดยในส่วนของการสู้รบด้วยอาวุธนั้นรัฐบาลทหารยังได้เปรียบอยู่เนื่องจากมีอาวุธที่มีอานุภาพมากกว่า ขณะที่การสู้รบด้วยสงครามข่าวสารรัฐบาลทหารพม่ากลับพ่ายแพ้ให้กลุ่มชาติพันธุ์อย่างย่อยยับ เนื่องจากข่าวที่ออกมาจากฝั่งที่สนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์นั้นทำให้ต่างชาติ หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในพม่าเข้าใจว่ามีการสู้รบอย่างรุนแรงในเกือบทุกพื้นที่ของพม่า รัฐบาลทหารพม่ากำลังถูกโอบล้อมและใกล้จะถูกตีแตก ขณะที่ในความเป็นจริงคือมีการสู้รบกันแค่บางจุด โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่มีกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น เขตคะฉิ่น รัฐชาน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเขา อยู่ห่างจากเขตเมืองซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และปกติพื้นที่ดังกล่าวก็มีการสู้รบกันอยู่แล้ว แต่ที่เป็นศึกหนักของรัฐบาลทหารพม่าเพราะการต่อสู้ครั้งนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีการรวมตัวกันเพื่อสู้กับรัฐบาลทหาร

ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารพม่าควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด สื่อจากตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น BBC CNN หรือ facebook ไม่สามารถเข้าไปในพม่าได้ เข้าได้แค่สื่อจีนเพราะรัฐบาลทหารพม่ายังไว้ใจจีนอยู่ ส่วนข่าวการสู้รบในพม่าที่ออกสู่สายตาชาวโลกออกนั้นเชื่อว่าส่วนใหญ่ออกไปจากคนที่อยู่นอกพม่า ทั้งคนพม่าที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศ คนพม่าที่ไปทำงานต่างประเทศ คนพม่าที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลทหารออกมาให้ข่าวนอกประเทศ รวมถึงข่าวจากองค์กรต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่า จึงทำให้ข่าวสารเกี่ยวกับพม่าที่เราเห็นเป็นไปในทางลบและรุนแรงกว่าที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้งมีการปล่อยข่าวกันภายในพม่าเพื่อสร้างความฮึกเหิมให้กลุ่มชาติพันธุ์และบั่นทอนขวัญกำลังใจของทหารพม่า

รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากสงครามข่าวสารดังกล่าวส่งผลให้เศรษฐกิจพม่าซบเซาอย่างหนัก ที่เห็นได้ชัดคือเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวในพม่าตอนนี้เงียบเหงามาก ก่อนรัฐประหารปี 2564 มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวพม่าปีละ 5 ล้านคน เงินเข้าประเทศปีละ 5 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันคนไปเที่ยวพม่าปีหนึ่งหลักหมื่นคนเท่านั้น ยิ่งมีข่าวว่าพม่ากำลังจะแตกคนต่างชาติไม่กล้าเข้าไปเที่ยว ร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร ไม่มีลูกค้า คนพม่าขาดรายได้ ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าออกมาก็ขายไม่ได้ เพราะคนพม่าไม่มีกำลังซื้อ ผู้ประกอบการไม่กล้าเข้าไปลงทุน

“รัฐบาลทหารพม่าไม่ได้แพ้สงครามด้านอาวุธและแพ้สงครามข่าวสาร ข่าวที่ออกมาว่าพม่าแตกแล้วทำให้ทหารพม่าขวัญหนีดีฝ่อ และส่งผลให้เศรษฐกิจพม่าพัง ผมเข้าไปในมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจอันดับ 2 ของพม่า ไม่มีอะไรเลย ไม่มีรถถัง ไม่มีทหารยืนถือปืน ไม่มีบังเกอร์ ไม่มีลวดหนาม ส่วนเคอร์ฟิวเที่ยงคืนถึงตี 4 นั้นมีมาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ร้านค้าต่างๆ เปิดปกติ แต่มันเงียบมาก ไม่มีคนไปเที่ยว ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปธุรกิจในพม่าจะต้องปิดตัวลงแน่ๆ เชื่อว่าอีกเป็นปีจึงจะเห็นภาพชัดว่าสถานการณ์ในพม่าจะจบลงอย่างไร” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว


รศ.ดร.อัทธ์ ชี้ว่า ในปี 2564 ที่มีการรัฐประหาร เศรษฐกิจพม่าติดลบ 18% ส่วนปีนี้และปีหน้าคาดการณ์ว่าจะเศรษฐกิจพม่าจะโต 2.6% ซึ่งเหตุที่เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนได้อยู่เพราะยังมีทุนเดิม เอฟดีไอ (การลงทุนจากต่างประเทศ) เดิมๆ ที่ยังอยู่ การค้ากับไทยและการค้าขายกับจีนยังพอไปได้ แต่ตอนนี้จีนปิดด่านระหว่างจีน-พม่าเพื่อสกัดกลุ่มจีนสีเทา นานๆ ครั้งจึงจะเปิดเป็นช่วงๆ ส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างพม่ากับจีนหยุดชะงัก ทำให้คนพม่าขาดรายได้ ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคที่นำเข้าจากจีนนั้นยังหาซื้อจากประเทศไทยได้ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทางการค้าที่ดีของไทย

นอกจากนั้น ตอนนี้ค่าเงินพม่าอ่อนมาก และพม่ากำลังขาดแคลนดอลลาร์ที่จะใช้ในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ที่สำคัญพม่ากำลังขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก ทั้งจากสาเหตุการขาดแคลนเงินดอลลาร์ที่ใช้ซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ และจากกรณีที่สิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งเป็นแนวร่วมของสหรัฐฯ และไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลทหารพม่าใช้ความรุนแรงกับประชาชน จึงไม่ขายน้ำมันให้พม่า ปัจจุบันประชาชนพม่าต้องเข้าคิวซื้อน้ำมันแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับ สปป.ลาว อีกทั้งเกิดไฟดับวันละหลายครั้ง หรือบางพื้นที่ไฟดับทั้งหมู่บ้าน ทำให้โรงงานต่างๆ ต้องหยุดการผลิตเป็นระยะ และในอนาคตอาจต้องปิดกิจการลง ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารพม่ากำลังใช้มาตรการด้านพลังงานสกัดการโจมตีของกลุ่มชาติพันธุ์เพราะหากไม่มีน้ำมันเติมรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์การเดินทางเข้าโจมตีกองกำลังฝ่ายรัฐบาลทหารก็ทำได้ยาก ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเศรษฐกิจของพม่าจะยิ่งย่ำแย่ลงอีก

“สมมตินักลงทุนไทยถือเงินเข้าไปในพม่า 100 ดอลลาร์ ต้องแลกเป็นเงินจ๊าตของพม่าถึง 70 ดอลลาร์ ถือดอลลาร์ไว้ได้แค่ 30 เหรียญ เพราะรัฐบาลพม่าต้องการดอลลาร์เพื่อใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้นักลงทุนมีปัญหาในการซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศเพราะต้องซื้อด้วยดอลลาร์ ยกเว้นซื้อจากจีนกับไทยเพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายจ๊าต-บาท จ๊าต-หยวน คือสามารถใช้เงินจ๊าตจ่ายค่าสินค้าจากไทยและจีนได้ นี่จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะขายสินค้าให้พม่าได้มากขึ้น” รศ.ดร.อัทธ์ ระบุ

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้าน รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ในพม่าส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างแน่นอน โดยในส่วนของผู้ประกอบไทยที่ส่งสินค้าไปขายในพม่านั้นจะขายสินค้าได้น้อยลงเนื่องจากพม่ามีปัญหาด้านเศรษฐกิจ การจ้างงานลดลง ทำให้กำลังซื้อถดถอย ขณะที่ผู้ประกอบการที่เข้าไปลงทุนผลิตสินค้าในพม่า เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ จะมีปัญหาเรื่องการส่งออกเพราะไม่สามารถส่งสินค้าไปขายในประเทศแถบตะวันตกเนื่องจากประเทศเหล่านี้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรพม่ามากยิ่งขึ้น แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง ผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหวต้องปิดกิจการลง แรงงานพม่าจะไหลเข้าไทย

เชื่อว่าครึ่งปีหน้าจึงจะเห็นความชัดเจนว่าสถานการณ์ในพม่าจะไปในทิศทางใด เศรษฐกิจมีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้นหรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปประกอบกิจการในพม่าควรจะอดทนประคับประคองธุรกิจไปก่อน ไม่ด่วนปิดกิจการแล้วถอนตัวออกมาเพราะจะขาดทุนแน่ๆ อีกทั้งการจะเอาเงินออกมาก็ลำบาก แต่หากสามารถประคับประคองกิจการไว้ได้ รอจนสถานการณ์คลี่คลาย ประชาชนพม่ากลับมามีงานทำจะได้ใจชาวพม่า ไม่ว่ากลุ่มใดชนะ เชื่อว่าชาวพม่าจะกลับมาอุดหนุนสินค้าและบริการของผู้ประกอบการไทย

“พม่าเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรถึง 55 ล้านคน และยังมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ซึ่งในบางธุรกิจไทยอาจจะได้เปรียบเพราะไม่มีคู่แข่ง และไม่ค่อยมีประเทศไหนที่ค้าขายกับพม่า อย่างโรงพยาบาลธนบุรีที่เข้าไปเปิดในพม่าตอนนี้มีผู้ป่วยไปใช้บริการเยอะมาก” รศ.ดร.ปิติ กล่าว

น.ส.อรินทร์ชยา บรรเจิดศิริ ประชาสัมพันธ์สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA)
รศ.ดร.ปิติ กล่าวต่อว่า นอกจากจากนั้นครึ่งปีหน้าคงจะเห็นความชัดเจนทางการเมืองว่ารัฐบาลทหารพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถประนีประนอมกันได้หรือไม่ ถ้าพูดคุยกันได้และนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่โดยให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ปกครองตัวเองแบบเขตปกครองพิเศษจะทำให้พม่ากลับมาสงบอีกครั้ง แต่หากทำไม่ได้อาจนำไปสู่จุดแตกหัก ทำให้ทหารไม่มีที่ยืน สถานการณ์จะลากยาว อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่ารัฐบาลทหารพม่าจะล่มสลายในเร็ววัน

ขณะที่ น.ส.อรินทร์ชยา บรรเจิดศิริ ประชาสัมพันธ์สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) เปิดเผยถึงสถานการณ์ของธุรกิจทัวร์เอาต์บาวนด์ที่นำนักท่องเที่ยวไทยไปเที่ยวพม่า ว่า เห็นได้ชัดเจนว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาบริษัททัวร์ส่วนใหญ่ไม่อยากจัดทัวร์ไปเพม่าเนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ ไม่รู้ว่าจะเกิดการสู้รบขึ้นที่ไหนเมื่อไหร่ จึงไม่อยากพาลูกทัวร์ไปเสี่ยงเพราะหากเกิดอะไรขึ้นบริษัทต้องแบกรับความเสียหายทั้งหมดเนื่องจากประกันการเดินทางจะไม่คุ้มครองเหตุที่เกิดจากการชุมนุม การจลาจล และสงคราม ขณะที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่มั่นใจที่จะเดินทางไปเที่ยวพม่าเช่นกัน แต่ยังมีบางบริษัทที่ยังจัดทัวร์ไปพม่าอยู่ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ อย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j




กำลังโหลดความคิดเห็น