xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” แนะ “พีระพันธุ์” แก้ประโยชน์ทับซ้อนในกระทรวงพลังงาน รื้อโครงสร้างกำไรโรงกลั่น ตั้งเพดานค่าการกลั่นต่อลิตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ธีระชัย” ชื่นชม “พีระพันธุ์” เดินงานเชิงรุก บุกคุยศุลกากรหาต้นทุนกำไรน้ำมัน แนะนโยบายเพื่อประชาชน แก้ประโยชน์ทับซ้อนในกระทรวงพลังงาน รื้อกำไรโรงกลั่นที่บวกเข้าในเนื้อน้ำมัน และกำไรจากการกลั่นต่อลิตร ปรับโครงสร้างกำไรโรงกลั่น ห้ามบวกกำไรในเนื้อน้ำมัน และกำหนดเพดานอัตราค่าการกลั่นต่อลิตรสูงสุด

วันนี้ (24 ก.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสตฺ์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความเห็นกรณีนายพีระพันธุ์ สารีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ไปคุยกับกรมศุลกากร เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนกำไรน้ำมัน ว่า พีระพันธุ์ ถกกรมศุลข้อมูลน้ำมัน คลิปนี้ (https://www.facebook.com/reel/207967932293993) บรรยายว่า รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีพลังงาน นายพีระพันธุ์ ต้องเข้าไปคุยกับกรมศุลกากร เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนกำไรน้ำมัน เพราะยังไม่พอใจข้อมูลภายในกระทรวงพลังงาน และข้อมูลที่ได้จากบริษัทธุรกิจพลังงาน ว่าต้นทุนกำไรแต่ละขั้นตอนเป็นเท่าไหร่

ผมขอชื่นชมรัฐมนตรีพลังงาน ที่เดินงานเชิงรุก พยายามจะคิดนโยบายเพื่อประชาชน ผมจึงขอเสนอแนะต่อท่าน 3 ประการ

***ประการที่หนึ่ง ปัญหาประโยชน์ทับซ้อนในกระทรวงพลังงาน

อยากเสนอแนะท่าน ให้ตรวจสอบข้อมูลภายในกระทรวงพลังงานซ้ำ เพราะข้าราชการระดับสูงมีประโยชน์ทับซ้อนมานาน

มีอดีตรัฐมนตรีพลังงานคนหนึ่ง ที่แก้ไขกฎกติกา เอื้อให้ข้าราชการกระทรวงพลังงาน ไปนั่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจนี้

ทำให้เกิดประเพณี บุคคลที่กุมอำนาจกำกับดูแลธุรกิจ ไปนั่งในบริษัทที่ทำธุรกิจ ทำเช่นนี้ได้ ทั้งในช่วงเวลาระหว่างเป็นข้าราชการ และภายหลังเกษียณอายุ

จากที่ผมเคยสัมผัส ผมจึงเห็นว่า ข้าราชการกระทรวงพลังงาน มองปัญหาพลังงานจากแง่มุมของบริษัทธุรกิจ มากกว่ามองจากแง่มุมของประชาชน

ดังนั้น ถ้าหากท่านต้องการข้อมูลที่แท้จริง ท่านควรเชิญผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ไปร่วมประชุม

***ประการที่สอง ต้องรื้อกำไรของโรงกลั่นทั้งสองส่วน

ต้นทุนของโรงกลั่นในไทยมี 2 ส่วน (ก) ต้นทุนน้ำมันดิบนำเข้า (ข) ต้นทุนการกลั่นต่อลิตร

เนื่องจากไทยอนุญาตให้โรงกลั่นอ้างราคาสิงคโปร์ ดังนั้น โรงกลั่นได้กำไรสองส่วน (1) บวกกำไรในเนื้อน้ำมัน (2) บวกกำไรการกลั่นต่อลิตร

โรงกลั่นในไทยสามารถบวกกำไรการกลั่นต่อลิตร สูงขึ้นได้ตามอัตราของสิงคโปร์ ถึงแม้ต้นทุนการกลั่นต่อลิตรในไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น

ผมขอเรียนให้ท่านทราบว่า อัตรากำไรการกลั่นทั่วโลกกำลังขยับสูงขึ้น (ดูรูป) และจะสูงขึ้นไปอีกในอนาคต เพราะรัสเซียประกาศหยุดการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป


นอกจากนี้ อินเดียเป็นประเทศที่ซื้อน้ำมันดิบราคาถูกจากรัสเซีย เอาไปกลั่นและส่งออกเป็นน้ำมันสำเร็จรูปอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ธุรกิจนี้มีแนวโน้มจะสะดุด เพราะที่ผ่านมา อินเดียขอจ่ายค่าน้ำมันเป็นสกุลรูปี แต่รัสเซียประสบปัญหา มีการซื้อสินค้าจากอินเดียไม่มาก

รัสเซียไม่สามารถเอาเงินรูปี ไปใช้ที่ประเทศอื่นใด

รัสเซียจึงกำลังเกี่ยง ขอเจรจาให้อินเดียชำระค่าน้ำมันในสกุลอื่น ซึ่งถ้าอินเดียไม่ยอม ปริมาณซัพพลายน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก ก็จะยิ่งลดลง

โรงกลั่นน้ำมันทั่วโลก ก็จะสามารถบวกกำไรการกลั่นต่อลิตรสูงขึ้น รวมไปถึงโรงกลั่นที่สิงคโปร์

ดังนั้น ในอนาคต โรงกลั่นในไทยจะสามารถบวกกำไรการกลั่นต่อลิตร สูงขึ้นไปตามสิงคโปร์ด้วย ทั้งที่ต้นทุนการกลั่นต่อลิตรในไทยไม่สูงขึ้น

ถ้ารัฐมนตรีพลังงานไม่มีมาตรการป้องกัน ต่อไป ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยก็จะสูงขึ้น

กำไรส่วนเกิน จะตกไปเป็นลาภลอยของโรงกลั่นในไทย จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน

***ประการที่สาม วิธีปรับปรุงโครงสร้างกำไรของโรงกลั่น

ผมแนะนำแนวคิดวิธีปรับปรุง ดังนี้

หนึ่ง ห้ามบวกกำไรในเนื้อน้ำมัน

หลักการนี้คือ น้ำมันดิบ 1 บาร์เรล กลั่นได้น้ำมันสำเร็จรูปเท่าไหร่ ให้โรงกลั่นกำหนดราคาพื้นฐานเพื่อขายน้ำมันสำเร็จรูปแต่ละชนิด โดยไม่บวกกำไร

วิธีนี้จะป้องกันไม่ให้โรงกลั่นฉวยโอกาสบวกกำไร โดยลงราคาน้ำมันสำเร็จรูป ช้ากว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลง

สอง กระทรวงพลังงานกำหนดเพดานอัตราค่าการกลั่นต่อลิตรสูงสุด

การกำหนดเพดานอัตราค่าการกลั่นต่อลิตรสูงสุด จะช่วยเป็นเขื่อน กั้นไม่ให้อัตราค่าการกลั่นที่สูงขึ้นในตลาดโลก ไหลมากระทบผู้บริโภคไทย

และจะป้องกันไม่ให้โรงกลั่นในไทย ช่วยโอกาสบวกกำไรลาภลอย อันเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

แต่ทั้งนี้ จะต้องกำหนดเพดานอัตราค่าการกลั่นต่อลิตรสูงสุด ที่ทำให้โรงกลั่นในไทยมีกำไรคุ้มกับค่าใช้จ่าย และคุ้มกับเงินลงทุน

เพดานอัตราค่าการกลั่นต่อลิตรสูงสุดนี้ สมควรพิจารณาทบทวนทุกสามเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลง

และเมื่อใดที่ไม่มีบริษัทยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่ง บริษัทใดที่ควบคุมกำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศไทย เกินกว่าร้อยละ 25 ของทั้งประเทศ

จึงจะยกเลิกการกำหนดเพดานอัตราค่าการกลั่นต่อลิตรสูงสุด

อนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้การขาดแคลนน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก มากระทบผู้บริโภคในไทย

ผมแนะนำให้ท่านสั่งการ โรงกลั่นในไทยที่จะส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป จะต้องกันจำนวนให้พอใช้ในประเทศไว้ก่อน ไม่ให้ขาดแคลน

ผมขอให้ไว้เป็นแนวคิดเพื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นครับ

วันที่ 24 กันยายน 2566
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ในฐานะประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น