3 องค์กรภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ร่วม ขอบคุณรัฐบาลที่ออกมาตรการลดราคาพลังงาน แต่ยังไม่เป็นไปตามที่พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลได้ให้สัญญาประชาคมก่อนเลือกตั้ง เป็นแค่การลดชั่วคราว ไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ จึงเรียกร้อง 10 ข้อ เพื่อราคาไฟฟ้าและน้ำมันที่เป็นธรรมและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อราคาพลังงานที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์ร่วมต่อ มติ ครม.นายกเศรษฐา ทวีสิน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เราขอแสดงความขอบคุณแทนพี่น้องประชาชนทั้งประเทศในการลดราคาพลังงาน เพื่อลดค่าครองชีพ
แต่หากจะศึกษาวิธีการลดราคาพลังงานในครั้งนี้แล้ว พบว่า ไม่เป็นไปตามเจตนาของ พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ได้ให้สัญญาประชาคมเอาไว้ก่อนการเลือกตั้ง และไม่เป็นการลดราคาแบบเป็นธรรมและยั่งยืน เนื่องจากไม่ได้มีการแก้ไขที่ต้นเหตุของราคาพลังงานที่ยังไม่เป็นธรรม นั่นคือ เป็นการลดราคาเฉพาะหน้าชั่วคราวเท่านั้น และภาระที่ลดราคาลงไปนั้น คือ ภาระหนี้สินและภาระที่ต้องถูกบังคับจ่ายในอนาคตในรูปแบบต่างๆ ของโครงสร้างราคาพลังงานในแต่ละชนิด
เพื่อให้การปฏิรูปโครงสร้างพลังงานอย่างแท้จริง และเป็นธรรมต่อประชาชน ท่านนายกในฐานะ ผู้นำประเทศ และ ประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ ขอให้ท่านใช้อำนาจและกลไกลที่ท่านมีอำนาจ ได้โปรดแก้ไขและปฏิรูปอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ท่านให้สัญญาประชาคมเอาไว้
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ในการปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิด อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
สภาองค์กรของผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และ กลุ่มผีเสื้อกระพือปีกภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อราคาพลังงานที่เป็นธรรม จึงมีข้อเรียกร้อง 10 ประการ เพื่อราคาไฟฟ้าและน้ำมันที่เป็นธรรมและยั่งยืนตามเอกสารแนบมาท้ายแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้
ขอแสดงความนับถือ
สภาองค์กรของผู้บริโภค
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) และ
กลุ่มผีเสื้อกระพือปีกภาคีเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อราคาพลังงานที่เป็นธรรม
15 กันยายน 2566
10 ข้อเรียกร้องเพื่อราคาไฟฟ้าและน้ำมันที่เป็นธรรมและยั่งยืน
ค่าไฟฟ้า
โดยมติ ครม.จะปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย โดยกระทรวงพลังงานร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะดำเนินการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการคิดราคาก๊าซธรรมชาติ Pool gas ให้ไม่เกินค่าประมาณการคงที่ ประมาณ 305 บาทต่อล้านบีทียู และให้นำส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บไปทยอยเรียกเก็บคืน ซึ่งจะทำให้ปรับลดราคาค่าไฟฟ้าลงได้อีก ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงเพิ่มเติม ดังนี้
ข้อเรียกร้อง
1. แก้ปัญหาโรงไฟฟ้าล้นระบบ รัฐบาลต้องหยุด กฟผ. ทำสัญญาซื้อไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แห่งใหม่ทั้งในและนอกประเทศทุกแห่ง
2. แก้ปัญหาค่าไฟบ้านแพง รัฐบาลต้องสั่งปลดล๊อคโซลาร์ภาคประชาชน ไฟที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านให้คิดค่าไฟแบบหักลบหน่วยไฟฟ้า การไฟฟ้าขายไฟให้ประชาชนหน่วยละเท่าไหร่ ให้ซื้อไฟโซลาร์เซลล์จากประชาชนในราคาเดียวกัน
3. ลดต้นทุนค่าก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้า รัฐบาลต้องนําราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่โรงแยกก๊าซและปิโตรเคมีใช้มาคิดถัวเฉลี่ยรวมด้วย จะทำให้ราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าถูกลง
4. แผนผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และแผนพลังงานอื่นๆ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมกำหนดต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง กว้างขวาง
5. ให้พัฒนาระบบซื้อ-ขายส่งไฟฟ้าที่สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐอย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเจรจาลดภาระที่ไม่เป็นธรรมในสัญญาโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่มีอยู่
มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ในภาวะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกขยับสูงขึ้น
ข้อเรียกร้อง
6. ต้องลดภาษีสรรพสามิต เพื่อลดการใช้เงินกองทุนน้ำมันชดเชยราคา
7. คุมราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ควรเก็บภาษีน้ำมันไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร และต้องคุมราคาไบโอดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรด้วย
8. ดูแลราคาเบนซินแก๊สโซฮอล์ 95 ไม่ควรเกิน 35 บาทต่อลิตร ควรเก็บภาษีน้ำมันไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร ต้องคุมราคาเอทานอลผสมน้ำมันต้องไม่เกินราคาเบนซินที่หน้าโรงกลั่น และต้องคุม ค่าการตลาดไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร
9. เติมเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อลดภาระหนี้ 55,000 ล้านบาท ต้องเก็บเงินจาก LPG ที่กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ ในอัตรา2 บาทต่อกิโลกรัม
10. คุมราคาก๊าซหุงต้มที่จำหน่ายให้ประชาชน ต้องเลิกใช้สูตรอิงราคาตลาดซาอุดีอาระเบียและใช้สูตรต้นทุนเฉลี่ยในประเทศแทน