xs
xsm
sm
md
lg

รัฐอัด "ประชานิยม" ลดดีเซล-ค่าไฟฝ่ามรสุมกับดักหนี้พลังงานกว่าแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในที่สุดรัฐบาลภายใต้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา 1 ก็ประเดิมออกมาตรการตามที่หาเสียงไว้ นั่นคือการลด ค่าครองชีพประชาชนทันทีด้วยการปรับลดราคาพลังงาน ผ่านมติ ครม.นัดแรกเมื่อ 13 ก.ย. 66 โดยได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ 2 ด้าน ได้แก่

1. มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเห็นชอบตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร เริ่ม 20 ก.ย.-31 ธ.ค.นี้โดยใช้กลไกการลดภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบริหาร ส่วนราคาเบนซินจะมีการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และแท็กซี่โดยจะพิจารณามาตรการเพื่อเสนอ ครม.อีกครั้งระหว่างนี้ให้ดูเรื่องค่าการตลาดให้อยู่ระดับ 2 บาท/ลิตร

ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ครัวเรือนกำหนดให้ขยายมาตรการตรึงราคาขายปลีก 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค. 66 ผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งจะมีมาตรการช่วยเหลือส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มให้ผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเป้าหมาย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

2. มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ให้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวด ก.ย.-ธ.ค. 66 เดิมที่อัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย โดยกระทรวงพลังงานร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะดำเนินการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการคิดราคาก๊าซธรรมชาติ Pool gas ให้ไม่เกินค่าประมาณการคงที่ประมาณ 305 บาทต่อล้านบีทียู และให้นำส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บไปทยอยเรียกเก็บคืน ซึ่งจะทำให้ปรับลดราคาค่าไฟฟ้าลงได้อีก พร้อมกันนี้จะมีมาตรการช่วยกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ที่จะเสนอ ครม.ต่อไป

เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดแล้วการปรับลดราคาพลังงานในครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินนโยบายระยะสั้นที่ยังคงอาศัยมติ ครม.เคาะลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 2.5 บาทต่อลิตร เพื่อให้ระดับราคาน้ำมันอยู่ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร (ปัจจุบัน 31.99 บาทต่อลิตรเพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน-31 ธันวาคมนี้ ส่วนการลดอัตราค่าไฟฟ้าลงจาก 4.45 บาทต่อหน่วย เป็น 4.10 บาทต่อหน่วยก็ใช้งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อยืดหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยจะมีผลทันบิลค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค. 66 โดยมอบให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปสู่ภาคปฏิบัติ

ระยะสั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับรายจ่ายของประชาชนที่จะปรับลดลงด้านพลังงานแต่ในส่วนของการลดราคา สินค้าที่ทุกครั้งเวลาดีเซลขึ้น ราคา LPG ขึ้นทุกอย่างก็พาเหรดขึ้นราคากันถ้วนหน้า โดยเฉพาะข้าวแกง ที่ขึ้นที 5-10 บาท/จาน แต่ขึ้นแล้วการลดลงอย่าหวัง …. แม้ว่าล่าสุด นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์จะสั่งด่วนให้ดีลผู้ประกอบการลดราคาสินค้าลงมาหลังราคาพลังงานถูกลงภายใน 15 วัน งานนี้คงต้องมาลุ้นกันว่าทางปฏิบัติจะเกิดผลได้มากน้อยเพียงใด

หนี้กองทุนน้ำมันฯ-ค่าไฟกว่าแสนล้าน ภาระที่ ปชช.ต้องจ่าย

ท่ามกลางการลดราคาพลังงานของรัฐบาลก็ต้องไม่ลืมว่าประชาชนเองยังมีภาระที่ต้องทยอยจ่ายคืนเงินที่มีการอุดหนุนราคาดีเซล LPG และค่าไฟกันไว้ก่อนหน้านี้รวมๆ กันกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ ณ วันที่ 10 ก.ย. 66 มีฐานะสุทธิติดลบ 59,085 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 14,311 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ 44,774 ล้านบาท ขณะที่ค่าไฟฟ้านั้นยังคงมีภาระที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงไว้แทนประชาชนอีกราว 1.1 แสนล้านบาท ที่จะมีการนำไปทยอยหักลบในค่าไฟฟ้าแต่ละงวดต่อไป…แน่นอนว่าภาระเหล่านี้ประชาชนก็ต้องจ่ายอยู่ดี

เมื่อดูแนวโน้มราคาน้ำมันปลายปีก็ยิ่งหวาดเสียวว่าภาระที่กองทุนน้ำมันฯ จะต้องควักจ่ายเพื่อดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/วันสูงขึ้นไปอีกตามราคาตลาดโลกที่เริ่มขยับหลังจากที่ตลาดน้ำมันโลกยังคงให้น้ำหนักการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย 1 ล้านบาร์เรล/วันไปจนถึงสิ้นปี ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูหนาวหลายประเทศเริ่มจะมีการสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น โดย ณ วันที่ 14 ก.ย. 66 ราคาน้ำมันดิบดูไบแตะ 93.66 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ดีเซลนั้น 125.19 เหรียญ/บาร์เรล จากความต้องการของจีนที่มีเข้ามาก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว

นี่เพียงแค่เริ่มต้นยังไม่ได้เข้าสู่ฤดูหนาวของยุโรปราคายังกระโดดไปสูงระดับนี้ ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ควักเงินอุ้มราคาดีเซล ณ 15 ก.ย. 66 กลับมาทำสถิติใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.71 บาท/ลิตร ดังนั้นเท่ากับว่าหากไม่มีการอุ้มราคาขายปลีกจริงดีเซล ณ วันที่ 15 ก.ย.จะมีราคาถึง 39.65 บาท/ลิตรกันเลยทีเดียว? ก็คงต้องติดตามราคาดีเซลตลาดโลกใกล้ชิดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลล่าสุดจะลดภาษีฯ ดีเซลให้ 2.50 บาท/ลิตรซึ่งกองทุนฯ จะมีการบริหารจัดการโดยลดราคาขายปลีกหน้าปั๊มให้ 2 บาท/ลิตร และที่เหลือ 0.50 บาท/ลิตรนำมาช่วยกองทุนลดภาระฯ ก็ถือว่าช่วยได้เล็กน้อย ดังนั้น หากราคาน้ำมันตลาดโลกขยับสูงภาระการอุดหนุนก็ย่อมขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน

ทั้งนี้ หากมองย้อนไปก่อนหน้ากองทุนน้ำมันฯ มีการอุดหนุนดีเซลและ LPG จนกระทั่งทำให้ติดลบสูงถึง 1.3 แสนล้านบาทก่อนที่ดีเซลจะอ่อนตัวลงมาทำให้ภาระอุดหนุนเริ่มทยอยลดลง ท่ามกลางการกู้เงินที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้ดำเนินการกู้มาใช้แล้ว 5.5 หมื่นล้านบาท และอยู่ระหว่างเตรียมกู้รอบใหม่มาใช้อีก 5.5 หมื่นล้านบาทเพิ่มเติมตามกรอบวงเงินกู้ที่ได้มีการบรรจุอยู่ในหนี้สาธารณะแล้ว 1.1 แสนล้านบาทจากกรอบเงินกู้ทั้งสิ้น 1.5 แสนล้านบาท


ภาคเอกชน-นักวิชาการจี้ปรับโครงสร้าง
การลดราคาพลังงานครั้งนี้แม้จะได้รับเสียงปรบมือจากประชาชนทั่วไปแต่ก็ยังมีหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชนและนักวิชาการที่เห็นว่านี่เป็นเพียงการช่วยดูแลค่าครองชีพเฉพาะหน้าที่ส่วนหนึ่งก็ต้องทำตามสัญญาจากการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลด้วย แต่สิ่งที่ยั่งยืนกว่าคือระยะกลาง และระยะยาวต้องมีการปรับโครงสร้างพลังงาน ที่จะทำอย่างไรให้ไทยสามารถรับมือกับสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกได้แบบมีประสิทธิภาพในทุกวิกฤตในฐานะที่ไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลักเพื่อให้ทุกภาคส่วนมีพลังงานที่มั่นคง ราคาเป็นธรรม และสอดรับกับเทรนด์ของโลกในเรื่องของพลังงานสะอาด ที่จะขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้

โดยการแก้โครงสร้างราคาน้ำมันที่ต้องว่ากันตั้งแต่ราคาหน้าโรงกลั่น ค่าการตลาดที่เหมาะสม การแก้ไขกองทุนน้ำมันฯ ที่จะต้องมองบทบาทให้ตรงกับวัตถุประสงค์ทางกฎหมาย และการกู้เงินที่มากเกินไปนั้นเหมาะสมกับฐานะการคลังประเทศหรือไม่อย่างไร รวมไปถึงปัจจุบันน้ำมันของไทยมีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพ กลุ่มเบนซินก็ผสมเอทานอลเป็นแก๊สโซฮอล์ ดีเซลก็ผสมไบโอดีเซล ที่ต้องยอมรับว่าต้นทุนเอทานอลและไบโอดีเซลบ่อยครั้งที่มีราคาแพงกว่าเนื้อน้ำมันทำให้เมื่อผสมราคาก็สูงขึ้น หากรัฐมองการช่วยเกษตรกรก็ต้องมองปลายทางที่ผู้ใช้น้ำมันก็ไม่ควรแบกรับภาระด้วย ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตของเชื้อเพลิงชีวภาพต่ำลง

นอกจากนี้ พลังงานกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด น้ำมันจะใช้ลดลงทั้งจากโรงกลั่นและเชื้อเพลิงชีวภาพเพราะรถจะหันไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ฯลฯ เหล่านี้ล้วนต้องนำไปสู่การวางแผนพลังงานต่างๆ ให้สอดรับกับโลกอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า 5 แผนพลังงานชาติที่ประกอบด้วย 5 แผนได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) จะต้องทบทวนให้ละเอียดคำนึงถึงระยะสั้น กลาง ยาว สำคัญสุดคือต้องทำให้ราคาเหมาะสม นำพาประเทศแข่งขันได้

โดยเฉพาะแผน PDP น่าจะเป็นหัวใจสำคัญของค่าไฟฟ้าที่มีการตำหนิรัฐบาลที่ผ่านๆ มาเร่งการรับซื้อจนทำให้ปริมาณสำรองเกินความต้องการ และยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่ทำให้การใช้ไฟลดลงไปมาก แต่กระนั้นเมื่อสำรองค่อนข้างสูงจึงมีคำถามว่าควรจะรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร ขณะเดียวกัน เอกชนที่ทำสัญญาไม่ว่าจะได้ผลิตหรือไม่แต่รัฐบาลต้องจ่าย "ค่าความพร้อมจ่าย" (AP) แต่ละปีที่ผ่านมากว่า 84,000 ล้านบาทและถูกผลักมาเป็นค่าไฟที่ประชาชนต้องแบกรับซึ่งรัฐควรจะมีการปรับโครงสร้างสิ่งนี้

อย่างไรก็ตาม ควรมุ่งให้ประชาชนพึ่งพาตนเองผ่านการส่งเสริมและติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟจากแสงอาทิตย์ได้เพื่อลดรายจ่ายให้มากขึ้น ฯลฯ เหล่านี้ถือเป็นโจทย์หินของรัฐบาลปัจจุบันที่ประชาชนต่างฝากความหวังไว้เพราะราคาพลังงานที่แพงในช่วงที่ผ่านมาได้ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า...และไม่อาจปฏิเสธว่าประชาชนส่วนใหญ่ต่างมองว่ารัฐบาลมักจะดูแลนายทุนมากกว่าประชาชน โดยในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 66 ที่รัฐสภา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมอภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยได้กล่าวว่า

“ขอให้ท่านสมาชิกมั่นใจได้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนมากกว่าการทำธุรกิจด้านพลังงาน เราจะทำให้พี่น้องประชาชนได้รับการบริการ หรือการเข้าถึงพลังงานในราคาที่เป็นธรรม และเหมาะสมให้เร็วที่สุด และจะวางโครงสร้าง การกำหนดราคาพลังงานเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ให้เกิดเป็นมรรคผล กับพี่น้องประชาชน และเพื่อความมั่นคงด้านพลังานของประเทศต่อไป”

เมื่อรัฐบาลเพิ่งเริ่มปฏิบัติงานคงต้องให้โอกาสพิสูจน์ฝีมือ งานนี้ขอให้ติดตามกันใกล้ชิดว่า สิ่งที่ประชาชนตั้งความหวังไว้ในเรื่องของการพลิกโฉมหน้าพลังงานใหม่ที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยตรงนั้นจะเป็นเพียงโปรโมชันชั่วคราว หรือจะเป็นจริงตามคำมั่นสัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น