xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง! “บิ๊กป้อม” ทิ้งห่าง “บิ๊กตู่” ส.ว.+พท.พร้อมหนุนนั่งนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กูรูการเมือง ชี้ “พล.อ.ประวิตร” มีโอกาสเป็นนายกฯ มากกว่า “พล.อ.ประยุทธ์” เหตุ เป็นคนประนีประนอม สามารถจับมือกับพรรคที่มีแนวโน้มจะได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งอย่าง “เพื่อไทย” อีกทั้งมี ส.ว.เสียงข้างมากให้การสนับสนุน ด้าน “รศ.วันวิชิต” ระบุ หาก “บิ๊กตู่” ดึงดันเป็นนายกฯ เสียงข้างน้อยจะมีปัญหาด้านเสถียรภาพ เสี่ยงเผชิญการเมืองนอกสภา ขณะที่ “รศ.ดร.พิชาย” เชื่อ “สามมิตร” อยู่กับ “พลังประชารัฐ” อำนาจต่อรองเลือกเก้าอี้ รมต. ดีกว่า ไปต่อคิวใน พท.

แม้ขณะนี้ทั้ง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่างไม่ยอมตอบคำถามถึงกรณีที่มีข่าวว่า "บิ๊กตู่" จะแยกทางกับ "บิ๊กป้อม" ไปร่วมงานการเมืองกับ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” เพื่อเป้าหมายการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 แต่วงในต่างยืนยันตรงกันว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรเป็นความลับ ทุกอย่างเป็นไปตามข่าว เนื่องด้วยทั้งน้องตู่ และพี่ป้อม ต่างมีหมุดหมายเดียวกัน นั่นคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส่วนว่าการแยกกันเดินครั้งนี้ใครจะไปได้ดีกว่ากัน? และระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ใครจะมีโอกาสได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2566? คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
แยกกันเดิน รวมกันตี

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองปรากฏการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ว่า เป็นไปได้ที่ในเชิงยุทธศาสตร์ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร จะแยกกันเดิน รวมกันตีเพื่อเพิ่มเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิตส์ เพราะถ้า พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ยังอยู่ด้วยกันก็มีสิทธิตายยกเข่ง การเลือกตั้งครั้งหน้าจำนวน ส.ส.จะหดหายไปเยอะมาก แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ แยกไปอยู่พรรคใหม่ ทางด้าน พล.อ.ประวิตร ก็มีโอกาสที่จะแง้มประตูให้ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งมีปัญหากับ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเข้าพรรคพลังประชารัฐ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญสำหรับ พล.อ.ประวิตร คือต้องเช็กเสียงล่าสุดว่า ส.ส.และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐที่จะไปต่อกับ พล.อ.ประวิตร เหลือกี่คน และจะไหลออกไปอยู่พรรคอื่น หรือย้ายไปอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์กี่คน

“พรรคพลังประชารัฐต้องเตรียมความพร้อมในการหาตัวตายตัวแทนที่จะมาลงสมัคร ส.ส.แทนคนที่ย้ายพรรคไป ซึ่งพลังประชารัฐอาจเสียเปรียบเพราะพรรคอยู่ในช่วงขาลงและมีปัญหาด้านภาพลักษณ์ แต่เรื่องกระสุนไม่น่าเป็นห่วง มีเหลือเฟือ แต่ปัญหาคือพลังประชารัฐจะปั่นกระแสยังไงให้กลับมาได้รับความนิยมเหมือนเดิม” รศ.วันวิชิต ระบุ

“พลังประชารัฐ” กับ
4 จุดแข็ง-2 จุดอ่อน


ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชี้ว่า หากเปรียบเทียบระหว่างพลังประชารัฐ กับรวมไทยสร้างชาติ จะพบว่าต่างมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน

สำหรับพรรคพลังประชารัฐนั้น จุดแข็ง ได้แก่ 1) มี ส.ส.ในระบบเขตเลือกตั้งค่อนข้างเยอะ 2) มีเครือข่ายหัวคะแนนที่เข้มแข็ง 3) พล.อ.ประวิตร มีบารมีมาก 4) คาดว่าจะมี ส.ส.ที่อยู่กับพลังประชารัฐประมาณ 40-50 คน ซึ่งเชื่อว่า ส.ส.เหล่านี้น่าจะมีโอกาสที่กลับมาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยเฉพาะ ส.ส.บ้านใหญ่จะมีโอกาสสูง

ขณะที่จุดอ่อนของพลังประชารัฐ ได้แก่ 1) ความนิยมที่ประชาชนมีต่อ พล.อ.ประวิตร ค่อนข้างน้อย และได้รับความนิยมน้อยกว่า พล.อ.ประยุทธ์ 2) ปัจจุบันความนิยมที่ประชาชนมีต่อพรรคพลังประชารัฐถดถอยลงมากหากเทียบกับปี 2562

“อย่างไรก็ดี พรรคพลังประชารัฐไม่ได้ใช้ยุทธศาสตร์ในการแสวงหาความนิยมในภาพกว้าง แต่มุ่งที่การรักษาฐานเสียงในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่ ผนวกกับเครือข่ายของ ส.ส.ในพื้นที่ส่งผลให้พลังประชารัฐมีโอกาสที่จะได้ ส.ส.ระบบเขต 40-50 เสียง โดยภาพรวมจึงเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้ ส.ส.มากกว่ารวมไทยสร้างชาติ” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
“บิ๊กตู่” เรียกคะแนนปาร์ตี้ลิสต์
ให้ "รวมไทยสร้างชาติ"


ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น รศ.ดร.พิชาย มองว่า ขณะนี้คะแนนนิยมยังน้อยมาก ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไปร่วมงานด้วยจะช่วยให้รวมไทยสร้างชาติมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นตามคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นจุดแข็งของรวมไทยสร้างชาติในการเรียกคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ โดยจากผลการสำรวจของโพล พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนนิยมอยู่ประมาณ 10 กว่า% ซึ่งน่าจะทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10 เสียงนิดๆ

แต่ทั้งนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติก็มีจุดอ่อนตรงที่ ส.ส.เขตไม่มีความเข้มแข็งมากนัก ยกเว้น ส.ส.ภาคตะวันออกของกลุ่มนายสุชาติ ชมกลิ่น ที่มีฐานเสียงที่เข้มแข็งพอสมควร ซึ่งกลุ่มนี้จะย้ายไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ ส่วนคนอื่นๆ ที่ย้ายจากพลังประชารัฐไปอยู่รวมไทยสร้างชาตินั้นจะเป็น ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อบ้าง ส.ส.สอบตกบ้าง และอีกจำนวนไม่น้อยเป็นนักการเมือง และอดีต ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเมื่อย้ายมาพรรครวมไทยสร้างชาติ จะต้องไปแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์อีก ดังนั้นโอกาสที่จะได้รับชัยชนะนั้นแม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็คงไม่มากนัก

“จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐภายใต้คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนสูงมาก โดยภาคใต้ได้มา 13 ที่นั่ง แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้าซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติต้องแข่งกับประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้นั้นคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะนี้ไม่ได้สูงเหมือนปี 62 ดังนั้น โอกาสที่จะได้ ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ย่อมน้อยกว่าปี 62 เท่าที่ประเมินรวมไทยสร้างชาติน่าได้ ส.ส.เขต 10-12 เสียง ซึ่งอาจทำให้รวมไทยสร้างชาติ มีความยากลำบากว่าจะได้ถึง 25 เสียงเพื่อที่จะสามารถเสนอแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรค ยกเว้นแต่ว่าในช่วงเวลาที่เหลือจะสามารถดูด ส.ส.ในพื้นที่ซึ่งมีฐานเสียงหนาแน่นไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติให้มากขึ้น ถ้าทำได้ก็มีโอกาสที่จะเพิ่มที่นั่ง ส.ส.ได้อีก 4-5 เสียง ก็น่าจะได้เกิน 25 เสียง” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

กลุ่มพลังชล ภายใต้การนำของตระกูลคุณปลื้ม ตระกูลการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ
ตระกูลการเมือง
คือจุดแข็ง พปชร.


ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ รศ.วันวิชิต ซึ่งวิเคราะห์ว่า พรรคพลังประชารัฐจะเน้น ส.ส.เขตเป็นหลัก ส่วนคะแนนปาร์ตี้ลิสต์นั้นหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ายออกไป คะแนนส่วนนี้น่าจะหายไปเป็นล้านเลยทีเดียว โดยจุดแข็งของพลังประชารัฐคือฐานเสียงของตระกูลการเมืองที่จะยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เช่น ตระกูลคุณปลื้ม กลุ่มกำแพงเพชร กลุ่มนครสวรรค์ กลุ่มเพชรบูรณ์ รวมถึงกลุ่มสามมิตร ซึ่งหากสามมิตรยังอยู่กับพลังประชารัฐก็อุ่นใจได้ว่าอย่างน้อยพลังประชารัฐน่าจะได้สัก 50 ที่นั่ง ซึ่งน่าจะมากกว่ารวมไทยสร้างชาติ แต่ต้องดูกระแสด้วยว่า ส.ส.เขตจะไหลออกจากพลังประชารัฐมากน้อยแค่ไหน

“การแยกกันทางการเมืองของพลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติ เพื่อเพิ่มคะแนนเสียงในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์เท่านั้น แต่ในส่วนของ ส.ส.เขต จะเหมือนงูกินหาง คือ สู้กันเองในขั้วการเมืองเดียวกัน ไม่ได้ไปบั่นทอนคะแนนเสียงของฝ่ายตรงข้าม อย่างเพื่อไทย หรือก้าวไกล และไม่ได้เพิ่มคะแนนเสียงของเครือข่ายพันธมิตร อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแม้จะเอาคะแนนของพลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติมารวมกันก็ยังน้อยกว่าคะแนนที่พรรคประชารัฐได้ในการเลือกตั้งปี 2562” รศ.วันวิชิต ระบุ

พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค
“รวมไทยสร้างชาติ”
ต้องหามือประสาน


ส่วนการขับเคลื่อนของพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น รศ.วันวิชิต มองว่า ส.ส.ที่จะย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติคือกลุ่มของ นายสุชาติ ชมกลิ่น และ ส.ส.สายใต้ของพรรคพลังประชารัฐ นอกจากนั้น รวมไทยสร้างชาติยังช้อนปลาในอ่างเพื่อน โดยดึง ส.ส.ประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งไปอยู่ด้วย ซึ่ง ส.ส.กลุ่มนี้คะแนนนิยมติดตัวมีแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่มั่นใจว่าฐานคะแนนเสียงและหัวคะแนนจัดตั้งแบบไทยๆ จะไหลออกตามไปด้วยหรือไม่ เพราะเคยมีบทเรียนจากอดีตที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์กลุ่ม กปปส. ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งหมายมั่นปั้นมือว่าจะเจาะพื้นที่ภาคใต้ได้ แต่ปรากฏว่าหลังจากออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปตั้งพรรคการเมืองเองกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะต้องก้าวข้ามไปให้ได้ ซึ่งคนที่ย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์ คือคนที่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังขายได้ ดังนั้นรวมไทยสร้างชาติต้องดูว่าจะขาย พล.อ.ประยุทธ์ ในพื้นที่ภาคใต้อย่างไร

“รวมไทยสร้างชาติต้องแก้ปัญหาภายในพรรคคือหามือประสาน คนที่มากบารมีและสามารถต่อประสานกับทุกกลุ่มการเมืองได้ เหมือนผู้จัดการรัฐบาลยุคก่อนๆ อย่าง คุณเสนาะ เทียนทอง คุณสนั่น ขจรประศาสน์ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ คือยังไม่เห็นว่าใครจะมีบุคลิกแบบนี้ มีคนบอกว่าน่าจะเป็นคุณสุชาติ ชมกลิ่น ซึ่งคงต้องรอดู เพราะมือประสานต้องเป็นคนกว้างขวาง มีความเป็นมิตร มากกว่าจะสร้างศัตรู ซึ่งภาพของคุณสุชาติ อาจจะไม่โดดเด่นเหมือนทั้ง 3 คนที่กล่าวมา” รศ.วันวิชิต กล่าว

3 แนวทางเลือกนายกฯ

ส่วนโอกาสในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้าของ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของบิ๊กการเมืองทั้งคู่นั้น รศ.ดร.พิชาย มองว่า ทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ต่างมีเสียง ส.ว.ที่ให้การสนับสนุน ซึ่งเท่าที่ทราบ พล.อ.ประวิตร จะสามารถคุมเสียง ส.ว.ได้มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ เล็กน้อย ขณะที่ ส.ว.ที่มีชื่อเสียงและเป็นแกนหลักดูจะให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า

ขณะที่สถานการณ์การเมืองในสภาหลังการเลือกตั้งครั้งหน้านั้นโดยส่วนตัวประเมินว่าพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย รวมถึงรวมไทยสร้างชาติ และพรรคเล็กพรรคน้อยต่างๆ ถ้าคะแนนเสียงยังเป็นเช่นนี้อยู่ไปจนถึงวันเลือกตั้ง โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะได้ ส.ส.รวมทั้งหมดน่าจะประมาณ 200 เสียงเท่านั้น ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่างเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย รวมถึงพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ มีโอกาสที่จะได้ ส.ส.ทะลุไปถึง 300 เสียง ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าซีกฝ่ายค้านในปัจจุบันจึงน่าจะเป็นเสียงข้างมากในสภา แต่ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นลำพังเสียงของ ส.ส.ในสภาน่าจะไม่มากพอที่จะสนับสนุนใครให้เป็นนายกฯ ได้ จึงต้องอาศัยเสียง ส.ว.ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีข่าวว่าจะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ
รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า ในการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจึงมีความเป็นไปได้หลายแนวทาง

แนวทางแรกคือ พรรคที่ยินดีสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จับมือกับรวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ โดยในรอบแรก พล.อ.ประวิตร จะยังไม่ลงแข่งขัน ขณะที่พรรคที่เหลือเสนอชื่อฝ่ายตนเองขึ้นมาแข่ง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น พล.อ.ประยุทธ์ อาจชนะโหวตได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพราะมีเสียง ส.ว. ร่วมสนับสนุน แต่จะเกิดปัญหาตามมาทันทีเนื่องจากเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไร้เสถียรภาพในการบริหารงาน เพราะแน่นอนว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย ก้าวไกล หรือเสรีรวมไทย ไม่มีทางจะจับมือกับพรรคที่มี พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นพรรคที่จะจับกับรวมไทยสร้างชาติมีแค่ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และพรรคเล็กอื่นๆ ซึ่งรวมกันแล้วยังเป็นเสียงข้างน้อยในสภาอยู่ดี

และถ้าหากวันที่ 30 พ.ย.นี้ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญส่งผลให้สูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเป็นแบบหาร 100 โอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจะได้ ส.ส.เกิน 200 เสียงนั้นยากมาก ส่งผลให้โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเสียงข้างมากในสภานั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น

แนวทางที่ 2 คือ ถ้ามีการเสนอชื่อทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร พรรคที่น่าจะสนับสนุน พล.อ.ประวิตร นอกจากพลังประชารัฐแล้ว น่าจะเป็นเพื่อไทย ส่วนก้าวไกลนั้นไม่แน่ว่าจะให้การสนับสนุนหรืองดออกเสียง ซึ่งหากเพื่อไทยรวมกับพลังประชารัฐ น่าจะได้เกิน 250 เสียง โดยเพื่อไทยน่าจะได้ 230-250 เสียง ส่วนพลังประชารัฐน่าจะได้ 40-50 เสียง รวมแล้วอาจจะได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. 270-280 เสียง แต่ปัญหาคือเสียง ส.ว.ที่จะสนับสนุน พล.อ.ประวิตร จะได้ถึง 150 เสียงหรือไม่ หรืออย่างน้อยๆ ได้สัก 120 เสียง เพื่อให้มีเสียงสนับสนุน พล.อ.ประวิตร รวมแล้วถึง 376 เสียง ถ้ามีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. 120 เสียงขึ้นไปมีโอกาสที่ พล.อ.ประวิตร จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี และได้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก โดยนอกจากเพื่อไทย น่าจะมีพรรคเล็กอื่นๆ มาร่วม รวมแล้วอาจจะได้สัก 300 เสียง

แนวทางที่ 3 คือ พรรคการเมืองที่ไม่เอาทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร จับมือกัน โดยเพื่อไทยอาจจะจับกับภูมิใจไทย และพรรคก้าวไกล แล้วสนับสนุน “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส. 230-250 เสียง ภูมิใจไทยน่าจะได้ ส.ส.พอๆกับพลังประชารัฐ คือ 40-50 เสียง และนอกจากพรรคก้าวไกลแล้ว อาจจะมีพรรคเล็กพรรคน้อยอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนในการโหวตเลือกนายกฯ เกิน 376 เสียง ซึ่งหากเป็นสมการนี้แปลว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 3 ป.จะหมดอำนาจไป แต่จะเป็นไปตามแนวทางนี้ได้ระดม ส.ส.มาเกือบทั้งสภา ซึ่งอาจรวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย จึงจะมีเสียงมากพอที่จะชนะเสียงของ ส.ว.ที่ผนึกกับพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร

“ทฤษฎีเดียวที่ พล.อ.ประวิตร จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้คือ ต้องจับมือกับพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ไม่มีทางเลือกอื่น และที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งหน้าแนวทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดจาก 3 ทางเลือกคือ แนวทางที่ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ 1.พล.อ.ประวิตร มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคที่มีแนวโน้มจะได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 อย่างเพื่อไทย จะเห็นได้ว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงที่ผ่านมานั้นพรรคเพื่อไทยแทบจะไม่แตะ พล.อ.ประวิตร เลย ทั้งนี้ เพื่อที่จะรักษาไมตรีเอาไว้ 2.ท่วงทำนองในการทำงานกับฝ่ายการเมืองของ พล.อ.ประวิตร มีความประนีประนอมมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ แม้แต่พรรคก้าวไกล พล.อ.ประวิตร น่าจะคุยได้ และ 3.พล.อ.ประวิตร มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อยู่ประมาณ 120-150 เสียง จึงมีเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นโอกาสที่ พล.อ.ประวิตร จะได้เป็นนายกฯ จึงมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

พรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ  อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร มีข่าวว่าจับมือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
“บิ๊กป้อม” มีโอกาสจับ พท.

ด้าน รศ.วันวิชิต ชี้ว่า กรณีที่มีข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐที่นำโดย พล.อ.ประวิตร จะไปจับกับพรรคเพื่อไทย อาจจะเป็นการหงายไพ่เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเอง เนื่องจาก ส.ส.พลังประชารัฐที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทยซึ่งมีจำนวนไม่น้อยนั้น มีจริตและชุดความคิดในการบริหารจัดการทางการเมืองที่แตกต่างจาก ส.ส.พลังประชารัฐ ที่ย้ายมาจากประชาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะออกไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ การแยกทางทางการเมืองก็เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพและความขัดแย้งทางความคิดภายในพรรค ซึ่งเป็นไปได้ว่าหลังจากแยกกันแล้วแนวทางการจับขั้วทางการเมืองของพลังประชารัฐ กับรวมไทยสร้างชาติ อาจจะแตกต่างกันด้วย

ถ้าพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนเสียงมากกว่ารวมไทยสร้างชาติ แต่ยอมสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรครวมไทยสร้างชาติได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแลกกับสิ่งตอบแทนที่ได้จากรวมไทยสร้างชาติ อาจมีปัญหาเรื่องความสง่างามซึ่งจะกลายเป็นวิกฤตศรัทธาทางการเมือง แม้ในทางเทคนิค พล.อ.ประยุทธ์ จะมีเสียง ส.ว.สนับสนุน แต่การที่พรรคเสียงข้างน้อยได้เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่คนที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากกว่ากลับไม่มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล จะมีปัญหาเรื่องบรรทัดฐานทางการเมืองซึ่งจะนำไปสู่การเรียกร้องของการเมืองนอกสภา

“พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านยอมรับเงื่อนไขที่ พล.อ.ประวิตร จะเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสามารถพูดคุยและต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองกับ พล.อ.ประวิตรได้ง่ายกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งแน่นอนกว่า พล.อ.ประวิตร สามารถสร้างความปรองดองได้มากกว่า” รศ.วันวิชิต ระบุ

กลุ่มสามมิตร หนึ่งในกำลังสำคัญที่จะผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
เชื่อ “สามมิตร”
อยู่กับพรรคที่ให้ประโยชน์


ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรซึ่งหลายฝ่ายจับตาว่าจะยังอยู่กับพลังประชารัฐต่อไป หรือจะย้ายไปพรรคเพื่อไทยนั้น รศ.ดร.พิชาย วิเคราะห์ว่า ถ้ากลุ่มสามมิตรรู้ว่ามีโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะจับมือกับเพื่อไทย กลุ่มสามมิตรจะยังอยู่กับพลังประชารัฐ เนื่องจากเป้าหมายหลักของกลุ่มสามมิตรคือการได้เป็นรัฐบาล ซึ่งการที่สามมิตรเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ พล.อ.ประวิตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โอกาสที่จะได้เก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงเกรดเอ เกรดบีย่อมมีมากกว่าอยู่กับพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคขนาดใหญ่ มีการแข่งขันภายในสูง กว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีอาจจะต้องไปต่อคิว

“อย่างไรก็ตาม นี่คือการวิเคราะห์ภายใต้ปัจจัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง หรือภายหลังเลือกตั้งแล้วอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ เกิดขึ้นทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปได้” รศ.ดร.พิชาย กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น