xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” เชียร์ “ประยุทธ์” เปิดตัวเป็นนักการเมืองเต็มตัว เชื่อไปอยู่ “รวมไทยสร้างชาติ” ปังกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สติธร ส.พระปกเกล้า” ถอดรหัส “นิด้าโพล” สะท้อน “นายกฯ ตู่” มีเรตติ้งส่วนตัว ชี้ พรรคไหนได้ชื่อไปหาเสียงคะแนนเพิ่ม เชื่อไป “รวมไทยสร้างชาติ” มีโอกาสรีเทิร์นมากกว่าอยู่กับ “พลังประชารัฐ”​ ประเมินขั้วรัฐบาลเก่าได้ ส.ส.เกิน 200 ตั้งรัฐบาลได้แน่ เชียร์ “ประยุทธ์” เปิดตัวเป็นนักการเมืองเต็มตัว “โอฬาร” ชี้  พปชร.ขัดแย้งหนัก จนเรตติ้ง “บิ๊กตู่” เด่นกว่า

จากกรณีที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก “ลุงตู่ตูน” ซึ่งสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งข้อสังเกตถึงผลการสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ” รายภูมิภาคของ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ว่า คะแนนนิยมส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอยู่ในทุกภูมิภาค ต่างจากคะแนนนิยมพรรคพลังประชารัฐ ที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมเอเปก 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นั้น

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ผลโพลออกมาก็เป็นการยืนยันในสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ และทีมงานเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้น มีคะแนนเสียงเป็นของตัวเอง ซึ่งส่วนตัวก็เชื่อเช่นนั้น ก็อยู่ที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ เองว่าจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร ไม่ว่าจะตัดสินใจไปอยู่กับพรรคไหน จะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิม หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ ตามกระแสข่าว พรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปด้วยย่อมมีคะแนนนิยมที่มากขึ้นแน่นอน ซึ่งปัจจัยอาจไม่ได้มาจากแง่ตัวบุคคลของ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของสัญลักษณ์ในเชิงการเมืองบางประการ ที่ทำให้คนเชื่อว่า พรรคไหนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีจุดยืนทางการเมืองตรงกับเขาด้วย

“ด้วยความที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนในฝ่ายนี้ มีความเด่นชัดในเรื่องแบรนด์ประยุทธ์ หากหาพรรคการเมืองที่เป็นพาหนะดีๆ ก็มีโอกาสสูงในการส่งเข้าทำเนียบรัฐบาลได้อีกรอบ และไม่ว่าพรรคไหนได้เป็นพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ย่อมมีคะแนนเสียงที่มากขึ้นแน่นอน” ดร.สติธร ระบุ

ดร.สติธร กล่าวอีกว่า จากผลโพลที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่จำเป็นต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกับ พรรคพลังประชารัฐ หรืออาจพูดได้ว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ หันไปร่วมงานหรือให้พรรคการเมืองอื่นสนับสนุนเป็นนายกฯ ซึ่งขณะนี้ก็คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ มีโอกาสที่จะทำให้กลับมาตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯอีกสมัย มากกว่าที่จะอยู่กับพรรคพลังประชารัฐเหมือนเดิม ขณะเดียวกัน ก็ยังต้องมี พรรคพลังประชารัฐ อยู่ เพราะต้องยอมรับว่ามี ส.ส.บางส่วนที่อาจจะไม่สบายใจที่จะไปกับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือในแง่ของพื้นที่ไม่เอื้อต่อการใช้ชื่อ พล.อ.ประะยุทธ์ หาเสียง หากไม่มีพรรครองรับ ก็อาจจะพลิกขั้วไปอยู่กับอีกฝ่ายได้เลย ดังนั้น จึงต้องมี พรรคพลังประชารัฐ​ โดยให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ​ อยู่คุม เพื่อรองรับนักการเมืองเหล่านั้นไว้

“พูดได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไปกับพรรคใหม่ มีโอกาสที่จะได้กลับมาเป็นรัฐบาล และเป็นนายกฯ ดีกว่าจะไปต่อกับพรรคพลังประชารัฐ ที่กลุ่มการเมืองบางกลุ่มอาจจะไม่สบายใจที่จะไปต่อกับ พล.อ.ประยุทธ์”​ ดร.สติธร กล่าว

ดร.สติธร กล่าวต่อว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคใหม่ก็จริง แต่ก็ใหม่แต่ชื่อ วิธีการสร้างพรรคก็ไม่ต่างจากสมัยที่ทำพรรคพลังประชารัฐ ในการดึง ส.ส. หรือนักการเมืองที่มีฐานเสียงระดับหนึ่งเข้ามาร่วม ส่วนการนำชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาจะเป็นตัวเติมให้ผู้สมัครที่อยู่ในระดับที่พอแข่งกับพรรคอื่น อาจจะได้เปรียบและชนะเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ได้ คงไม่ถึงขั้นส่งผู้สมัครโนเนมหรือเสาไฟฟ้าลงแล้ว ใช้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หาเสียงแล้วชนะ คือ ผู้สมัครเองก็ต้องมีฐานในระดับหนึ่ง แล้วใช้ภาพความชัดเจนทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแรงบวก

ดร.สติธร กล่าวด้วยว่า ขนาดของ พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะเล็กกว่าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 โดยโจทย์ของ พรรครวมไทยสร้างชาติ หากได้ พล.อ.ประยุทธ์ มาร่วมด้วย ก็คงวางเป้าไว้ว่า เป็นที่ 1 ของพรรคในเครือข่ายรัฐบาลเดิม หรือขั้วอำนาจเก่า ต้องมีที่นั่ง ส.ส.เหนือกว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อที่จะไม่มีปัญหาหลังเลือกตั้งในการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ที่มีเสียงของวุฒิสภาในการเลือกนายกฯอยู่ด้วย ซึ่งประเมินตามหน้าเสื่อพรรคการเมืองปัจจุบัน ก็เข้าใจว่า พรรคเพื่อไทย จะมาที่ 1 แต่ก็คงไม่แลนด์สไลด์ถล่มทลาย บวกกับพรรคก้าวไกล และพรรคเสรีรวมไทย แล้วคงตั้งรัฐบาลไม่ง่าย ขณะที่ขั้วรัฐบาลเดิม ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ รวมกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ซัก 80 ที่นั่ง ก็น่าจะเพียงพอกับการเป็นที่ 1 ในกลุ่ม และเมื่อรวมกับพรรคอื่นแล้วก็น่าจะเกิน 200 ที่นั่ง และบวกกับพรรคอื่นๆ ที่พร้อมมาร่วมรัฐบาลด้วย ก็น่าจะเกิน 250 ที่นั่งได้ไม่ยาก

“พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะไม่ต้องมี ส.ส.มากถึงขนาดพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 แต่อย่างน้อยต้องเป็นที่ 1 ในกลุ่มพรรคแนวร่วมทั้งหมด เพื่อที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้อย่างสง่างาม” ดร.สติธร กล่าว

ดร.สติธร กล่าวตอนท้ายว่า ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะต้องลองเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองกับพรรคที่สนับสนุนมากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯได้แค่ 2 ปีเศษ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะลงไปขลุกงานกับพรรคการเมือง และลุยเลือกตั้งอย่างเต็มที่ เพราะการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ง่ายเหมือนครั้งที่แล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไปโชว์ตัวที่เวทีหาเสียงแค่ครั้งเดียว

“เลือกตั้งรอบนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องประกาศตัวเป็นนักการเมืองเต็มตัว และแสดงให้คนเห็นว่า ทุ่มสุดตัว ซึ่งการจะทุ่มอย่างนั้นได้ก็ต้องเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค หากไม่อยากเป็นหัวหน้าพรรค ก็เป็นประธานพรรค หรือประธานยุทธศาสตร์ ก็ยังดี แล้วก็ลุยในช่วงหาเสียงเต็มที่ไปเลย” ดร.สติธร ระบุ

ด้าน รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แสดงความเห็นว่า เหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนนิยมที่เหนือกว่า พรรคพลังประชารัฐ ก็ด้วยความที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ พยายามเว้นระยะห่างกับพรรคอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งพรรคพลังประชารัฐเอง ก็มีความระส่ำระสาย เกิดความแตกแยกขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันภายในมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อมองในมุมของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงมองว่า ส.ส.มีหลายกลุ่มหลายก๊กเกินไป อีกทั้งหลายกลุ่มก็เป็น ส.ส.ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค หรือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยที่เป็นเลขาธิการพรรค จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องเว้นระยะห่าง

“ท่ามกลางความตกต่ำของพรรคพลังประชารัฐ ก็ทำให้คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ เหนือกว่าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อประเมินแล้ว ก็เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะย้ายไปที่พรรครวมไทยสร้างชาติแทน” รศ.ดร.โอฬาร ระบุ

รศ.ดร.โอฬาร กล่าวต่อว่า แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดการดำรงตำแหน่งนายกฯเป็นได้อีกราว 2 ปีเท่านั้น แต่การที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้สิทธิ์ในการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็จะสามารถเป็นแม่เหล็กในการระดมบุคลากรทางการเมืองที่อาจจะมีปัญหาหากยังอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ​ รวมทั้ง ส.ส. ผู้นำทางการเมือง ที่มีบทบาทในพรรคประชาธิปัตย์ ที่มองว่าพรรคไปไม่ไหวแล้ว ก็อาจจะมารวมกันอยู่ที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น