xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 3 ขั้นตอนดัน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ สมัยที่ 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.พิชาย” ระบุยากที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะได้เป็นนายกฯ อีกสมัย เหตุแยกพรรคทำคะแนนหด เชื่อ “รวมไทยสร้างชาติ” ได้ไม่เกิน 12 เสียง โดยยึดภาคใต้ฝั่งตะวันออกเป็นฐานที่มั่น ชี้หากอยากไปถึงฝันต้องเดินหน้า 3 ขั้นตอน เปรียบ “บิ๊กตู่” เหมือน “ป๋าเปรม” “บิ๊กป้อม” เหมือน “น้าชาติ” หาก “พลังประชารัฐ” จับมือกับ “เพื่อไทย” โอกาสที่ “พล.อ.ประวิตร” จะนั่งเก้าอี้นายกฯ ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม ขณะที่ “บิ๊กตู่” ยังมีแต้มต่อตรงที่ ส.ว.ให้การสนับสนุน เตือน หาก พท.+ภูมิใจไทย+ก้าวไกล รวมกันได้ 376 เสียง “3 ป.” โดนจัดการแน่!

ณ ตอนนี้ชื่อของ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” นับว่าเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

เนื่องเพราะแน่ชัดแล้วว่าข่าวลือที่ว่ามีความพยายามเขย่าพรรคพลังประชารัฐเพื่อบีบให้ ส.ส. และสมาชิกพรรคย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ โดยมีหมุดหมายเพื่อสนับสนุนผู้นำทางการเมืองบางคนนั้นเป็นเรื่องจริง

ซึ่งพรรคการเมืองที่ว่านี้คือ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค และผู้นำทางการเมืองคนดังกล่าวก็หาใช่ใครอื่น หากแต่เป็น "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ซึ่งส่งสัญญาณแยกวงกับพี่ใหญ่ 3 ป. “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจน ด้วย "บิ๊กตู่" มองว่าพลังประชารัฐนั้นไปต่อไม่ได้แล้ว เนื่องจากคะแนนนิยมตกต่ำลงทุกที ส.ส.พาเหรดย้ายพรรคกันจ้าละหวั่น ขณะที่เขานั้นยังต้องการเป็นนายกฯ ต่ออีกเป็นสมัยที่ 3

ล่าสุด "นายพีระพันธ์" หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกมาปูพรมแดงให้ "บิ๊กตู่" เดินเข้าพรรคแบบสวยๆ โดยประกาศชัดถ้อยชัดคำว่าอยากได้ "พล.อ.ประยุทธ์" มาร่วมงานการเมือง

ส่วนว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า “รวมไทยสร้างชาติ” จะมีโอกาสมากน้อยเพียงใด? ส.ส.และสมาชิกพรรคที่ดูดไปจากพรรคการเมืองอื่นๆนั้นเพียงพอที่จะทำให้รวมไทยสร้างชาติมีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสานฝันให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยได้หรือไม่? คงต้องประเมินจากปัจจัยหลายประการ

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
“รวมไทยสร้างชาติ”
ตัวแทนกลุ่มอนุรักษนิยม


รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า หากดูโครงสร้างพรรคจะเห็นว่าพรรครวมไทยสร้างชาติเกิดมาจาก ส.ส.และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์สายอนุรักษนิยม และสาย กปปส. จึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมเช่นกัน และการจะดึง ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าก็ต้องเลือกคนที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น พื้นที่ยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้งของรวมไทยสร้างชาติจึงเน้นไปที่พื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน

“ภาคใต้เป็นพื้นที่ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติมองว่าเป็นโอกาสของพรรคมากที่สุดในการที่จะปักธง หรือช่วงชิง ส.ส. เพราะคนใต้มีความนิยมชมชอบ พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่าคนภาคอื่นๆ ดังนั้น ถ้ามีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของรวมไทยสร้างชาติ หรือดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรครวมไทยสร้างชาติ จะทำให้พรรคนี้มีโอกาสที่จะประสบชัยชนะทั้งในการเลือกตั้งระดับเขตและในระบบบัญชีรายชื่อ” รศ.ดร.พิชาย ระบุ

ภาคใต้ฝั่งตะวันออกคือฐานที่มั่นของ พรรครวมไทยสร้างชาติ
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก
คือฐานเสียงสำคัญ


รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า คนใต้นั้นมีทัศนะทางการเมืองที่ต่างกัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.ภาคใต้ฝั่งตะวันออก หรือฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และอาจรวมถึง จ.พัทลุง เป็นกลุ่มที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างจะอนุรักษนิยม ชื่นชมผู้นำที่มีลักษณะแบบทหาร ซึ่งอาจถ่ายทอดมาจากความชื่นชมที่มีต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นแบบนักการเมืองในอุดมคติของชาวใต้ที่มีภาพลักษณ์ของความเข้มแข็งและซื่อสัตย์ คนใต้จึงชื่นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ประชาธิปัตย์สูญเสียคะแนนในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกให้พรรคพลังประชารัฐไปไม่น้อย โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็มีโอกาสที่รวมไทยสร้างชาติจะได้ที่นั่งในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก

2.ภาคใต้ฝั่งตะวันตก หรือฝั่งอันดามัน ตั้งแต่ จ.ภูเก็ต พังงา ระนอง ตรัง สตูล ผู้คนจะมีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของระบบทุนนิยมมาตั้งแต่อดีต ทั้งการทำเหมืองแร่ ธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งมีความเชื่อมโยงกับชาวต่างชาติ ภาคใต้ฝั่งตะวันตกจึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระแสทุนนิยมโลก จึงทำให้คนใต้ในฝั่งอันดามันมีแนวคิดทางการเมืองที่เปิดกว้าง มีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าคนใต้ในฝั่งอ่าวไทย และให้ความสำคัญความเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงมองหานักการเมืองที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาคฝั่งอันดามันจึงเป็นพื้นที่การแย่งชิงของหลายพรรคการเมือง ทั้งประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เพื่อไทย ภูมิใจไทย ก้าวไกล ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรครวมไทยสร้างชาตินั้นได้รับความนิยมในฝั่งอันดามันน้อยกว่าฝั่งอ่าวไทยอย่างชัดเจน

3.พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ซึ่งมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างเด่นชัด เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม มีความต้องการให้นักการเมืองเข้าไปสร้างความสงบสุขให้พื้นที่ของเขา ต้องการให้มีการกระจายอำนาจเพื่อเพิ่มโอกาสในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่ง 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันของนักการเมืองหลายพรรค ทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ก้าวไกล รวมถึงพรรคประชาชาติ ซึ่งให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวกับมุสลิม ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะยากลำบากที่จะชนะเลือกตั้งในพื้นที่นี้

“แม้ พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นทหารเหมือนกัน แต่บุคลิกของทั้ง 2 ท่านก็ไม่เหมือนกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ มีความคล้าย พล.อ.เปรม แม้จะไม่ทั้งหมด เช่น เรื่องความเข้มแข็ง ความจงรักภักดีต่อสถาบัน ขณะที่ พล.อ.ประวิตร มีลักษณะของทหารหัวก้าวหน้า มุ่งในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเหมือน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ดังนั้น คนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมก็จะเลือกพรรคที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแกนนำ” รศ.ดร.พิชาย ระบุ


รวมไทยสร้างชาติ
เน้นคะแนนบัญชีรายชื่อ


รศ.ดร.พิชาย มองว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ แยกกับ พล.อ.ประวิตร แล้ว ปัจจัยทางการเมืองย่อมเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบเดิมของการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขึ้นเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 นั้นมี 2 ส่วนหลักๆ คือ 1.ความนิยมที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และ 2.ความเข้มแข็งของเครือข่ายของ ส.ส.ในพื้นที่ ซึ่งเกิดจากแรงหนุนของ พล.อ.ประวิตร

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร แยกทางกันเดิน องค์ประกอบทั้งสองก็ถูกแยกจากกัน คะแนนเสียงที่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ได้จะมาจากความนิยมที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งก็คือคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่คะแนนจากการเลือกตั้งระบบเขตนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติอาจจะได้ไม่มากนัก

ส่วน “พรรคพลังประชารัฐ” ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร จะได้คะแนนจาก ส.ส.ระบบเขตเป็นหลัก โดยอาศัยคะแนนนิยมของ ส.ส.ในพื้นที่ ผนวกกับการใช้ทรัพยากรผ่านเครือข่ายหัวคะแนน ซึ่งพื้นที่หลักๆ ที่จะได้ ส.ส.คือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางบางจังหวัด พื้นที่ปริมณฑล เช่น สมุทรปราการ และภาคใต้บางส่วน ขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นพลังประชารัฐน่าจะได้น้อย หรือไม่ได้เลย

“นายสุชาติ ชมกลิ่น” นักการเมืองผู้กว้างขวางในภาคตะวันออก
เปิดขั้นตอน...
ดัน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ


ส่วนความพยายามของพรรครวมไทยสร้างชาติที่จะผลักดันให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 นั้น รศ.ดร.พิชาย มองว่า แม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็พอมีหนทาง โดยการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกครั้งหน้านั้นมีแนวทาง ดังนี้ คือ

1.ในขั้นต้นพรรครวมไทยสร้างชาติจะต้องได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 25 เสียง เพื่อที่จะสามารถเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคได้ ซึ่งอาจจะไม่ง่ายเท่าไหร่นัก เนื่องจากปัจจุบันคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ลดลงมาก จึงไม่สามารถจะทำให้พรรครวมไทยสร้างชาติได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อถึง 25 เสียง ซึ่งอย่างมากที่สุดน่าจะได้ไม่เกิน 12 เสียง

2.มีความจำเป็นที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะต้องช่วงชิง ส.ส.เขตมาให้ได้ครบ 25 เสียง โดยมีแนวทางดังนี้

- ช่วงชิง ส.ส.เขตในพื้นที่ยุทธศาสตร์หลัก ซึ่งก็คือพื้นที่ภาคใต้

- ดึง “นายสุชาติ ชมกลิ่น” ซึ่งกว้างขวางในภาคตะวันออกย้ายมาอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้รวมไทยสร้างชาติมี ส.ส.ถึง 25 เสียง แต่ถ้านายสุชาติ ยืนยันว่าจะอยู่กับพลังประชารัฐ จะทำให้รวมไทยสร้างชาติลำบากที่จะได้ ส.ส.เขตเพิ่มขึ้น

- พยายามดึงคนที่มีศักยภาพในพื้นที่เข้ามาอยู่ในพรรครวมไทยสร้างชาติให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้มีโอกาสได้ ส.ส.เขตมากขึ้น ซึ่งหากมีการระดมทุน ระดมทรัพยากร หรือมีนายทุนให้การสนับสนุนมากพอก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากผู้สมัคร ส.ส.ส่วนใหญ่มองว่าหากมีทุนมีทรัพยากรก็มีโอกาสชนะการเลือกตั้ง


3.หากได้ ส.ส.ถึง 25 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ สามารถเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นว่าที่นายกฯ ของพรรคได้ แต่การเสนอชื่อว่าที่นายกฯ ต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรร่วมสนับสนุนในนามของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าคงเป็นพรรคเดิมที่เคยร่วมรัฐบาลกัน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ แต่มีปัญหาว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมต่างก็ต้องช่วงชิงที่นั่ง ส.ส.ในเขตพื้นที่เดียวกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม และพรรครวมไทยสร้างชาติจะมีคะแนนเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ 2 สภา คือ ไม่ถึง 375 เสียง จึงต้องอาศัยเสียงของ ส.ว.ร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

“จากการประเมินเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ จะมีคะแนนเสียงรวมกันไม่เกิน 200 เสียง จึงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.จำนวนมาก ดังนั้น หากมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการสสนับสนุนจากเสียงของ ส.ว. แต่กรณีนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อพลังประชารัฐไม่ไปจับมือกับเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องไม่เสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ หมายความว่า พรรคพลังประชารัฐจะต้องร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย แต่จะมีปมปัญหาขึ้นมาอีกคือ รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภา ซึ่งจะมีความยากลำบากในการบริหารงานและการรักษาเสถียรภาพ” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
หาก "พชปร." จับมือ "เพื่อไทย"
“บิ๊กป้อม” ได้เป็นนายกฯ แน่!


ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และชู พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ เพื่อแข่งกับฝั่งรวมไทยสร้างชาติ ที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ นั้น รศ.ดร.พิชาย มองว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้สถานการณ์การเมืองดุเดือดขึ้น เพราะจากการประเมินเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะมีคะแนนสียงถึง 230-250 เสียง ถ้ารวมกับพลังประชารัฐที่นำโดย พล.อ.ประวิตร ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ 40-50 เสียง จะทำให้มีไม่ต่ำกว่า 300 เสียง ซึ่งการจะโหวตให้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อีก 80 เสียง ซึ่งมีความเป็นไปได้ และจะทำให้ พล.อ.ประวิตร สามารถชนะ พล.อ.ประยุทธ์ จากนั้นจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในสภา ทำให้มีเสถียรภาพในการบริหารงาน

รศ.ดร.พิชาย กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังมีอีกสมการหนึ่งคือ พรรคเพื่อไทยจับมือกับภูมิใจไทย และชูตัวแทนของพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเคยคิดจะใช้สมการนี้ในการเลือกตั้งปี 2562 แต่ครั้งนั้นพรรคภูมิใจไทยไม่กล้า แต่คราวนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ หรืออีกสมการหนึ่งคือ พรรคการเมืองต่างๆ จับมือกันและไม่เอา 3 ป. ซึ่งจะต้องรวมเสียง ส.ส.ให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป เช่น พรรคเพื่อไทย ได้ 230 เสียง ภูมิใจไทย ได้ 60 เสียง ก็อาจจะดึงก้าวไกล และประชาธิปัตย์มาร่วม รวมทั้งดึงพรรคขนาดเล็ก อย่างพรรคประชาชาติ หรือพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และพรรคอื่นๆ มาช่วยเพื่อให้ได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภา คือ 376 เสียง

“ทั้งนี้ ต้องดูตัวเลขหลังการเลือกตั้ง ถ้าสามารถรวมกัน 3 พรรค เช่น เพื่อไทย ภูมิใจไทย ก้าวไกล แล้วได้เกิน 376 เสียง เชื่อว่าเขาจัดการ 3 ป.แน่ หรือถ้าพรรคเล็ก เช่น ประชาชาติ ได้ 6-7 เสียง พรรคเสรีรวมไทย ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้ 6-7 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ 10 เสียง ก็มีความเป็นไปได้” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

เสียงสนับสนุนของ ส.ว.คือแต้มต่อของ พล.อ.ประยุทธ์
เสียงสนับสนุนจาก ส.ว.
คือแต้มต่อของ “บิ๊กตู่”


รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าแต้มต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ คือมีเสียง ส.ว.ที่ให้การสนับสนุน แม้ ส.ส.ส่วนใหญ่อาจจะไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่การจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. จึงยังมีจุดที่ พล.อ.ประยุทธ์สามารถใช้ต่อรองได้ ขณะที่ทัศนคติของ ส.ว.ชุดนี้ค่อนข้างจะปฏิเสธพรรคเพื่อไทย จึงมีความเป็นไปได้ที่ ส.ว.จะไม่โหวตให้นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย หรือจำนวน ส.ส.ที่โหวตให้เพื่อไทยไม่มากพอที่จะทำให้ตัวแทนของพรรคเพื่อไทยได้เป็นนายกรัฐมนตรี

“ถ้าเพื่อไทยจับกับพลังประชารัฐ แล้วสนับสนุน พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ ก็มีความเป็นไปได้ คือ ส.ว.ที่โหวตให้เป็น ส.ว.สาย พล.อ.ประวิตร ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า พล.อ.ประวิตร จะคุม ส.ว.ได้มากน้อยขนาดไหน เพราะขณะนี้มีสัญญาณบางอย่างที่ชี้ว่า ส.ว.มีแนวโน้มสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มากกว่า พล.อ.ประวิตร” รศ.ดร.พิชาย ระบุ




กำลังโหลดความคิดเห็น