“ไพศาล” ชี้จุดอันตรายของการใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดช่องให้สามารถฟ้อง “พล.อ.ประยุทธ์” ได้โดยตรง กฎหมายเขียนชัดเป็นความรับผิดชอบของ “นายกฯ เพียงผู้เดียว” เตือนหากใช้อำนาจมิชอบ โทษจำคุกถึง 10 ปี และอาจต้องควักเงินจ่ายค่าเสียให้ผู้ประกอบการเอง ด้าน “อ.เจษฎ์” ระบุ “บิ๊กตู่” โดนทั้งคดีแพ่งและอาญา หากนายกฯ พ้นตำแหน่ง ครม.ก็สิ้นสภาพตามไปด้วย ไม่ต่างจากกรณีอดีตนายกฯ “ยิ่งลักษณ์”
จากกรณีที่หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน ฝ่ายการเมือง รวมถึงผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดาหน้าออกมาฟ้องร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ผอ.ศบค.) นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของของรัฐบาล และตัวนายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกฟ้องร้องถึง 5 กรณีด้วยกัน อันได้แก่ กรณีแรก นายประพันธ์ บุญตันตราภิวัฒน์ เจ้าของโรงแรมในเครือบริษัท กมลาบีชอินท์ และบริษัท กัมพลธุรกิจ จำกัด จ.ภูเก็ต ฟ้องต่อศาลปกครองกลาง กรุงเทพฯ เพื่อขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง จำนวน 4 ราย อันได้แก่ 1.นายกรัฐมนตรี 2.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 3.จังหวัดภูเก็ต โดยผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และ 4.กระทรวงมหาดไทย (มท.) จ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดจากคำสั่งปิดโรงแรม ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.2563 จากมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ตามมาตรา 48 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 242 ล้านบาท
กรณีที่ 2 สื่อมวลชนได้ร่วมกันยื่นฟ้อง พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. ต่อศาลแพ่ง กรณีที่มีคำสั่งออก พ.ร.ก.ฉบับที่ 29 ซึ่งห้ามการเสนอข่าวที่มี “ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือกระทบต่อความมั่นคง” โดยระบุว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งล่าสุดศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามยกเลิก พ.ร.ก.ฉบับนี้
กรณีที่ 3 พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับนายกฯ ใน 4 กระทง คือ 1) จำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลเรื่องเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ 2) กระทำผิดมาตรา 172 พ.ร.บ.ป.ป.ช. เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต 3) ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ 4) ผิดประมวลจริยธรรมร้ายแรง
ซึ่งหาก ป.ป.ช.วินิจฉัยพบว่านายกฯ มีความผิด ก็ให้ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อศาลประทับรับฟ้องนายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ซึ่งเมื่อผิดตามข้อกล่าวหาจะกระทบต่อสถานภาพของนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นการถอดถอนนายกฯ ผ่านทางคดีอาญา
กรณีที่ 4 สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนพรรคไทยสร้างชาติ (ที่มี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำ) ได้นำรายชื่อประชาชนกว่า 700,000 คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการบริหารทางสาธารณสุขผิดพลาดจากรัฐบาล ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อนายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 165 จากกรณีปล่อยปละละเลย และบริหารผิดพลาดจนเกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ถึง 4 ระลอก รวมทั้งบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ทำให้จํานวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบบสาธารณสุขปกติ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจํานวนมากดังกล่าวได้
กรณีที่ 5 กลุ่มผู้ประกอบการร้านนวด-สปาในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดสีแดงเข้ม รวมกว่า 150 ราย ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อเอาผิดกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ในความผิดฐานละเมิดจากการสั่งปิดกิจการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 โดยเรียกค่าเสียหายจากรัฐเป็นเงินรวม 200 ล้านบาท
ซึ่งบรรดานักกฎหมายได้ชี้ถึงจุดบกพร่องในการออกคำสั่งที่นำไปสู่การฟ้องร้อง และผลกระทบที่จะตามมาไว้อย่างน่าสนใจ
นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และอดีตนักกฎหมายอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ระบุว่า จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลมักจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่รู้คือ การใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการออกมาตรการต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่อันตราย และจะทำให้นายกรัฐมนตรีมีคดีติดตัวอีกหลายคดี เนื่องจากปกติการจะฟ้องร้องนายกฯ ทำได้ยาก หากไปร้อง ป.ป.ช.กว่าคดีจะไต่สวนเสร็จก็ใช้เวลา 3-4 ปี
แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯ อาจถูกฟ้องร้องว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือเข้าข่ายการทุจริต ซึ่งผู้ฟ้องสามารถยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เลย และการดำเนินการพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน หากศาลไต่สวนว่ามีมูล นายกฯ ก็จะตกเป็นผู้ต้องหาทันที และต้องขอประกันตัว หากศาลไม่ให้ประกันตัวก็ต้องติดคุก หากถูกคุมขังนายกรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่ง และเมื่อเป็นคดีอาญานายกฯ ต้องไปให้การต่อศาลเอง หากฟ้องร้องสัก 10 คดี ก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว ซึ่งความผิดกรณีการใช้อำนาจโดยมิชอบนั้นมีโทษจำคุกถึง 10 ปี
นายไพศาล กล่าวต่อว่า เชื่อว่าอีกไม่นานจะมีผู้ผู้คนมากมายออกมายื่นฟ้องนายกฯ จากกรณีการใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะคนที่สูญเสียญาติพี่น้องจากความด้อยประสิทธิภาพในการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 และคนที่ได้รับผลกระทบจากการออกนโยบายต่างๆ เช่น กรณีเลือกซื้อวัคซีนบางยี่ห้อซึ่งถูกมองว่าจงใจเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัท ซึ่งทำให้ปริมาณวัคซีนไม่เพียงพอ ไม่สามารถฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก
กรณีรถบรรทุกสินค้าที่มีคำสั่งห้ามวิ่งตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการเสียหาย ขณะเดียวกัน กลับไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นมาตรการที่ทำให้โควิด-19 ลดการแพร่ระบาดเพราะเชื้อโรคไม่ได้แพร่ระบาดเฉพาะช่วงเวลากลางคืน หรือร้านอาหารที่ได้รับความเสียหายจากคำสั่งให้ปิดร้านชั่วคราว ซึ่งเจ้าของร้านอาจฟ้องว่าเป็นมาตรการที่เกินความจำเป็น และทำให้เขาได้รับความเสียหายถึงขั้นกิจการล่มสลาย ขณะที่ร้านสะดวกซื้อซึ่งขายอาหารปรุงสุกเหมือนกันสามารถเปิดได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ร้านสะดวกซื้อหรือไม่ หรือโรงแรมที่เคยมีแขกเข้าพัก มีรายได้ปีละ 100 ล้านบาท ปัจจุบันรายได้เหลือแค่ปีละ 5 ล้านบาท เขาก็ฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
นายไพศาล ระบุว่า อีกสิ่งหนึ่งที่นายกฯ อาจไม่รู้ก็คือ กฎหมายเขียนไว้ว่าเมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ให้โอนอำนาจของรัฐมนตรีทุกกระทรวงมาไว้ที่นายกรัฐมนตรีคนเดียว นายกฯ จึงสามารถสั่งออกมาตรการต่างๆ ได้ทันที แต่กฎหมายเขียนไว้อีกว่าถ้าการออกมาตรการหรือการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบก็ดี โดยทุจริตก็ดี โดยไม่สมควรก็ดี โดยไม่เป็นธรรมก็ดี ให้ “ผู้ออกคำสั่ง” นั้นต้องรับผิด ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความผิดเฉพาะตัว
โดยลักษณะที่กล่าวมานั้นสามารถฟ้องได้ทั้งทางอาญาคือทุจริตต่อหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติต่อหน้าที่ ซึ่งมีโทษจำคุก และฟ้องทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่าเป็นคำสั่งที่ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายแต่เป็นการออกคำสั่งโดยสุจริต ก็ให้ใช้เงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนมาจ่ายเสียหาย แต่หากพิสูจน์แล้วพบว่าเป็นคำสั่งที่เอื้อให้เกิดการทุจริต เอื้อให้เกิดผลประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม ในการจ่ายเสียหายก็ต้องใช้เงินส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่ง
“นายกฯ มีความเสี่ยงมากจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะผู้ที่ได้รับความเสียหายจากคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้เอง ไม่ต้องยื่นผ่าน ป.ป.ช. อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องรับผิดจากการบริหารราชการแผ่นดินด้วย แบบเดียวกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งไม่ได้มีความผิดจากการทุจริตในการรับจำนำข้าวนะ แต่มีความผิดจากการบริหารราชการแผ่นดินในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อเห็นว่าเรื่องใดจะก่อให้เกิดความเสียหายก็ต้องสั่งยกเลิกเสีย หากไม่สั่งยกเลิกก็มีความผิด ส่วน พล.อ.ประยุทธ์เมื่อการบริหารวัคซีนผิดพลาด มีการผูกขาด นำเข้าของไม่ดีมา ไม่เพียงพอ จัดสรรไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม ถ้ามีคนฟ้องร้องว่านายกฯ ไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ถือว่าละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นคดีอาญา และหากเข้าข่ายการทุจริตด้วยก็มีโทษหนัก” นายไพศาล กล่าว
ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย ให้ความเห็นว่า การที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช.ให้ไต่สวนและดำเนินคดีนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องแยกเป็นประเด็น ประเด็นแรกเป็นเรื่องของการจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลเรื่องเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร โดยอ้างตามมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งอันนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับกรณีการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับทื่ 27 ซึ่งห้ามไม่ให้ประชาชนโพสต์ข้อความที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ที่ห้ามไม่ให้สื่อนำเสนอข่าวที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว แม้เรื่องนั้นจะเป็นความจริง ซึ่งศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และนายกฯ ได้ลงนามยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฉบับที่ 29 ไปแล้ว
จะเห็นได้ว่าคำสั่งดังกล่าวนั้นกระทบต่อการติดต่อสื่อสารของประชาชน และการที่รัฐจะไปกักไปตรวจเพื่อให้ล่วงรู้ว่าประชาชนติดต่อสื่อสารถึงกันอย่างไรนั้นทำไม่ได้ ยกเว้นแต่จะมีหมายศาลหรือมีคำสั่งศาล หรือว่ามีกฎหมายกำหนด ซึ่งต้องไปดูว่ามีกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในการเข้าไปล่วงรู้ข้อความดังกล่าวหรือไม่ หรือมีกฎหมายห้ามนำเสนอข่าวสารหรือไม่ ซึ่งก็ยังนึกไม่ออกว่าปัจจุบันมีกฎหมายใดที่ให้อำนาจในลักษณะดังกล่าว ส่วนโทษที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้รับจากกรณีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชนนั้นยังไม่ชัดเจน อย่างมากก็อาจจะแค่ศาลไม่อนุญาตให้ใช้กฎหมายที่ไปจำกัดสิทธิ ดังเช่นที่ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้รัฐบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29
ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องของความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดตามมาตรา 172 ของกฎหมาย ป.ป.ช. โดยอาจจะเป็นการกระทำเดียวกันแต่ผิดกฎหมายทั้งสองมาตรา ซึ่งหากตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบจริง โทษที่นายกรัฐมนตรีจะได้รับนั้นก็มีทั้งโทษทางอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับ และอาจจะไปเชื่อมกับการละเมิดซึ่งผู้ฟ้องสามารถเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้อีก
ส่วนประเด็นที่สาม เป็นเรื่องของการผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งหากวินิจฉัยว่ามีความผิดก็จะนำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะถูกติดสิทธิทั้งในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และถูกตัดสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลานานสุด 10 ปี
“การที่มีหลายภาคส่วนยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะนี้ จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของนายกรัฐมนตรีและเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณา คือเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลแล้วการดำเนินการเร็วหรือช้า หากเทียบกับสมัยอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่ง ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าคำสั่งของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่สั่งย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาฯ สมช.ในขณะนั้น เป็นคำสั่งโดยมิชอบ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งขณะนั้นตำแหน่งรักษาการนายกฯ พ้นจากตำแหน่งการกรณีออกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องสิ้นสภาพลงด้วย ซึ่งกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เช่นกัน ถ้าหลุดจากตำแหน่งนายกฯ เพราะคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาล ครม. ก็ต้องถูกยุบไปด้วย แม้จะสามารถจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมาได้เพราะพรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลยังอยู่ แต่จะมีปัญหาในเรื่องของความสง่างาม ซึ่งทำให้รัฐบาลอยู่ยาก” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว