xs
xsm
sm
md
lg

หมอ-พยาบาลแห่ค้าน “นิรโทษกรรมวัคซีน” ระวัง! คนลุกฮือไล่ซ้ำรอย “นิรโทษกรรมสุดซอย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอธีระวัฒน์” ชี้ไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เอาเวลาไปช่วยชีวิตผู้ป่วยดีกว่านั่งประชุมออก กม. ด้าน “พ.ท.พญ.กมลพรรณ” ระบุ รัฐบาลควรนิรโทษกรรมด้วยการแก้ไขข้อผิดพลาด ขณะที่ “ผศ.วันวิชิต” เชื่อหากดึงดันออก กม. จะเจอสึนามิลูกใหญ่ เหตุคนไม่ยอมให้ญาติพี่น้องตายฟรี “รศ.ดร.เจษฎ์” เตือน ระวังประชาชนลุกฮือต้าน ซ้ำรอย “นิรโทษกรรมสุดซอย” สมัยยิ่งลักษณ์ ข้อมูลชี้ชัด “นายกฯ” กุมอำนาจบริหารวัคซีนเบ็ดเสร็จ ฟันธง “บิ๊กตู่” เละแน่!

ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นถึงวันละกว่า 20,000 คน ประเด็นที่ร้อนแรงไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ กระแสคัดค้าน “พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” หรือที่เรียกกันว่า “พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน”

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โดยนอกจากในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ คือ ภาคีเครือข่ายพยาบาล Nurses Connect จะประกาศจุดยืนคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นการนิรโทษกรรมที่จงใจให้ผลประโยชน์แก่บุคคลที่บริหารงานบ้านเมือง ทำให้ตัวเองปลอดมลทินโดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรจากการบริหารจนระบบสาธารณสุขที่ล้มเหลว อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้มีลักษณะไม่ต่างจาก “นิรโทษกรรมสุดซอย” เมื่อครั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยเป็นการนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งมีส่วนที่ทำให้ประชาชนต้องตายกว่า 6,000 คน

ในส่วนของประชาชนก็มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยล่าสุด ได้มีผู้เสนอแคมเปญรณรงค์คัดค้านการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน โดยให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านผ่าน Chang.org ภายใต้ชื่อแคมเปญ “คัดค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรม แบบเหมาเข่งคนจัดหาวัคซีน” ซึ่งปรากฏว่าผ่านไปเพียงแค่วันเดียวได้มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วเกือบ 20,000 คนแล้ว ขณะที่ในโลกโซเชียลก็มีการขึ้นรูปและข้อความ “คัดค้าน พ.ร.ก.นิรโทษกรรม เหมาเข่งคนจัดหาวัคซีน” อย่างแพร่หลาย อีกทั้งในฟากฝั่งนักวิชาการต่างก็ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการออกกฎหมายดังกล่าวชนิดที่เรียกว่ากระหึ่มเลยทีเดียว

และเมื่อสดับรับฟังเสียงของบรรดาแพทย์ในระดับแถวหน้า รวมถึงนักรัฐศาสตร์และนักกฎหมาย ก็ล้วนมองไปในทิศทางเดียวกัน

พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศไทย
หมอแถวหน้าร่วมค้าน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของบุคลากรด่านหน้า ไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. เขาก็ปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว และจริงๆ แล้วประชาชนและผู้ป่วยก็เข้าใจว่าบุคลากรเหล่านี้ทำงานเกินตัว เกินจำนวนคน เกินชั่วโมงที่ควรจะทำงาน และไม่ได้หยุด บุคลากรการแพทย์เหล่านี้ทำงานภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤต อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ มีจำกัด และอุปกรณ์บางอย่างขาดแคลน ดังนั้นหากมีการคุ้มครองบุคลากรส่วนนี้ก็เป็นที่เข้าใจได้

แต่การจะพ่วงข้อ 7 ในพระราชกำหนด ที่ระบุว่า ...การนิรโทษกรรมให้หมายรวมถึงบุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน (ไม่ว่าจะเป็น ศบค. ที่ปรึกษา หรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้อง) ... นั้น ส่วนตัวมองว่าบุคคลในระดับผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรนั้นถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงที่จะประเมินสถานการณ์ ซึ่งจริงๆ แล้วการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดมาตั้งแต่ปี 2563 ถ้าดูสถานการณ์จากโดยรอบประเทศก็ต้องเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน อุปกรณ์การแพทย์ หรือยารักษาโรคต่างๆ สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ

“ผมคิดว่าการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมไม่มีความจำเป็นเลย เพราะบุคลากรที่ทำงานอยู่แล้วเขาก็ทำงานตามปกติ ปฏิบัติตามหน้าที่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินและอุปกรณ์ที่จำกัด ขณะที่ผู้บริหารวัคซีนก็มีหน้าที่ที่จะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ป่วย และประชาชนคนไทยมีความปลอดภัยที่สุด การจะออก พ.ร.ก.ตัวนี้มาเหมือนกับว่ารับทราบถึงความผิดพลาด แต่แทนที่จะบรรเทาความผิดพลาด กลับออกกฎหมายเพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดชอบ สิ่งที่ผ่านมาอาจจะไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา หรือไม่ได้นำมาเป็นบทเรียนและแก้ไข ทุกอย่างเหมือนเป็นเรื่องปกติ เพราะนิรโทษกรรมไปเรียบร้อยแล้ว แทนที่จะมานั่งเสวนา ระดมความคิดจากบุคลากรทางการแพทย์เพื่อออกกฎหมายนี้ ผมว่าให้ทุกองค์กรเร่งทำงานเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยที่สุดดีกว่า” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายบริหาร สถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้าน พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศไทย มองว่า การที่รัฐบาลจะพ้นผิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดในการจัดการวัคซีนและความผิดผิดพลาดในการออกนโยบายแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ไม่ใช่ด้วยวิธีออกกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ควรปรับยุทธศาสตร์ในการรักษาผู้ป่วยวันนี้ เดี๋ยวนี้ ซึ่งจะเท่ากับรัฐบาลได้นิรโทษกรรมความผิดของตนเองที่จะไม่ทำลายชีวิตของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้รัฐบาลเดินผิดพลาดแต่ไม่แก้ไข แล้วยังจะทำผิดพลาดต่อด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อให้สามารถทำผิดต่อไป ทำลายชีวิตประชาชนต่อไปได้

“มันเกิดคำถามว่าความผิดพลาดที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของประชาชนนั้นมันเกิดจากผลประโยชน์ทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่หรือเปล่า เขาไม่ได้โง่ในการบริหารจัดการ แต่เขาอาจฉลาดในการแสวงหาผลประโยชน์ และทำเป็นโง่ในบางเรื่อง การจัดซื้อซิโนแวคก็มีข่าวแว่วว่ามีทุนยักษ์ใหญ่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล มันมีความผิดปกติหลายอย่าง ไทยซื้อซิโนแวคจากจีนในราคาโดสละ 513 บาท แล้วยังบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก ทำให้ตกโดสละ 549 บาท ขณะที่อินโดนีเซียซื้อจากจีนแค่โดสละ 444 บาท อีกทั้งมีคำถามว่าทำไมไม่ซื้อซิโนฟาร์ม ทั้งที่คุณภาพดีกว่าแต่ราคาพอกัน” พ.ท.พญ.กมลพรรณ ตั้งข้อสังเกต

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก  นักวิชาการด้านกฎหมาย
นัก กม.เตือนมวลชนอาจลุกฮือ

ด้านฝั่งนักรัฐศาสตร์และนักกฎหมายต่างก็มีมุมมองไม่ต่างกัน โดย ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายบริหาร สถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เห็นว่า ผลดีจากการออก พ.ร.ก.ดังกล่าวก็คือการคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ แต่ข้อเสียคือ ข้อ 7 ของ พ.ร.ก.ที่คุ้มครองคณะบุคคลต่างๆ นั้นครอบคลุมไปถึงผู้ออกนโยบายด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง เพราะต้องยอมรับว่ากระแสสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารงานที่ผิดพลาดในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการประเมินสถานการณ์ต่างๆ การล็อกดาวน์ การออกคำสั่งต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือความไม่มีประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายของฝ่ายการเมือง ล้วนเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ และไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมืองในกระทรวงสาธารณสุข แต่รวมถึงฝ่ายการเมืองใน ศบค.ด้วย

“สำหรับหมอและพยาบาลซึ่งเขาทำงานเต็มที่แล้ว เชื่อว่าประชาชนไม่เอาผิดหรอก แต่ฝ่ายการเมืองที่คลอดนโยบายต่างๆ ออกมาเนี่ยประชาชนเขาไม่เชื่อมั่น แต่ถ้าหากไม่ต้องมีใครรับผิดชอบเลยหลังจากที่ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ผมคิดว่าตรงนี้จะกลายเป็นสึนามิลูกใหญ่ทางการเมืองได้ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับปี 2557 การปลดล็อกให้นักการเมืองที่ได้ประโยชน์จากความเสียหายตรงนี้ แม้บางคนจะบอกว่าน้ำหนักของประเด็นไม่เหมือนกัน ปี 2557 ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้คนทุจริต แต่อย่าลืมว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้มันก็มีคนผิดพลาด ขาดวิสัยทัศน์ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายและการสูญเสียชีวิตของผู้คน ซึ่งการออกกฎหมายคุ้มครองคนเหล่านี้ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าต้องตายฟรีหรือเปล่า ซึ่งเขาคงไม่ยอมแน่ๆ” ผศ.วันวิชิต กล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย ระบุว่า หากรัฐบาลดึงดันที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว ก็เชื่อว่าจะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งน่าจะเทียบเคียงได้กับการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมสุดซอย ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งครั้งนั้นถ้าเป็นการนิรโทษกรรมให้เฉพาะผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้ทำผิดอะไร กฎหมายฉบับนั้นก็ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ไม่มีใครไปทำอะไรนายกฯ ยิ่งลักษณ์ได้หรอก แต่มันไม่ใช่ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน สมมติว่าตั้งใจออกกฎหมายเพื่อปกปิดหลายสิ่งหลายอย่างที่คนเขาสงสัยกันว่าอาจมีการทุจริตประพฤติมิชอบในการจัดหาวัคซีน มันก็จะเข้าข่ายเหมือนครั้งนิรโทษกรรมสุดซอยเพื่อปกปิดความผิดจากการรับจำนำข้าว ดังนั้น ถ้าออกกฎหมายฉบับนี้ต้องเกิดปัญหาแน่นอน

“มีความเป็นไปได้ที่อาจมีการเคลื่อนไหวต่อต้านเหมือนครั้งนิรโทษกรรมสุดซอย เพราะตอนนี้ประชาชนรู้สึกว่าท่านพยายามเอาสิ่งที่ซุกไว้ใต้พรมไปเผาทิ้งแล้วไม่ถือว่ามีความผิดอันใด ทั้งที่ประชาชนอยากให้ท่านเปิดพรม ถ้าเจอความผิดอะไรเขาก็จะจัดการ ท่านกลัวตรงนั้นไง ท่านกลัวความรับผิดชอบทางการเมือง กลัวว่าจะถูกประชาชนขับไล่ ยิ่งออกกฎหมายมาเพื่อให้พ้นผิดก็ยิ่งไปกันใหญ่ อาจเกิดกระแสความไม่พอใจและลุกฮือขึ้นขับไล่เหมือนเมื่อครั้งนิรโทษกรรมสุดซอย” รศ.ดร.เจษฎ์ แสดงความวิตก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
นายกฯ กุมอำนาจบริหารวัคซีน

อย่างไรก็ดี สังคมมีการตั้งคำถามว่าใครคือผู้บริหารสูงสุดในการจัดการหาวัคซีน มีที่มาที่ไปอย่างไร และใครคือผู้ที่ควรรับผิดชอบ?

หากไล่เรียงดูจะพบว่า ก่อนที่วัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกจะมาถึงไทยในเดือน ก.พ.2564 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ได้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19” ขึ้นมาดูแลเรื่องวัคซีน

แต่ต่อมา วันที่ 26 เม.ย.2564 รัฐบาลได้ตั้ง "ศูนย์บริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 แบบเบ็ดเสร็จ" โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ ผู้เป็น ผอ.ศบค. นั่งบัญชาการด้วยตนเองแบบ "Single Command" และมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็น "มือขวา" ของ ผอ.ศบค. ส่งผลให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นต้องหมดบทบาทลง และเป็นเพียงผู้รับและปฏิบัติตามคำบัญชาของ ศบค. เท่านั้น

“ภาคีเครือข่ายพยาบาล Nurses Connect  ประกาศจุดยืนคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมวัคซีน
จากนั้นในวันที่ 5 พ.ค.2564 นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19” ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการ 22 คน โดยมีเลขาธิการ สมช. เป็นประธานกรรมการ ส่วน รมว.สาธารณสุข และ รมช.สาธารณสุข มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษา

ทั้งนี้ ช่วงปลายเดือน พ.ค.2564 นายอนุทิน ได้ชี้แจงกับบรรดา ส.ส.ที่มาบ่นถึงปัญหาในการกระจายวัคซีน ว่า “การกระจายวัคซีนในขณะนี้ สธ. (กระทรวงสาธารณสุข) เป็นผู้กระจายตามการกำหนดและความเห็นชอบของ ศบค. ว่าจะให้ส่งไปที่ไหน เวลาใด จำนวนเท่าไร”

อีกทั้งนายอนุทิน ยังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงการจัดสรรวัคซีนในทำนองเดียวกันว่า “ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดส่งวัคซีน โดยรับออเดอร์ (คำสั่ง) มาจาก ศบค. ว่าจะให้กระทรวงส่งไปที่ไหน เท่าไหร่ เลขาธิการ สมช. เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน ผมไม่ได้ไปประชุมร่วม ศบค. ผมมีหน้าที่รับออเดอร์จาก ศบค. ว่าให้จัดวัคซีนไปที่ไหนพอ เขาเอาเรื่องนโยบายไปกำกับที่ ศบค. แล้ว ผู้สื่อข่าวก็ต้องปล่อยผมหน่อยสิ ก็ต้องไปถามที่ ศบค. ตอนนี้ผมเป็นผู้ปฏิบัติคนหนึ่ง”

ซึ่งสรุปได้สั้นๆ ว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจในการจัดสรรวัคซีน ทำได้เพียงจัดส่งวัคซีนตามออเดอร์ของ “ศบค.” ที่มีนายกฯ เป็นผู้อำนวยการเท่านั้น

แคมเปญรณรงค์คัดค้านการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีน โดยให้ประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านผ่าน Chang.org
ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า ในเมื่อปรากฏชัดว่าอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการวัคซีนอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้น หากสามารถออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมดังกล่าวได้สำเร็จ ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือ พล.อ.ประยุทธ์

“มีความเป็นไปได้สูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะโดนเละ คือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามามีอำนาจเพราะความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้วคุณจะมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองเสียเอง มันก็จะเป็นกงกรรมกงเกวียน มีสัญญาณว่างานนี้คุณเจอหนักแน่” ผศ.วันวิชิต กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า หากกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้ นอกจากคนจะพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ผู้ที่เสนอกฎหมาย รวมถึง รมว.สาธารณสุข ซึ่งเป็นคนรับเรื่องนี้มาดำเนินการต่อ ก็ต้องถูกกระแสสังคมเล่นงานเช่นกัน เพียงแต่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะโดนหนักกว่าคนอื่น




กำลังโหลดความคิดเห็น