“เลขาฯ เม้ง” สวด “ช่อ” ชุดใหญ่ ย้ำ กม.ปกป้องคนทำงาน สร้างความมั่นใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ไล่อ่านให้ชัด ยัน! กฎหมายระบุ ไม่มีการละเว้นคนทำผิด
จากกรณีประเด็นถกเถียงเรื่องร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งฝ่ายการเมือง อาทิ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ออกมาตั้งคำถามว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้รัฐบาล กรณีปัญหาในการจัดการโควิด-19
วันนี้ (10 ส.ค.) นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองตรงข้าม ก็นำเสนอความจริงเพียงแค่บางส่วน เพื่อด่ารัฐบาล ด่าฝ่ายตรงข้าม วันนี้ การออกกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นไปเพื่อปกป้องคนทำงาน ให้คนทำงานรู้สึกมั่นใจ ในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ทั้งในเรื่องของการควบคุมโรค รักษาผู้ป่วย ไปจนถึงการป้องกันโรค สาระของกฎหมายมีแค่นี้ แต่ฝ่ายการเมืองไปตีความว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อละเว้นความผิดให้ฝ่ายการเมืองเพียงไม่กี่คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตลก แต่ตนขำไม่ออก เพราะไม่นึกว่าจะมีคนคิดแบบนี้ แสดงว่าไม่ได้อ่านกฎหมาย สักแต่วิจารณ์เอาสนุก เนื่องจากกฎหมายพูดชัด ว่าใครก็ตามที่ทำผิด ดังนี้
คือ การกระทำโดยไม่สุจริตการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และการกระทำเกิดจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จะไม่ได้ละเว้นโทษ เท่ากับว่า ถ้าเห็นว่าฝ่ายการเมืองที่คุณชิงชัง กระทำผิด แล้วเข้าข่ายความผิดที่กล่าวมา คุณมีสิทธิ์ไปฟ้องศาลดำเนินคดีตามกฎหมายได้เลย แล้วถามว่า ที่สุดแล้ว กฎหมายนี้ มันมีไว้เพื่อละเว้นความผิดให้ฝ่ายการเมืองตรงไหน ในเมื่อก็มีช่องให้ฟ้อง ให้ถูกลงโทษอยู่แล้ว กลับกันกฎหมายฉบับนี้ คุ้มครองคนที่ทำงานด้วยใจบริสุทธิ์ ซึ่งก็คือหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ที่พวกคุณพูดทุกวันว่ารักมาก เป็นห่วงมาก เคารพมาก แต่พอ จะออกกฎหมายมาดูแลพวกเขา ให้เขามีความมั่นใจในการทำงาน ฝ่ายคุณกลับขัดขวางเต็มที่ แบบนี้ถูกต้องหรือไม่ สิ่งที่คุณกำลังทำทั้งหมดนั้น ตีความได้ว่า คุณกำลังมีอคติบังตา จิตใจมืดบอด จนลืมแล้วซึ่งผิดชอบชั่วดี กระทั่งลืมอ่านกฎหมายให้ละเอียดว่าเขียนไว้อย่างไร คุณสักแต่วิจารณ์ และกำลังทำให้สังคมเข้าใจผิด จนกระทบกับคนทำงานด้วย
“กฎหมายฉบับนี้ มันไม่ได้ถูกผลักดันโดยฝ่ายการเมือง มันเกิดจากว่า แพทย์ พยาบาล เขาต้องรักษาผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่ ซึ่งมันไม่มียาตรงตัว มันไม่มีแนวทางการรักษาที่แน่นอน เวลาปฏิบัติหน้าที่ ทุกท่านทำเต็มที่ แต่ก็มีความกังวล ก็มีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เข้ามา สธ.จึงตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย มีกรม สบส.เป็นหน่วยงานหลัก ดูแลหาทางช่วยเหลือ ให้คนทำงานได้มั่นใจ เรื่องมันก็มีอยู่แค่นี้”