“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 ตอน กฎเหล็ก ปิดปากสื่อ ดาบนี้...คืนสนอง
“ศาลแพ่ง” เบรกรัฐบาลใช้กฎเหล็กคุมสื่อและประชาชน ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามบังคับใช้ข้อกำหนด ฉบับที่ 29 อ้างอำนาจตาม มาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามเสนอข่าวที่อาจทำให้หวาดกลัว
ศาลแพ่งวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ว่ามีลักษณะ”ไม่แน่ชัด-ขอบเขตกว้างขวาง” อันอาจทำให้จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน เกินสมควรกว่าเหตุ และไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ อีกทั้งรัฐบาลไม่มีกฎหมายให้อำนาจระงับอินเตอร์เน็ต
การออกข้อกำหนดจึงขัดรัฐธรรมนูญ ในการแสดงความเห็นและการสื่อสาร ซึ่งรัฐบาลสามารถใช้สื่อในกำกับชี้แจงประชาชนได้อยู่แล้ว จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ชี้ว่า เมื่อศาลมีคำสั่งออกมา จึงไม่สามารถบังคับชั่วคราว ต้องดูว่าถึงที่สุดแล้ว ศาลจะสั่งอย่างไร ซึ่งก็เหมือนกับคดีอื่นๆ ที่มีการคุ้มครองชั่วคราว และรัฐเองก็ต้องปฏิบัติตาม โดยในขณะนี้สื่อสามารถปฏิบัติงานได้ แต่อย่าให้ผิดกฎหมายอื่นๆ เพราะยังมีกฎหมายอื่นอีกเยอะ ที่ศาลได้บอกเอาไว้
คำอธิบาย นายวิษณุ ฟังดูดี แทนที่จะเตือนสติสื่อ และประชาชน คำพูดเหล่านี้ก็บอกว่ารู้ทั้งรู้ น่าจะห้ามรัฐบาลไม่ให้ออกกฏข้อกำหนดนี้เสียตั้งแต่แรก รัฐบาลจะได้ไม่ หน้าแหก กับการที่ถูกฟ้อง และศาลแพ่งสั่งคุ้มครอง ไม่ให้บังคับใช้ข้อกำหนดนี้ชั่วคราว กลายเป็นทวนขี้ผึ้งไป
ย้อนกลับไปถึง การออกข้อกำหนดดังกล่าว เริ่มสัญญาณขึ้นหลังการประชุม ครม. เมื่อ 27ก.ค.ที่ผ่านมา “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ได้สั่งการที่ประชุม ครม. 5 ข้อ เพื่อสกัดเฟกนิวส์ ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้าจัดการทั้ง สื่อมวลชน คนดัง เพจต่างๆ ไม่ใช่จับแค่ชาวบ้านทั่วไป
โดยอ้างว่าประเทศอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ จงใจตัดต่อ บิดเบือนคำพูด จึงสั่งศูนย์ต้านข่าวปลอมทุกกระทรวง จัดตั้งฝ่ายรับผิดชอบตรวจสอบและแก้ไขข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกระทรวงทันที และให้มีตัวแทนหน่วยงานแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
พร้อมให้ศูนย์ข่าวปลอมของกระทรวงเผยแพร่ข้อเท็จจริงผ่านสื่อของกระทรวงภายใน 24 ชั่วโมง และส่งข้อมูลหรือประกาศชี้แจงแก้ไขข่าวปลอมให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และ กสทช. ด้วย
นอกจากนี้ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. ร่วมหารืออย่างเร่งด่วน ในการนำเอาข้อกำหนดข้อที่ 11 จากประกาศฉบับที่ 27 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ว่าด้วยเรื่องการห้ามบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร มาเป็นแนวปฏิบัติของมาตรการที่ชัดเจน พร้อมให้กรมประชาสัมพันธ์ โฆษกทุกกระทรวง และ กสทช. สื่อสารให้ทุกหน่วยงานและประชาชนได้รับทราบถึงมาตรการนี้อย่างทั่วถึง
ผ่านไป 2 วัน เมื่อวันที่ 29ก.ค.ที่ผ่านมา เว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อกำหนด ฉบับที่ 29 อ้างอำนาจตาม มาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ ที่มีข้อความอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ส่วนการควบคุมการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต ให้ กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต มีหน้าที่ตรวจสอบข้อความหรือข่าวสารมีที่มาจากเลข IP address ใด หากเป็น IP address ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดแก่สำนักงาน กสทช. และให้ระงับ IP address นั้นทันที จากนั้นให้สำนักงาน กสทช. ส่งรายละเอียดแก่ ตร. เพื่อดำเนินคดี
สำหรับ ข้อกำหนด ฉบับที่27 ออกมาวันที่10 กรกฎาคม ข้อ ๑๑ มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระบุว่า การเสนอข่าวหรือการทําให้แพร่หลํายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ท่ีมีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว
หรือเจตนําบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิด ความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ท่ัวราชอาณาจักรน้ัน เป็นความผิดตามมาตรา ๙ (๓) แห่งพระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ คือมีโทษจำคุก ไม่เกิน2 ปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท
ข้อกำหนดทั้งฉบับ27 และ 29 ถูกมองว่า เป็นการทำกฎหมายให้มีผลบังคับเด็ดขาด โดยการกำหนดโทษทางอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนผู้นั้นต้องรับโทษ ซึ่งในกฎหมายที่ถูกจัดทำขึ้นล้วนเป็นการกำหนดโทษเกินกว่าเหตุ
การกระทำเช่นนี้ ส่อให้เห็นว่าผู้ปกครองพยายามที่จะใช้ความหวาดกลัวในโทษอาญาของประชาชนปกครองประชาชนในรัฐ เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามความต้องการของผู้ปกครองเท่านั้น
การออกคำสั่งคุ้มครองของ “ศาลแพ่ง” จึงทำให้ “บิ๊กตู่” มีอาการ “เข้าตาจน” ในการควบคุมสื่อ เพราะการออก “ข้อกำหนด” คุมสื่อหรือปิดปากประชาชนเช่นนี้ ทำให้เกิดความหวาดวิตกในสังคม หากมีการบังคับใช้แบบ “เหวี่ยงแห” หรือถูกใช้เป็น “เครื่องมือทางการเมือง”