xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบคณะราษฎร “สำรอง” คนเสื้อแดงเติมฐานหลังมวลชนแผ่ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ม็อบคณะราษฎรออกอาการไม่จัดชุมนุมต่อ หลังผู้ชุมนุมลดลงเรื่อยๆ ทำแค่กิจกรรมย่อย ด้านแกนนำพาเหรดถูกดำเนินคดี อดีตคนเสื้อแดงแฉที่ผ่านมาจำเป็นต้องสานสัมพันธ์เสื้อแดงหวังใช้เป็นฐานหากมวลชนเมืองหดหาย ชี้ม็อบเปิดหน้าเป้าจริงชูแนวทางคอมมิวนิสต์ เท่ากับหลอกผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด มวลชนหายอีก งานนี้ไปต่อยาก

ภายหลังการชุมนุมที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ของกลุ่มคณะราษฎร 2563 วันเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีเรื่องบ้านพักทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น แกนนำคณะราษฎรยังไม่มีการนัดชุมนุมครั้งใหม่ ระหว่างนี้แกนนำหลายคนต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีความต่างๆ ตามที่มีผู้ร้อง

แต่ก่อนชุมนุมในวันที่ 2 ธ.ค.นั้น เกิดเหตุการณ์การ์ดของคนเสื้อแดงถีบรถประชาชน จนถูกวิพากษ์วิจารณ์การกระทำในครั้งนั้นเป็นอย่างมาก จน น.ส.อินทิรา หรือทราย เจริญปุระ หนึ่งในผู้ที่ช่วยเหลืองานของคณะราษฎรคนสำคัญ ได้ออกมาโพสต์ข้อความว่าสิ่งหนึ่งที่หลายคนในทีมลำบากใจมาก คือ การวางระบบโดยรวมเพื่อความปลอดภัยที่สุดของทั้งสตาฟ แกนนำ และมวลชน เลยจำเป็นต้องให้ลงทะเบียนแจ้งชื่อและตำแหน่งงานเพื่อจะได้เช็กคนแปลกหน้าได้ รวมถึงดูแลกลับบ้านได้ถ้าเกิดบาดเจ็บ เราไม่ได้มีความต้องการรู้เรื่องส่วนตัวใดๆ เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ทางอื่นเลย

“การ์ดทุกทีม ทีมงานทุกฝ่ายเข้าใจและให้ความร่วมมือหมด ยกเว้นทีมการ์ดเสื้อแดง ซึ่งพอเราขอให้ลงทะเบียนก็กลายเป็นว่าทางเราตั้งแง่กีดกันคนเสื้อแดง เป็นความเข้าใจที่ผิดไปไกลมากๆ วันนี้เกิดเหตุการ์ดเสื้อแดงไปถีบรถอีก ทรายไม่รู้จะบอกยังไงแล้ว นอกจากขอปลอกแขนที่ทำขึ้นเองและจัดตั้งกันเองคืนทั้งทีม แล้วให้ไปร่วมในฐานะมวลชน

ทำงานกับคนหมู่มาก ขอเถอะนะคะ เราเรียกร้องให้ทุกคนมาอยู่ใต้กติกาเดียวกัน คุณกับทีมไม่ควรทำกิริยาแบบนี้ นี่ไม่ใช่การยกระดับ นี่คือการลากทุกคนลงมาทั้งที่คนอื่นไม่ได้ยินดี”


โกรธแต่ต้องรักษาฐานสำรอง

แน่นอนว่างานนี้กระทบไปถึง นายสมบัติ ทองย้อย หัวหน้าการ์ดคนเสื้อแดง ที่ไม่พอใจท่าทีของแกนนำคณะราษฎร จนต้องโพสต์ข้อความตอบโต้ว่า “ถามง่ายๆ ตรงๆ การ์ดเสื้อแดงมันเลวมากหรือไงวะ  แล้วที่กล่าวมาในนั้นคงเป็นใครไม่ได้ กูนี่ทำงาน ทำงานและทำงาน จะเอาอะไรกับกูและพวกกูอีกวะ”

จากนั้นเพนกวินได้มอบหมายให้การ์ดทุกกลุ่มส่งรายชื่อกับไมค์ ภาณุพงศ์ 30 พฤศจิกายน 2563 สุดท้ายได้มีการขอโทษขอโพยกันระหว่างทรายกับสมบัติ ทองย้อย

ตามมาด้วยเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ออกมาโพสต์ข้อความว่า “ผมรักและเคารพคนเสื้อแดงทุกคน ผมถือว่าเสื้อแดงคือพ่อแม่ทางการต่อสู้ของผม วีรชนปี 53 คือผู้ปูทางการเคลื่อนไหวส่งไม้ต่อให้พวกเรานักศึกษาในวันนี้ ด้วยจิตคารวะ”

นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เกิดความไม่พอใจกันระหว่างแกนนำคณะราษฎรกับทีมงานคนเสื้อแดงที่เข้ามาร่วมงาน  

ในช่วงแรกของการชุมนุมชุดของเยาวชนปลดแอกที่มารวมตัวกันเป็นคณะราษฎร 2563 ช่วงแรกนั้นด้วยเกรงว่าม็อบจะจุดติดหรือไม่ คนจะน้อยหรือไม่ จึงมีการเชิญกลุ่มคนเสื้อแดงจากทางภาคเหนือและอีสานเข้ามาร่วมชุมนุมภายใต้สายงานของนักการเมืองที่คุมพื้นที่

ทั้งนี้ มีปฏิกิริยาจากผู้ชุมนุมบางส่วนที่ไม่ชื่นชอบกลุ่มคนเสื้อแดงสักเท่าไหร่ โดยมองว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นจากความต้องการของคนเมือง เมื่อการชุมนุมเริ่มติด คนกรุงจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่คนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดถอยออกจากการที่ชุมนุมที่เป็นแบบเช้าไปเย็นกลับ สถานที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่สะดวกต่อการร่วมชุมนุม

เลี้ยงไข้-เอาไว้สำรอง

แม้ว่าลึกๆ แล้วกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ได้นิยมชมชอบกลุ่มคนเสื้อแดงสักเท่าไหร่ เพราะมองว่าเป็นคนละฐาน คนละวัฒนธรรมกัน เห็นได้จาก #ปัญญาชนขอโทษคนเสื้อแดง ก็เป็นอีกหนึ่งการแสดงออกที่ชัดเจนว่าคณะราษฎรเองก็มองคนเสื้อแดงด้วยสายตาอีกแบบหนึ่ง

แต่แกนนำคณะราษฎรจำเป็นต้องดึงคนเสื้อแดงเข้ามาร่วมเพื่อเป็นฐานมวลชนเสริมหากฐานผู้ชุมนุมในเมืองลดลงไม่ว่าจะมาจากเหตุใด จะเห็นได้ว่า 1-2 ครั้งแรกคนเสื้อแดงในสังกัดของนักการเมืองบางพรรคเข้ามาร่วมชุมนุมกับคณะราษฎร หลังจากนั้นแกนนำและมวลชนขับเคลื่อนไปได้ด้วยกระแสและกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยฐานมาจากคนในเมืองหลวง

ในหลายกิจกรรมคณะราษฎรได้ให้พื้นที่แก่คนเสื้อแดง เช่น ตั้งเวทีต่างหากให้ หรือจัดกิจกรรมเพื่อให้เกียรติคนเสื้อแดง เช่น การชุมนุมที่ถนนอักษะ หรือการเทสีแดงที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เพื่อรำลึกถึงคนเสื้อแดง


เสื้อแดงอ่อนกำลัง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การชุมนุมของม็อบคณะราษฎร ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่ก้าวล่วงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้เดินสายทำความเข้าใจกับคนเสื้อแดงทำให้หมู่บ้านคนเสื้อแดงแถบพื้นที่ภาคอีสานเห็นด้วยกับแนวทางปกป้องสถาบันฯ

แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่สิ่งดีสำหรับแกนนำม็อบคณะราษฎรที่ฐานมวลชนคนเสื้อแดงอาจลดลงไป จึงต้องพยายามจัดกิจกรรมดึงคนเสื้อแดงกลับมา

อดีตคนเสื้อแดงกล่าวว่า เราจะเห็นได้ว่าการชุมนุมของม็อบคณะราษฎรผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จะเห็นได้ว่าการชุมนุม 2 ครั้งหลังตัวเลขคนร่วมชุมนุมจากหลักหมื่นตอนนี้ลงมาเหลือหลักพัน การก้าวล่วงถึงสถาบันฯ รวมถึงแนวทางที่ไม่ชัดเจน การใช้ถ้อยคำและพฤติกรรมที่คุกคามคนเห็นต่างล้วนมีผลต่อแนวร่วมของผู้ชุมนุม

คนเสื้อแดงตามต่างจังหวัดถอนตัวเพราะม็อบแตะต้องสถาบันฯ ม็อบแบบไม่กี่ชั่วโมง ไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง จากหลายๆ ปัจจัยทำให้คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งไม่เข้าร่วม แกนนำม็อบจึงต้องพยายามจัดกิจกรรมเอาใจคนเสื้อแดง แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์คนเสื้อแดงได้ อาจจะมีเสื้อแดงบางกลุ่ม เช่น แดงก้าวหน้า 63 ที่เข้าร่วมเป็นบางครั้ง และแดงภาคเหนือบางสายที่มาตามคำสั่งของนักการเมือง

อีกประการหนึ่งความเข้มแข็งของคนเสื้อแดงบางกลุ่มก็เริ่มมีรอยร้าว อย่างกรณีนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ชัดเจนว่าไม่ลงรอยกับพรรคเพื่อไทยจากกรณีช่วยหาเสียงให้แก่การเลือกตั้งชิงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ที่มองว่าพรรคเพื่อไทยทิ้งนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ จนต้องลงสมัครในนามกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม แล้วไปหันหนุนนายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร หรือ “ส.ว.ก๊อง”

จนเมื่อ 3 ธันวาคม 2563 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเอง พร้อมลงชื่อตัวเองและน้องสาว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งถึงชาวเชียงใหม่เพื่อขอให้ช่วยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้นายพิชัย เลิศพงษ์อดิศร ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ หมายเลข 1 ที่เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งวันที่ 20 ธ.ค.2563 นี้

โดยมีการโจมตีว่านายจตุพร เปลี่ยนขั้วการเมือง ตีจากพรรคเพื่อไทยไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เรียกร้องให้ลาออกจากประธาน นปช.

เต้าเรื่อง-หน้าแตก

จากข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ทั้งการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมเลือกที่จะโจมตีสถาบันฯ เป็นหลักการเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม เชื่อว่าเสียฐานมวลชนไปในระดับหนึ่ง แม้ว่าจะดูเหมือนมีกลุ่มคนรุ่นใหม่เห็นด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนที่ถอนตัวไปก็มีเช่นกัน เพียงแต่ไม่มีการเปิดเผยออกมา

ประการต่อมา จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องในบางเรื่องนั้นเป็นเท็จ เช่น การขอให้สถานทูตเยอรมนีตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ แต่มีคำตอบออกมาแล้วว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อกล่าวหาของคณะราษฎร หรือความพยายามที่จะเข้ามาตรวจสอบเรื่องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตรย์ รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายที่ผ่านมา แม้แต่แกนนำของรุ้ง ปนัสยา ก็ยังไม่แม่นในเรื่องข้อกฎหมาย ความสงสัยต่างๆ เป็นเพียงแค่การตั้งคำถามที่ยังไม่ได้แสวงหาข้อเท็จจริง สุดท้ายจึงกลายเป็นการฆ่าตัวตายบนรายการโทรทัศน์

รวมไปถึงพฤติกรรมของการ์ดที่มีเรื่องวิวาทกันเองความไม่พอใจกันในเรื่องระหว่างการ์ด WEVO กับการ์ดอาชีวะ จนเป็นเหตุให้หัวหน้าการ์ด WEVO ปิยรัฐ จงเทพ ต้องถอนตัวจากการเป็นการ์ดให้แก่ม็อบคณะราษฎรที่เขาทำหน้าที่นี้มา

ออกอาการไม่ชุมนุมต่อ

ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าแกนนำคณะราษฎรจะจัดชุมนุมต่อไปหรือไม่ เพราะหลังจากการชุมนุมเมื่อ 2 ธันวาคมเป็นต้นมา กลุ่มเยาวชนปลดแอกที่เป็นเนื้อเดียวกับคณะราษฎรได้โพสต์ข้อความที่สะท้อนถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองสาธารณรัฐคืออะไร

รัฐที่มหาชนเป็นใหญ่ สาธารณรัฐ (Repubic) เป็นรูปแบบการปกครองที่แพร่หลายทั่วโลก เน้นการกระจายอำนาจการปกครอง ผู้ปกครองต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมมิใช่ตกทอดทางสายเลือด ไม่มีเลือดสีน้ำเงิน ไม่มีเลือดสีอื่นใด มีเพียง “สีแดง”

“มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่มีมนุษย์คนไหนพึงมีสิทธิแต่กำเนิดในอันที่จะยกยอตระกูลของตนให้มีอภิสิทธิ์ถาวรเหนือคนทั้งปวงตลอดไป” Thomus Paine

เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสาธารณรัฐ ในสาธารณรัฐของประชาชนจะดังก้องฟ้า แต่สาธารณรัฐจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  หากปราศจากเสียงประชาชนผู้ลุกขึ้นปลดเปลื้องพันธนาการทั้งปวง


นิยมแนวทางคอมมิวนิสต์

จากนั้นไม่นานเพจเยาวชนปลดแอกได้โพสต์ข้อความที่ทำให้คนคิดเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ว่าแนวทางสุดท้ายของพวกเขาคือเปลี่ยนการปกครองประเทศไทยไปในแนวทางเดียวกับลัทธิคอมมิวนิสต์

ประกาศเปิดตัว RT Movement ทีมข้อเดียวมูฟเมนต์ นี่คือ Movement ครั้งใหม่ที่จะไม่มีอะไรเหมือนเดิม ปลุกสำนึกทางชนชั้นของเหล่าแรงงานผู้ถูกกดขี่ ไม่ว่าคุณจะเป็นรักเรียน พนักงานออฟฟิศ แม่บ้าน รปภ. นอกเครื่องแบบ ชาวนา ข้าราชการ “เราทุกคนล้วนเป็นแรงงานผู้ถูกกดขี่”

RT Movement นี้ไม่มีแกนนำ ไม่ตั้งเวที ไม่มีการ์ด ไม่มีรถห้องน้ำ ไม่มีการเจรจา ไม่มีการต่อรอง มาร่วม RESTART THAILAND เพื่อสร้างสังคมที่ “คนเท่ากัน” โปรดรอติดตามช่องทางที่จะใช้เพื่อทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นเร็วๆ นี้

ไปต่อยาก 
ยิ่งเมื่อมีการเปิดเป้าหมายที่มีแนวโน้มไปในทางของระบอบคอมมิวนิสต์แล้ว ยิ่งทำให้เป็นที่ชัดเจนว่าการเรียกร้องที่ผ่านมานั้น คณะราษฎรไม่ได้ต้องการความเป็นประชาธิปไตยตามที่เคยชูเป็นเรื่องหลักในการชุมนุม

แนวทางดังกล่าวน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของผู้ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะคนที่คาดกันว่าอยู่เบื้องหลังการชุมนุมก็สนับสนุนแนวทางที่ปฏิเสธสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด ทั้งการสนับสนุนหนังสือที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ และพยายามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ต่อสาธารณะมาโดยตลอด

เมื่อแกนนำผู้ชุมนุมเปิดหน้ามาอย่างนี้แล้ว ดังนั้น ความชอบธรรมในการชุมนุมจึงหมดไป เนื่องจากที่ผ่านมานั้นได้สร้างเป้าหมายหลอกให้เยาวชนและผู้ที่ไม่ชอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาร่วม แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นการความต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ชัดเจนที่สุด

เชื่อว่าจากนี้ไปการจะกลับมาจัดการชุมนุมในลักษณะเดิม ผู้ร่วมชุมนุมกับคณะราษฎรจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ และหากคดีความของแกนนำแต่ละคนเดินหน้าไปตามกระบวนการยุติธรรม สุดท้ายการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎรอาจจำเป็นต้องยุติลง แต่อาจเหลือเพียงการเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่นๆ แทน เช่น กลุ่ม WEVO ที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือทำกิจกรรมย่อยอย่างกิจกรรมวันรัฐธรรมนูญ




กำลังโหลดความคิดเห็น