xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อ “บิ๊กตู่” หลุดคดีบ้านพักหลวง ตอกย้ำวิกฤตศรัทธาศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




นักวิชาการเชื่อคดีบ้านพักหลวง “บิ๊กตู่” รอดชัวร์ “ผศ.วันวิชิต” ชี้มีข้ออ้าง กองทัพไม่แจ้งให้ย้ายออก อีกทั้งไม่ใช่ ส.ส. จึงไม่เข้าข่ายความผิดตาม รธน. มาตรา 184(3) ด้าน “รศ.ดร.พิชาย” ระบุโครงสร้างอำนาจทางการเมืองมีผลต่อคดี หากนายกฯ ไม่มีความผิดแรงกดดันจะพุ่งไปที่ศาล รธน. ตอกย้ำข้อครหา 2 มาตรฐาน


จากกรณีที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยกับคณะ เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเป็นนายกรัฐมนตรี ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องสิ้นสุดลง เนื่องด้วยการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจาก “ยังอยู่บ้านพักทหาร” ทั้งที่ไม่มีสิทธิการพักอาศัย เพราะ “เกษียณอายุราชการไปแล้ว” ซึ่งอาจเป็นการกระทำขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ โดยศาลนัดอ่านคำวินิจฉัย ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้นั้น

ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลจะออกมาอย่างไร ก็ย่อมมีผลต่อการเมืองไทยซึ่งวันนี้เต็มไปด้วยความขัดแย้งในทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน!

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ออกได้ 3 แนวทาง คือ

แนวทางที่ 1) ถ้าศาลชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว
สภาก็ต้องมีการลงมติเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยขณะนี้มีแคดิเดตซึ่งเป็นตัวเลือกอยุ่แค่ 2 คนเท่านั้น ได้แก่ 1.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกเสนอชื่อจากพรรคให้ชิงตำแหน่งนายกฯ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา หากหลังศาลตัดสินแล้วต้องมีการเลือกนายกฯ คนใหม่ นายอนุทิน จะถูกเสนอชื่อในฐานะตัวแทนฝั่งรัฐบาล ส่วน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯ ก็ได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค และ ส.ส. แล้ว หากมีการโหวตเลือกนายกฯ คงยากที่ทางพรรคจะเสนอชื่อนายอภิสิทธิ์

และ 2.ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมและอำนาจรัฐ พรรคเพื่อไทย ซึ่งจะถูกเสนอชื่อในฐานะตัวแทนฝ่ายค้าน ส่วนนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุุ์ ประกาศตัวตั้งแต่แรกว่าไม่ขอเข้าชิงตำแหน่งนี้ และล่าสุด ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทยไปแล้ว ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็แสดงความจำนงที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. จึงไม่น่าจะเข้าชิงตำแหน่งนายกฯ

ถ้าเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ แล้วเสียงส่วนใหญ่ของสภาไม่สนับสนุน ก็ต้องไปสู่ก๊อก 2 ของรัฐธรรมนูญ คือ เสนอชื่อบุคคลนอกบัญชีซึ่งได้แก่ ส.ส. และผู้ที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่เรียกว่านายกฯ คนนอก ให้สภาพิจารณา

แนวทางที่ 2) ศาลชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งชี้ว่าฝ่าฝืน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วย จะส่งผลให้นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ (และมีการเลือกนายกฯ คนใหม่) แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องถูกสอบสวนเรื่องการห้ามเจ้าพนักงานรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท (ประโยชน์จากการพักในบ้านพักทหาร มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้บัญชาการเหล่าทัพ แถลงประกาศ คสช.ฉบับที่ 1 เรื่องควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ หรือการรัฐประหาร เมื่อปี 2557
แนวทางที่ 3) ศาลชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความผิดตามรัฐธรรมนูญ (ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ) พร้อมทั้งชี้ว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ก็จะมีการยื่นเรื่องให้ศาลคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาเพิกถอนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป

“ในมุมมองส่วนตัวคิดว่า ถ้าศาลยกตัวบทรัฐธรรมนูญเป็นหลักอาจจะตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีความผิด แต่ถ้ามองบริบททางการเมืองและโครงสร้างอำนาจของการเมืองไทยในปัจจุบันแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะรอด ซึ่งแนวโน้มน่าจะเป็นอย่างหลังมากกกว่า และหาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความผิด แรงกดดันจะไปตกอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจะไปตอกย้ำข้อครหาเรื่อง 2 มาตรฐาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง” รศ.ดร.พิชาย กล่าว

สำหรับผลทางการเมืองอันเนื่องมาจากคำตัดสินของศาลรัฐธรมนูญในคดีบ้านพักหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า ในกรณีที่ศาลตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และมีการโหวตเลือกนายอนุทิน ที่ถูกเสนอชื่อจากพรรคภูมิใจไทย หรือนายชัยเกษม ที่ถูกเสนอชื่อจากพรรคเพื่อไทย ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ก็จะช่วยลดอุณหภูมิทางการเมืองลงได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความผิด รัฐบาลก็บริหารงานต่อไป ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่จะเป็นประเด็นที่ม็อบคณะราษฎรนำไปเพิ่มเชื้อเพลิงในการชุมนุมทันที เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะถูกมองว่าทำหน้าที่แบบบ 2 มาตรฐาน

ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้าน ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าในการพิจารณาคดีบ้านพักหลวงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะรอด เพราะสามารถอ้างเรื่องการทวงคืนบ้านพัก ซึ่งเชื่อว่ากองทัพบกไม่ได้ทำหนังสือขอทวงคืนบ้านพักหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คือตามธรรมเนียมทหารนั้นผู้ที่พำนักอยู่ในบ้านพักทหารจะได้รับหนังสือแจ้งเตือนในช่วง 6 เดือนสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณอายุ ให้ออกจากบ้านพัก แต่เนื่องจากช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำรัฐประหารนั้นยังดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.หลังจากรัฐประหารก็ดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. ต่อด้วยนายกรัฐมนตรี ซึ่งโดยโครงสร้างแล้วถือเป็นผู้บังคับบัญชาของกองทัพจึงไม่มีใครทำหนังสือท้วงติงในเรื่องนี้

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 184(3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า "ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ" เนื่องจากมาตราดังกล่าวใช้บังคับกับ ส.ส. และ ส.ว. แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็น ส.ส.

ทั้งนี้ ผศ.วันวิชิต เชื่อว่า ในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัยกรณีพักในบ้านพักหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งนี้นั้นฝ่ายค้านไม่ได้หวังให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะรู้อยู่แล้วว่ายังไง พล.อ.ประยุทธ์ ก็รอด แต่เป้าหมายของฝ่ายค้านครั้งนี้มีอยู่ 2 ประการ คือ

1.เพื่อเขย่าวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะการจะอ้างว่าให้ พล.อ.ประยุทธ์ พำนักในบ้านพักทหารเพื่อการดูแลความปลอดภัยนั้นดูแล้วฟังไม่ขึ้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้พำนักในบ้านพักหลวงแต่อย่างใด

2.เพื่อฝังหมุดข้อกล่าวหาเรื่องการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะ 2 มาตรฐาน เอนเอียงเข้าข้างรัฐบาล ซึ่งเป็นเด็นที่สังคม รวมทั้งผู้ชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด หากศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถอธิบายอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมาก็จะยิ่งบ่มเพาะความเชื่อดังกล่าว

“หลายคนมองว่าองค์กรอิสระในปัจจุบันเป็นคนของ คสช. ซึ่งเกี่ยวพันอย่างชัดเจนกับ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น หากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบวกต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะยิ่งไปบ่มเพาะความเชื่อเรื่อง 2 มาตรฐาน และต้องมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดในม็อบอย่างแน่นอน” ผศ.วันวิชิต ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น