xs
xsm
sm
md
lg

อดีตแกนนำพันธมิตร-นปช.ชี้ทางออก ปกป้องสถาบัน-แก้ ม.112 ลดขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



2 อดีตแกนนำ เชื่อทุกม็อบมีคนสร้างสถานการณ์นำไปสู่ความรุนแรง แนะดึง จนท.ร่วมตรวจอาวุธ พร้อมชี้แนวทางปกป้องสถาบัน “จตุพร” ติงรัฐบาล-สภา อย่าลอยตัวเหนือปัญหา ด้าน “พิภพ ธงไชย” เสนอแก้ ม.112 ลดโทษจำคุก เหลือ 5-7 ปี เปิดช่องศาลให้ประกันตัวสู้คดี สร้างความเป็นธรรม

กล่าวได้ว่าประเด็นใหญ่ที่หลายคนวิตกต่อการชุมนุมของ “ม็อบคณะราษฎร” ในขณะนี้ก็คือประเด็นเรื่อง “สถาบัน” และ “ความรุนแรง” ที่อาจนำไปสู่ความสูญเสีย !!

เนื่องเพราะการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ดูจะพุ่งเป้าไปที่สถาบันอย่างชัดเจน จนข้อเรียกร้องอีก 2 ข้อ คือ ประเด็นที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก และการแก้รัฐธรรมนูญ ดูจะกลายเป็นแค่ส่วนประกอบ ขณะเดียวกัน คำพูดเสียดสีและท่าทีอาฆาตมาดร้ายก็ทำให้สังคมเคลือบแคลงต่อเป้าหมายในการเคลื่อนไหว และก่อให้เกิดแรงต้านจากประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว กระทั่งกลายเป็นปมขัดแย้งครั้งใหญ่ในสังคม

ขณะที่เหตุปาระเบิดและยิงกันสนั่นม็อบหลังยุติการชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สำนักงานใหญ่ เมื่อคืนวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าเกิดจากความขัดแย้งของการ์ดด้วยกันเอง หรือเกิดจากมือที่ 3 ซึ่งแฝงตัวเข้ามาก่อกวนอย่างที่บางกลุ่มในม็อบราษฎรกล่าวอ้าง ก็ทำให้หลายฝ่ายวิตกว่าสถานการณ์การชุมนุมกำลังก้าวเข้าสู่ความรุนแรงและนำไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมา

สถานการณ์จะพัฒนาไปถึงจุดนั้นหรือไม่? จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงได้อย่างไร? และจะลดความข้ดแย้งแตกแยกในสังคมได้ด้วยวิธีใด? คงต้องพูดคุยและรับฟังมุมมองแนวคิดจากอดีตแกนนำม็อบทั้งฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายที่ปกป้องสถาบัน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มองว่า การเกิดมือที่ 3 ซึ่งเข้ามาสร้างสถานการณ์ความรุนแรงในการชุมนุมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกม็อบที่ผ่านมา ไม่ว่าจะการชุมนุมของพันธมิตรฯ นปช. หรือ กปปส. ในส่วนม็อบราษฎรนั้นตนเชื่อว่านับจากนี้สถานการณ์จะทวีความรุนแรงขึ้น ชนิดที่เรียกว่าเลือดนองท้องช้าง แต่ทั้งนี้มีวิธีป้องกันไม่ให้สถาการณ์ไปถึงจุดนั้น โดยผู้ชุมนุมต้องขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เข้ามาร่วมกันตรวจค้นอาวุธของผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมทุกคนโดยมีการกำหนดช่องทางเข้าให้ชัดเจนเพื่อให้การสแกนอาวุธมีประสิทธิภาพ ซึ่งแม้วิธีนี้จะป้องกันการก่อเหตุไม่ได้ 100% แต่ก็สามารถลดความรุนแรงได้ระดับหนึ่ง

“วิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงความบริสุทธิ์ใจของม็อบว่าชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำงานง่าย ผู้ชุมนุมเองก็ปลอดภัย” นายจตุพร กล่าว

ขณะที่ นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระบุว่า การสร้างสถานการณ์ของมือที่ 3 นั้น ส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายที่จะก่อเหตุรุนแรงเพื่อนำไปสู่การปราบปราม ส่วนมีโอกาสที่สถานการณ์จะรุนแรงถึงขั้นประกาศกฎอัยการศึกหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้ อย่างไรก็ดี ในส่วนของรัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้เกิดมือที่ 3 โดยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาร่วมตรวจสอบ ไม่ให้ผู้ร่วมชุมนุมมีการพกพาอาวุธ ส่วนผู้ชุมนุมก็ช่วยกันสอดส่องป้องกันไม่ให้มีการสร้างสถานการณ์

ฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งกลุ่มราษฎรและกลุ่มเสื้อเหลืองต้องหลีกเลี่ยงการปะทะซึ่งจะเปิดช่องให้มือที่ 3 เข้ามาสร้างความรุนแรงได้ ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการชุมนุมก็ต้องหลีกเลี่ยงความรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา ก็ถือว่าทำได้ดี ยกเว้นกรณีที่ใช้น้ำผสมแก๊สน้ำตาฉีดใส่ผู้ชุมนุมเท่านั้น ซึ่งถือว่าตำรวจทำผิดพลาด ซึ่งนอกจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาขอโทษแล้วก็ควรจะแสดงความจริงใจด้วยการจ่ายค่าชดเชยเพื่อเยียวยาผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่ผสมในน้ำดังกล่าว

“ก็ต้องชื่นชมทั้งกลุ่มราษฎรและกลุ่มเสื้อเหลืองที่หลีกเลี่ยงความรุนแรง โดยไม่จัดชุมนุมใกล้กันเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ใช้มาตรการรุนแรงกับผู้ชุมนุม ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีการที่ละมุนละม่อมกว่าเมื่อครั้งการชุมนุมพันธมิตรฯ และ นปช. มาก” นายพิภพ กล่าว

นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ส่วนกรณีที่ม็อบคณะราษฎรพุ่งเป้าไปที่สถาบันนั้น นายจตุพร มองว่า แนวทางที่จะคลี่คลายสถานการณ์จะต้องเกิดจากการขับเคลื่อนของทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

โดยในส่วนของฝ่ายบริหารนั้นรัฐบาลต้องเป็นด่านหน้าในการสร้างความเข้าใจกับผู้ชุมนุม โดยนำพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาเผยแพร่ให้ประชาชนรู้ว่าพระองค์ทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างไรบ้าง ประเด็นไหนที่ผู้ชุมนุมเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบัน รัฐบาลก็ต้องชี้แจง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่ในส่วนนี้เลย ซึ่งนอกจากรัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องสถาบันแล้ว ยังลอยตัวอยู่เหนือปัญหาอีกด้วย

ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติคือสมาชิกรัฐสภาต้องเร่งเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ โดยนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ilaw ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับสถาบันมาพิจารณาด้วย เพื่อให้ผู้ชุมนุมเห็นว่าข้อเสนอของเขาได้รับการตอบรับ ส่วนผลการพิจารณาในขั้นกรรมาธิการจะออกมาอย่างไรก็ให้เป็นเรื่องของที่ประชุมสภา แต่ที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภากลับตีตกร่างของ ilaw เมื่อคาดหวังจากสภาไม่ได้ผู้ชุมนุมจึงพุ่งเป้าไปที่สถาบัน

ด้าน นายพิภพ วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่คนรุ่นใหม่พุ่งเป้าไปที่สถาบันและมองว่าปัญหาทุกอย่างมีต้นเหตุจากสถาบันเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1.เด็กไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ทำให้ไม่รู้ว่าสถาบันมีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยอย่างไรบ้าง  2.ประเทศไทยมีรัฐประหารบ่อยครั้งเกินไป ขณะที่ไม่มีใครอธิบายโครงสร้างอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร กับโครงสร้างอำนาจของสถาบันให้เด็กเข้าใจว่าอยู่คนละส่วนกัน 3.เรื่องราวประวัติศาตร์เกี่ยวกับสถาบันไม่ได้ถูกนำมาบรรบุในหลักสูตรการศึกษา เด็กจะรู้ก็ต่อเมื่อหาอ่านจากหนังสือหรือบทความที่นักวิชาการเขียนไว้ ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ และ 4.เด็กไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ของสถาบันกษัตริย์ เมื่อไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว แล้วมีผู้นำข้อมูลเท็จมาใส่เด็กจึงเชื่อทันที

“การจะแก้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบัน คือต้องทำทุกเรื่องให้กระจ่าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำข้อมูลที่ถูกต้องมานำเสนอต่อสาธารณะ เมื่อมีข้อมูลหลักฐานชัดเจนก็จะแก้ข้อกล่าวหาเหล่านี้ได้” นายพิภพ กล่าว

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร
ส่วนการที่รัฐบาลจะนำมาตรา 112 มาดำเนินคดีกับแกนนำในการชุมนุมนั้น นายจตุพร เชื่อว่าไม่ได้ทำให้การชุมนุมลดความร้อนแรงลง แต่ตรงกันข้ามจะยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันมากขึ้น การใช้ ม.112 ไม่ได้ส่งผลต่อผู้ชุมนุม เพราะแม้แกนนำจะถูกดำเนินคดี ม็อบก็ยังชุมนุมต่อ แต่ฝ่ายที่ถูกตำหนิคือสถาบัน

“ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าจะไม่ใช้ ม.112 เพราะในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่อยากให้ใช้ ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะนำ ม.112 มาใช้ ก็จะทำให้พระองค์ท่านถูกตำหนิอีก ดังนั้นอาจจะเสียมากกว่าได้ การที่จะแก้ปัญหาการหมิ่นสถาบันนั้นควรดึงเด็กกลับมาโดยสร้างความเข้าใจกับเด็ก มากกว่าจะผลักเด็กออกไปโดยใช้กฎหมายจัดการ” นายจตุพร กล่าว

ด้าน นายพิภพ มองว่า การนำ ม.112 มาใช้ด้วยวิธีการเดิมๆ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่จะยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันมากขึ้น การที่ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ "ส.ศิวรักษ์" ปราศรัยในการชุมนุมของกลุ่มราษฎรว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ประสงค์จะให้ใช้ ม.112 นั้น โดยส่วนตัวมองว่า นาย ส.ศิวรักษ์ ไม่ได้หมายถึงว่ารัฐบาลไม่ควรใช้มาตรานี้เลย แต่หมายถึงว่าหากจะใช้ต้องใช้ในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่รูปแบบเดิม เพราะจะทำให้สถาบันถูกตำหนิ

“การใช้ ม.112 ในรูปแบบใหม่ก็คือ มีการปรับลดบทลงโทษใน ม.112 ให้น้อยลง เช่น จำคุกไม่เกิน 5-7 ปี เนื่องจากหากกำหนดโทษไว้สูง การที่ศาลจะพิจารณาให้รอลงอาญา หรือให้ประกันตัว จะเป็นไปได้ยาก หากศาลให้ประกันตัวสู้คดีจะทำให้ผู้ที่ต้องคดีรู้สึกว่าตนได้รับความเป็นธรรม หากพิสูจน์ในศาลแล้วปรากฏว่าข้อความที่กล่าวถึงสถาบันเป็นความเท็จ ผู้ต้องหาก็รับได้ ความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันจะลดลง อย่างไรก็ดี เมื่อลดโทษลงมาแล้วการบังคับใช้ก็ต้องเป็นไปอย่างจริงจังด้วย เพื่อรักษาพระเกียรติของสถาบัน” นายพิภพ กล่าว

จากนี้คงได้แต่หวังว่าผู้ที่มองสถาบันในแง่ลบจะหันมาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันให้กระจ่างมากยิ่งขึ้น และความขัดแย้งเรื่องสถาบันจะไม่นำไปสู่ความรุนแรง เพราะอย่างไรเสียคนไทยก็ยังเป็นพี่น้องร่วมผืนแผ่นดินเดียวกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น