ประเมินการใช้สื่อภาครัฐเป็นรองกลุ่มผู้ชุมนุมหลายขุม นัดหมายชุมนุม-รวมพลทำได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่นาน ใช้ SocialMedia หลากหลาย พร้อมย้ายหากถูกปิดกั้น โยกซบ Telegram ปลอดภัยสูง-เลี่ยงตรวจสอบ ฝ่ายรัฐตั้งรับไม่ทันยุทธศาสตร์ผู้ชุมนุม ไม่สามารถสื่อสารที่ตรงจุดกับผู้ชุมนุมได้ นักวิชาการสื่อชี้เป็นความต่างของคน 2 ยุค
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนัดชุมนุมของม็อบคณะราษฎร 2563 ตามสถานที่ต่างๆ มีจำนวนผู้ร่วมชุมนุมในแต่ละครั้งเป็นจำนวนมากภายในระยะเวลารวดเร็ว นัดที่ไหน เวลาใด ผู้คนก็จะตอบรับเข้าร่วมอย่างเนืองแน่น แม้จะกระจายไปในหลายจุดก็ตาม
ข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ จนหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะข้อที่ 3 รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้ชุมนุมที่ไปกีดขวางเส้นทางขบวนเสด็จเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 จึงเป็นที่มาของการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 ตุลาคม 2563
แม้แกนนำของม็อบชุดนี้จะถูกจับกุมตามหมายจับที่ได้กระทำผิดกฎหมายตามพื้นที่ต่างๆ แต่ก็ยังสามารถนัดรวมตัวกันได้เป็นจำนวนมากทุกครั้งภายใต้ม็อบไม่มีแกนนำ และเป็นการชุมนุมเพียงไม่กี่ชั่วโมงจากนั้นก็จะสลายตัว เป็นลักษณะเดียวกับการชุมนุมที่ฮ่องกง
การปลุกกระแสให้การชุมนุมครั้งนี้ได้รับความสนใจมากขึ้น มาจากการชุมนุมบริเวณพื้นที่ปทุมวัน วันที่ 16 ตุลาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำสลายตามขั้นตอน ที่กล่าวถึงกันมากที่สุดคือน้ำสีฟ้าที่ผสมสารเคมีบางอย่างทำให้ผู้ชุมนุมเกิดการระคายเคือง แม้ทางตำรวจยืนยันว่าไม่เป็นอันตรายและเป็นไปตามหลักสากล
แต่วิธีการดังกล่าวได้ถูกขยายผลออกไปเป็นเรื่องการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุม จนองค์กรต่างๆ ได้ออกมาเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลใช้ความรุนแรง นับว่าครั้งนั้นฝ่ายผู้ชุมนุมได้เกราะกำบังเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย
จากนั้นการชุมนุมก็มีอย่างต่อเนื่องตามจุดต่างๆ ที่มีการนัดหมาย จนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมได้ปักหลักที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เดินเท้ามาที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาผ่อนคลายสถานการณ์ด้วยการเตรียมยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (เดิมบังคับใช้ถึง 13 พฤศจิกายน 2563) และยกเลิกประกาศในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ตั้งแต่ 12.00 น.เป็นต้นไป
ยุคเดียวกัน-ใช้ต่างกัน
นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า หากมองเฉพาะเรื่องจำนวนคนที่เข้ามาร่วมชุมนุม ถือว่ามีปริมาณมากพอสมควร แม้ในช่วงแรกๆ จะเป็นการขนคนจากต่างจังหวัดตามสายของนักการเมืองเข้ามา แต่ในระยะหลังสังเกตได้ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ในเมืองหลวงมีทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่อยู่ในวัยเริ่มทำงาน เพราะสามารถรวมตัวกันได้อย่างรวดเร็ว กับกำหนดเวลานัดหมายล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง
ทุกครั้งการชุมนุมทางการเมืองต้องมีตัวช่วยสำคัญในการนัดหมายเสมอ ที่ชัดเจนน่าจะเริ่มที่ปี 2535 ที่ประท้วงรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ครั้งนั้นเรียกกันว่าม็อบมือถือ ช่วง 2549 ขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถือว่าเป็นยุคม็อบดาวเทียมและมีวิทยุชุมชนร่วมด้วย เช่นเดียวกับปี 2553 กลุ่มคนเสื้อแดงขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และช่วงปี 2557 ต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดเป็นยุคสมาร์ทโฟนและสื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊ก
ส่วนสถานการณ์ 2563 จัดว่าอยู่ในยุคโซเชียลมีเดีย มีทั้งเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่ได้เพิ่มเติมเข้ามาอีกคือการใช้แอปพลิเคชันช่องทางอื่น อย่าง Telegram ที่มีคุณสมบัติในการป้องกันความลับของการสนทนา ยากต่อการตรวจสอบของบุคคลภายนอก
แม้ว่าทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ชุมนุมจะอยู่ในยุคเดียวกัน ต่างใช้เครื่องมือสื่อสารเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายของตน โดยเฉพาะยุครัฐบาลทักษิณ ทีวีดาวเทียมถือเป็นสื่อหลักในการตอบโต้ ไปจนถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ต่างฝ่ายต่างใช้สื่อเพื่อชิงความได้เปรียบ แต่ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ นับว่ามีความแตกต่างกันในการใช้สื่อเพื่อสร้างความได้เปรียบ เนื่องจากเป็นการเรียกร้องของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกลุ่มการเมืองสนับสนุนกับฝ่ายรัฐบาล
สื่อของคน 2 ยุค
การชุมนุมครั้งนี้เป็นเรื่องของคน 2 วัย จึงทำให้ลักษณะในการใช้สื่อเพื่อเสริมการต่อสู้มีความแตกต่างกัน เด็กรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี สมาร์ทโฟน อยู่ในโลกออนไลน์ตลอดเวลา ช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ พวกเขาได้สัมผัสมาโดยตลอด ดังนั้น จึงมีความเชี่ยวชาญและชำนาญในการใช้สื่อเป็นอย่างดี
ขณะที่รัฐบาลส่วนใหญ่ประกอบด้วยบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จึงทำให้การใช้สื่อโซเชียลมีข้อจำกัดอยู่มาก บางคนอาจใช้เพียงแค่เฟซบุุ๊กเป็นหลัก และการสมัครหรือเปิดบัญชีก็อาจมีบุคคลอื่นดำเนินการให้ ดังนั้นความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่อสมัยใหม่ถือว่าเป็นรองกลุ่มคนรุ่นใหม่หลายขุม
แม้ว่ารัฐบาลจะมีหน่วยงานที่สามารถกำกับดูแลสื่อเหล่านี้อยู่ในมือ แต่การควบคุมในยุคปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกแพลตฟอร์มของสื่อที่ใช้กันล้วนแล้วแต่เป็นของต่างชาติทั้งหมด การปิดกั้นทำได้ยาก เพราะอาจกระทบไปถึงบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมไปด้วย
อีกทั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เหล่านี้ก็มีรัฐบาลของประเทศต้นทางให้การสนับสนุนอยู่ในทางอ้อม เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการเมืองในบางประเทศได้ การปิดกั้นอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งทางตรงและทางอ้อมจากประเทศมหาอำนาจ ที่มักถูกกล่าวขานถึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในหลายๆ เหตุการณ์
คนรุ่นใหม่โตมาพร้อม Social
หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสมัยใหม่กล่าวว่า ง่ายๆ สมัยวัยรุ่นไทยคลั่งศิลปินเกาหลีใช้สื่อออนไลน์สร้างยอด like ยอด share มาจนเป็นเรื่องปกติ เพราะเขาโตมาในยุคนี้ เรื่องความชำนาญในการใช้สื่อเหล่านี้ไม่ต้องพูดถึง แม้ในบางกรณีอาจถูกปิดกั้นบ้าง แต่โลกออนไลน์มักจะมีวิธีแก้ไขแล้วนำมาบอกและแชร์ต่อๆ กันไปเสมอ พวกเขาสามารถสร้างปรากฏการณ์ต่างๆ ผ่านสื่อหลากรูปแบบ หลากหลายแนวทาง สามารถสร้างกระแสให้ถูกกล่าวถึงได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านบวกและด้านลบ
ขณะที่การรับมือของฝ่ายรัฐบาล พบว่าอยู่ในสถานะตกเป็นรองฝ่ายผู้ชุมนุมหลายขุม แม้ว่าจะมีอำนาจรัฐอยู่ในมือก็ตาม แต่ทุกอย่างไม่ง่ายเพราะมีฝ่ายที่หนุนการชุมนุมทั้งทางตรงและอ้อมหลายกลุ่มรวมถึงมหาอำนาจบางประเทศ
ก่อนหน้านี้ รัฐให้ความสำคัญไปที่ช่องทางการสื่อสารหลักๆ อย่างเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ไลน์ ทวิตเตอร์ หรือไอจี แต่การดำเนินการปิดกั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กระทรวงดิจิทัลฯ จะดำเนินการใช้คำสั่งศาลผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วก็ตาม
ทวิตเตอร์ถือว่าเป็นสื่อที่มีบทบาทมากในการใช้สื่อสาร คนดังในต่างประเทศนิยมใช้ เช่นเดียวกับนักการเมืองที่มีฐานคนรุ่นใหม่ และช่องทางของสื่อเหล่านี้สามารถนำมาเชื่อมต่อกันได้อย่างง่ายดายผ่านการแชร์
พร้อมย้าย app
ตอนนี้น้องๆ ที่ร่วมชุมนุมย้ายมาใช้ Telegram กันมาก เพราะตัว app มีระบบการรักษาความปลอดภัยสูง ทำให้การเข้าตรวจสอบจากฝ่ายตรงข้ามทำได้ยาก รวมถึงการพูดคุยในชั้นความลับ และข้อความจะถูกลบโดยอัตโนมัติเมื่อปลายทางอ่านข้อมูลไปแล้ว ดังนั้น การนัดหมายชุมนุมตามสถานที่ต่างๆ มักจะถูกเปิดเผยออกมาก่อนนัดหมายชุมนุมเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็สามารถดึงมวลชนให้เข้ามาร่วมชุมนุมได้เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีการเข้ารหัสด้วยภาษาที่สร้างขึ้นมาเป็นที่รับรู้กันเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุม หากบุคคลภายนอกไม่เข้าใจความหมาย ย่อมไม่สามารถแปลสารหรือข้อความของผู้ชุมนุมออก รวมไปถึงการสร้างสัญลักษณ์มือในลักษณะต่างๆ เพื่อแจ้งหรือบอกต่อระหว่างการชุมนุม แก้ข้อจำกัดในเรื่องรถขยายเสียงที่ไม่สามารถเข้าพื้นที่การชุมนุมได้
ที่จริงการใช้เฟซบุ๊กหลัก live สดผู้ปราศรัยแม้จะผ่านโทรโข่ง ผู้ชุมนุมที่อยู่ไกลก็สามารถรับรู้ได้เช่นกัน หากชมผ่าน live สดในเพจที่ live สด แต่อาจมีปัญหาที่เรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพราะมีคนใช้เป็นจำนวนมากอาจทำให้การรับชมสะดุดได้
สาย Dark ระราน
ด้วยความชำนาญในการใช้สื่อยุคใหม่ของฝ่ายผู้ชุมนุม มีจำนวนหนึ่งที่ใช้สื่อในลักษณะรุกรานบุคคลอื่นที่เห็นต่าง มีการสร้างบัญชีใหม่เพื่อตอบโต้ผู้เห็นต่างโดยเฉพาะ มักจะเรียกกันว่าอวตาร โดยอาจใช้รูปบุคคลอื่น ไม่ใส่รูป ตั้งชื่อหลอก เพื่อยากต่อการติดตาม แล้วนำโพสต์ตอบโต้หรือโจมตีบุคคลอื่น หรือปลอมบัญชีของบุคคลอื่น เพื่อสร้างให้เห็นว่าอยู่ฝ่ายเดียวกับตน ไปจนถึงบอยคอตสินค้าที่เมินเฉยหรืออยู่ฝั่งตรงข้าม
รวมไปถึงการเข้าไปตามสื่อของบุคคลดังอย่างกลุ่มดารา ใครที่เห็นต่างก็ดาหน้าเข้าไปถล่มที่เรียกกันว่าทัวร์ลง ใครที่เห็นด้วยก็ยกย่องชื่นชม นำมาโปรโมตเพื่อหวังสร้างแนวร่วมเพิ่ม คนที่ไม่แสดงตัวก็ลากออกมาเพื่อให้เข้ามาอยู่ข้างตน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งม็อบรุ่นก่อนๆ ไม่มีปฏิบัติการเชิงรุกอย่างนี้ เว้นแต่คนดังเหล่านั้นแสดงตัวออกมาเอง
มีคนดังบางคนพยายามถูกลากให้แสดงตน แต่ถ้าไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ออกมาก็อาจจะถูกต่อว่าได้ แต่ก็จะเป็นแค่ระยะเดียวเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมผ่านไปทุกอย่างก็ปกติ แต่ถ้าแสดงตนแล้วสิ่งเหล่านี้จะติดตัวไปตลอด
สำหรับคนดังที่เปิดตัวเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม ท่านก็ต้องยอมรับกับผลกระทบที่จะตามมาทั้งด้านบวกและด้านลบ หากเป็นดารางานอาจน้อยลง หรืออาจต้องหายไปจากวงการเลย ตรงนี้ก่อนตัดสินใจอะไรต้องคิดให้ดี
คนละเวอร์ชัน
วันนี้การใช้สื่อฝ่ายรัฐกับฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นเรียกได้ว่าอยู่กันคนละเวอร์ชัน ภาครัฐยังให้ความสำคัญกับแนวทางเดิมๆ ดังนั้น การติดตามตรวจสอบหรือแม้กระทั่งการชี้แจงให้ข้อเท็จจริง ย่อมไม่สามารถสื่อสารโดยตรงไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้
โดยส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาลมีคนที่รู้เรื่องสื่อรุ่นใหม่เป็นอย่างดี ปัญหาคือได้เรียกใช้ข้าราชการที่มีความรู้หรือเชี่ยวชาญเหล่านี้หรือไม่ หากมีการดึงเอาน้องๆ ที่เชี่ยวชาญมาช่วยงานก็น่าจะทำให้สามารถที่จะสื่อสารกันได้ตรงจุด
อีกทั้งแนวทางการบริหารงานของรัฐบาลยังเป็นไปในแนวดิ่ง ด้วยเหตุที่ท่านนายกฯ เป็นทหาร ผู้ใต้บังคับบัญชาอาจไม่กล้าเสนอความคิดเห็น และรัฐบาลชุดนี้มีนักการเมืองเข้ามาผสม โครงสร้างคนทำงานส่วนใหญ่จึงเป็นเครือข่ายของนักการเมือง และด้วยวัยจึงทำให้เกิดความห่างของการใช้ช่องทางในการสื่อสาร
ขณะที่การใช้สื่อของคนรุ่นใหม่เป็นลักษณะแนวราบ มีความคล่องตัวสูงสามารถเปลี่ยนไปใช้ช่องทางอื่นๆ ได้ทุกเวลาหากถูกปิดกั้น เช่นเมื่อถูกปิดก็เปิดใหม่ หรือใช้ Account ในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้การตรวจสอบความเคลื่อนไหวของภาครัฐจึงล้าหลังและไม่เข้าถึงช่องทางการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ ตราบใดที่รัฐบาลไทยไม่มี Single gateway แต่ถ้ามีจริงด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันก็มี app ที่สามารถลอดการปิดกั้นได้อย่าง VPN
แม้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องเครื่องมือสื่อสาร แต่ปัญหาทั้งหมดนี้จะคลี่คลายลงได้ด้วยการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมเท่านั้น