พิษ Covid-19 กดดอกเบี้ยมีแนวโน้มใกล้ 0% ด้านแบงก์ชาติออกบทความ “เมื่อธนาคารกลางทั่วโลกหมดกระสุน” พร้อมมี 4 เครื่องมือดูแล นักเศรษฐศาสตร์เชื่อเมืองไทยไปไม่ถึง แต่ไม่ปฏิเสธดอกเบี้ยลงได้อีก ส่งผลผลักผู้มีเงินออมไปสู่พื้นที่เสี่ยง นักการเงินเตือนอย่าไปออมนอกระบบ แนะประเมินสภาพเศรษฐกิจ สุดท้ายผลตอบแทนน้อยยังดีกว่าเงินต้นสูญ
สถานการณ์ Covid-19 ในประเทศไทย แม้เราจะอยู่ในสถานะที่ควบคุมได้เป็นอย่างดี การแพร่ระบาดถูกจำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ส่วนในประเทศทีมสาธารณสุขของไทยสามารถควบคุมได้เป็นอย่างดี รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการหลายๆ ด้านจนดำเนินชีวิตได้เหมือนปกติ เว้นแต่การควบคุมนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
แต่สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจนั้นนับว่าหนักหนาสาหัส เนื่องจากการแพร่ระบาดในต่างประเทศยังไม่มีท่าทีลดลง หรือมีการระบาดเพิ่มขึ้นในรอบใหม่ในหลายประเทศ ผู้ที่มีรายได้กลายเป็นผู้ว่างงานหรือมีรายได้ลดลง แต่ภาระหนี้สินต่างๆ ยังต้องผ่อนชำระ จนธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการหาทางออกร่วมกับเจ้าหนี้ และรัฐบาลอัดเงินเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกรูปแบบ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้
ภาคการท่องเที่ยวได้ผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากเดิมที่คาดว่าน่าจะใช้เวลา 3-6 เดือนในการควบคุมสถานการณ์ แต่ตอนนี้ทุกอย่างดูเหมือนจะต้องยืดระยะเวลาออกไป จนถึงต้นปีหน้าเป็นอย่างต่ำ แต่ภายในประเทศเริ่มมีการท่องเที่ยวของคนไทยเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่การแพร่ระบาดภายในประเทศ
นักท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออก 2 สิ่งนี้ถือเป็นรายได้หลักของประเทศยังทำได้จำกัด ภาครัฐเริ่มมีแนวทางที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มวีซ่าพิเศษให้เข้ามาท่องเที่ยวได้แบบมีเงื่อนไข
เกือบทุกประเทศต้องเร่งหาทางฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้และลดการว่างงานของประชาชน นโยบายดอกเบี้ยต่ำกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นแนวทางที่เกือบทุกประเทศใช้กัน ธนาคารกลางบางประเทศใช้ดอกเบี้ย 0% อย่างสหรัฐฯ หรือในโซนยุโรปบางแห่งใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ
สำหรับประเทศไทย มติของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ 23 กันยายน 2563 ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ถือว่าเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อีกครั้ง ขณะที่เริ่มมีนักวิชาการบางรายออกมาแสดงความคิดเห็นว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยควรจะลดลงมาอยู่ที่ 0% เหมือนในต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นโยบายการเงินที่ไม่ปกติ
บทความของ ดร.สรา ชื่นโชคสันต์ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอบทความ "เมื่อธนาคารกลางทั่วโลกหมดกระสุน"
วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราได้เห็นธนาคารกลางทั่วโลกลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลายประเทศมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ คำถามที่เกิดขึ้น คือธนาคารกลาง “หมดกระสุน” หรือยัง
ธนาคารกลางกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ใช้ทำธุรกรรมระหว่างธนาคารกลาง และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่คิดกับภาคธุรกิจและประชาชน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินอื่นๆ เช่น อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล เมื่อเครื่องมือหลักอย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดข้อจำกัดที่ร้อยละ 0 ธนาคารกลางจะมีทางเลือก 4 แนวทางในการดำเนินนโยบายการเงิน ดังนี้
แนวทางที่หนึ่ง สื่อสารแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในอนาคตให้ชัดเจนยิ่งขึ้น (forward guidance) เพื่อลดความไม่แน่นอนของแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคต ทำให้ต้นทุนทางการเงินโดยรวมผันผวนน้อยลง เช่น ธนาคารกลางอาจจะสื่อสารว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันไปอย่างน้อย 1 ปี เป็นต้น
แนวทางที่สอง ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งเป็นอัตราที่ใช้กันระหว่างธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นกลไกหนึ่งในการพยายามผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ใช้เงินที่เหลือจากการลงทุนหรือปล่อยสินเชื่อ มาปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นอีกแทนที่จะมาฝากเงินกับธนาคารกลางแล้วขาดทุนจากอัตราดอกเบี้ยติดลบ
นโยบายดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของประชาชนในระบบธนาคารพาณิชย์จะติดลบ เพราะหากประชาชนฝากเงินแล้วได้เงินลดลงก็สุ่มเสี่ยงที่ประชาชนจะแห่ถอนเงินและเก็บเงินในรูปแบบอื่น ธนาคารพาณิชย์จึงมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงไม่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ
แนวทางที่สาม คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น แต่เปลี่ยนโฟกัสมาที่ลดอัตราดอกเบี้ยระยะปานกลางและระยะยาวในตลาดตราสารหนี้แทน โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ธนาคารกลางสามารถประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองเพื่อให้อัตราผลตอบแทนในระยะเวลาต่างๆ ของพันธบัตรรัฐบาลลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ถูกลง
แนวทางที่สี่ สร้างแรงจูงใจเพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มเป้าหมายตามเงื่อนไขที่กำหนด (targeted lending) โดยธนาคารกลางสามารถให้เงินกู้แก่สถาบันการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ และกำหนดให้สถาบันการเงินใช้เงินกู้เหล่านั้นปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจตามเงื่อนไขที่กำหนด นโยบายดังกล่าวมักจะใช้คู่กับนโยบายประกันความเสี่ยงด้านสินเชื่อ โดยมีภาครัฐเป็นผู้ค้าประกันเพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น
ทั้ง 4 วิธีนี้ถือเป็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบไม่ปกติ (unconventional monetary policy) และสามารถใช้ผสมผสานกันได้ สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ถือว่าเหลือกระสุนไม่มาก แต่ยังมีเครื่องมืออื่นตาม 4 แนวทางดังกล่าว
โดยปัจจุบันแบงก์ชาติได้ร่วมมือกับภาครัฐออกมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อต่างๆ เช่น มาตรการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อกระจายสภาพคล่องไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดในบริบทเศรษฐกิจไทยที่ภาคเอกชนต้องการสภาพคล่องเป็นสำคัญ
ขาลงใกล้ 0%
นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า สัญญาณของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มที่จะลงไปใกล้ระดับที่ 0% ได้เช่นกัน แม้รอบนี้ กนง.จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม ทั้งๆ ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 0.25%
ก่อนหน้านี้ เคยมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของบางธนาคารไม่มีอัตราดอกเบี้ย แต่ภายหลังได้ปรับมาเป็นให้อัตราดอกเบี้ย ปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารขนาดใหญ่อยู่ที่ 0.25% และมีบางธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยเพียง 0.125% ตอนนี้แทบไม่มีแบงก์ใดออกโปรโมชันเงินฝากล่อใจ อาจมีแบงก์เล็กที่ออกมาบ้างแต่ตัวดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ
ทิศทางดอกเบี้ยขาลงเห็นได้จากดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่จำหน่าย 2 รุ่นเมื่อช่วงปลายสิงหาคม-กันยายน อายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 1.7% อายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 2.22% ถือว่าดอกเบี้ยลดลงจากรุ่นก่อน
เช่นเดียวกับการออมเงินผ่านสลากออมสินดิจิทัล 1 ปี ขณะนี้ไม่มีอัตราดอกเบี้ยให้ ผู้ออมต้องฝากความหวังไว้ที่ผลของการถูกรางวัลแทน สลากรุ่นที่ยังมีการจ่ายดอกเบี้ยของทุกค่ายทั้ง ธ.ก.ส. หรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ ก็จะลดอัตราดอกเบี้ยลง ลดเงินรางวัลลง เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ
ผลักคนสู่พื้นที่เสี่ยง
นโยบายอัตราดอกเบี้ย 0% นั้นทำได้ในบางประเทศเท่านั้น เฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่มีปริมาณเงินในตลาดโลกจำนวนมาก ซึ่งในประเทศไทยนั้นคงไม่สามารถทำได้เพราะเราเป็นประเทศเล็กและจะมีปัญหาตามมาอีกมาก เช่น ผลด้านลบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ไม่ปฏิเสธว่ามีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะลดลงไปอีก หากสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องขึ้น
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายด้านดอกเบี้ยต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ เพราะดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ยังพอทำให้แบงก์ชาติเหลือแนวทางในการแก้ปัญหาได้อีกระดับหนึ่ง เช่น แก้ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทหรือเพื่อกระตุ้นเงินออม
สำหรับประเทศไทยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นอยู่ในเวลานี้ นับว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา และอาจลดลงไปได้อีก แต่หากจะลงไปถึงระดับ 0% นั้น คงยังมีอีกหลายปัจจัยที่ขวางทางอยู่ หนึ่งในนั้นคือภาคการเมืองคงไม่ปล่อยให้เกิดสถานการณ์นี้ เพราะจะมีผลต่อภาคประชาชนเป็นอย่างมากและจะกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตอีกด้วย หากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวและสถาบันการเงินต้องการขยายสินเชื่อ การดึงเงินออมให้กลับมาอาจต้องใช้เวลาอีกนาน
ดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะส่งผลต่อการลดอัตราการออมของคนในประเทศลง เป็นการผลักดันให้คนหันไปหาแหล่งออมอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า นั่นคือการเข้าสู่พื้นที่เสี่ยง เสี่ยงต่อเงินต้นที่อาจจะไม่ได้รับคืนเต็มจำนวน ขึ้นอยู่กับการเลือกพื้นที่ที่แสวงหาผลตอบแทนว่าจะใช้ช่องทางในระบบ ที่มีระดับความเสี่ยงน้อยกว่า เช่น หุ้นกู้ กองทุนรวมหรือตลาดหุ้น หรือทางเลือกอื่นนอกระบบที่มีความเสี่ยงสูงกว่านี้ เช่น แชร์ลูกโซ่ บ้านออมเงิน ค้าเงิน หรือการพนัน กลุ่มนี้ถือเป็นธุรกิจนอกกฎหมาย อาจถูกโกงหรือตัวธุรกิจจับดำเนินคดี ทำให้เงินต้นอาจสูญไปทั้งหมด
“ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มคนเกษียณ ที่อาจมีเงินออมอยู่ก้อนสุดท้ายของชีวิต เมื่อผลตอบแทนจากการออมเงินลดลงเรื่อยๆ อาจทำให้คนกลุ่มนี้ต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางสร้างผลตอบแทนที่เสี่ยงขึ้น”
จำใจดอกต่ำ-เงินต้นครบ
ขณะที่นักการเงินอีกรายกล่าวว่า ตอนนี้ทางเลือกของคนมีเงินออมเหลือน้อยถึงน้อยมาก สำหรับผู้ที่พ้นวัยทำงานแล้วอยากให้คำนึงถึงความเสี่ยงจากแหล่งออมเงินนอกระบบ เช่นเดียวกับคนที่ยังอยู่ในวัยทำงาน อาจต้องอดทนกับภาวะนี้ไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนจะนานหรือไม่ไม่มีใครตอบได้
สิ่งที่น่ากังวลอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ถึงอย่างไรผู้ที่ยังมีงานทำ มีรายได้ก็ยังต้องเก็บออมไว้เพื่อวันข้างหน้า ที่จริงแล้วเรื่องผลตอบแทนต่ำนั้นยังถือว่าเป็นเรื่องรอง เพราะถึงอย่างไรคนเราก็ต้องออมเงินไว้เพื่อใช้จ่ายในวันข้างหน้า แม้จะได้ผลตอบแทนต่ำ ดอกเบี้ยอาจใกล้ๆ 0% แต่ตัวเงินต้นก็ยังไม่สูญ ดีกว่าการออมรูปแบบอื่นที่อาจได้รับเงินต้นไม่ครบหรืออาจไม่ได้คืนมาเลย
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงย่อมมีผลบวกต่อฝั่งลูกหนี้ที่ยังมีภาระผ่อนชำระ ช่วยลดภาระหนี้ลงได้บ้าง หรือช่วยให้กิจการที่กำลังประสบปัญหาได้มีโอกาสอยู่รอดต่อไป แต่สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปพิจารณาเพื่อให้ความช่วยเหลือนั่นคือ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างฝั่งเงินกู้กับฝั่งเงินฝากนั้นห่างกันด้วยความเป็นธรรมหรือไม่ เช่น เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากลงมาต่ำกว่าระดับ 1% และเริ่มเข้าใกล้ 0% มากขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้นั้นได้ปรับลดลงมาในอัตราที่เป็นธรรมหรือไม่
การใช้แนวทางของดอกเบี้ยเพื่อช่วยผู้ที่ประสบปัญหาให้ฟื้นตัวได้นั้น สินเชื่อเหล่านั้นคิดอัตราดอกเบี้ยที่เอื้อต่อความสามารถในการชำระหนี้หรือเป็นดอกเบี้ยอัตราต่ำหรือไม่
ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ให้ความสำคัญในการฟื้นธุรกิจ SME โดยมีสินเชื่อ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำให้ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด แต่ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเช่นกัน หากภาครัฐสามารถจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ใกล้เคียงกับ SME น่าจะเป็นการช่วยให้ผู้ที่กำลังประสบปัญหาฟื้นตัวได้ไปพร้อมๆ กัน