เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา บริษัท พร็อพทูมอร์โรว์ จำกัด ได้จัดเสวนาเรื่อง "กรุงเทพจตุรทิศ : อสังหาฯ ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ วิกฤตนี้ยาวแค่ไหน…?" โดยมีวิทยากรจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เครดิตแห่งชาติ จำกัด บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) และบริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) (AP) โดยมีผู้ประกอบการ และนักลงทุนเข้าร่วมฟังสัมมนา
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 ว่า เดิมทุกครั้ง ตนเองจะมองภาพเป็นบวก แต่ครั้งนี้พูดยาก ใครที่เคยผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ผมว่าวิกฤตตอนนั้น (ต้มยำกุ้ง) หนักสาหัส แต่เหตุการณ์ปีนี้จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เหมือนโรคมะเร็ง ที่ทยอยออกอาการ แต่ภาพใหญ่ของผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยที่เดือดร้อนประเทศเดียว แต่เดือดร้อนไปทั่วโลก ทั่วโลกสาหัสและสาหัสกว่านี้ แม้แต่หมอดูยังไม่กล้าฟันธง ยากมาก
ขณะที่ราคาที่ดินยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าขณะนี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะบังคับใช้แล้ว ซึ่งราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น เป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการกังวล เนื่องจากจะส่งผลต่อต้นทุนในการพัฒนาโครงการที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปีนี้รัฐบาลมีการผ่อนปรนในการจัดเก็บภาษีลงเหลือ 90% แต่ปี 2564 ไม่แน่ใจว่าจะมีมาตรการต่อเนื่องหรือไม่ ขณะที่โครงการที่อยู่อาศัยที่เหลือขายหากภายใน 3 ปี ยังไม่มีการจำหน่าย อาจจะต้องมีภาระทางภาษีเพิ่มขึ้น
"ในสถานการณ์ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว และขายยาก การจะไปบวกราคาเพิ่มเหมือนในภาวะที่ตลาดขายดีๆ คงเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งเราจะเห็นว่า ราคาที่ดินในไตรมาส 2 ของปี 2561 ปรับสูงขึ้นประมาณ 15% ส่งผลให้ราคาห้องชุดต้องปรับขึ้นตามต้นทุนประมาณ 5% และราคาที่ดินชะลอตัวลง และกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 4 ของปี 62 รวมถึงสินค้าประเภทาวน์เฮาส์ราคาปรับขึ้นเช่นกัน นั่นหมายความว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ชนชั้นกลางจะหาที่อยู่อาศัยอาจจะลำบาก เนื่องจากรายได้ไม่สามารถรับกับโอกาสในการมีที่อยู่อาศัย ดังนั้น รัฐบาลควรจะมองเรื่องการที่จะทำตลาดปล่อยเช่าให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี จากผลของโควิด-19 ทำให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่อยู่ระหว่างการขาย ทั้งกลุ่มประเภทคอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ บ้านเดี่ยว ราคาปรับลดลง"
ในภาพของจำนวนโครงการที่อยู่อาศัยที่เปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 63 ตามข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด โดยในครึ่งปีแรก ตลาดรวมมีการเปิดตัว 126 โครงการ กว่า 57.1% มาจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีหน่วยขายที่ออกสู่ตลาดมากถึง 63.5% จากหน่วยที่ออกสู่ตลาดรวม 26,301 หน่วย มูลค่าการเปิดโครงการรวม 159,470 ล้านบาท สัดส่วนของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 35.8%
ที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 2-3 ลบ.ดีมานด์สูง แต่ขอสินเชื่อยาก
สำหรับทำเลที่ตั้งโครงการบ้านจัดสรรที่เปิดขายใหม่ในช่วงครึ่งปีแรก ที่เป็นทำเลยอดฮิต ได้แก่ บางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย ซึ่งมีจำนวนหน่วยเปิดขายใหม่ 2,552 หน่วย มูลค่าโครงการ 8,520 ล้านบาท ระดับราคาที่เปิดขายมากที่สุด 2.01-3 ล้านบาท ส่วนทำเลที่มีโครงการอาคารชุดเปิดขายอันดับต้นๆ ได้แก่ ลาดพร้าว-วังทองหลาง-บางกะปิ จำนวนหน่วยที่เปิดขายใหม่ 2,386 หน่วย มูลค่าโครงการ 6,050 ล้านบาท ระดับราคาที่เปิดขายมากที่สุด 2.01-3 ล้านบาท ประเภทที่เปิดขายมากที่สุด 1 ห้องนอน ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า ราคาที่มาเป็นอันดับต้นๆ จะอยู่ระหว่าง 2-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการ (ดีมานด์) ค่อนข้างมาก แต่เป็นตลาดที่การขออนุมัติสินเชื่อค่อนข้างยาก
ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคในไตรมาส 1 ปี 2563 ประมาณ 10,182 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 60.7% แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 5 ปีอยู่ที่ 10,700 หน่วย โดยภาคตะวันออก หรือในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) มีการขออนุญาตถึง 50 โครงการ รูปแบบโครงการทาวน์เฮาส์มีหน่วยขอจัดสรรมากที่สุด จำนวน 3,455 หน่วย รองลงมาเป็นภาคเหนือ จำนวน 18 โครงการที่เปิด ภาคเหนือมีจำนวน 22 โครงการ
ขณะที่จำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาค ไตรมาส 1 ปีนี้ แม้จะยังเติบโตประมาณ 10.9% แต่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 62 ตัวเลขขยายตัว 19.9% เช่นเดียวกับมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 80,888 ล้านบาท เติบโต 25% แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 95,572 ล้านบาท เติบโต 28.6%
เช่นเดียวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลทั่วไปปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ที่ 138,238 ล้านบาท ลดลงติดลบ 13% และคาดว่าในปี 2563 สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่( Base) ลดลงติดลบ 10.8% มูลค่าอยู่ที่ 571,196 ล้านบาท
เศรษฐีจากกลุ่ม CLMV สนใจมาอยู่ประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยแล้ว ในสายตาของต่างประเทศถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศ คุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยที่ดี ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ค่าครองชีพที่ต่ำ ความเป็นเลิศและหลากหลายด้านอาหาร ซึ่งในการหารือกับนายกรัฐมนตรี ทางสมาคมฯ ได้มีการเสนอแนวทางโครงการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของต่างชาติ ได้แก่ การส่งเสริมกลุ่มวัยเกษียณ ส่งเสริมให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านและที่อยู่อาศัย (ภายใต้ข้อจำกัด) การเป็นศูนย์กลางด้านการเงินและเทคโนโลยีของกลุ่มประเทศ CLMV และชักชวนเศรษฐีจากกลุ่มประเทศ CLMV และประเทศอื่นๆ มาใช้ชีวิตในเมืองไทย
"วอนรัฐอย่าเพิ่งออกกฎระเบียบที่เข้มงวด เพราะเป็นการซ้ำเติม แต่ภาครัฐควรพยายามตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจในรูปแบบ วันสต็อปเซอร์วิส หรือให้ผู้ว่าราชาการแต่ละจังหวัดสามารถคุยกับเอกชนในทุกธุรกิจ และรายงานตรงกับ ศบศ. เพื่อลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องบ้านผู้มีรายได้น้อย รัฐควรเปิดกว้างในพื้นที่สีน้ำเงิน ที่สงวนให้แก่เฉพาะหน่วยงานรัฐ เปิดโอกาสให้สามารถทำเช่าให้แก่ประชาชนได้ เพื่อแก้ปัญหาที่ดินบุกรุก และหากสามารถทำในเชิงคอมเมอร์เชียลได้ จะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น"
รับมือหนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 90%
นายเผด็จ เจริญศิวกรณ์ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท เครดิตแห่งชาติ จำกัด เปิดเผยว่า จริงๆ ภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัญหากับแบงก์ ไม่ใช่มีปัญหากับเครดิตบูโร ซึ่งหน้าที่ของเครดิตบูโร มีหน้าที่นำเสนอข้อมูลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบัน ภาระหนี้สินของคนไทยมีปริมาณที่สูง หนี้ครัวเรือนเริ่มปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2561 หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี เติบโตมาในช่วง 10 ปีเพิ่มกว่า 25%
"สิ่งที่เราต้องดู คือ การก่อหนี้ของกลุ่มคนที่อายุน้อย 23-40 ปี และเรา (หมายถึงเครดิตแห่งชาติ) มองว่า แม้จะเกษียณอายุแล้ว ภาระหนี้ของกลุ่มดังกล่าวยังมีหนี้อยู่ ตามตัวเลขในปี 2561 กว่า 3 ล้านคน หรือประมาณ 16% เป็นหนี้เสีย และคาดว่าในปีนี้ตัวเลขดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ และสิ่งที่เราเป็นห่วง มีสัญญาณที่หนี้ครัวเรือนจะไปสู่ตัวเลขระดับ 90% ต่อจีดีพีในไตรมาส 4 ปีนี้ เนื่องจากส่งออกและการท่องเที่ยวมีปัญหา จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 81.5% โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีประมาณ 5.08 ล้านล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคลและการบริโภคมีสัดส่วนอยู่ในหนี้ครัวเรือนประมาณ 3.30 ล้านล้านบาท รวมทั้ง 2 กลุ่มมีตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งในปีที่ผ่านมาหนี้ครัเรือนไทย 13.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น79.8% ของจีดีพีปนะเทศไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ธนาคารต้องเข้ามาดูแลลูกหนี้ และมีบางกลุ่มที่เข้าโครงการการผ่อนชำระทำให้บัญชียังเป็นปกติ แต่เราก็ห่วงแนวโน้มหลังหมดมาตรการรัฐ โดยลูกหนี้กลุ่มที่ยังดี หากไม่มีการเติมเพื่อให้ไปต่ออาจจะลำบาก ทั้งนี้ การที่แบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อก็เพื่อบริหารสินเชื่อ"
อย่างไรก็ตาม ในช่วงโควิด-19 การขายบ้านลดลงแน่นอน ตอนนี้คนจะมองเรื่องทำเล โดยเฉพาะราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ตรงนี้เรามองว่า การปล่อยสินเชื่อยังดี ต่างจากตลาดกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับลักชัวรีที่อาจจะน้อยลง อสังหาฯ ต้องผันตัวเองเป็นออนไลน์ ปัจจัยด้านทำเลอาจไม่สำคัญเท่าขนาดของที่อยู่อาศัย และอยากใช้พื้นที่ส่วนกลางแบบมีพื้นที่ส่วนตัว ดังนั้น ภาคอส้งหาฯ คงต้องกัดฟันต่อสู้กันไป และคงต้องรอแบงก์ชาติอีกนิดหนึ่ง
CBRE แนะต้องลดราคาสินค้ากระตุ้นยอดขายสู้ ศก.
น.ส.อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563-2564 ว่า ช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยเจอสถานการณ์เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการชะลอตัวของซัปพลายทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นข้อดีที่จะทำให้ตลาดกลับสู่ภาวะสมดุลในเชิงปริมาณซัปพลาย กลุ่มผู้ซื้อลดลงเหลือเพียงกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มซื้ออยู่เอง นักลงทุนชะลอการตัดสินใจจะแผ่วลง
ทั้งนี้ หากแยกเป็นตลาดจะพบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยเป็นตลาดที่ฟื้นตัวเร็วที่สุด เป็นการขายให้แก่บุคคลธรรมดา เป็นช่วงระบายสินค้าที่เหลืออยู่ การพัฒนาโครงการใหม่ชะลอตัว ราคาทรงตัวหรือปรับตัวลดลง โดยคอนโดฯในพื้นที่ใจกลางเมือง กลุ่มตลาดบน จาก 270,567 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ในปี 2563 อยู่ที่ 271,907 บาท ต่อ ตร.ม. ถือว่าราคาไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หากเทียบกับการเปลี่ยนแปลงหลังจากน้ำท่วม ราคากระโดดเพิ่มขึ้นสูง เช่นเดียวกันกับราคาอสังหาฯ รอบนอกใจกลางเมือง ลดลงจากปีที่ผ่านมา จาก 99,635 บาทต่อ ตร.ม. ในปีที่ผ่านมา ในปีนี้อยู่ที่ 98,082 บาทต่อ ตร.ม.
ตลาดอาคารสำนักงานชะลอตัว เนื่องจากบริษัทต่างๆ อยู่ระหว่างการปรับแผนการใช้พื้นที่ เพราะบริษัทต่างๆ ยังไม่ชัดเจนในเรื่องทำงานที่บ้านต่อหรือไม่
ตลาดค้าปลีกจะมีการปรับเปลี่ยนเป็นอย่างมาก ทั้งจากการขยายตัวของอี-คอมเมิร์ซ และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เป็นภาคธุรกิจที่มีความท้าทายเป็นอย่างสูงและตลาดพื้นที่คลังสินค้ามีการเจริญเติบโตสูง
"เรายอมรับตลาดคอนโดฯ ราคาสูงเกินไป ทำให้การขายคอนโดฯ จะมีความแตกต่างกัน เช่น คอนโดฯ ที่สร้างเสร็จตรงนี้ สามารถลดราคาลงเยอะ 5-40% แต่ถ้าเป็นคอนโดฯ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ราคาไม่ได้ลดลง หากเราจะเจาะกลุ่มนักลงทุน กลุ่มนี้ขอลดราคาเยอะมาก และจากกลุ่มลูกค้าที่บริษัทซีบีอาร์อีฯ ทำอยู่ประมาณ 29 โครงการ ยอดขายประมาณ 27,000 ล้านบาท พบว่า ก.ค. ลูกค้าเข้ามาสอบถามเยอะสูงสุดตั้งแต่หลังปลดล็อกดาวน์ แต่ ส.ค.-ก.ย. พบเห็นว่า ตลาดค่อยๆ ปรับลงไปใกล้เคียงกับต้นปีที่ผ่านมา"
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความต้องการซื้อบ้านนั้นยังมีอยู่ แต่ละปียังมีกลุ่มคนต้องการที่อยู่อาศัย เพียงแต่จะต้องมีการปรับลดราคาให้สอดคล้องต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และตลาดในปัจจุบันควรมุ่งเน้นการขายในประเทศ หากยังไม่มีการเปิดน่านฟ้า ก็มีเพียงลูกค้าในประเทศเป็นหลัก อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับบางเซกเมนต์ และบางทำเลยังมีความต้องการ นอกจากนี้ ภาคอสังหาฯ ยังเป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุนท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ
ขณะที่บ้านพักตากอากาศระดับบนใกล้กรุงเทพฯ เช่น หัวหิน พัทยา (ถ้าขายจีน เฉพาะจะขายได้) แต่ถ้าขายให้คนไทย จะเห็นว่าโครงการคอนโดฯ ในพัทยามีการเปิดน้อยมาก มีเพียง 1 โครงการยังต่ำมาก โครงการที่อยู่อาศัยใกล้โรงเรียนและมหาวิทยาลัย โครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในทำเลที่ไม่ล้นตลาด และมีราถูกกว่าก่อนวิกฤตโควิด-19 ในส่วนของ ตลาด Wellness/Senior Living อาจจะต้องปรับโดยร่วมกับกับโรงพยาบาลชั้นนำเพื่อสร้างจุดแข็ง เนื่องจากยังเป็นตลาดที่ทำได้ยาก เพราะมีทั้งกลุ่มลูกค้าคนไทย กลุ่มคนไทยที่อยากอยู่กับคนไทย กลุ่มคนไทยไม่อยากอยู่กับคนต่างชาติ แต่เราพบว่ากลุ่มนี้ต้องการคือ ใครจะดูแล ต้องการคนดูแล อาจจะเป็นโมเดลคอนโดฯ ที่มีบริการเสริมเข้าไป มีการอบรมบุคลากรหรือมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลเข้าไปเสริม กองทุนอสังหาฯ ต่างประเทศสนใจเข้ามาร่วมทุนด้วย
ทั้งนี้ ประเมินว่าหลังโควิด-19 คาดว่านักลงทุนระยะสั้นและระยะยาวหลายประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และอื่นๆ ผู้ซื้อต่างชาติจะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อไหร่ ต้องหมดโควิด-19 อย่างชัดเจน
LPN มองตลาดปล่อยเช่าเหมาะสมในยุคโควิด-19
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) กล่าวยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบนี้ (โควิด-19) แตกต่างจากช่วงต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ช่วงนั้นเศรษฐกิจตกต่ำเฉพาะจุดเฉพาะในเอเชีย หลายประเทศในโลกยังมีสถานการณ์เศรษฐกิจดี เมื่อเราแย่ ยุโรป อเมริกาก็ยังดีอยู่ ทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่รอบนี้เป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก สถานการณ์ของหลายประเทศยังไม่ดีขึ้น การปิดประเทศยังมีอยู่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ยากกว่าเพราะไม่รู้ว่าใครจะไปช่วยใครแต่ละคนต้องช่วยตัวเอง อย่างประเทศไทยสถานการณ์คลี่คลาย แต่ก็ยังต้องระมัดระวังการระบาดระลอกสอง ถึงแม้จะส่งออกได้ แต่ก็ไม่ได้ทุก sector เพราะกำลังซื้อในตลาดโลกก็ชะลอตัว ที่ฟื้นตัวได้ตอนนี้ก็มีจีน แต่อีกหลายประเทศยังมีปัญหา เราต้องพึ่งพาตัวเอง เป็นเรื่องที่เราต้องบริหารจัดการ
และจากการทำตลาดของบริษัทฯ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มากกว่า 70% ของลูกค้าที่เข้ามาซื้อโครงการของเราเป็นลูกค้าที่ต้องการลงทุน ซื้อมาปล่อยเช่า เพราะปัจจุบันคนมีเงินออมอยู่ในสถาบันการเงินได้อัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่า 1.5% ทำให้มีลูกค้าที่ต้องการบริหารจัดการเงินออมเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งการลงทุนในอสังหาฯ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายวิกฤต อสังหาฯ มีการปรับตัวลดลงมาในช่วงวิกฤต แต่สุดท้ายราคาก็จะขยับขึ้นมา ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ราคาไม่ตก ถึงแม้ผลตอบแทนจะไม่สูงเท่ากับการลงทุนในหุ้น แต่การลงทุนในหุ้นก็มีความเสี่ยงสูงกว่า ในขณะเดียวกัน การลงทุนในอสังหาฯ ก็ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุนได้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
“ในสถานการณ์แบบนี้ หลายคนไม่สามารถซื้อบ้านอยู่ได้ ก็ต้องเช่าบ้านอยู่ จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อมาปล่อยเช่า ซึ่งในครึ่งแรกของปี 2563 เราพบว่า ถึงแม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง แต่เมื่อผู้ประกอบการอสังหาฯ ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ ลด แลก แจก แถม หั่นราคากันแบบไม่เห็นกำไร เพื่อตุนเงินสดไว้ให้มากที่สุด เราพบว่ามียอดโอนที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในไตรมาส 2 ของปี 2563 มีมูลค่าสูงถึง 141,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปี 2563 ถึง 7.5% ผิดจากที่เราคาดการณ์ไว้แต่แรก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังบอกเราว่า กำลังซื้อยังมีอยู่ในตลาด เมื่อเราเสนอราคาที่ผู้ซื้อจับต้องได้ ซึ่งเป็นกำลังซื้อทั้งจากผู้ซื้อที่ต้องการอยู่อาศัยจริง และนักลงทุนที่ซื้อเพื่อนำไปหารายได้จากการปล่อยเช่า กลุ่มลูกค้าที่มีเงินเก็บ การฝากเงินในปัจจุบันได้ดอกเบี้ยต่ำ ลงทุนในหุ้นก็มีความเสี่ยง การลงทุนอสังหาฯ ที่ผู้ประกอบการการันตีผลตอบแทน 5-8% เป็นโอกาสสำหรับการออมอีกรูปแบบหนึ่ง”
จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ที่ผ่านมา LPN มีแคมเปญ Staff Get Member ให้พนักงานของบริษัททำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการอยู่อาศัย (Living Advisor) ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเข้ามาลงทุนในโครงการ ลุมพีนี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 โดยบริษัทมีแคมเปญ “ให้เงินทำงาน” โดยการันตีผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนที่เข้ามาซื้อโครงการ ลุมพีนี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 ขนาดสตูดิโอ 21.5 ตารางเมตร ที่ราคาพิเศษ 859,000 บาท และขนาด 26 ตารางเมตร ที่ราคา 1,059,000 บาท ผ่านพนักงานของ LPN ในอัตรา 5% 5 ปี ฟรีของแถม 23 รายการ และ 8% 3 ปี ฟรีของแถม 24 รายการ เพราะเราเห็นโอกาสในการลงทุนของนักลงทุนในโครงการของเรา
เอพี มองความยืดหยุ่นและประสบการณ์พาองค์กรอยู่รอด
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) (AP) กล่าวว่า เราต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส มองให้เป็นบวก ถึงเวลาควรกลับมาเตรียมตัว ต้องเปลี่ยนตัวเองให้ทัน ใช้ช่วงสุญญากาศธุรกิจ กลับมานั่งดูเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ในกลุ่มผู้บริโภคเปลี่ยนอย่างไร และปรับตัวให้ทันอย่างไร
ทำแคมเปญการตลาดไม่หยุด เพื่อไปศึกษาว่าพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ระยะห่างทางสังคม ใช้พื้นที่ในเทาวน์เฮาส์ บ้าน ทำวิจัยเล็กๆ ออกไป ได้ผลตอบรับที่ไม่ปรุงแต่ง ได้ข้อมูลกลับมาเยอะมาก ใช้โอกาสตรงนั้นศึกษาผู้บริโภค และวิกฤตครั้งนี้เหมือนปี 40 ไหม เหมือนไม่เหมือนควรแก้ไขวิฤตนี้อย่างไร
"ปีนี้คอนโดแย่ ไฮริสไฮรีเทิร์น เราต้องบริหารการทำธุรกิจ โดยมาทำตลาดแนวราบ คอนโดฯ ควรจะหยุด หันไปธุรกิจน้ำซึมบ่อทราย เพราะก่อสร้างหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ใช่คอนโดฯ ขายไม่ได้ พอร์ตคอนโดฯ ที่มีอยู่ 21 โครงการ พร้อมโอน 15 โครงการ ปิดไปแล้ว 7 โครงการ คอนโดฯ ก็ยังขายได้ สำคัญสุดนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาซื้อไม่ใช่จังวหวะซื้อปีนี้ แต่จังหวะนี้ดีมากๆ สร้างเครดิตประเทศไทย ซึ่งจากประสบของเอพี 29 ปี เราทำตลาดแบบยืดหยุ่น เราอาศัยประสบการณ์ในการบริหารพอร์ต ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เราโยกพอร์ตได้ทัน ทุกอย่างอยู่ที่การวางแผน ซึ่งตลาดแนวราบจะสร้างรายได้ให้แก่เอพีในปีนี้"