xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณบวกอสังหาฯ กำลังมา หลัง ครม.อนุมัติต่างชาติอยู่ไทยนาน 9 เดือน ลุ้นเกณฑ์ต่างชาติซื้ออสังหาฯ แรกถือวีซ่ายาว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งมีผลต่อเนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ปี 62 บวกกับผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลโดยตรงต่อกำลังซื้อและการใช้เงินของคนในประเทศ แต่ด้วยการรับมือกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยที่โดดเด่นในสายตาคนทั่วโลก หน่วยงานราชการ และเอกชนเห็นตรงกันว่า หากใช้ข้อได้เปรียบนี้เป็นจุดขาย จะช่วยให้ดึงชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น แม้ว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะยังไม่ได้เปิดให้เดินทางตามปกติ แต่ด้วยความกังวลของชาวต่างชาติบางกลุ่มที่ต้องการหาที่พักในปะเทศที่มั่นใจในเรื่องของป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส และความปลดภัยในเรื่องอื่นๆ ประกอบกับค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไป และเปิดรับชาวต่างชาติก็มีความเป็นไปได้ที่ชาวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ต้องการเงินเข้ามาหมุนในระบบทดแทนเงินที่หายไป จากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหายไปแทบไม่เหลือ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวต่างๆ การดึงคนต่างชาติเข้ามาจึงเป็น 1 ช่องทางในการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเงินจากชาวต่างชาติให้มากขึ้น โดยพยายามให้เกิดการหมุนเวียนเงินให้มากกว่าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงกลายเป็น 1 ในธุรกิจที่จำเป็นและเร่งด่วนในการทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ เพราะธุรกิจอสังหาฯ นับว่าเป็นธุรกิจต้นน้ำที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจจำนวนมาก มาตรการในการดึงชาวต่างชาติเข้ามาในช่วงนี้จึงล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาฯ

สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และสมาคมที่เกี่ยวกับกับธุรกิจอสังหาฯ มีการเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้มีมาตรการออกมากระตุ้นกำลังซื้อ และส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องคือ การผ่อนปรนให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในประเทศไทยได้มากขึ้น จากนั้น ไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ชาวต่างชาติสามารถอยู่ในประเทศไทยได้นานถึง 270วัน หรือ 9 เดือนภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เพียงแต่ต้องมีการกักตัวในสถานที่ที่ได้รับอนุญาต และต้องมีเอกสารยืนยันว่าเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมในประเทศไทยด้วยในกรณีที่ไม่ได้พักในโรงแรมซึ่งเรื่องนี้ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการเข้ามาของชาวต่างชาติมากขึ้น

ล่าสุด คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. รับลูกด้วยการเห็นชอบในหลักการที่ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เสนอให้ผ่อนเกณฑ์ในการพิจารณาการของมีถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนั้นดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ดึงกำลังซื้อของชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศเพื่อชดเชยกำลังซื้อคนไทยที่ลดลง และเพื่อให้เกิดรายได้กับหลายๆ ธุรกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

สำหรับคุณสมบัติของชาวต่างชาติตามเกณฑ์การขอมีถิ่นที่อยู่ของชาวตางชาติในประเทศไทยตามเกณฑ์ที่ทาง BOI เสนอต่อ ศบศ. นั้น คาดว่าเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับชาวต่างชาติในกรณีที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่จะต้องมีการแก้ไขและปรับปรุงกันใหม่อีกครั้ง สำหรับเกณฑ์เดิมที่ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ประกอบด้วย การเป็นผู้นำเงินเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท โดยมีหนังสือรับรองจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ซึ่งแสดงหลักฐานการโอนเงินจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย และการลงทุนต้องมีลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันในกรณีดังต่อไปนี้คือ

1.ลงทุนในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดโดยต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงการลงทุนซึ่งรับรองโดยหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และกิจการนั้นจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย วัฒนธรรม หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ 2.ลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ค้ำประกัน โดยแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรนั้นๆ

และ 3.ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ หรือหน่วยลงทุน เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องได้รับอนุมัติ หรือรับรองจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พร้อมกับแสดงหลักฐานใบหลักทรัพย์ดังกล่าวข้างต้น


ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ ชาวต่างชาติที่จะขอเรื่องนี้ต้องพำนักในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และได้รับอนุญาตเป็นรายปีมาก่อนหน้านี้แล้ว จากเกณฑ์นี้จะเห็นว่ายังไม่มีเรื่องของอสังหาริมทรัพย์เลย การยื่นข้อเสนอของ BOI ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับอสังหาฯ ด้วยแน่นอน เพียงแต่ไม่ได้ระบุหรือว่ากำหนดลงไปในรายละเอียดแบบชัดเจนว่าต้องลงทุนเท่าไหร่จึงจะได้สิทธิเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้ แต่ตามมาตรา 96 ของพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดินระบุว่าชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินขนาด 1 ไร่ได้หากพวกเขาลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาทในพันธบัตรรัฐบาล หรือลงทุนในหุ้นสามัญของนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้อง หรือลงทุนในลงทุนในกองทุนรวมอสังหาฯ กองทุนรวมอสังหาฯ เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน หรือกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน โดยชาวต่างชาติที่ได้รับอนุญาตต้องดำรงการลงทุนนั้นๆ ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งจากข้อเสนอของ BOI ต่อ ศบศ.นั้น คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์นี้เพื่อกระตุ้นให้ชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากชาวต่างชาติมากขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับ BOI และธุรกิจอสังหาฯ จะได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

มาตรการต่างๆ ถ้าสามารถนำมาพิจารณาและประกาศออกมาให้พอเหมาะกับช่วงเวลาก็อาจจะเป็นอีก 1 ช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ เพราะเงินจากต่างชาติเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในภาวะการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เมื่อธุรกิจท่องเที่ยวแทบไม่มีกิจกรรมใดๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น การรับชาวต่างชาติในรูปแบบของการพักอาศัยในระยะยาวควบคู่กับการซื้ออสังหาฯ

ทั้งนี้ การกำหนดระยะเวลาการถือครองเป็นอีก 1 ช่องทางการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะปัจจุบัน ซึ่งในหลายๆ ประเทศดำเนินการอยู่ เช่น ประเทศที่ชาวต่างชาติได้รับวีซ่าระยะยาว หรือสิทธิในการพำนักในประเทศนั้นๆ ได้นานขึ้นเมื่อลงทุนหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ คือ มาเลเซีย ซึ่งมีโปรแกรม Malaysia My Second Home (MM2H) โดยเมื่อชาวต่างชาติซื้อหรือเช่าซื้ออสังหาฯ ที่มีราคามากกว่า 1,000,000 ริงกิตมาเลเซีย ภายใต้โปรแกรม MM2H จะได้รับใบอนุญาตเดินทางแบบสังคมที่สามารถเดินทางเข้า-ออกได้หลายครั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยครอบคลุมถึงคู่สมรส และบุตรอีก 2 คน นอกจากนี้ ยังต่ออายุได้เมื่อครบ 10 ปี

ขณะที่ออสเตรเลีย ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เปิดให้ชาวต่างชาติลงทุนขั้นต่ำ 1.5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในพันธบัตรรัฐบาลโดยใช้ทุนที่ปราศจากภาระผูกพันที่ได้มาจากธุรกิจหรือการลงทุนที่เหมาะสม  และต้องถือครองอย่างน้อย 4 ปี จากวันที่ออกหนังสือในรัฐหรือเขตปกครองที่ได้ร่วมรายการ โดยผู้ที่ลงทุนจะได้วีซ่าระยะยาว 4 ปี นอกจากนี้ สิงคโปร์ คืออีกประเทศที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติลงทุนอย่างน้อย 2.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในบริษัทใหม่ รวมไปถึงการขยายธุรกิจของธุรกิจเดิมในอุตสาหกรรมที่ได้รับการอนุมัติ หรือลงทุนอย่างน้อย 2.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในกองทุนที่ได้รับการอนุมัติที่ลงทุนในบริษัทที่อยู่ในสิงคโปร์ ผู้ลงทุนสามารถได้รับสิทธิการอยู่อาศัยแบบถาวรในสิงคโปร์ โดยการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในสิงคโปร์ หรือลงทุนในกองทุนที่ได้รับการอนุมัติซึ่งคู่สมรส และผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองที่อายุน้อยกว่า 21 ปี สามารถเข้าร่วมรายการได้ จากนั้นสามารถยื่นขอรับสิทธิพลเมืองหลังจากถือการอยู่อาศัยแบบถาวรอย่างน้อย 2 ปี นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนในอสังหาฯ แล้วได้รับวีซ่าระยะยาว เช่น แคนาดา ฝรั่งเศส กรีซ นิวซีแลนด์ สเปน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ


ธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)
แนะจัดแคมเปญ 5 ปี ฟรีแทค-เพิ่มสัดส่วนต่างชาติถือครองคอนโด ดึงต่างประเทศ

นายธนากร ธนวริทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในขณะนี้ต้องยอมรับว่ากำลังซื้อในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะผลักดันเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวได้ จำเป็นที่เราจะต้องเปิดรับกำลังซื้อจากต่างชาติเข้ามาช่วยซึ่งการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอสังหาฯ ของชาวต่างชาติถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ขยายอายุวีซ่าให้แก่นักลงทุนหรือผู้ซื้อสังหาฯ ในประเทศไทยนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่่ดี แต่หากมีการเพิ่มสัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้วต่างชาติเพิ่มเติมจาก 49%ไม่ว่าจะเพิ่มเป็น 60-70% หรือจะเปิดฟรี 100% ก็จะช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในประเทศไทยได้มหาศาล

สำหรับการเพิ่มสัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดชาวต่างชาตินั้น ไม่จำเป็นต้องเปิดในระยะยาวแต่อาจจะจัดเป็นแคมเปญระยะสั้น 3-5 ปี เพื่อระบายสต๊อกห้องชุดในตลาดในปัจจุบัน ซึ่งในแคมเปญนี้อาจเพิ่มเติมในเรื่องการลดภาษีการโอน และจดจำนองบวกเข้าไปด้วยเพื่อให้เกิดแรงจูงใจมากขึ้นเชื่อว่าจะช่วยระบายสต๊อกในตลาดออกไปได้ในระยะเวลาอันสั้น

“แม้ว่าจะมีการลดภาษีต่างๆ ให้ แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาจะมากกว่าแน่นอน เพราะหากบริษัทอสังหาฯ มีรายได้จากการโอนมากขึ้นรัฐก็สามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะก่อให้เกิดการช้าจ่ายในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาฯ หมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเฟอร์นิเจอร์ การจ้างงาน นอกจากนี้ การเข้ามาพักอาศัยของชาวต่างชาติยังเป็นการนำเงินมาใช้จ่ายในประเทศจำนวนมาก”

นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และออกแบบก่อสร้างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
รอรัฐอนุมัติเกณฑ์ซื้ออสังหาฯ แลกถือวีซ่า

ด้าน นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์และออกแบบก่อสร้างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึง แนวทางรัฐบาลได้ขยายสิทธิประโยชน์เรื่องวีซ่าพิเศษว่า เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ ดึงนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งภาครัฐคาดหวังจะเกิดการใช้จ่ายต่อคนตามประมาณการ 10,000 บาท รัฐต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาพัก แต่ก็อาจจะมีบางส่วนที่เข้ามาซื้อหรือโอนคอนโดมิเนียมก็ได้การจะส่งเสริมให้เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับเป็นบ้านหลังที่ 2 นั้น จะต้องแยกออกมาเป็นมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นหลังเกิดวิกฤตปี 2540 ถ้าเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในมูลค่า 10 ล้านบาท จะได้สิทธิ permanent resident visa ประมาณ 10 ปี

"อย่างไรก็ตาม ทางผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ ได้เคยนำเสนอต่อภาครัฐ ที่จะจูงใจนักลงทุนเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในมูลค่า 5 ล้านบาทกับการได้สิทธิถือวีซ่าครั้งละ 1 ปี (365 วัน) จนกว่าไม่ได้เป็นเจ้าของห้องชุดแล้ว ซึ่งจะสะดวกจากเดิมที่จะอยู่ได้เพียง 30 วันเท่านั้น ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการจูงใจหากต้องการได้สิทธิอยู่ในประเทศไทยนาน ก็ต้องเอาเงินเข้ามาซื้อคอนโดฯ ในไทยอย่างน้อยไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ตรงนี้ก็จะเป็นการดี ในเรื่องป้องกันบางกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในไทยแค่ช่วงสั้นๆ หนีโควิด และไม่ได้คิดจะจับจ่ายใช้สอย" นายอธิป กล่าว

ทั้งนี้ ฐานของการนำเสนอตัวเลข 5 ล้านบาท เนื่องจากเป็นตัวเลขที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป (ขณะที่ประเทศมาเลเซียตัวเลขอยู่ที่กว่า 4 ล้านบาทในการได้สิทธิการอยู่อาศัย) และเป็นชนชั้นกลางของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่สามารถซื้อ ช่วยสร้างกลุ่มกำลังซื้อที่มากกว่า แทนที่จะกำหนดตัวเลข 10 ล้านบาทกลุ่มที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์จะมีขนาดที่เล็กลง

"จริงๆ แล้ว เรื่องการให้สิทธิการถือวีซ่าผ่านการซื้ออสังหาฯ อาจจะไม่ใช่เรื่องด่วน จะพูดก็ได้ ไม่พูดก็ได้ เพราะตอนนี้อสังหาฯ ก็เหมือนเจอเหตุการณ์ไฟไหม้บ้าน ก็ต้องขอถังดับเพลิงมาดับไฟก่อน นาทีนี้ต้องขอสิ่งที่จำเป็นก่อน เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง ปลดล็อกมาตรการ LTV เอาที่จำเป็นก่อน เพราะตอนนี้เหตุการณ์มันรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แต่หากรัฐเปิดน่านฟ้าเมื่อไหร่ ประเด็นเรื่องการเข้ามาลงทุน 5 ล้านบาท ก็อาจจะถูกหยิบยกอีกครั้ง ในเวลานี้ เราต้องขอสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ก่อน"


กำลังซื้อจากชาวจีนยังไม่กลับมาดี

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลกระทบกำลังซื้อจากต่างประเทศว่า ส่วนใหญ่ตลาดแนวสูง (คอนโดมิเนียม) จะได้รับผลมากกว่าตลาดแนวราบ ซึ่งในช่วงปี 61 ดีมานด์จากต่างชาติมีมูลค่าสูงขึ้นมาก เฉพาะในเดือน มิ.ย.61 มีมูลค่าเงินโอนคำนวณจากมูลค่าการขายเงินตราต่างประเทศเพื่อดาวน์หรือซื้ออาคารชุดสูงเกินกว่า 60,000 ล้านบาท โดยมีกำลังซื้อหลักมาจากกลุ่มลูกค้าชาวจีน

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากปัญหาเรื่องสงครามการค้า (เทรดวอร์) ได้ทำให้มูลค่าดีมานด์จากต่างชาติลดลงโดยเป็นผลจากกำลังซื้อของลูกค้าชาวจีนที่เจอปัญหาเรื่องเทรดวอร์ และซ้ำเติมด้วยการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการปิดประเทศ (ล็อกดาวน์)
ไม่สามารถเดินทางเข้ามายังประเทศไทยได้

"ทางแบงก์ชาติคิดว่าต่อให้เปิดประเทศ คาดว่ากำลังซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนไม่น่าจะกลับมาได้เร็ว นอกจากนี้ ในเรื่องสัญญาของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น อาจจะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เราคงตอบไม่ได้ว่า จะนานแค่ไหน แต่คิดว่าหลังหมดวาระของผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ อัตราดอกเบี้ยก็ยังไม่ขึ้น"

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์
ด้าน ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนารคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ยอดขายในกลุ่มลูกค้าต่างชาติลดลง ซึ่งเป็นไปตามภาวะตลาด ประกอบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การโอนกรรมสิทธิ์ของลูกค้าต่างชาติ ผู้ประกอบการทยอยโอนโครงการคอนโดฯมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสัดส่วนของลูกค้าต่างชาติมีประมาณ 10% ของตลาด คิดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ โดยรวมมากนัก


กำลังโหลดความคิดเห็น