"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
การประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด วันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่อัตรา 0.50 เปอร์เซ็นต์ต่อไป
เหตุผลคือ คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวน้อยลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อย แต่ในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิมตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบน้อยกว่าที่ประเมินไว้ และมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564 นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลมากขึ้น
กนง.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 ใหม่ โดยคาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะติดลบ 7.8% จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8.1% โดยเศรษฐกิจที่หดตัวน้อยลงจากประมาณการเดิมในเดือนมิ.ย. เนื่องจากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2/2563 ที่ออกมานั้น หดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศ ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ แต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง และจะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน
ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะเดียวกันส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลเริ่มปรับลดลงบ้างในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวน้อยลง โดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการสินเชื่อของภาครัฐและการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น
ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ
กนง.คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด และการฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ในระยะข้างหน้ามาตรการภาครัฐจำเป็นต้องตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น โดยจะต้องเร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 กนง.คาดว่าจะขยายตัวน้อยกว่าคาดไว้เดิม โดยคาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะขยายตัวได้เพียง 3.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5% ซึ่งมีสาเหตุหลักจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า ทั้งนี้ กนง.คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะอยู่ที่ 9 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 16.2 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 6.7 ล้านคนเท่านั้น
ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสถานการณ์โควิด คือ ภาคการท่องเที่ยว แต่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน หรือแม้แต่ในพื้นที่เดียวกัน การฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มก็จะแตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อมีทรัพยากรมีจำกัด ภาครัฐจึงต้องเข้าช่วยเหลือให้ตรงจุด ต้องคำนึงถึงในแง่มิติ และต้องระวังว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในรอบนี้จะไม่เร็วอย่างแน่นอน
นโยบายการคลังจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจะเป็นหัวใจ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ การโครงสร้างธุรกิจ และการยกระดับฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับโลกยุคหลังโควิด จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป