"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียฉบับล่าสุด ประจำปี 2563 (Asian Development Outlook (ADO) 2020 Update) ของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจประเทศเอเชียกำลังพัฒนาในปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นการเติบโตติดลบครั้งแรกตั้งแต่ 2503 (ต้นทศวรรษ 1960s) อย่างไรก็ตาม การเติบโตจะกลับมาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.8 ในปี 2564 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจที่อ่อนแอในปี 2563 แต่ผลผลิตในปีหน้ายังคงต่ำกว่าประมาณการก่อนการแพร่ระบาด COVID-19 โดยในรายงานได้แนะนำการฟื้นตัวแบบรูปตัว “L” แทนที่จะเป็นตัว “V” และคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคจะติดลบถึง 3 ไตรมาสในปี 2563
“ภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกคาดว่าจะเผชิญกับการเติบโตที่ยากลำบากในช่วงที่เหลือของปี 2563” นายยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าว “ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบ เนื่องจากการระบาดครั้งแรกที่ขยายออกไปหรือการระบาดซ้ำๆ อาจกระตุ้นให้มีการควบคุมการแพร่ระบาดเพิ่มเติม ดังนั้น มาตรการที่ต่อเนื่องและการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดโดยลำดับความสำคัญของนโยบายไปที่การปกป้องชีวิต และการดำรงชีวิตของกลุ่มที่เปราะบางที่สุด จะทำให้พวกเขามั่นใจว่าสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปลอดภัยและสามารถเริ่มต้นกิจกรรมทางธุรกิจได้ และนี่จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด”
การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานยังคงเป็นความเสี่ยงในเชิงลบที่ใหญ่ที่สุดต่อแนวโน้มการเติบโตของภูมิภาคในปีนี้และปีหน้า รัฐบาลในภูมิภาคได้ดำเนินนโยบายในวงกว้างเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงชุดมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนรายได้ของผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลัก โดยมีจำนวนเงินสูงถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 15 ของ GDP ในภูมิภาค
ปัจจัยเชิงลบอื่นๆ ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่เพิ่มมากขึ้น และความผันผวนทางการเงินที่อาจทวีความรุนแรงขึ้นจากการระบาดที่ยาวนาน
จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่สามารถต่อสู้กับการหดตัวของเศรษฐกิจได้ โดยคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ในปีนี้ และร้อยละ 7.7 ในปี 2564 ทั้งนี้ มาตรการด้านสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จจะเป็นฐานในการเติบโตต่อไปของจีน ส่วนอินเดีย ซึ่งดำเนินมาตรการปิดเมืองและส่งผลต่อการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการดำเนินธุรกิจ คาดว่า GDP จะติดลบมากสุดเท่าที่เคยมีมาที่ร้อยละ 23.9 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ โดยทั้งปีคาดว่าติดลบที่ร้อยละ 9 ในปีงบประมาณ 2563 ก่อนจะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8 ในปีงบประมาณหน้า
สำหรับอนุภูมิภาคต่างๆ คาดว่าจะเติบโตในเชิงลบในปีนี้ โดยเอเชียตะวันออกจะเติบโตที่ร้อยละ 1.3 ในปีนี้ และกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 7 ในปี 2563 ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะเติบโตหดตัวที่ร้อยละ 3.8 ก่อนกลับมาฟื้นตัวที่ร้อยละ 5.5 ในปีหน้า
ส่วนเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับการค้าและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเอเชียใต้และแปซิฟิก จะเผชิญกับการหดตัว 2 หลักขึ้นไปในปีนี้ ในรายงานฉบับล่าสุดนี้ ยังคาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียทุกประเทศจะฟื้นตัวปีหน้า ยกเว้นบางประเทศในแปซิฟิก ได้แก่ หมู่เกาะคุก ไมโครนีเซีย เกาะมาร์แชลล์ ปาเลา ซามัว และตองกา
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ดี ทำให้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดดังกล่าวส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยรายงาน ADO ล่าสุดในวันนี้ ระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน แม้จะมีแรงสนับสนุนจากนโยบายการคลังและนโยบายการเงินก็ตาม โดยคาดว่า GDP ในปีนี้จะหดตัวที่ร้อยละ 8.0 ซึ่งหดตัวมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่หดตัวร้อยละ 4.8 สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.5 ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะติดลบในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน การหดตัวสูงของราคาพลังงาน และเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมถึงมาตรการรัฐบาลที่ช่วยลดค่าสาธารณูปโภคด้วย ก่อนจะปรับตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 0.8 ในปีหน้า สำหรับปัจจัยเสี่ยงภายนอกยังคงเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในทั่วโลก การกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายใน ได้แก่ การกลับมาระบาดซ้ำของ COVID-19 ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือน
เงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียคาดว่าจะปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันและความต้องการที่ลดต่ำลง เงินเฟ้อในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.3
รายงานฉบับล่าสุดนี้ยังมีบทความพิเศษ เรื่อง Wellness in Worrying Time โดยระบุถึงความสำคัญของการมีสุขภาพดี ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของชุมชนที่ช่วยในการฟื้นตัวจาก COVID-19 และเป็นเครื่องมือในการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบองค์รวม หากภูมิภาคสามารถนำวิถีการมีสุขภาพดีแบบดั้งเดิมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับการสนับสนุนนโยบายที่เหมาะสมโดยรัฐบาล