นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า น.ส.เกตสุดา สุประดิษฐ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้รับมอบหมายเป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting : AFMGM+3) ครั้งที่ 23 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ณ สศค. โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นประธานร่วม โดยได้หารือประเด็นด้านเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพของภูมิภาคอาเซียน+3 ดังนี้
1.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภูมิภาค ที่ประชุมเห็นพ้องว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของทุกประเทศอย่างมาก โดยแต่ละประเทศได้ใช้นโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเพิ่มสภาพคล่องแก่ประชาชนและเอกชนโดยเฉพาะ SMEs รวมถึงการปรับตัวเพื่อเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่กระทบห่วงโซ่อุปทานของโลก โดยที่ประชุมคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นในปีถัดไป ซึ่งสอดคล้องต่อรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจจากผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office : AMRO) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ที่เห็นพ้องว่า เศรษฐกิจโลกและภูมิภาคมีสัญญาณฟื้นตัวในปี 2564 โดย AMRO คาดการณ์การเติบโตของภูมิภาคอยู่ที่ร้อยละ 6.7 และคาดว่าไทยจะโตที่ร้อยละ 4.6
ทั้งนี้ ทั้ง 3 องค์กรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในทิศทางเดียวกัน คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ควรเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายหลังจาก COVID-19 และดำเนินนโยบายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดย IMF เห็นว่าควรให้ความสำคัญเรื่องการบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 การดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการลดความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบอย่างค่อยเป็นค่อยไป
โดยในระยะกลางและระยะยาวควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดสรรทรัพยากร และพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงต้องมีการบริหารจัดการหนี้ของภาครัฐและเอกชนที่เหมาะสม ในส่วนของ ADB เห็นว่าควรใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกระจายรายได้ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำเทคโนโลยีทางดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือปรับปรุงระบบสาธารณสุข
2.ที่ประชุม AFMGM+3 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างความตกลง CMIM ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (Excerpt Version) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้ CMIM และรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามภารกิจหลักของ AMRO มาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative : ABMI) รวมทั้งความคืบหน้าของการดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือทางการเงิน (ASEAN+3 Finance Process) เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการริเริ่มมาตรการใหม่ๆ เพื่อขยายความร่วมมือในภูมิภาคเพิ่มขึ้น
ผลการประชุม AFMGM+3 สะท้อนให้เห็นถึงความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินของอาเซียน+3 และแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิก การส่งเสริมการริเริ่มมาตรการใหม่ๆ ในภูมิภาคอาเซียน+3 และการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้มีเสถียรภาพและความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น