“แกนนำปลดแอก” เผยชุมนุม 24 ก.ย. ไม่ปักหลักพักค้าง เตรียมนัดชุมนุมใหญ่ ต.ค.นี้ วางยุทธศาสตร์แม่น้ำร้อยสาย มั่นใจคนเข้าร่วมหลักแสน เร่งกำหนดกลยุทธ์ หลังประเมินท่าทีสภาแก้ รธน. ด้าน “ไพศาล” ฟันธง มวลชนลด เหตุแตะสถาบัน เชื่อ นศ.ถูกหลอก ให้เข้าใจว่าสถาบันหนุนรัฐประหาร ขณะที่ “ NGO ใต้-ตะวันออก” ผนึกกำลังร่วมแก้ รธน. หนุนแนวทาง iLaw ตั้ง ส.ส.ร. ทำหน้าที่เขียนกฎหมาย ตามข้อเสนอประชาชน
หลังจาก iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ได้นำรายชื่อประชาชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรวบรวมได้ถึง 100,732 รายชื่อ ไปยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ก็มีกระแสข่าวว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะไม่บรรจุญัตติดังกล่าวในการประชุมสภาในวันที่ 23-24 ก.ย.ที่จะถึงนี้ โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อที่เสนอมาได้ทัน ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่านี่คือแท็กติกในการสกัดเพื่อไม่ให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของภาคประชาชน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรื้อระบอบอำนาจของ คสช. เพราะหากบรรจุญัตติไม่ทันภายในวันที่ 24 ก.ย.นี้ สภาก็ไม่สามารถพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ในสมัยประชุมนี้ เนื่องจากจะปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ ในวันที่ 25 ก.ย.นี้แล้ว
จึงเป็นที่น่าจับตาว่า การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มประชาชนปลดแอก” ซึ่งจะนัดรวมพลที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 24 ก.ย. เพื่อติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะมีการกำหนดยุทธศาสตร์การชุมนุมอย่างไร และจะสามารถกดดันให้สภาหยิบยกเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาพิจารณาได้หรือไม่?
นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการคณะประชาชนปลดแอก เปิดเผยว่า การชุมนุมในวัน 24 ก.ย.นี้จะเป็นการชุมนุมแค่วันเดียว ไม่มีการปักหลักพักค้าง โดยจะการตั้งเวทีปราศรัยเพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นในการแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนว่าสภาจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไรนั้นก็แล้วแต่ดุลพินิจของ ส.ส. ถ้าสภาไม่รับเราก็ต้องปรับยุทศาสตร์ โดยจะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งท่าทีของสภาในวันที่ 24 ก.ย.นี้จะมีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ในการชุมนุมเดือน ต.ค.
สำหรับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะโฟกัสที่การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนเสนอ
“หลักๆ คือต้องมีการปฏิรูประบบการเลือกตั้ง ให้ที่มาของ ส.ส. เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ลงคะแนนเลือกตั้ง ที่มาขององค์กรอิสระต้องโปร่งใสไม่ใช่มาจากการแต่งตั้งของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และต้องมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี เพื่อไม่ให้องค์กรอิสระกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชน เช่นเดียวกับฉบับปี 2540 แต่จะแอดวานซ์กว่าเดิม” นายทัตเทพ กล่าว
ด้าน นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ชี้แจงว่า การผลักดันประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้แคมเปญ "ร่วมรื้อ สร้าง ร่างรัฐธรรมนูญประชาชน" เพื่อรื้อระบอบอำนาจของ คสช. สร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทุกประเด็น ทุกมาตรา โดยประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยได้ชูประเด็น "5 ยกเลิก" และ "5 แก้ไข" (ดูรายละเอียดจากตาราง)
ทั้งนี้ แนวคิดในการไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มประชาชนปลดแอก และ iLaw นั้นสอดคล้องกับแนวทางของเครือข่าย NGO ภาคใต้และ NGO ภาคตะวันออก โดย นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้ ระบุว่า ในส่วนของเครือข่ายเอ็นจีโอภาคใต้เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ iLaw โดยหลักการของเครือข่ายเอ็นจีโอภาคใต้คือ ให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง จาก 76 จังหวัด เพื่อทำหน้าที่นำข้อเสนอของประชาชนไปเขียนเป็นกฎหมาย แต่ไม่ใช่ให้ ส.ส.ร. ยกร่างกฎหมายตามดุลพินิจของ ส.ส.ร.เอง
ซึ่งในส่วนของเอ็นจีโอภาคตะวันออกก็เห็นสอดคล้องกับเอ็นจีโอใต้ เราจึงขับเคลื่อนไปด้วยกัน โดยหลังจากนี้จะมีเวทีร่วมระหว่างเอ็นจีโอใต้ เอ็นจีโอภาคตะวันออก เอ็นจีโอกรุงเทพฯ เครือข่ายประชาชน ภาคธุรกิจ และนักวิชาการในพื้นที่ จากนั้นจึงไปเชื่อมกับเอ็นจีโอภาคเหนือและภาคอีสาน และเชื่อมกับกลุ่มนักศึกษาอีกที
“ตอนนี้กลุ่มเอ็นจีโอภาคใต้และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐคล้ายๆ กัน ได้มีการพูดคุยกันเพื่อร่วมผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราเห็นด้วยกับแนวทางของนักศึกษา โดยเราจะรับหน้าที่ในส่วนของการประสานเพื่อรับฟังความเห็นจากชาวบ้านว่าต้องการให้กฎหมายที่ออกมามีเนื้อหาและหน้าตาอย่างไร เบื้องต้นในส่วนของกลุ่มพัทลุงปลดแอกจะนัดหารือกันถึงเรื่องดังกล่าวในปลายเดือน ก.ย. หรืออย่างช้าต้นเดือน ต.ค.นี้” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว
สำหรับการชุมใหญ่ในเดือน ต.ค.นั้น นายทัตเทพ เปิดเผยว่า คณะประชาชนปลดแอกยังคงยืนหยัดใน 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน ซึ่ง 3 ข้อเรียกร้อง คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา ส่วน 2 จุดยืน คือ ไม่เอารัฐประหารไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และ 1 ความฝันคือ การมีระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งในการชุมนุมเดือน ต.ค. เราจะใส่รายละเอียดแต่ละข้อให้ชัดเจนขึ้น ส่วนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมนั้นเราจะไม่เข้าไปก้าวก่ายเพราะแต่ละกลุ่มที่มาร่วมก็มีข้อเสนอของตัวเอง
“การชุมนุมใหญ่ในเดือน ต.ค.จะเป็นการไหลมารวมกันของแม่น้ำร้อยสาย ซึ่งเร็วๆ นี้จะหารือกันเพื่อกำหนดว่าจะชุมนุมวันที่เท่าไหร่ แต่เชื่อว่าจะมีคนเข้าร่วมมากกว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาแน่นอน เพราะหากไล่เรียงดูจะเห็นว่าตัวเลขผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นทุกครั้ง 18 ก.ค. มีคนมาร่วม 5 พันคน 6 ส.ค. เพิ่มเป็น 4-5 หมื่น และ 19 ก.ย. เพิ่มเป็น 1 แสน ดังนั้น การชุมนุมใหญ่เดือน ต.ค. น่าจะมาก 1 แสน ส่วนรูปแบบและรายละเอียดของยุทธศาสตร์จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นท่าทีของสภาที่มีต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 24 ก.ย.นี้”
ด้าน นายประสิทธิ์ชัย ระบุว่า ในการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษานั้นเอ็นจีโอใต้ไม่ได้นัดรวมพลเพื่อเดินทางไปร่วมชุมนุม แต่เป็นการเข้าร่วมของแต่ละบุคคล แต่ก็มีบ้างที่จัดรถไปกัน อย่างในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มพัทลุงปลดแอกก็จัดไป 1 คันรถ ทั้งนี้เชื่อว่าในการชุมนุมใหญ่ในเดือน ต.ค. ก็จะน่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างสถาบันของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้แนวร่วมในการเคลื่อนไหวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดย นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ชี้ว่า ในภาพรวมประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางและ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชนปลดแอก เพราะประชาชนเบื่อหน่ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีทั้งปัญหาในการบริหารงาน การคอร์รัปชัน และการใช้อำนาจโดยมิชอบ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.คนจึงออกมาชุมนุมเยอะมาก แต่พอกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์แตะเรื่องสถาบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบจิตใจของคนไทย ทำให้ช่วงดึกของวันที่ 19 ก.ย.คนเริ่มถอย ทั้งในส่วนที่เป็นนักการเมือง ประชาชน และนักศึกษาบางส่วนเริ่มแยกย้ายกลับบ้าน ทำให้ช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ย.จำนวนผู้ชุมนุมลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้นเชื่อว่าการชุมนุมใหญ่ในเดือน ต.ค. คนจะน้อยลง
“งานนี้ต้องบอกว่าเข้าทางรัฐบาลเลย คือจริงๆประชาชนส่วนใหญ่อยากออกมาร่วมไล่รัฐบาลนะเพราะเขารู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว แต่พอไม่แน่ใจว่าแกนนำจะเรียกร้องเรื่องอะไรเขาก็ไม่มาร่วม อย่าลืมว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่อยากให้แตะสถาบัน แล้วถ้าคนออกมาแค่นี้รัฐบาลไม่กลัวเพราะรัฐบาลมั่นใจว่ามวลชนแค่นี้เขาคุมได้ ผมมองว่านักศึกษาถูกหลอกให้เข้าใจว่าสถาบันสนับสนุนการรัฐประหาร ที่ผ่านมาก็มีการปล่อยข่าวเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ ก่อนที่จะรัฐประหารทุกครั้ง หัวหน้าคณะจะประกาศว่าได้ถวายการอารักขาองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เรียบร้อยแล้ว แปลว่าคณะรัฐประหารเขากุมอำนาจไว้หมดแล้ว พอรัฐประหารเสร็จก็มาขอให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรอง พระองค์ก็ทำอะไรไม่ได้ มีหลายกลุ่มหลายพวกที่ได้ประโยชน์จากการนำสถาบันมาแอบอ้าง ใครวิจารณ์รัฐบาลก็กล่าวหาว่าชังชาติ จะล้มสถาบัน ซึ่งไม่เกี่ยวกัน อีกกลุ่มที่จ้องล้มสถาบันก็นำเรื่องนี้ไปขยาย” นายไพศาล กล่าว
จากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน จะบรรลุผลหรือไม่? และการชุมนุมใหญ่ของคณะประชาชนปลดแอก ในเดือน ต.ค.นี้ จะไปในทิศทางใด? และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไรบ้าง