xs
xsm
sm
md
lg

อัยการพบ ‘เนตร นาคสุข’ ใช้ดุลพินิจพลาด ชี้ไม่ทุจริต! ‘รวย’ ขายที่ดินได้กว่า 160 ล้าน!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วงในสำนักอัยการสูงสุด ระบุ ผลสอบของอัยการชุดแรก ชี้ชัด ‘เนตร นาคสุข’ สั่งไม่ฟ้องคดี ‘บอส กระทิงแดง’ มีจุดเคลือบแคลงในการใช้ดุลพินิจ โดยเฉพาะการใช้ความเร็ว เหตุใดไม่แสวงหาความเห็นที่ 3 เสนอให้ใช้ พ.ร.บ.องค์กรอัยการปี 2553 สอบข้อเท็จจริงและวินัย พร้อมสอบลึกว่ามีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ว่ากันว่า ‘วงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์’ บอกคณะทำงานไม่ต้องระบุว่าเป็นความเห็นอัยการให้ใช้เป็นความเคลือบแคลงของประชาชน ด้านคนใกล้ชิดชี้ ‘รองเนตร’ ขายที่ดินได้กว่า 160 ล้านบาท ด้านอัยการเมาท์มอย ‘ท่านวงศ์ใช้ให้ท่านเนตรทำหรือเปล่า’!

‘เนตร นาคสุข’ รองอัยการสูงสุด กำลังเป็นบุคคลที่สังคมให้ความสนใจมากที่สุด หลังจากกลับลำอัยการชุดเดิมมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ‘บอส’ วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ที่ขับรถชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ สน.ทองหล่อ เสียชีวิต จนนำสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ ‘คนรวย’ สามารถอยู่เหนือกฎหมายได้

นายเนตร นาคสุข
แม้วันนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาหลายชุดแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนสังคมก็ยังไม่ให้ความเชื่อถือและเฝ้ารอผลการตรวจสอบจากชุด ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้อง บอส อยู่วิทยา

พร้อมๆ กับมีการตั้งข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์กันออกไป ไม่เว้นแม้กระทั่งอัยการด้วยกันเองว่าคดีใหญ่ๆ ทำไมจึงเกิดขึ้นในช่วงที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ไม่อยู่และมอบหมายให้ นายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด อาวุโสลำดับที่ 1 รักษาราชการแทน

“อัยการก็เมาท์ๆ ก็มีสงสัยวิพากษ์วิจารณ์เหมือนสังคมนั่นแหละ ว่าท่านวงศ์ใช้ให้ท่านเนตรทำหรือเปล่า แต่เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ ก็ไม่สมควรที่จะพูด ก็ปล่อยให้เป็นเพียงเรื่องเมาท์มอย ลือๆ กันไป”

นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า ข่าวลือพวกนี้เกิดจากการที่ช่วงนี้มีคดีใหญ่ๆ ดังๆ และเป็นที่สนใจของคนในสังคมถึง 3 คดี ที่นายเนตร นาคสุข เข้าไปเกี่ยวข้องทั้งเรื่อง สั่งไม่ฟ้องคดีนายบอส อยู่วิทยา เรื่องการสอบสวนและสั่งไม่ฟ้อง คดีสถานอาบอบนวด ‘วิคตอเรีย ซีเคร็ท’ ที่ทำให้จำเลย 2 คน คือ นางนิภา และนายธนพล วิระเทพสุภรณ์ ภรรยาและลูกชาย นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ เจ้าของสถานที่ดังกล่าว ที่มีเรื่องของการค้ามนุษย์หลุดคดีไปได้

รวมทั้งคดีดังของนายโอ๊ค พานทองแท้ ชินวัตร ซึ่งนายเนตร รักษาการแทนฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นควรไม่อุทธรณ์คดีตามที่สำนักงานชี้ขาดคดีทำความเห็นส่งมา

อย่างไรก็ดี หากจะมองเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการสั่งคดีนั้น แหล่งข่าวจากอัยการและนักกฎหมายจากรั้วจุฬาฯ ที่รู้จักนายเนตร บอกว่า หากจะมองเรื่องฐานะของนายเนตรแล้ว เขาไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีผลประโยชน์กับเรื่องคดีเหล่านี้

“นายเนตร ขายที่ดินมรดกที่ซอยอ่อนนุช ได้เงินมากว่า 160 ล้านบาท ซึ่งปกตินายเนตร ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่ใช่คนชอบสังคม ไม่กิน ไม่เที่ยว และใช้ชีวิตกับภรรยาคนเดียวและก็มีลูกเพียงคนเดียว ทรัพย์สินที่มีอยู่ก็ทำให้ใช้ชีวิตอยู่อย่างสบายๆ อยู่แล้ว”




แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละคดีนั้น โดยเฉพาะคดีสั่งไม่ฟ้องนายบอส อยู่วิทยา จะมีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่นายเนตร เชื่อในดุลพินิจว่าทำถูกต้องแล้วหรือไม่ และมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่คณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดีที่อัยการสูงสุด ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ตั้งคณะทำงาน 7 คน ซึ่งมีนายสมศักดิ์ บุญทอง อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีคนนอกร่วมเป็นคณะทำงานด้วย เพื่อดำเนินการตรวจสอบว่าการพิจารณาสั่งสำนวนดังกล่าว เป็นไปตามหลักกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีอย่างไร

ขณะเดียวกัน นายเนตร นาคสุข ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการต่ออัยการสูงสุด โดยระบุว่า เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจในการสั่งสำนวนคดีนี้และเป็นการแสดงสปิริต (spirit) แก่องค์กรอัยการ และต้องการให้ทุกคนในสังคมเกิดความสบายใจ พร้อมกับยืนยันว่าการสั่งคดีนี้ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนและตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย


แต่การยื่นลาออกของนายเนตร ก็ทำให้สังคมเคลือบแคลงใจและมีคำถามเกิดขึ้นว่าการยื่นลาออกเช่นนี้ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของคณะทำงานฯ ที่อัยการสูงสุดตั้งขึ้นมาหรือไม่ และอัยการสูงสุดจะอนุญาต หรือใช้อำนาจยับยั้ง เพราะหากอนุญาตจะไม่สามารถดำเนินการสอบวินัยได้ เพราะนายเนตร ลาออกก่อนที่จะเริ่มต้นกระบวนการสอบวินัย จึงเป็นเรื่องที่สังคมเฝ้าติดตาม

แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า การตั้งคณะทำงานชุดที่มีนายสมศักดิ์ บุญทอง เป็นประธาน เป็นผลมาจากการที่อัยการสูงสุด ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาคดีนายบอส ชุดที่มี นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะ ได้ดำเนินการตรวจสอบว่านายเนตร มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายหรือระเบียบในการสั่งเรื่องหรือไม่ และพบว่า สิ่งที่เป็นปัญหาและเชื่อว่าสำนักงานอัยการสูงสุดจะต้องเร่งดำเนินการสอบสวนโดยด่วน

“ได้เสนอให้อัยการสูงสุดใช้ พ.ร.บ.องค์กรอัยการฯ เร่งแก้ไข เพราะจากการสอบข้อมูล มีจุดที่เคลือบแคลงสงสัยการใช้ดุลพินิจ แต่อัยการสูงสุดไม่ให้ระบุตรงๆ ให้บอกเป็นว่าประชาชนเคลือบแคลงสงสัยเรื่องการใช้ดุลพินิจ จึงควรใช้ พ.ร.บ.องค์กรอัยการตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริงและสอบวินัยต่อไป”

ในการสอบสวนนั้น คณะกรรมการชุดแรกจะเป็นการสอบข้อเท็จจริงว่าการสั่งไม่ฟ้องนั้นและสิ่งที่มีการเคลือบแคลงในการใช้ดุลพินิจนั้น มีมูลความจริงหรือไม่ หากสอบแล้วไม่มีมูลความจริงก็สิ้นสุดแค่นี้ แต่หากพบว่ามีมูลความจริงก็ต้องดูว่ามีมูลมีระดับไหน และตั้งคณะทำงานสอบทางวินัยต่อไป



 13  สิงหาคม นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด  เข้าชีี้้แจง ต่อคณะกมธ.ว่า ตนได้สั่งตามที่พนักงานสอบสวนทำมาทั้งหมด
“สิ่งที่ปรากฏให้เห็นและอัยการที่เกี่ยวข้องติดใจคือเรื่องการใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบโดยเฉพาะเรื่องความเร็วของรถ ฝ่ายหนึ่งบอกว่า 177 กม.ต่อ ชม. อีกฝ่ายบอก 60-70 กม.ต่อชม. จึงควรแสวงหาความเห็นที่สามเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย”

ตรงนี้คือความไม่รอบคอบของนายเนตรที่ปรากฏชัดเจน!

เพราะเมื่อความเห็นที่ 1 และ 2 มีความขัดแย้งไปกันคนละทางจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาความเห็นที่ 3 ไม่ใช่สั่งไม่ฟ้องไปทันที

แหล่งข่าวย้ำอีกว่า อัยการสูงสุดได้คุยเป็นการภายในกับคณะทำงานแล้ว และทางออกที่ดีที่สุดคือให้อัยการสูงสุดใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.อัยการฯ ตั้งคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการใช้ดุลพินิจ  และถ้ามีมูลก็ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยเพื่อลงโทษทางกฎหมายต่อไป

“ที่คณะทำงานชุดใหม่ต้องดูก็คือนอกจากใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบแล้ว มีเรื่องทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องส่งให้  ป.ป.ช. ดำเนินการต่อและต้องจบที่ศาลตัดสิน ซึ่งตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินก็ต้องถือว่าเขาบริสุทธิ์ และท่านเนตร ก็ไม่น่ามีเรื่องผลประโยชน์นะ เพราะท่านก็มีทรัพย์สินขายที่ดินได้ร้อยกว่าล้านบาท”

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนฯ ที่นายสิระ เจนจาคะ เป็นประธาน ก็มีอำนาจที่จะเรียกนายเนตร นาคสุข มาชี้แจงได้ เพราะเขามีอำนาจตามกฎหมายที่จะออกหมายเรียก แต่ถ้าออกหมายเรียกแล้วไม่มาก็จะมีปัญหาตามมา

“ออกหมายเรียกแล้วไม่มา ก็มีปัญหาแน่ ถือเป็นความผิด เพราะเป็นการขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ก็จะมีคนไปเชิญตัวคุณเนตรมาให้ได้ เพราะ กมธ.มีอำนาจ ถ้าไม่มีอำนาจใครจะไปพบไปชี้แจง แต่ครั้งที่แล้วที่ไม่ได้มา คุณเนตรได้ยื่นหนังสือชี้แจงว่าติดภารกิจขอเลื่อนไปก่อน”

ซึ่งวันนี้ (13 ส.ค.) นายเนตร ก็ได้มาชี้แจงต่อ กมธ.ชุดนายสิระ และได้ยืนยันต่อคณะ กมธ.ว่าได้สั่งตามที่พนักงานสอบสวนทำมาทั้งหมด ไม่ได้มีการสั่งนอกสำนวนแต่อย่างใด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี - นายวิชา มหาคุณ
ส่วนคณะทำงานชุดนายวิชา มหาคุณ นั้น หากเรียกนายเนตรมาชี้แจง นายเนตรก็มีสิทธิที่จะไม่ไปชี้แจงก็ได้ เพราะเป็นชุดที่ฝ่ายบริหารคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งขึ้นจึงไม่มีกฎหมายรองรับ

ขณะที่ นายวิชา มหาคุณ บอกว่า กรณีนายเนตรนั้นก็ต้องเชิญมาในฐานะบุคคลทั่วไป ซึ่งถ้าเขาไม่มาก็ต้องดูว่าปฏิเสธมาอย่างไร หรือตามหาตัวไม่พบ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ไม่มีอำนาจเหมือน ป.ป.ช. เพราะไม่ใช่สอบทางวินัยหรือสอบคดีอาญา

“เราไม่ใช่องค์กรเอาผิดหรือลงโทษเขาได้ แต่เราต้องการสอบสวบว่านายเนตร ทำอะไรมาบ้าง เราอยากรู้ลึกลงไปว่าทำอะไรมาบ้าง ทำเพราะอะไร แต่ถ้านายเนตร ไม่มา ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะเราไม่มีอำนาจจริงๆ แต่องค์กรอัยการที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบมีอำนาจเต็มเอาผิดทางวินัยได้”

นายวิชา ย้ำว่าปัญหาอยู่ที่ว่าอัยการสูงสุดอนุญาตให้ลาออกไปแล้วหรือยัง ก่อนที่จะมีการชี้มูลความผิด ถ้าให้ออกไปแล้ว ก็ไปตรวจสอบนายเนตรไม่ได้ ทำได้เพียงส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.สอบต่อไป แต่ถ้าระงับไว้ก็ทำได้เพียง 3 เดือน

“ถ้าเซ็นให้ออกแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ จนกว่าจะมีการตั้งข้อกล่าวหาความผิดทางอาญา แล้วส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ป.ป.ช.เรียกมา และออกหมายจับได้ ตอนนี้คณะทำงานที่ต้องปวดหัวและเครียดกับคดีนี้คือคณะอัยการและคณะตำรวจ”

สำหรับคณะทำงานชุดนายวิชานั้น เป็นคณะที่ต้องรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนนายกฯ จะดำเนินการตามที่เสนอหรือไม่ ก็แล้วแต่นายกฯ และปัจจุบันก็พยายามประสานและทำงานร่วมกับทีมตำรวจ เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ภายใต้นายกฯ

“คณะทำงานชุดนี้ก็พยายามรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด เรามีต้นทุนทางสังคม และรู้ว่ามันมีปัญหาอะไร จึงไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ไม่อยากมีเคสแบบนี้อีก ซึ่งจุดหมายของคณะทำงานชุดนี้ คือทำอย่างไรจะแก้ไขช่องโหว่หรือแก้ไขกฎหมายได้”

นายวิชา บอกว่า นายกฯ ได้ตั้งคณะทำงานชุดนี้ซึ่งมีต้นทุนทางสังคมขึ้นมาแล้ว และนายกฯ ก็รู้ว่าประชาชนและสังคมคาดหวังและต้องการอะไร ดังนั้น ก็เชื่อมั่นว่านายกฯ จะไม่นิ่งเฉยกับเรื่องนี้ รวมทั้งจะนำข้อสรุปทั้งหมดที่คณะทำงานจะเสนอไป ไปดำเนินการต่อ!




กำลังโหลดความคิดเห็น