xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ทีมเศรษฐกิจใหม่ลำบากแน่! หากโละจริงถือเป็นโชคดีของ “ดร.สมคิด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.สมชาย” ฟันธง ทีมเศรษฐกิจใหม่เจอโจทย์ยาก เหตุเศรษฐกิจดิ่วเหว หลังวิกฤตโควิด-19 และไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง ระบุ ต้องเป็นคนที่มีความรู้การเงินการคลัง-ภูมิรัฐศาสตร์ สามารถสร้างความเชื่อมั่น และสร้างเอกภาพภายใต้ความคิดต่าง เชื่อมีคนอาสา แต่ยังไม่กล้าเปิดตัว

ทันทีที่มีกระแสข่าวการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยพุ่งเป้าไปที่รัฐมนตรีในกลุ่ม 4 กุมาร อันได้แก่ ดร.อุตตม สาวนายน รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และจะแต่งตั้งให้ “ดร.แหม่ม” นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ แทน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในเรื่องของฝีมือและความเหมาะสม กระทั่งล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการแต่งตั้งให้ ศ.ดร.นฤมล มาดูแลทีมเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพียงแค่ให้คุมทีมงานในการเขียนนโยบายเท่านั้น

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง
ขณะที่ทางด้านนักธุรกิจและนักวิชาการต่างวิเคราะห์ว่า หากพรรคพลังประชารัฐมีการปรับ นายอุตตม รมว.คลัง และ นายสนธิรัตน์ รมว.พลังงาน ออก จะทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลกลายเป็นการเมืองแบบเก่า มุ่งไปที่ผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง ต่างจากการบริหารของกลุ่ม 4 กุมาร ที่เป็นเทคโนแครตที่บริหารงานผ่านการกำหนดนโยบายอย่างเป็นมืออาชีพ

ในส่วนของภาคเอกชนมีความเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจจะทำให้นโยบายต่างๆ สะดุด โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนมีความกังวลหากรัฐบาลจะปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้นโยบายต่างๆ ที่วางไว้เปลี่ยนแปลง โดยโครงการที่กำลังเดินหน้าด้วยทีมเศรษฐกิจชุดปัจจุบันซึ่งกำลังเร่งแก้ไขปัญหาอยู่อาจได้รับผลกระทบ หากเป็นไปได้ อยากให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตต่างๆ ไปก่อนจึงค่อยปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ ทั้งวิกฤตโรคโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจไทย

ด้านเครือข่ายพลังงานชุมชนก็ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการปรับ นายสนธิรัตน์ รมว.พลังงาน ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเครือข่ายพลังงานเห็นว่านายสนธิรัตน์ ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยการขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับความเป็นอยู่ของคนในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร เช่น นโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นโยบาย Energy for All พลังงานเป็นของทุกคน ซึ่งผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าชุมชนที่ให้วิสาหกิจชุมชน 200 ครัวเรือนถือหุ้น และทำโซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน


อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ที่เกิดปรากฏการณ์ยึดพรรคพลังประชารัฐ เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจากนายอุตตม เป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และเขี่ยกลุ่ม 4 กุมารออกจากกรรมการบริหารพรรคทุกตำแหน่ง ก็แน่นอนแล้วว่าการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีในของกลุ่ม 4 กุมารคงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง วิเคราะห์ว่า ในมุมของนักธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่จะชอบทีมเศรษฐกิจของ ดร.สมคิด เพราะมาตรการต่างๆ ที่ออกมาทำให้ธุรกิจมีเสถียรภาพ แต่อาจจะไม่ถูกใจประชาชนส่วนใหญ่และกลุ่มการเมืองในพรรค เนื่องจากประชาชนรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าหายไป ขณะที่กลุ่มการเมืองมองว่าทีมของ ดร.สมคิด มีสไตล์การทำงานแบบนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งอาจจะสวนทางกับการเมือง เมื่อกระแสประชาชนไม่ชอบจึงเป็นโอกาสให้กลุ่มการเมืองในพรรคกล้าลุกขึ้นมากดดันให้มีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รศ.ดร.สมชาย มองว่า การบริหารของทีมเศรษฐกิจภายใต้การดูแลของ ดร.สมคิดนั้นมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ซึ่งข้อดี ได้แก่
1) มีมาตรการใหม่ๆ ที่โดนใจประชาชน เช่น มาตรการชิมช็อปใช้ ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการใช้จ่ายให้ประชาชน โครงการเราไม่ทิ้งกัน ที่จ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
2) มีนโยบายที่ทำให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ มีทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเทศไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 40% กว่าของ GDP หลังได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 50% กว่าของ GDP ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่รับได้
3) มีเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งนำไปสู่โอกาสในการลงทุน

ส่วนข้อด้อย ได้แก่
1) อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆในภูมิภาคแถบนี้ โดยอยู่ที่ 3 % กว่าๆ ของ GDP ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.4-5.5% ของ GDP ไทยชนะก็แค่สิงคโปร์และบรูไนเท่านั้น และเมื่อเทียบกับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8% ของ GDP ก็หมายความว่าการบริหารงานของทีมเศรษฐกิจไม่ได้มีการปรับตัวเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น
2) แม้ว่าจะมี EEC แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการจึงยังไม่เห็นความสำเร็จของโครงการ
3) การบริหารงานไม่ได้นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ในขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 79% ของ GDP ซึ่งจุดนี้ทำให้ประชาชนไม่พอใจ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
สำหรับทีมเศรษฐกิจใหม่ที่จะมาแทนทีมของ ดร.สมคิด นั้น รศ.ดร.สมชาย เชื่อว่าจะทำงานด้วยความยากลำบาก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้อยู่ในช่วงที่เข้าสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังซบเซาอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 โดยวิกฤตโควิด-19 จะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ช่วงแรก เป็นช่วงที่ทีมแพทย์พยายามรักษาและสกัดการแพร่ระบาด ช่วงที่ 2 คือ ช่วงของการบริหารการติดเชื้อ ช่วงที่ 3 คือช่วงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องของการออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และช่วงที่ 4 คือช่วงต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องของการผลักดันให้นโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจประสบความสำเร็จ ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกไม่เอื้ออำนวย จีนกับสหรัฐอเมริกาก็ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ส่วนเศรษฐกิจในประเทศติดลบถึง 6%

“ถ้ามีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจจริงก็ถือว่าเป็นโชคดีของ ดร.สมคิด เพราะจะเห็นได้ว่าแม้ตอนนี้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5 แล้ว ร้านค้าร้านอาหารเปิดให้บริการได้หมดแล้ว แต่แต่ละร้านแทบจะไม่มีลูกค้า เศรษฐกิจโลกก็ยังไม่ดี และที่สำคัญไทยมีปัญหาเรื่องโครงสร้างทางสังคมซึ่งช่องหว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันมาก ดังนั้น การทำงานของทีมเศรษฐกิจใหม่ยากกว่ายุค ดร.สมคิด แน่นอน ดร.สมคิด เข้ามาในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น แต่ตอนนี้เศรษฐกิจลงหนักมาก” รศ.ดร.สมชาย ระบุ

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
รศ.ดร.สมชาย เชื่อว่า จะมีผู้อาสาเข้ามาเป็นรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจใหม่อย่างแน่นอน แม้จะมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลยังไม่สามารถฟอร์มทีมเศรษฐกิจใหม่ได้เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามารับตำแหน่ง เพราะในการทำงานของรัฐมนตรีนั้นไม่ใช่การทำงานโดยลำพัง แต่จะมีทั้งข้าราชการและทีมที่ปรึกษาคอยซัปพอร์ต แต่สาเหตุที่ยังไม่มีชื่อรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจใหม่ออกมาเพราะไม่มีใครอยากตกเป็นเป้าโจมตี

ทั้งนี้ รศ.ดร.สมชาย ชี้ว่า คุณสมบัติของทีมเศรษฐกิจใหม่ ต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ
1.ต้องมีความรู้ด้านการเงินการคลัง และภูมิรัฐศาสตร์
2.ต้องมีประสบการณ์ด้านการบริหาร
3.สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้
4.ต้องสามารถบริหารนโยบายและกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างมีเอกภาพ แม้รัฐมนตรีแต่ละคนจะมีความเห็นที่แตกต่าง แต่ยังมีเอกภาพภายใต้ความแตกต่าง


กำลังโหลดความคิดเห็น