xs
xsm
sm
md
lg

โปรเจกต์ใหญ่ใช้งบ 3 หมื่นล้านของ ‘อว.’ หนุน ‘บิ๊กตู่-พปชร.’ ครองใจคนอีสาน!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรี อว.หนึ่งในมือไม้สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เร่งผลักดันโครงการจ้างงานตามนโยบาย ‘บิ๊กตู่’ ใช้งบ 20,000-30,000 ล้านบาท ในส่วนงบเงินกู้ 4 แสนล้าน จ้างงานประชาชน บัณฑิตจบใหม่ นักศึกษาฝึกงาน ถึง 3 แสนคน เพื่อกระจายรายได้แบบทั่วถึงและมีพลัง ระบุโครงการพลิกฟื้นทำให้ ‘อีสานเขียว’ และโครงการ Big Data รวมข้อมูลชุมชน จะนำไปสู่การสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต ชี้หากสำเร็จ ‘บิ๊กตู่-พปชร.’ ครองใจคนอีสานแน่!

นักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ อาจจะประเมินศักยภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการบริหารประเทศและทางการเมืองต่ำเกินไปหรือไม่? เพราะในความเป็นจริงแล้ว ‘บิ๊กตู่’ อาจจะเป็นนักบริหารยุทธศาสตร์ที่จะสามารถทำให้ประเทศก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้ในอนาคต

ที่น่าจับตาในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่บิ๊กตู่อาจทำให้พรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน


โดยเฉพาะสิ่งที่บิ๊กตู่พูดไว้ในแถลงการณ์ ‘วิธีการทำงานแบบ New Normal ของนายกรัฐมนตรี’ ได้บอกกับพี่น้องประชาชนถึงสิ่งที่ท้าทายที่หนักหนาสาหัสคือการทำให้คนไทยกลับมาทำมาหากินได้ดังเดิมพร้อมต้องการให้ประเทศไทยกลายเป็นตัวอย่างการบริหารที่ดีในเรื่องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ เหมือนที่ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทั่วโลกยอมรับในเรื่องการจัดการสาธารณสุข

ที่สำคัญประเทศไทยมีคนเก่งมากมาย มีคนที่พร้อมใจที่จะจับมือกันช่วยเหลือประเทศชาติเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น โดยนายกฯ ยังได้เน้นการทำงานเชิงรุก จะมีการกำหนดนโยบายเร่งด่วนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม หยุดคุยเรื่องไม่สร้างสรรค์ เพื่อก้าวไปสู่ภารกิจ ‘รวมไทย สร้างชาติ’ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทุกคน

นั่นคือเป้าหมายที่นายกฯ บิ๊กตู่ ต้องการ และต้องไปให้ถึง!

แต่ในท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ได้ทำลายความสามารถในการหาเลี้ยงปากท้อง ผู้คนลำบากแสนเข็ญ ธุรกิจต่างๆ ถูกทำลาย คนตกงานมากขึ้น บัณฑิตที่จบการศึกษาไม่มีงานทำ และเกิดปัญหาสังคมตามมา

แม้ว่ารัฐบาลจะให้เงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายละ 5 พันเป็นเวลา 3 เดือน และยังมีเงินที่ช่วยกลุ่มเกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ตามมาอีกจำนวนมาก และยังได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ตามมาอีกมากมาย


สำหรับโครงการต่างๆ ที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กำลังดำเนินการทั้งในเรื่องการสร้างคนและการสร้างงาน เป็นสิ่งที่บิ๊กตู่ ต้องการให้รีบดำเนินการทั้งการใช้งบปกติและงบโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งปัจจุบันเข้าสู่เฟส 2 ของการจ้างงานได้อีก 3 หมื่นกว่าคน และในเฟสแรกประมาณ 1 หมื่นคน

ในการทำโครงการต่างๆ นั้น กระทรวง อว.ได้ใช้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 70 แห่งเป็นผู้จ้างงาน ซึ่งทุกโครงการจะมุ่งในการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน ทั้งในเรื่องเกษตร ท่องเที่ยว ที่จะเกิดการสร้างรายได้ในอนาคต

แต่ที่น่าจับตาคือ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เป็นโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ตำบลทั่วประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชนหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าในการดำเนินการเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งจะมีการจ้างงานบัณฑิตที่ยังไม่มีงานทำเป็นเวลา 1 ปี คาดว่าจะมีการจ้างงานประมาณ 2 แสนคนในอัตราเงินเดือนปกติที่จ้างประชาชนตามเฟส 1 และคาดว่าจะมีการจ้างนักศึกษาที่กำลังเรียนแต่ต้องการมีรายได้อีกประมาณ 1 แสนคน ซึ่งจะได้เดือนละ 5 พันบาท เพื่อให้มีงานทำซึ่งจะเป็นเครดิตกับนักศึกษากลุ่มนี้ด้วย

“โครงการนี้จะมีการจ้างงานถึง 3 แสนคน แต่จะมีประมาณ 40,000-50,000 คน จะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลครั้งใหญ่ ซึ่งบิ๊กตู่ ต้องการให้ทำ Big Data เพื่อเก็บข้อมูลทุกเรื่องของชุมชน”




ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.บอกว่า ข้อมูลใน Big Data จะเป็น ฐานข้อมูล มูลขนาดใหญ่ในระดับตำบล ชุมชน จะครอบคลุมทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การสาธารณสุขของชุมชน และอาจมีการนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้ามาใส่ จะทำให้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาความยากจน ทั้งรายครัวเรือนถึงรายบุคคลได้ด้วย

“Big Data นี้จะทำให้เรารู้ว่าบางคนไม่ได้ยากจน แต่เป็นเพราะพ่อแม่ป่วยติดเตียง จึงทำให้ไปทำงานไม่ได้ เราจะเก็บข้อมูลเชิงลึก ทำให้รัฐบาลรู้ถึงความยากจน เช่นเพราะเขาไม่มีการศึกษา รัฐก็จะช่วยในเรื่องของ upskill-reskill หรือรู้ว่าพื้นที่นั่นมีข้อจำกัดด้านการเกษตร การท่องเที่ยว แหล่งน้ำมีหรือไม่ พื้นที่มีมลพิษอย่างไร ขยะชุมชนเป็นอย่างไร ข้อมูลเชิงลึกจึงมีความสำคัญมากที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก Local Economy

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลก็มีข้อมูล TPMAP หรือ Thai People Map and Analytics Platform ซึ่งเป็นระบบ Big Data ของภาครัฐที่สามารถระบุได้ว่าคนจนนั้นยู่ที่ไหน มีปัญหาในมิติอะไรบ้าง เช่น การศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ การเข้าถึงบริการรัฐ การเงิน ซึ่งข้อมูลนี้จะทำให้รัฐบาลออกนโยบายได้ตรงจุด

TPMAP เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเนคเทค สวทช. สังกัดกระทรวง อว.และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ (สศช.)

พร้อมกันนั้น ก็มีข้อมูล Agri-Map เป็นระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารโดยบูรณาการข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรจากทุกหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการการเกษตรไทย

“เมื่อเราเก็บข้อมูลทุกเรื่องของชุมชน และเรายังมี TPMAP และมี Agri-Map ก็จะมีการต่อยอดเป็น Community Map ซึ่งข้อมูลที่มีทั้งหมดก็จะเป็น Big Data ขนาดใหญ่”

โดยบัณฑิตที่เหลืออีกประมาณ 150,000 คน ก็จะลงพื้นที่ไปพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ เช่น ไปทำในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำชุมชน เรื่อง Smart Farmer ในชุมชน การจัดการขยะชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ หรือ Creative Economy ในชุมชน สร้าง Story Travelling แหล่งท่องเที่ยวชุมชนไว้รองรับเพราะเป็นหัวใจในการสร้างรายได้เข้าประเทศ

“การทำ Big Data ครั้งนี้เราใช้กำลังของนักศึกษา บัณฑิตเพิ่งจบและบัณฑิตว่างงาน โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดูแล ทำให้เกิดขึ้นได้ และตั้งเป้าพัฒนาเป็น App หรือ Mobile Application เมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ ก็สามารถ Update บน App ได้เลย ซึ่ง App จะเป็นช่องทางการสื่อสารการกระจายข่าวระหว่างประชาชนและรัฐบาลได้อย่างดี ซึ่งประชาชนจะได้รับข้อมูลจริงและตรงที่สุด และ App อาจจะออกแบบให้ประชาชนกรอกข้อมูลได้ด้วย”


นอกจากนี้ โครงการที่บิ๊กตู่ ต้องการให้ทำคือการพลิกฟื้นพื้นที่อีสานที่มักจะประสบปัญหาเรื่องน้ำในการทำการเกษตร จึงทำให้ประชาชนต้องประสบปัญหาความยากจน และถ้าแก้ปัญหาน้ำได้ การเพาะปลูกทำการเกษตรก็จะทำได้ เชื่อว่าคุณภาพชีวิตคนอีสานจะดีขึ้นได้เช่นกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.บอกว่า นายกฯต้องการให้อีสานกลับมาเขียวอีกครั้งจะได้ช่วยเหลือประชาชนได้ โดยกระทรวง อว.ได้ร่วมมือกับกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งมี พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร และ พล.ท.ธวัชชัย ชวนสมบูรณ์ รอง ผอ.ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. สังกัดกระทรวง อว.จัดทำแผนงานสร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชน แก้ปัญหาจัดการทรัพยากรท้องถิ่น โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำด้วยการใช้แนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่เคยประสบความสำเร็จใน 60 ชุมชน ขยายผลไปสู่ 1,659 หมู่บ้าน เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริงและเห็นเป็นรูปธรรม โดยใช้ ‘ชุมชน’ และ “พื้นที่” เป็นศูนย์กลาง

“จะเป็นแหล่งน้ำชุมชน ตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ชุมชนก็ต้องช่วยกันดู ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร ให้น้ำมีในหน้าแล้ง หรือช่วงน้ำท่วมก็สามารถผันน้ำออกหรือไปจัดเก็บไว้ตรงไหนได้ดีที่สุด”

อีกทั้งกระทรวง อว.ยังมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภิสารสนเทศ (สทอภ.) เป็นพลังขับเคลื่อนโดยจะมีการจ้างงานในภารกิจโครงการคืนผืนป่าให้ประชาชน ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงานจะปฏิบัติงานในการสำรวจพื้นที่ การจัดทำเขตหมู่บ้าน การจัดทำแผนจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ การสำรวจข้อมูลรายแปลง เป็นต้น ซึ่งจะครอบคลุมการทำงานในพื้นที่ 2,324,037 ไร่ ใน 16 จังหวัด

  ห้วยหลวงโมเดล แม่แบบในการตรึงน้ำไว้ในประเทศ เพื่อสร้างแผ่นดินอีสานกลายเป็นอีสานเขียวได้บริบูรณ์ยิ่งกว่ายุคสมัยใด และเป็นการบูรณาการน้ำอย่างเป็นเอกภาพและเป็นระบบ เห็นรูปธรรม
อย่างไรก็ดี มีมุมมองด้านการเมืองจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า การจัดทำ Big Data และโครงการทำให้อีสานเขียว ซึ่งเป็นความร่วมมือของกองทัพและพลังของมหาวิทยาลัยในกำกับของ อว.ที่กำลังดำเนินการอยู่นั่นถือเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่สำคัญ ประชาชนจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อเราจ้างบัณฑิตให้มีงานทำ และนำความรู้ไปช่วยชาวบ้าน เดินหน้าไปสู่การจัดการบริหารน้ำ การทำการเกษตรก็จะรู้ว่า ตรงไหนควรปลูกพืชอะไร

“เป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง บัณฑิตและนักศึกษาฝึกงานก็จะเข้าไปพัฒนางานต่อเนื่องในพื้นที่ในปีต่อๆ ไป เพียงแค่ระยะเวลา 5 ปี หรือระยะยาวถึง 10 ปี บัณฑิตรุ่นต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ อยู่พัฒนาในพื้นที่ของตัวเอง ที่จะมีทั้งการท่องเที่ยว การเกษตร ธุรกิจ sme อีกหลายธุรกิจที่จะเติบโตตามมาจากโครงการที่รัฐบาลใส่เข้าไป”

ดังนั้น พื้นที่อีสานก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้ตามเป้าหมายที่ ‘บิ๊กตู่’ วางไว้แน่นอน!

“หากมองในเชิงการเมือง คะแนนบิ๊กตู่ซึ่งได้รับการยอมรับอยู่แล้วก็จะพุ่งขึ้น ส่งผลดีต่อพรรคพลังประชารัฐโดยตรง”


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ระบุว่า การที่รัฐบาลบิ๊กตู่ จัดทำโครงการจ้างงาน และมีการใช้งบเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อมาทำโครงการจ้างงาน ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท จะเป็นการกระจายรายได้แบบทั่วถึงและมีพลัง ซึ่งยังมีโครงการที่จะจ้างงานอีกมากในพื้นที่อื่นในทุกๆ ภาค ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยในพื้นที่ก็จะมีการเสนอโครงการเข้ามา

“เรื่องน้ำเป็นแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพอยู่แล้ว จึงได้มีการหารือและร่วมมือกัน แต่โจทย์น้ำต้องนำร่องในภาคอีสานก่อน แต่การจะทำทั่วประเทศเป็นเรื่องใหญ่และยากพอสมควร ถ้าเราทำอีสานให้พลิกฟื้นหรือเขียวขึ้นมาได้จะทำให้คนมีกำลังใจ”

จากนี้ไปต้องจับตาดูว่าโครงการต่างๆ ที่กระทรวง อว.ดำเนินการอยู่นั้นจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงใด และจะสามารถผลักดันนโยบายของ ‘บิ๊กตู่’ ในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่!?



กำลังโหลดความคิดเห็น