พิษโควิด-19 ทำคนรายได้หด ธุรกิจนอกระบบสบช่อง ชวนลงทุนเกลื่อนโซเชียลฯ ทั้งกาสิโน-หวยใต้ดิน-แชร์ออนไลน์ หนักที่สุดคือออมเงินระยะสั้นไม่เกิน 10 วัน ผลตอบแทนสูง ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบเตือนเสี่ยงสูงหากเจ้ามือหมุนเงินไม่ทัน ขณะที่กระทรวงการคลังออกพันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” เยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระ-เกษตรกร ให้ดอกเบี้ยดี 2.4-3% อาจหมดก่อนในรอบผู้สูงอายุ
การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่กระจายไปทั่วโลก คร่าชีวิตผู้คนไปราว 3 แสนคน แม้หลายประเทศจะควบคุมสถานการณ์ได้ดี จนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในวงจำกัด และเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดความเครียดของประชาชนที่ต้องกักตัวเองอยู่แต่ในบ้านมาเป็นเวลานาน แต่ผลที่ตามมาจากการผ่อนคลายมาตรการย่อมมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาเป็นระลอกที่ 2
เกือบทุกประเทศใช้มาตรการในการป้องกันที่คล้ายกันเกือบทั้งหมด คือ แยกการพบปะของผู้คน ปิดสถานที่หรือสถานบริการต่างๆ จนทำให้แรงงานเหล่านั้นต้องขาดรายได้ รวมถึงคำแนะนำให้ประชาชนอยู่ในบ้านหรือทำงานที่บ้าน ส่งผลให้ร้านค้าหรือกิจการอื่นๆ ขาดรายได้ไปไม่น้อย
ในประเทศไทยรัฐบาลออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน แจกเงินเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนสำหรับแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในภาคประกันสังคม และช่วยเหลือภาคเกษตรกรด้วยเงื่อนไขเดียวกัน อาจมีเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ตกหล่นอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนทั้งประเทศ
พันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน”
การอัดฉีดเงินจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ขาดรายได้จากสถานการณ์นี้ ทำให้รัฐบาลต้องออกพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยใช้ช่องทางต่างๆ ในการระดมเงิน หนึ่งในนั้นคือการออกพันธบัตรรัฐบาล 50,000 ล้านบาท
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบและแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินรวมไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้นจะมีการกู้เงินจากธนาคารต่างๆ โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินรวม 1.2 แสนล้านบาท รวมการออกพันธบัตรรอบนี้อีก 5 หมื่นล้านบาท จะทำให้กระทรวงการคลังมีเงินรวม 1.7 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายเงินเยียวยาให้แก่กลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระและกลุ่มเกษตรกร โดยหลังจากนี้กระทรวงการคลังจะกู้เงินตามความจำเป็นในการใช้เงิน
การออกพันธบัตรออมทรัพย์ในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายของรัฐบาลซึ่งจะสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยของประชาชนรายย่อย และเป็นการเยียวยาให้กลุ่มประชาชนที่เสียภาษีให้แก่รัฐบาลให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจ
ดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.4% และ 3%
พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ของกระทรวงการคลังในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 2 รุ่นคือ รุ่น 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เฉลี่ยที่ 2.4% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน 14 พฤษภาคม 2568 และรุ่น 10 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เฉลี่ยที่ 3% ต่อปี ครบกำหนดไถ่ถอน 14 พฤษภาคม 2573 จ่ายดอกเบี้ยทุกวันที่ 14 พฤษภาคมและ 14 พฤศจิกายนของทุกปี โดยเริ่มจ่ายดอกเบี้ยงวดแรก 14 พฤศจิกายน 2563
เริ่มจำหน่าย 14-20 พฤษภาคม สำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขึ้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท (แต่ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการเข้าซื้อ) รอบ 2 ระหว่าง 21-27 พฤษภาคม สำหรับประชาชนทั่วไป (รวม 60 ปีขึ้นไปด้วย) จำหน่ายต่อจากวงเงินที่เหลือ ขั้นต่ำ 1 พันบาท สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท และรอบ 3 ระหว่าง 28 พฤษภาคม-10 มิถุนายน สำหรับประชาชนทั่วไปและผู้มีสิทธิซื้อ แต่รอบนี้ไม่จำกัดวงเงินในการซื้อ
จำหน่ายผ่าน BOND DIRECT Application ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ (เครื่อง ATM) ระบบอินเทอร์เน็ต Mobile Application และเคาน์เตอร์ทุกสาขาของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น.ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 จนถึงเวลา 15.00 น.ของวันที่ 10 มิถุนายน 2563
อาจเต็มในรอบผู้สูงอายุ
พันธบัตรรุ่นนี้ถือว่าให้อัตราดอกเบี้ยดีกว่าพันธบัตรรุ่นก่อนหน้านี้ อย่างอายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 1.7% และ 7 ปี ดอกเบี้ย 1.95% หรืออีกรุ่น 5 ปี ดอกเบี้ย 2% พันธบัตรรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” รุ่น 5 ปีดอกเบี้ยเป็นแบบขั้นบันได เมื่อเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 2.4% หักภาษี 15% จะเหลือผลตอบแทนสุทธิ 2.04% รุ่น 10 ปี ผลตอบแทนสุทธิอยู่ที่ 2.55%
นับว่าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในเวลานี้ ผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคารไม่มีออกมา เพราะแต่ละธนาคารต่างต้องเร่งประคองลูกหนี้เดิมที่ประสบปัญหาด้านรายได้จากสถานการณ์ COVID-19 ส่วนสถานการณ์หุ้นกู้ในเวลานี้คงต้องลุ้นกันว่าจะมีผู้ออกหุ้นกู้รายใดมีปัญหาหรือไม่
พันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” จึงเป็นตัวเลือกที่ดีและให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ แต่ปัญหาคือวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทนั้นจะเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่ แม้ครั้งนี้มีการกำหนดเพดานซื้อสูงสุดไว้ที่ไม่เกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่จำกัดจำนวนครั้งในการเข้าซื้อ เฉพาะช่วง 2 วันในรอบผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทางธนาคารกรุงไทยจำหน่ายไปแล้วกว่า 8 พันล้านบาท ดังนั้น โอกาสที่จะจำหน่ายหมดลงก่อนถึงรอบที่ 2 จึงมีความเป็นไปได้มาก
ชวนเล่นพนัน-หวยใต้ดิน
ท่ามกลางผลกระทบของ COVID-19 ทำให้หลายคนประสบปัญหาเรื่องรายได้จากการทำงาน ขณะนี้กลับพบข้อความเชิญชวนให้ร่วมลงทุนในรูปแบบต่างๆ เป็นจำนวนมากบนหน้าเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเพจหรือเฟซบุ๊กของบุคคลที่จ่ายเงินให้เฟซบุ๊กโปรโมตเพื่อหาลูกค้าใหม่ โดยบางเพจเพิ่งเปิดเฟซบุ๊กแล้วโฆษณาทันที
ช่วงนี้เฟซบุ๊กใหม่ชักชวนลงทุน เล่นกาสิโน เล่นหวยใต้ดิน บานเป็นดอกเห็ด และเมื่อใครเข้าไปดูครั้งหนึ่งและระบบของเฟซบุ๊กก็จะจดจำ หลังจากนั้นเพจในลักษณะนี้ก็จะปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ในการเข้าเฟซบุ๊กครั้งต่อๆ ไป โดยมีรูปแบบดังนี้
ชักชวนเล่นพนันออนไลน์ แม้รูปแบบนี้จะมีมานานแล้ว แต่ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 คนจำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหาเรื่องรายได้อาจต้องการเสี่ยงดวงมากขึ้น เพื่อหวังได้เงินมาแก้ปัญหาค่าครองชีพ จึงทำการโปรโมตเพื่อให้คนทั่วไปได้เห็น และเป็นการเพิ่มลูกค้าให้แก่โต๊ะพนันได้อีกทางหนึ่ง
อีกกลุ่มหนึ่งเป็นการชักชวนเล่นหวยใต้ดิน โดยแจ้งเงินรางวัลสูงมาล่อใจ มีทั้งหวยออมสิน หวยลาว หวยเวียดนาม กลุ่มนี้ก็มีมาก่อนเกิดสถานการณ์ COVID เช่นกัน และคนไทยจำนวนไม่น้อยก็เล่นผ่านเจ้ามือเหล่านี้อยู่
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้เลื่อนการออกสลากมาตั้งแต่งวด 1 เมษายน และกำหนดจะออกอีกครั้งในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ จึงทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งช่องว่างที่ทำให้คนที่ชอบเสี่ยงโชคหันไปเล่นหวยประเภทนี้ อย่างหวยออมสิน คือ การยึดเอาผลของการออกรางวัลสลากออมสินมาเป็นเกณฑ์ในการจ่ายรางวัลตามที่ตกลงกัน คนทั่วไปก็เล่นกันมานานแล้ว
ช่วง 2-3 ปีมานี้ หวยลาว และหวยเวียดนาม (ฮานอย) ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะเล่นได้บ่อยครั้งกว่าหวยไทยที่อิงกับกองสลาก หวยเวียดนามออกทุกวัน แถมเจ้ามือจ่ายผลตอบแทนให้สูงกว่าหวยใต้ดินของไทยเสียอีก
“แชร์ออนไลน์” เกลื่อน
กลุ่มที่พบมากในเวลานี้ คือ แชร์ออนไลน์ และการลงทุนระยะสั้นไม่เกิน 10 วัน การเล่นแชร์นั้นเปิดกันเยอะเนื่องจากถูกต้องตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ 2534 แต่ต้องไม่เกินเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการชักชวนเล่นกันทางออนไลน์นั้นมีมาตรา 9 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในการเล่นแชร์
การเล่นบนออนไลน์นั้น อาจมีความเสี่ยงที่ผู้เล่นไม่รู้จักประวัติของคนเล่นรายอื่นหรือเท้าแชร์ ที่อาจหอบเงินหนีไปได้ถ้ามีเจตนาไม่สุจริตหรืออาจถูกลูกแชร์รายอื่นเบี้ยวแล้วรับผิดชอบไม่ไหว หลายรายก็เปิดมาเป็นปี มีข้อกำหนดต่างๆ ของแต่ละวง ผู้ที่ต้องการลงทุนก็ต้องพิจารณาให้ดี
ออมเงินสั้น-ดอกสูง
อีกประเภทหนึ่งคือ การชวนให้ร่วมลงทุนระยะสั้นไม่เกิน 10 วัน โดยผู้ชักชวนมักซื้อโฆษณาจากทางเฟซบุ๊ก เพื่อให้ทุกคนได้เห็นตัวเลขผลตอบแทนที่เสนอมา มีกลุ่มลงทุนตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปจนถึงหลักแสนบาท เช่น ลง 100 บาท 3 วัน รับเงินคืน 110 บาท หรือ 100,000 บาท 6 วัน รับเงินคืน 135,000 บาท
อย่างลงทุน 1 แสนบาท แค่ 6 วันได้เงินคืน 135,000 บาท เท่ากับได้ดอกเบี้ย 35,000 บาท หรือได้ผลตอบแทน 5.89% ต่อวัน เดือนละ 175% ปีละ 2,100% นับเป็นผลตอบแทนที่สูงมาก ซึ่งการลงทุนตามปกติไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้เท่านี้
แหล่งข่าวจากศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ระบาดหนักที่สุดในตอนนี้คือแชร์ออนไลน์ เพราะทำได้ง่ายไม่ต้องมีระบบหรือใช้คนมากเหมือนกับแชร์ลูกโซ่ อีกทั้งหากเกิดปัญหาฟ้องร้องกันโทษของแชร์ออนไลน์จะไปเข้าข่ายข้อหาฉ้อโกง โทษเบากว่าแชร์ลูกโซ่มาก
ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือเพจที่เชิญชวนให้ออมเงินระยะสั้นมีตั้งแต่ 1 วันและไม่เกิน 10 วัน พวกเขาหาลูกค้าด้วยการซื้อโฆษณาบนเฟซบุ๊ก โชว์ตัวเลขผลตอบแทนสูง โชว์หลักฐานการโอนเงินคืนให้แก่ลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยืนยันว่าผู้ที่เข้ามาร่วมลงทุนได้รับเงินคืนตามสัญญาจริง
ในทางปฏิบัติแล้ว ผลตอบแทนสูงขนาดนี้นักบริหารเงินเก่งๆ ยังไม่สามารถทำได้เลย หากเป็นการลงทุนตามระบบปกติ เพราะผลตอบแทนในตลาดของเงินฝากอยู่ที่ 1% บวกลบเท่านั้น
เว้นแต่เป็นการดึงเอาเงินก้อนใหม่เข้าไปจ่ายเงินก้อนเก่า และต้องออกอัตราผลตอบแทนในลักษณะนี้ทุกวัน เพื่อเลี้ยงให้การหมุนเงินเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากวันใดที่ไม่มีเงินก้อนใหม่เข้ามาสักระยะหนึ่ง ก็จะเกิดปัญหาในการจ่ายเงินคืนลูกค้ารายเดิม เมื่อนั้นเจ้ามือหรือคนก่อตั้งอาจหลบหนีไป
จากการสังเกตพบว่าเจ้ามือจะโพสต์เงินลงทุน จำนวนวันและจำนวนเงินที่รับคืนทุกวัน แม้ยอดเงินลงทุนจะเท่ากัน แต่ผลตอบแทนในแต่ละวันจะไม่เท่ากัน รวมถึงระยะเวลาในการลงเงิน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับเจ้ามือจะเป็นผู้กำหนด
เมื่อลงเงินไม่กี่วันได้ผลตอบแทนคุ้มค่า แม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูง แต่ก็สามารถดึงคนเข้าไปร่วมลงทุนได้มาก ตอนนี้เปิดกันหลายรายใช้ชื่อคล้ายๆ กัน เช่น ออมเงิน บางรายเปิดหลายๆ เพจพร้อมกัน มีการทำตลาดเพื่อชิงลูกค้า บางเจ้ามีโปรโมชันแถมทองคำให้แก่ลูกค้าที่ลงทุนตามยอดที่กำหนด หรืออาจปรับเปลี่ยนสินค้าในการออมเป็นทองคำแทน ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละรายที่จะสร้างแรงจูงใจให้แก่ลูกค้า
ทำได้แค่เตือน
ในทางปฏิบัติแล้วไม่อาจไปกล่าวหาธุรกิจประเภทนี้ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายของไทยต้องรอให้เกิดความเสียหายขึ้นมาก่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจะเข้าไปดำเนินการได้ หากยังไม่เกิดความเสียหายเจ้าของธุรกิจนี้อาจฟ้องกลับหน่วยงานรัฐได้
“เรามีหน้าที่แค่เตือนให้คนทั่วไประมัดระวังรูปแบบการลงทุนลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเรียกว่าการออมหรืออะไรก็ตาม เพราะหากเจ้ามือไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน เงินของท่านที่ลงทุนไปอาจไม่ได้คืนกลับมาเลย ซึ่งจะทำให้ความหวังที่จะหาเงินเพิ่มในวิกฤต COVID-19 อาจกลายเป็นทุกข์ที่ซ้ำเติมท่านมากกว่าเดิม” ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบกล่าว