xs
xsm
sm
md
lg

หลังวิกฤตโควิด-19 หลายธุรกิจจะเปลี่ยนไป!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.สมชาย” ฟันธง ไอทีและจัดส่งสินค้าแนวโน้มเติบโตสูง คอร์สเรียนออนไลน์ธุรกิจใหม่หลังโควิด-19 ขณะที่อีก 4 ธุรกิจต้องปรับตัว และธุรกิจบางส่วนจะหายไป ด้าน “ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ” ระบุ อาชีพยูทูบเบอร์ นักออกแบบเว็บไซต์ สินค้าสุขภาพมาแรง ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยยอดขายถดถอย “อู่ Spin9” ชี้ พนักงานสายการบินทั่วโลกจะตกงานกว่า 2 แสนคน โลว์คอสต์แอร์ไลน์จำนวนไม่น้อยต้องปิดตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป และไม่เพียงเท่านั้น บรรดานักการตลาด นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจต่างก็คาดการณ์ว่า หลังวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลงธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือต่่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น


รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ประเมินสถานการณ์ว่า ผลกระทบ
จากวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลต่อธุรกิจของไทยไม่น้อย โดยมีทั้งธุรกิจที่ต้องปรับตัว ธุรกิจที่เติบโตขึ้น ธุรกิจที่เกิดใหม่ และธุรกิจบางส่วนที่หายไป

สำหรับธุรกิจที่ต้องปรับตัว ได้แก่

1) การขายสินค้าต่างๆ และธุรกิจค้าปลีก ต้องเพิ่มบริการขายผ่านระบบออนไลน์ ต้องนำระบบไอทีเข้ามาใช้ เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น

2) ซัปพลายเชน หรือกระบวนการตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต จนถึงการขายสินค้าถึงมือผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไป โดยประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะหันมาให้ความสำคัญต่อการผลิตและสั่งซื้อวัตถุดิบและสินค้าภายในประเทศ หรือสั่งซื้อสินค้าจากประเทศใกล้เคียง เพื่อป้องกันปัญหาการขนส่งอันเนื่องมาจากผลกระทบของวิกฤตการณ์ต่างๆ ดังที่เกิดในช่วงวิกฤตโควิด-19 นอกจากนั้น อุตสาหกรรมบางอย่างจะมีการย้ายฐานการผลิตกลับมาประเทศไทยด้วย

3) การลงทุนในธุรกิจการเงินจะกระจายไปในกลุ่มธุรกิจต่างๆ มากขึ้น โดยนักลงทุนจะกระจายความเสี่ยง เลือกลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย มากกว่าจะลงทุนในกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพียงอย่างเดียว เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้นักลงทุนตระหนักว่าธุรกิจบางอย่างที่ดูมีความมั่นคงและทำกำไรดี หากเจอภาวะวิกฤตก็อาจจะพังครืนลงมาชั่วข้ามคืน

4) ธนาคารและสถาบันการเงินจะลดจำนวนสาขาและปรับลดพนักงานเร็วกว่าแผนที่วางไว้ เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการ E-Banking กันอย่างถล่มทลาย


ธุรกิจที่เติบโตขึ้น ได้แก่

1) ธุรกิจไอทีต่างๆ เช่น การทำเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน บล็อกเชน (เครือข่ายการเก็บข้อมูล) เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่างๆ หันมาใช้บริการไอทีเหล่านี้มากขึ้นและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ

2) ธุรกิจจัดส่งสินค้าและอาหาร เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้คนต้องอยู่กับบ้านทำให้มีการสั่งอาหารและสินค้าออนไลน์มากขึ้นและกลายเป็นวิถีชีวิตที่ผู้คนคุ้นชิน ส่งผลให้ธุรกิจจัดส่งสินค้าและอาหารมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว

ธุรกิจที่เกิดใหม่ ได้แก่ คอร์สออนไลน์ต่างๆ เนื่องจากช่วงวิกฤตโควิด-19 คนหันมาสนใจศึกษาสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร งานศิลปะ การร้องเพลง การออกกำลังกาย หรือการเรียนออนไลน์เพื่อประกอบอาชีพต่างๆ ทำให้มีธุรกิจคอร์สสอนออนไลน์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย

ธุรกิจที่หายไป ได้แก่ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้บางรายที่เงินทุนหรือสายป่านไม่ยาวพอต้องปิดกิจการลง เช่่น ร้านอาหาร โรงแรม สปา โรงงานอุตสาหกรรม

“จากข้อมูลพบว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5-8% ส่วนปีหน้าน่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น และคงจะเริ่มกลับมาเป็นปกติในปี 2565-2566 ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวคงจะซึมยาวถึงปีหน้าเพราะเศรษฐกิจไม่ดี คนตกงานเยอะ ทำให้กำลังซื้อมีน้อย บริษัทต่างๆ หันมาประหยัดค่าใช้จ่ายกันมากขึ้น เช่น เปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน ประชุมผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากพบว่าการทำงานในลักษณะดังกล่าวในช่วงโควิด-19 ก็สามารถทำให้งานขับเคลื่อนไปได้แต่มีค่าใช้จ่ายน้อยลง” รศ.ดร.สมชาย ระบุ


ขณะที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า หลังจากวิกฤตโควิด-19 สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปแน่ๆ คือ

1.รูปแบบการขายสินค้า ซึ่งผู้ค้าจะหันมาขายสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์กันมากขึ้น ควบคู่ไปกับการขายหน้าร้าน เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้คนหันมาซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และจ่ายเงินผ่าน E-Banking ธุรกิจต่างๆ จึงเริ่มทำการตลาดออนไลน์กันมากขึ้น เมื่อคนเชื่อมั่นในการซื้อขายแบบออนไลน์ หลังจากวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลงผู้คนก็ยังคงไลฟ์สไตล์แบบนี้อยู่

2.ธุรกิจขนส่งสินค้า เช่น บริษัทรับขนส่งสินค้ารูปแบบเดียวกับเคอรี่ บริการขนส่งสินค้าและอาหารแบบเดียวกับแกร็บ จะเติบโตอย่างรวดเร็ว

3.ธุรกิจตัวกลางขายสินค้าจะเริ่มหายไป

4. อาชีพยูทูบเบอร์ นักรีวิวสินค้า นักออกแบบเว็บไซต์ แอดมินหรือผู้ดูแลเว็บไซต์และตอบคำถามลูกค้าจะเป็นอาชีพที่มาแรง

5.สินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารคลีน สมุนไพร วิตามินต่างๆ จะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ขณะที่สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ร้านอาหารที่ไม่สะอาดจะเริ่มหายไป

6.สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น จิวเวลรี เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีราคาแพง รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ จะได้รับความนิยมลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำจากผลกระทบของโควิด-19 แต่จะเริ่มขายดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

7.ธนาคารและสถาบันการเงิน จะลดสาขาและจำนวนพนักงานลง เพราะลูกค้าหันมาใช้แอปพลิเคชันและบริการเงินแบบออนไลน์กันมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประกันภัยรูปแบบต่างๆ จะได้รับความสนใจมากขึ้น

“หลายอย่างอาจจะไม่ถึงกับเป็น New Normal แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่วิกฤตโควิด-19 มาเป็นตัวกระตุ้นให้สิ่งเหล่านี้เกิดเร็วขึ้น เช่น การลดสาขาและจำนวนพนักงานของธนาคารต่างๆ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เมื่อวิถีนั้นๆ สอดคล้องต่อการดำเนินชีวิตก็จะได้รับความนิยมและดำรงอยู่ต่อไป” ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว


อีกธุรกิจหนึ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็คือธุรกิจสายการบิน โดย นายอติชาญ เชิงชวโน หรือ “อู๋ Spin9” คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และยูทูบเบอร์ชื่อดังที่เดินทางมาแล้วเกือบทั่วโลก รีวิวการบริการชั้นเฟิร์สคลาสของสายการบินต่างๆ มาแล้วเกือบทุกสาย ได้วิเคราะห์ทิศทางของธุรกิจการบินหลังวิกฤตโควิด-19 ว่า ในช่วง 2-3 ปีนี้ธุรกิจการบินจะต้องเผชิญต่อความยากลำบาก และจะมีพนักงานของสายการบินทั่วโลกต้องตกงานรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน

เนื่องจากผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง ทั้งจากกลุ่มผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวซึ่งลดน้อยลงเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำ และกลุ่มผู้โดยสารที่เดินทางเพื่อธุรกิจ เช่น ไปทำงาน ไปประชุม หรือเจรจาธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 บริษัทต่างๆ ได้เรียนรู้ว่าสามารถเจรจาธุรกิจ จัดประชุม หรือทำงานบางอย่างผ่านระบบออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นต้องให้พนักงานเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้น หลังวิกฤตโควิด-19 บริษัทเหล่านี้ก็จะปรับวิธีการทำงานหรือเจรจาธุรกิจผ่านระบบออนไลน์เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้โดยสารกลุ่มนี้หายไปจำนวนมาก


นอกจากนั้น ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ยังส่งผลให้สายการบินต่างๆ โดยเฉพาะสายการบินขนาดเล็ก และโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ต้องปรับลดขนาดธุรกิจ ลดเส้นทางการบิน และโลว์คอสต์แอร์ไลน์จำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวจะทำให้ผู้โดยสารมีตัวเลือกน้อยลง ทำให้สายการบินต่างๆ ไม่จำเป็นต้องแข่งขันด้านราคา ดังนั้น ราคาตั๋วเครื่องบินโดยเฉลี่ยจะแพงขึ้น

“ในช่วง 3-4 ปีนี้ การเดินทางด้วยเครื่องบินจะเป็นของฟุ่มเฟือย คนที่มีฐานะดีจึงจะมีโอกาสนั่ง เราจะไม่ได้เจอตั๋วเดินทางไปญี่ปุ่นราคา 8-9 พันบาทอีกต่อไป และเนื่องจากก่อนหน้านี้ โลว์คอสต์แอร์ไลน์มีการแข่งขันสูง กำไรน้อยมาก อย่างโลว์คอสแอร์ไลน์ในสหรัฐอเมริกาได้กำไรต่อหัวแค่ 3 เหรียญ หรือไม่ถึง 100 บาท จึงเป็นธุรกิจที่อยู่ยากอยู่แล้ว เมื่อเจอกับวิกฤตโควิด-19 สายการบินโลว์คอสต์จำนวนมากจึงต้องปิดตัวลง ยกเว้นโลว์คอสต์ซึ่งบริษัทแม่เป็นสายการบินแห่งชาติซึ่งรัฐบาลจะยื่นมือเข้าไปช่วย เช่น สิงคโปร์แอร์ไลน์ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์อุดหนุนงบเพื่อใช้ในการเพิ่มทุนหลังวิกฤตโควิด-19 กว่า 3 แสนล้านบาท” อู๋ Spin9 ระบุ


กำลังโหลดความคิดเห็น