xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมกายไม่หวั่นเดินหน้า “ทอดผ้าป่าออนไลน์เฟส 2”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไร้การท้วงติงทั้งจากฝ่ายรัฐและคณะสงฆ์ปกครอง ธรรมกายจัดงานทอดผ้าป่าออนไลน์ ครั้งที่ 2 ทันที กำหนดงานในวันวิสาขบูชา 6 พฤษภาคมนี้ ได้ทั้งเงินบริจาคที่ทางวัดประสบปัญหา แถมได้ทดสอบท่าทีของมหาเถรสมาคมไปในตัว นักวิชาการพุทธศาสนาชี้ขั้วอำนาจเดิมยังทรงอิทธิพล แถมได้เจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ หนุน-สัมพันธ์แน่น

หลังจากวัดพระธรรมกายฝ่าสถานการณ์ COVID-19 สามารถจัดงานทอดผ้าป่าบำรุงวัด Online ครั้งที่ 1 เนื่องในวันคุ้มครองโลกและเป็นวันครบรอบวันเกิด 76 ปี ของพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาส มาได้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ทั้งที่รัฐบาลบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ที่มีการทำกิจกรรมอันเป็นการรวมของคนจำนวนมาก เป้าหมายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสที่ระบาดไปทั่วโลกในเวลานี้

แม้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แจ้งมติมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่พิเศษ 2/2563 เรื่อง ให้วัดทุกวัดงดจัดกิจกรรมทุกประเภท ไปยังเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัดเมื่อ 10 เมษายน 2563 แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการจัดงานดังกล่าวของวัดพระธรรมกายได้ ด้วยเหตุผลที่อ้างว่าได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี

รอบแรกฉลุย-จัดต่อครั้งที่ 2

เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมติมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสงฆ์สูงสุด ไม่มีผลใดๆ ต่อการจัดงานเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา และหลังเสร็จงานก็ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากทั้งภาครัฐและฝ่ายปกครองสงฆ์ ทางวัดพระธรรมกายจึงได้เดินหน้าจัดงานครั้งต่อไปทันที

“ขอเชิญผู้มีบุญทุกท่าน ร่วมทอดผ้าป่าบำรุงวัด Online ครั้งที่ 2 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันพุธที่ 6 พฤษภาคม 2563”


นับเป็นความต่อเนื่องของการจัดงานเพื่อนำรายได้เข้าวัดพระธรรมกาย หลังจากที่เคยออกมาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญ “กองบุญบำรุงวัด” ด้วยข้อความ “ห่วงใยวัดให้ร่วมบุญ” ในสถานการณ์พิเศษ (COVID-19) เพื่อใช้เป็นค่าภัตตาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ข้าวของเครื่องใช้ สิ่งของจำเป็นต่างๆ ยารักษาโรค และสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายทุกๆ เดือน

วัดพระธรรมกายเลือกใช้โอกาสวันสำคัญทั้งของทางวัด และทางพระพุทธศาสนาด้วยการจัดพิธีทอดผ้าป่านั้นนับเป็นทางออกหนึ่ง เนื่องจากการทอดผ้าป่าทำได้ตลอดทั้งปี และปรับเปลี่ยนเป็นการถ่ายทอดพิธีทางออนไลน์ พร้อมทั้งเปิดรับบริจาคด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีวัด และยังเปิด App รับบริจาคผ่าน Mobile Banking แม้ยอดบริจาคอาจได้ไม่เท่ากับการที่เปิดให้ผู้ศรัทธาเข้าไปทำบุญที่วัด แต่ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งในยามเกิดวิกฤตเช่นนี้




สบช่อง COVID-19 คลี่คลาย

สำหรับการจัดงานทอดผ้าป่าออนไลน์ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชานั้น ถือว่าทางวัดได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นอย่างดี ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนมีตัวเลขต่ำสิบ ทำให้ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการความเข้มงวดลง

รวมถึงการผ่อนคลายในงานวันวิสาขบูชาที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ให้คำแนะนำในการจัดงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเปิดโอกาสให้จัดงานแต่ต้องเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข นั่งห่างกัน 1 เมตร มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

บททดสอบรัฐ-มหาเถระ


งานเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านพ้นไปนั้น ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของความจำเป็นที่วัดต้องการปัจจัยเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในวัด แต่อีกด้านนับเป็นบททดสอบต่อหน่วยงานภาครัฐไปในตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ออกข้อห้ามต่างๆ นั้นสามารถบังคับได้จริงในทุกกรณีหรือไม่ หรือการกระทำดังกล่าวไม่เข้าข่ายฝ่าฝืน ทั้งที่ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่มติของมหาเถรสมาคม ให้วัดทุกวัดงดจัดกิจกรรมทุกประเภท กลายเป็นคำสั่งที่ไร้ค่าไปทันที เมื่อวัดพระธรรมกายเดินหน้าจัดงานเมื่อ 22 เมษายน 2563 และเตรียมที่จัดงานครั้งต่อไปในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้

นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา กล่าวว่า บทลงโทษของมหาเถรสมาคมไม่มีเหมือนกับทางโลก เว้นแต่เป็นเรื่องใหญ่จริงๆ อย่างเรื่องนี้คงพูดคุยกันได้ในหมู่สงฆ์ แต่สิ่งที่วัดพระธรรมกายจัดพิธีทอดผ้าป่านั้นสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่า ทางวัดเองต้องการเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในวัด

“สถานการณ์นี้ทุกวัดก็เดือดร้อนกันทั้งหมด ขึ้นอยู่กับวัดใดจะเดือดร้อนมากหรือน้อย แต่พระวัดอื่นยังบิณฑบาตได้เพียงแต่มีอุปกรณ์ป้องกัน ทำให้ไม่เดือดร้อนในเรื่องอาหาร ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นวัดยังพอจัดการได้”

สำหรับวัดพระธรรมกายนั้น ทางวัดได้มีคำสั่งห้ามพระในวัดบิณฑบาต และงดรับกิจนิมนต์ แน่นอนว่าย่อมมีปัญหาเรื่องภัตตาหาร ทางวัดแจ้งให้ผู้ที่ศรัทธาเพียงแค่บริจาคเป็นเงิน แต่วัดขอเป็นผู้ดูแลเรื่องอาหารเอง อีกทั้งวัดพระธรรมกายเป็นวัดใหญ่มีพระและฆราวาสอยู่ภายในวัดนับพันคน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ จึงสูงมาก ยิ่งเมื่อสภาพคล่องทางการเงินไม่เหมือนเดิม จึงมีปัญหาจนต้องขอรับบริจาคในนามกองทุนบำรุงวัด


ขั้วเก่าทรงพลัง

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า หลังจากที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้มาตรา 44 กับวัดพระธรรมกายเพื่อหาพระธัมมชโยมาดำเนินคดี แต่ไม่พบตัว หลังจากนั้นปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายตามคดีความที่ได้กล่าวโทษไว้


ส่วนมหาเถรสมาคมจากเดิมที่ถูกสังคมจับตามองว่าเอื้อต่อวัดพระธรรมกายมาโดยตลอด แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพระราชาคณะชุดใหม่เข้าไปบริหารงานด้านพระพุทธศาสนา แต่การฝ่าฝืนมติของมหาเถรสมาคมครั้งนี้ ทุกอย่างกลับเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

กรรมการมหาเถรสมาคมชุดนี้แม้ไม่มีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) วัดปากน้ำ แต่โครงสร้างทางอำนาจยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม สายปากน้ำและเครือข่ายยังมีอิทธิพลสูงในมหาเถรสมาคม ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่วัดพระธรรมกายจะแหวกมติมหาเถรสมาคมแล้วทุกอย่างเงียบ ไม่มีคำท้วงติงใดจากทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม

นอกจากนี้ สายการบังคับบัญชาหากไล่ลงไปคือเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ปัจจุบันได้พระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส มาดำรงตำแหน่งแทนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ที่มรณภาพไป

พระพรหมบัณฑิต มาจากอดีตอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเข้ามา ถือว่าอยู่สายเดียวกับฐานอำนาจเดิม ถัดมาเจ้าคณะภาค 1 ดูแลวัดในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ยังเป็นพระเทพสุธี หรือพระมหาสายชล วัดชนะสงคราม ส่วนเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีที่ดูแลวัดพระธรรมกายโดยตรง คือ พระเทพรัตนสุธี หรือพระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์) เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต ทั้งเจ้าคณะภาค 1 และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีนั้น เป็นพระปกครองเดิมที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์ออกหมายจับพระธัมมชโย


ขึ้นตรงเจ้าคณะปทุมฯ

ที่วัดพระธรรมกายเดินหน้าได้ในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีปกป้องดูแลอยู่ อย่างการจัดงานเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ทางผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง กล่าวว่า ได้รับคำตอบจากวัดว่า เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีอนุญาตให้จัดงานได้ และเข้าหลักเกณฑ์ของการป้องกันโรคระบาด

ในวงการสงฆ์ความสัมพันธ์จะเป็นแบบศิษย์กับอาจารย์ ที่มีต่อกันมาตั้งแต่ช่วงบวชเรียน พระธรรมรัตนาภรณ์ ถือเป็นหน้าด่านสำคัญกับวัดพระธรรมกาย

เริ่มที่พระธัมมชโย ถูกออกหมายจับในคดี ฐานสมคบและร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ที่เกิดจากการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จนนำไปสู่การใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่วัดพระธรรมกาย เมื่อค่ำวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 เพื่อนำพระธัมมชโยมาดำเนินคดี เมื่อไม่พบตัว ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อทางมหาเถรสมาคมเพื่อดำเนินการสึกพระธัมมชโย

เรื่องนี้ถูกส่งต่อไปตามสายการปกครองในขณะนั้น คือ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดพิชยญาติ และส่งไม้ต่อไปยังพระเทพรัตนสุธี (ปัจจุบันเป็นพระธรรมรัตนาภรณ์) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่ช่วงมีนาคม 2560 จากนั้นเรื่องสึกพระธัมมชโยเงียบหายไป

จนกระทั่ง 7 ธันวาคม 2560 เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีได้มอบตราตั้งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายให้แก่พระครูสังฆรักษ์รังสฤษฏ์ อิทธิจินตโก ซึ่งเป็นเรื่องของการแต่งตั้งเจ้าอาวาสแทนพระธัมมชโยเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องการสึกพระธัมมชโย


สัมพันธ์แนบแน่น

ความสัมพันธ์ระหว่างวัดพระธรรมกายกับเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี วัดเขียนเขตนั้น มีศิษย์คนสำคัญของวัดพระธรรมกายอย่างนายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย เป็นตัวประสาน โดยเข้าไปเป็นกรรมการเลขานุการชมรมรักษ์บวร รักษ์ศีล 5 ปทุมธานี ในอุปถัมภ์พระธรรมรัตนาภรณ์ ทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างวัดพระธรรมกายกับวัดเขียนเขตมาโดยตลอด

นับเป็นการส่งเสริมผลงานของเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ในการดูแลวัดต่างๆ ภายในจังหวัดปทุมธานี ได้เป็นอย่างดี ทั้งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 หรือเมื่อคราวเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่เมื่อปี 2562 ทางวัดพระธรรมกายที่เดิมเตรียมจัดงานตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ได้ปรับมาให้เป็นงานในนามของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี ที่มีพระพรหมรัตนาภรณ์ เป็นประธาน

จึงเป็นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข้อครหาในหลายเรื่องของวัดพระธรรมกาย จะได้รับความเมตตาจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีเป็นพิเศษ




กำลังโหลดความคิดเห็น