ธรรมกายฝ่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จัดงานทอดผ้าป่าออนไลน์ฉลองวันเกิดพระธัมมชโยครบรอบ 76 ปี ไม่สนมติ “มหาเถรสมาคม” ห้ามทุกวัดจัดกิจกรรมทุกประเภท อ้างสำนักพุทธฯ สาธารณสุข ตรวจแล้ว และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีอนุญาตให้จัด แฉคนในวัดมีมากกว่า 2 พันคน แม้จัดการดีแต่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่กระจาย COVID-19
งานบุญใหญ่ของวัดพระธรรมกายในเดือนเมษายน หากไม่นับพิธีบูชาข้าวพระทุกวันอาทิตย์ต้นเดือนเมื่อ 5 เมษายน 2563 แล้ว งานใหญ่อีกงานคือ งานบุญวันคุ้มครองโลก 22 เมษายน 2563 บังเอิญในช่วงเวลานี้ทั่วโลกต้องเผชิญต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จึงทำให้ทุกภาคส่วนต้องงดหรือเลื่อนกิจกรรมที่จะเป็นการรวมตัวของคนหมู่มากลง เพื่อป้องกันการติดต่อของโรค
ขณะที่รัฐบาลมีมาตรการป้องกันด้วยการออกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน บังคับใช้ตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 ประกอบด้วย
- การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยง ต่อการติดต่อเชื้อโรคโควิด-19
- การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค หนึ่งในนั้นคือ ศาสนสถาน โดยให้พิจารณาสั่งปิดเฉพาะส่วน หรือทั้งหมดและอาจกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาตามความจำเป็นและเหมาะสม ในกรณียังไม่ได้มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ให้เจ้าของ หรือผู้ดูแลสถานที่นั้นจัดให้มีมาตรการคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
- การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด
ธรรมกายกลับลำ-จัดงานทอดผ้าป่า
ดังนั้น งานบุญใหญ่ต้นเดือนปรับเปลี่ยนเป็นงานบุญแบบออนไลน์ มีพิธีบูชาข้าวพระและถ่ายทอดในทางสื่อออนไลน์ของเครือข่ายวัดพระธรรมกาย งดพิธีอัญเชิญสิริปทุมทิพย์ และได้แจ้งว่างานวันคุ้มครองโลก 22 เมษายน 2563 ทางวัดงดจัดพิธีทอดผ้าป่า และงดจัดพิธีฉลองเกาะแก้วเจดีย์สวรรค์
แต่ในช่วงใกล้วันที่ 22 เมษายน 2563 ที่วัดพระธรรมกายเคยแจ้งไว้ว่า งดจัดงานทอดผ้าป่าและงดจัดพิธีฉลองเกาะแก้วเจดีย์สวรรค์ กลับมาแจ้งต่อศิษย์วัดพระธรรมกายว่า
“ขอเชิญร่วมบุญถวายภัตตาหาร เมนูพิเศษแด่พระภิกษุ สามเณร นับพันรูป เนื่องในวันคุ้มครองโลก วันพุธที่ 22 เมษายน 2563” ไม่มีการแจ้งว่าเป็นการทำพิธีแบบออนไลน์ แต่ได้มาปรับเปลี่ยนเป็นออนไลน์ในภายหลัง พร้อมด้วยการแจ้งจัดงานทอดผ้าป่าอีกครั้ง
“วันคุ้มครองโลก 22 เมษายน 2563 ร่วมทอดผ้าป่าบำรุงวัดออนไลน์ ครั้งที่ 1 ขอเชิญร่วมทอดผ้าป่าบำรุงวัด Online ครั้งที่ 1 เนื่องในวันคุ้มครองโลก Earth Day วันพุธที่ 22 เมษายน 2563”
วันเกิดพระดัง-ศิษย์ล้น
เป็นที่ทราบกันดีว่า งานวันคุ้มครองโลก 22 เมษายน 2563 แท้ที่จริงแล้วก็คืองานครบรอบวันเกิดอายุครบ 76 ปี ของพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
ด้วยวิถีปฏิบัติของสังคมไทย งานวันเกิดของพระผู้ใหญ่วัดดังที่คนให้ความเคารพนับถือมาก ถือเป็นวันสำคัญที่ลูกศิษย์จำนวนมากจะต้องเข้าไปกราบพร้อมทั้งถวายเงินร่วมบุญ ไม่ต่างไปจากการไปอวยพรวันเกิดบุคคลหรือผู้ใหญ่ที่เคารพของผู้คนทั่วไปในสังคม
ดังนั้น จึงเป็นที่จับตากันว่าในวันดังกล่าวน่าจะมีลูกศิษย์จำนวนมากเข้าไปร่วมอวยพร ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติจาก COVID-19 และภาครัฐมีข้อห้ามในการรวมตัวกันของคนจำนวนมากด้วยเกรงเรื่องการแพร่ระบาดของโรค
โลกออนไลน์แฉ-วัดอ้าง Fake news
วัดพระธรรมกายนับเป็นวัดใหญ่ มีพระและลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก และมักจัดกิจกรรมทางศาสนาตลอดเวลา วัดแห่งนี้มีสาขาในต่างประเทศจำนวนมาก ทางวัดมีมาตรการในการป้องกันโรค COVID-19 ออกมาอย่างต่อเนื่อง หากจะเรียกว่าเป็นการปิดวัดก็คงไม่ผิด
ขณะที่ในโลกออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ภาพลูกศิษย์ของวัดพระธรรมกายจำนวนมากไปปฏิบัติธรรมในห้องเทวสภาของวัดพระธรรมกาย ซึ่งพระครูสมุห์สนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรของวัดได้ออกมาปฏิเสธเมื่อ 20 เมษายน 2563 ว่า ภาพดังกล่าวนั้นเป็นข่าวปลอม พร้อมอ้างถึงมาตรการของวัดพระธรรมกายที่ออกมาตั้งแต่ 16 มีนาคม 2563 ว่า
1.ประกาศให้พระและอุบาสก อุบาสิกา สมาชิกภายในงดออกนอกวัด
2.งดพระบิณฑบาตหรือรับกิจนิมนต์นอกวัด
3.โซนเทวสภา เป็นพื้นที่ภายในวัด คนภายนอกไม่ได้เข้ามาร่วมแต่อย่างใด
4.การสวดมนต์ ทำวัตร นั่งสมาธิ เป็นกิจของสงฆ์ตามปกติ เป็นศาสนกิจภายใน ไม่มีการชักชวนบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมกิจกรรม
5.ก่อนสมาชิกเข้าสวดมนต์ทำวัตร มีเครื่องเทอร์โมสแกนวัดอุณหภูมิทุกคนคัดกรองก่อนเข้า และแจ้งงดผู้ป่วยมาสวดมนต์
6.มีเจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือไว้บริการ
7.ในการทำกิจกรรมทั้งยืน เดินเวียนประทักษิณ นั่งสวดมนต์ทำสมาธิ ให้มีระยะห่างระหว่างบุคคล 2-3 เมตร
8.ขณะสวดมนต์ให้สวมหน้ากากอนามัยทุกรูป ทุกคน
แฉในวัดมีมากกว่า 2 พันคน
แหล่งข่าวกล่าวว่า ทางวัดพระธรรมกายอาจมีมาตรการในการป้องกัน COVID-19 เป็นอย่างดี มีการจัดที่นั่งให้แก่ผู้มาปฏิบัติธรรมมีระยะห่างกันหรือสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน เป็นเรื่องภายในของวัดที่ต้องการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่มีใครตอบได้ว่าจะสามารถทำได้ตลอดเวลาหรือไม่
ทางวัดได้ชี้แจงว่าโซนเทวสภาเป็นพื้นที่ภายในวัด คนนอกไม่ได้เข้ามาร่วม แต่ต้องไม่ลืมว่าภายในวัดพระธรรมกายนั้นมีคนมากกว่าพันคน และการที่มีสมาชิกในวัดนับพันคนมาร่วมปฏิบัติธรรมนั้น ย่อมมีความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้เช่นเดียวกัน
สิ่งที่ยืนยันได้ว่าในวัดพระธรรมกายมีทั้งพระและฆราวาสที่มาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากนั่นคือ รายงานประจำวันโครงการส่งเสริมการปฏิบัติธรรมสมาชิกเขตใน ทั้งหมดมี 17 สำนัก ตัวเลขเมื่อ 14 เมษายน 2563 มีสมาชิกทั้งสิ้น 2,115 คน โดยในวันดังกล่าวมีสมาชิกมาร่วมปฏิบัติธรรม 1,129 คน ซึ่งแต่ละวันจะมีสมาชิกมาร่วมไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละสำนัก
เจ้าคณะจังหวัดปทุมฯ อนุญาต
ในที่สุดทางวัดพระธรรมกายได้จัดงานทอดผ้าป่าออนไลน์ เนื่องในวันคุ้มครองโลกเมื่อ 22 เมษายน 2563 เท่ากับว่าในปีนี้ทางวัดพระธรรมกายได้จัดงานครบรอบวันเกิดปีที่ 76 ให้แก่พระธัมมชโยได้เหมือนกับปีก่อน แม้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นแบบออนไลน์
แม้ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนปีก่อน แต่การที่จัดงานในวันนี้ได้ ย่อมเป็นการดึงศรัทธาให้ลูกศิษย์เข้ามาบริจาคเงินให้แก่ทางวัด ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่แม้แต่วัดพระธรรมกายเองก็ต้องขอรับบริจาคค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าภัตตาหาร ตลอดทั้งวันมีรายการต่างๆ ทั้งการปฏิบัติธรรม แสดงธรรม รวมจนถึงการสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และในช่วงค่ำทางวัดมีพิธีเวียนประทักษิณรอบองค์พระมหาธรรมกายเจดีย์
โดยพิธีทอดผ้าป่าออนไลน์ ทางวัดอำนวยความสะดวกด้วยการเปิดช่องทางให้ลูกศิษย์ที่ศรัทธาโอนเงินเข้ามาบริจาคที่บัญชีของวัด หรือบริจาคได้ที่วัดพระธรรมกาย
งานวันดังกล่าวทางวัดแจ้งว่า มีพระและฆราวาสมาร่วมงานฝ่ายละ 30 คน/รูป และมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนา เจ้าหน้าที่ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีได้เข้ามาตรวจสอบแล้ว และได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีอนุญาตให้จัดงานได้
ทั้งนี้ นับตั้งแต่พิธีตักบาตรข้าวพระเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ทางวัดพระธรรมกายได้ควบคุมภาพงานกิจกรรมต่างๆ ของทางวัดอย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยภาพที่ทำให้สาธารณชนได้เห็นว่ามีผู้คนจำนวนมากเข้าไปร่วมกิจกรรม ผิดกับทุกครั้งที่ผ่านมา ที่วัดพระธรรมกายมักจะแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของทุกกิจกรรมเพื่อผลทางด้านจิตวิทยาและงานด้านประชาสัมพันธ์
มส.ห้ามทุกวัดจัดกิจกรรม
เป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลงานด้านศาสนาอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แจ้งมติมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่พิเศษ 2/2563 เรื่อง ให้วัดทุกวัดงดจัดกิจกรรมทุกประเภท
โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ พศ 0006/03467 ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 แจ้งว่า ตามที่มหาเถรสมาคมได้มีมติ ครั้งที่ 7/2563 มติที่ 143/2563 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เรื่องมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของวัดนั้น
จึงเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณาให้ความเห็นชอบให้วัดทุกวัดทั่วราชอาณาจักรและวัดไทยในต่างประเทศ งดจัดกิจกรรมที่ประชาชนมาร่วมกลุ่มกันทุกประเภท ยกเว้นการปฏิบัติกิจของสงฆ์ ตั้งแต่ 10 เมษายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะเข้าสู่ภาวะปกติ
จากนั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงเจ้าคณะจังหวัดทุกจังหวัด เมื่อ 10 เมษายน 2563 ให้วัดทุกวัดงดจัดกิจกรรมทุกประเภท ยกเว้นการปฏิบัติกิจของสงฆ์
เมินคำสั่ง มส.
น่าแปลกใจว่าทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้แจ้งมติของมหาเถรสมาคมที่ให้ทุกวัดงดจัดกิจกรรมทุกประเภท ตั้งแต่ 10 เมษายน 2563 แม้จะมีข้อยกเว้นเรื่องการปฏิบัติกิจของสงฆ์ แต่กิจของสงฆ์เป็นแค่เรื่องการลงอุโบสถ บิณฑบาต สวดมนต์ ย่อมไม่ใช่เรื่องของการจัดงานทอดผ้าป่าอย่างที่วัดพระธรรมกายทำ
เมื่อมีการแจ้งคำสั่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ทางวัดพระธรรมกายจัดงาน 22 เมษายน 2563 ย่อมต้องทราบคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากมีการแจ้งไปยังเจ้าคณะจังหวัดทุกแห่ง แต่ทางวัดพระธรรมกายอ้างว่ามีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพระพุทธศาสนาและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าไปตรวจสอบและได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีให้จัดงานได้
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคมต้องไปตรวจสอบว่า เหตุใดวัดพระธรรมกายจึงไม่ปฏิบัติตามมติของมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีก็เป็นที่ทราบกันดีว่า มีความเอื้ออาทรต่อวัดพระธรรมกายมาโดยตลอด ที่วัดพระธรรมกายอ้างว่าเป็นผู้อนุญาตให้จัดงาน
มหาเถรสมาคมถือเป็นองค์กรปกครองสงฆ์สูงสุดของประเทศไทย เมื่อมีคำสั่งออกไปแล้ว แต่วัดภายใต้การบังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตาม แล้วจากนี้ไปคณะสงฆ์จะปกครองกันต่อไปได้อย่างไร