xs
xsm
sm
md
lg

“ธัมมชโย” สั่งธรรมกายกินเจทั้งวัด-ปลูกผักป้อนโรงครัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่แท้ “ใครคนหนึ่ง” มีคำสั่งให้ธรรมกายกินเจทั้งวัด พบข้อความทางไลน์แจ้งคำสั่ง พร้อมบอกบุญปัจจัยซื้อเมล็ดพันธุ์และค่าดูแล ลูกศิษย์รู้ดี "ใครคนหนึ่ง" คือพระธัมมชโย เชื่อกินเจพาวัดผ่านวิกฤต แถมลดต้นทุนเลี้ยง 4,200 ชีวิตในวัด สะท้อนปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย ที่ต้องเชิญชวนบริจาคเข้ากองทุนบำรุงวัด ขณะที่วัดพระธรรมกายออกข่าวสร้างภาพเปลี่ยนแปลงปลูกดอกไม้มาปลูกผัก “ปลูกเอง ฉันเอง ทานเอง” พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด

กิจกรรมของวัดพระธรรมกายล่าสุดได้แจ้งว่าทางวัดได้ปรับเปลี่ยน “ทุ่งสวรรค์ตะวันใส” จากที่เคยใช้ปลูกดอกไม้เพื่อใช้โปรยบนทางเดินให้แก่พระในโครงการธรรมยาตราช่วงต้นปี เปลี่ยนมาเป็นแปลงผักสวนครัวเพื่อใช้ปรุงอาหารภายในวัดพระธรรมกาย


เมื่อ 3 พฤษภาคม 2563 พระมหานพพร ปุญญชโย (ปธ.9) รองผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย กล่าวว่า เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา บริเวณปทุมเจดีย์ หลังวัดพระธรรมกายแห่งนี้จะเป็นแปลงดอกไม้สีชมพูที่ปลูกขึ้น แต่เนื่องจากขณะนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางวัดจึงมีการปรับตัว

โดยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม อุบาสก อุบาสิกา และเจ้าหน้าที่วัดได้ช่วยกันปลูกผัก บนพื้นที่จำนวน 60 ไร่ กว่า 20 ชนิด ประกอบด้วย 1.คะน้า 2.กวางตุ้งไต้หวัน 3.กะหล่ำปลี 4.ตะไคร้ 5.ใบมะกรูด 6.ฟักเขียว 7.ผักกาดขาว 8.ฟักทอง 9.แครอท 10.ข้าวโพดหวาน 11.ต้นหอม 12.ผักชีไทย 13.ขึ้นฉ่าย 14.ผักบุ้งจีน 15.หัวหอมใหญ่ 16.ผักปวยเล้ง 17.ผักโขมจีน 18.ผักโขมป๊อบอาย 19.ใบกะเพรา 20.มะนาวแป้น

ล้วนแล้วแต่เป็นเกษตรอินทรีย์ปลอดจากการใช้สารเคมี และให้สมาชิกภายในวัดตระหนักด้วยว่า ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนเราต้องดูแลตัวเองให้ดี พยายามพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด


เลี้ยง 4,200 ชีวิต

ทางวัดได้นำผักเหล่านี้ไปประกอบอาหารและออกโรงทานทุกวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ที่หอฉันคุณยาย ส่วนวันอาทิตย์ที่สภาธรรมกายสากล โดยทางครัวของวัดใช้ทำกับข้าวถวายพระภิกษุสามเณรภายในวัดจำนวน 2,200 รูป และเลี้ยงอุบาสก อุบาสิกา เจ้าหน้าที่ภายในวัด จำนวน 2,000 คน เป็นการปลูกเอง ฉันเอง ทานเอง รวมถึงออกโรงทานแจกชาวบ้านประชาชนทั่วไป
ใน 1 มื้อทางครัวของวัดต้องใช้ผักถึง 400 กิโลกรัม ผักต่างๆ จะมีวงรอบการเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน ซึ่งได้เก็บเข้าครัวของวัดประกอบอาหารแล้ว 3-4 ครั้ง

ทั้งนี้ ที่บริเวณแปลงผักจะมี คำว่า “สัมมา อะระหัง” เป็นแผ่นผ้าแขวนไว้ เป็นคำบริกรรมภาวนาที่ใช้ในการเจริญภานาที่วัดพระธรรมกายอยู่ก่อนแล้ว สำหรับชาววัดเราได้เจริญภาวนาทุกวัน และมีญาติโยมหลายๆ ท่านที่เป็นเกษตรกรมืออาชีพ ได้บอกไว้ว่า ต้นไม้จะงามได้ต้องคุยกับต้นไม้ พูดกับต้นไม้เพราะๆ ดีๆ จึงนำคำว่า “สัมมา อะระหัง” ที่เป็นคำที่ใช้บริกรรมทุกวัน เป็นคำที่ดีเป็นคำที่สูงอยู่แล้ว ติดไว้ที่แปลงผัก นอกจากจะเตือนใจผู้ปลูกแล้ว ยังสื่อไปถึงต้นไม้พืชผักไปด้วยว่า พืชผักเหล่านี้ได้นำไปเลี้ยงสาธุชน คนมีศีล รวมถึงออกโรงทาน สร้างบารมี จึงใช้คำ “สัมมาอะระหัง” ช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโต

“ใครคนหนึ่ง” สั่ง

นับเป็นเรื่องดีที่ทางวัดพระธรรมกายได้ปรับใช้พื้นที่ของวัดปลูกผักเพื่อนำมาใช้ปรุงอาหารภายในวัด “ปลูกเอง ฉันเอง ทานเอง” ย่อมได้รับเสียงชื่นชมในแนวคิดดังกล่าวของทางวัดเป็นอย่างมาก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19


นั่นเป็นข้อมูลของทางวัด ที่กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกดอกไม้มาปลูกผักเพื่อใช้ภายในวัด แต่ที่มาที่ไปของการปลูกผักในวัดพระธรรมกายนั้น พบว่า มีข้อความทางไลน์ของกลุ่มลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย ที่ไม่เผยแพร่ต่อสาธารณชน แจ้งเป็นการภายในมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 ดังนี้

กราบขออนุญาตหลวงพี่ทุกรูปและขอสวัสดีกัลฯ ทุกท่าน เนื่องจากปัญหาวิกฤตการณ์ Virus โควิดระบาดหนัก ในเวลานี้

ทางวัดพระธรรมกาย มีคำสั่งจาก “ใครคนหนึ่ง” ให้ทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุ-สามเณร เจ้าหน้าที่ในองค์กรสาธุชนที่มาวัด ต้องฉันและทานมังสวิรัติ 100% “ใครคนหนึ่ง” จึงมีคำสั่งมายังท่านพระครูวิเชียร (มะลิแลนด์) ให้ปลูกผักเพื่อเลี้ยงชาววัด (ผัก)

ดังนั้น จึงอยากบอกบุญพิเศษนี้แก่ทุกท่าน ได้มีโอกาสร่วมบุญปัจจัยเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ และค่าใช้จ่ายในการปลูกที่มีมหาศาลได้ในเวลานี้อย่างเร่งด่วน

บุญเท่านั้นเป็นที่พึ่งของเรา อนุโมทนาบุญกับทุกๆ ท่าน


ใครคนหนึ่ง=ธัมมชโย

แหล่งข่าวที่ติดตามสถานการณ์ของวัดพระธรรมกายว่า “ใครคนหนึ่ง” ที่โพสต์กันทางไลน์นั้น ศิษย์วัดพระธรรมกายทราบกันดีว่าหมายถึงใคร เพราะไม่มีใครสั่งการให้ภายในวัดทั้งหมดต้องปฏิบัติตามได้ นอกจากพระธัมมชโยเท่านั้น ส่วนท่านจะหลบหนีไปที่ไหนไม่มีใครทราบ แต่บทบาทและอำนาจในการจัดการในวัดยังคงอยู่

ทราบมาเช่นกันว่า พระธัมมชโยมีคำสั่งให้พระและคนในวัดพระธรรมกายต้องทานมังสวิรัติ 100% เพื่อสร้างบุญบารมีให้วัดผ่านพ้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ ทั้งพระ เณรและอุบาสก อุบาสิกา ต้องทานอาหารเจทุกมื้อ ตอนนี้หลายรายก็เริ่มเบื่อกับอาหารเจภายในวัด

โดยมีประกาศของวัดพระธรรมกายเมื่อ 8 มีนาคม 2563 แจ้งว่า สำหรับญาติโยมที่มีศรัทธาต้องการนำภัตตาหารประเภทกับข้าวมาถวายในช่วงนี้ ทางวัดมีนโยบายให้ร่วมบุญเป็นปัจจัย เพื่อให้ฝ่ายโภชนาการไปดำเนินการเรื่องภัตตาหารแทน
จากการติดตามข้อมูล พบว่า ยังมีศิษย์วัดพระธรรมกายได้เข้าไปถวายภัตตาหารกับพระภิกษุเป็นกลุ่มเล็กๆ อยู่บ้าง

ปิดวัด ห้ามบิณฑบาต

เมื่อวัดพระธรรมกายมีมาตรการป้องกัน COVID-19 เท่ากับเป็นการปิดวัด ตามประกาศเมื่อ 16 มีนาคม 2562 เรื่อง มาตรการจำกัดการเข้า-ออกวัด ช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 กำหนดให้สมาชิกเขตในที่ัพักอาศัยภายในองค์กรให้ปฏิบัติดังนี้ พระภิกษุ-สามเณร งดรับกิจนิมนต์นอกวัดทุกประเภท พระภิกษุ-สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และสมาชิกเขตในอื่นๆ ที่พักอาศัยภายในองค์กร งดออกนอกวัด

เมื่อทางวัดออกประกาศห้ามพระออกรับบิณฑบาต วัดก็ต้องมีการจัดการเรื่องอาหารภายในทั้งหมดให้กับสำหรับพระ-เณรและอุบาสก อุบาสิกา

หลายคนเพิ่งทราบจากตัวเลขพระ-เณรและบุคคลภายในวัดพระธรรมกายมีอยู่เป็นจำนวนมาก ตามที่พระมหานพพร ปุญญชโย (ปธ.9) รองผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร แจ้งออกมาว่า มีพระ-เณร 2,200 รูป อุบาสก-อุบาสิกาอีก 2,000 คน รวมแล้ว 4,200 ชีวิตที่อยู่ภายในวัดนั้น ต้องใช้วัตถุดิบในการปรุงอาหารเป็นจำนวนมาก และอาจไม่สะดวกเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเวลาห้ามเดินทางตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ลดต้นทุน

ก่อนหน้านี้ วัดพระธรรมกายไม่มีนโยบายกินเจ อาหารแต่ละมื้อเป็นไปตามปกติ มีเนื้อสัตว์ใช้ในการประกอบอาหาร หากไม่นับว่านโยบายการกินเจของวัดพระธรรมกายเป็นเรื่องของการสร้างบุญกุศล เพื่อให้วัดผ่านพ้นสถานการณ์โรคระบาดนี้ไปได้ ตามนโยบายของ “ใครคนหนึ่ง” แล้ว

การปลูกผักเพื่อใช้บริโภคภายในวัดด้วยอาหารมังสวิรัติ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีการในการลดค่าใช้จ่ายภายในวัดได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีราคาค่อนข้างสูง แถมผักยังปลูกเองและมีการขอรับบริจาคเงินเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์อีก


รวมไปถึงนโยบายที่แจ้งให้เจ้าภาพที่ต้องการเลี้ยงภัตตาหารในแต่ละมื้อทราบว่า ทางวัดขอรับเป็นปัจจัยแทน ทำให้ทางวัดได้เงินสดเข้าไป ส่วนจะนำไปบริหารจัดการอย่างไร ถือเป็นเรื่องของทางวัด


COVID-19 ทำธรรมกายขาดเงิน

เดิมวัดพระธรรมกายไม่เคยเดือดร้อนเรื่องเงินค่าใช้จ่ายภายในวัด แม้ว่าในช่วงปี 2560 ที่พระธัมมชโยถูกแจ้งข้อหาจนถูกออกหมายจับหลายคดี หรือกระทั่งถูกรัฐบาลใช้มาตรา 44 ควบคุมพื้นที่ แต่ลูกศิษย์ภายนอกก็ยังมีการส่งวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้แก่พระและคนในวัดได้ แม้กระทั่งทางวัดถูกอายัดบัญชีจาก ปปง. ทางวัดก็ไม่มีปัญหาสามารถจัดกิจกรรมต่างๆ มีเงินบริจาคเข้ามาได้ตลอดเวลา


คนในวัดพระธรรมกายเล่าให้ฟังว่า ระบบการเงินภายในวัดเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อพระธัมมชโยไม่สามารถปรากฏตัวได้ทำให้การดึงศรัทธาและเงินบริจาคลดลงไปส่วนหนึ่ง ประกอบกับบัญชีที่ถูกอายัดทำให้ไม่มีทุนสำรองมากนัก อีกทั้งเกรงกันว่าเมื่อรับเงินบริจาคเข้ามาอาจถูกอายัดได้อีกจึงใช้วิธีได้มาแล้วใช้ไป

ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดโรคระบาด COVID-19 กระจายไปทั่วโลก เฉพาะในประเทศไทยมาตรการหยุดยั้งโรคทำให้ผู้คนนับล้านไม่มีรายได้หรือมีรายได้น้อยลง รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ของทางมหาเถรสมาคมที่ออกมาเสริมกับมาตรการรัฐ พร้อมแนะนำให้ประชาชนอยู่ที่บ้านและงดการเดินทางไปในที่ที่คนรวมตัวกันจำนวนมาก ซึ่งวัดก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีคนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะวัดพระธรรมกาย

ส่งผลให้วัดพระธรรมกายต้องยกเลิกจัดโครงการบวชภาคฤดูร้อนทั้งหมด แน่นอนว่าทำให้วัดขาดรายได้ไปมาก หรือพิธีบูชาข้าวพระวันอาทิตย์ต้นเดือน ก็ต้องเปลี่ยนมาจัดแบบออนไลน์ แจ้งบัญชีรับบริจาค แม้จะกล้าที่จะจัดงานวันคุ้มครองโลก หรือครบรอบวันเกิดของพระธัมมชโย 76 ปี เมื่อ 22 เมษายน 2563 แบบออนไลน์ แต่วัดพระธรรมกายก็ไม่กล้าโหมประชาสัมพันธ์เหมือนก่อน เพราะถูกจับตาจากสังคมอยู่ไม่น้อย

ด้วยกำลังทรัพย์ของประชาชนที่ลดลง รวมถึงธุรกิจห้างร้าน เจ้าของกิจการต่างๆ ที่ศรัทธาต่อวัดพระธรรมกายต้องประสบ เงินบริจาคเข้าวัดจึงลดลงไปจากเดิม ทำให้วัดพระธรรมกายที่เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและเคยมีฐานผู้ศรัทธาราว 10 ล้านคน ต้องขอรับบริจาคในรูปกองทุนบำรุงวัด พร้อมข้อความเชิญชวนว่า ห่วงใยวัดให้ร่วมบุญในสถานการณ์พิเศษ COVID-19 เพื่อใช้เป็นค่าภัตตาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ข้าวของเครื่องใช้ สิ่งของที่จำเป็นต่างๆ ยารักษาโรคและสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายทุกๆ เดือน

ทั้งนี้ ทางวัดพระธรรมกายได้จัดเตรียมของขวัญกองทุนบำรุงวัดในสถานการณ์พิเศษ (COVID-19) นั่นคือดวงแก้วสิริมหาสมบัติ (วาระครบรอบ 50 ปี วัดพระธรรมกาย) เพื่อมอบให้แก่ผู้ที่ร่วมบุญในกองทุนบำรุงวัด







กำลังโหลดความคิดเห็น