xs
xsm
sm
md
lg

ทุนไทยจับมือเกาหลีปลูกไผ่ 2 แสนไร่ ใช้เป็นเชื้อเพลิงชิงโรงไฟฟ้าชุมชน 12 จังหวัด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตากลุ่มทุนพลังงานจากเกาหลี จับมือทุนไทย ปลูกไผ่ San Bamboo เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน Energy for All ประเภททั่วไป ขนาด 10 เมกะวัตต์ต่อ 1 โรง ตั้งเป้า 12 จังหวัด รวม 16 โรง เตรียมพื้นที่ปลูกไผ่กว่า 2 แสนไร่ และจะยื่นขอตั้งโรงไฟฟ้าขนาด 30 เมกะวัตต์อีก 3 โรง พร้อมตั้งโรงงานแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงอัดเม็ด ส่งออกไปเกาหลี ชี้โปรเจกต์นี้สำเร็จจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ ขณะที่กลุ่มทุนไทยทั้งในตลาด-นอกตลาดฯ ทุนในพื้นที่ แกนนำชุมชน และกลุ่มผู้มีอำนาจ ร่วมเป็นพันธมิตรผลักดัน!

นโยบายพลังงาน ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักธุรกิจด้านพลังงานและชุมชนต่างๆ อยู่ในขณะนี้ก็คือโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก Energy For All เพื่อให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และจากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เพื่อเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยังจะช่วยสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน และจะมีการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจภายในชุมชนได้อย่างดี

ในหลักการจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed in Tariff หรือ FiT และราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 700 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนกว่า 7 หมื่นล้านบาท

 โดยแบ่งเป็น 2 โครงการ คือ 1. Quick Win ซึ่งเปิดโอกาสให้กับโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว หรือใกล้จะแล้วเสร็จ เข้าร่วมโครงการและมีกำหนดให้จ่ายไฟเข้าระบบภายในปี 2563 และ 2. โครงการทั่วไป ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการทั่วไป กำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564 เป็นต้นไป ซึ่งทั้งสองโครงการจะมีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ต่อ 1 แห่ง 

“รูปแบบในการลงทุนจะเป็นรัฐวิสาหกิจร่วมกับชุมชน หรือเอกชนร่วมกับชุมชน แต่ต้องเข้าสู่บิดดิ้งทั้งหมด ซึ่งจะพิจารณารับซื้อจากโครงการ Quick Win ก่อนเป็นลำดับแรก และคาดว่าจะรับซื้อได้ภายในปี 2563 แต่ต้องไม่เกินแห่งละ 10 เมกะวัตต์ ไม่กำหนดจำนวนโครงการ ใครพร้อมยื่นได้ก่อน เบื้องต้นมีโครงการนำร่องของ กฟผ.รวม 2 พื้นที่ 3 โครงการ คือที่เชียงใหม่และประจวบฯ ไว้ก่อน จึงจะพิจารณารับซื้อจากโครงการทั่วไป

โรงไฟฟ้าชีวมวล
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนทั้ง 2 โครงการรวม 700 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น Quick Win ประมาณ 100 เมกะวัตต์ ที่เหลือ 600 เมกะวัตต์ จะเป็นโครงการทั่วไป ขณะนี้มีกระแสออกมาว่า ใครได้โครงการ Quick Win ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่เดิม แต่ที่ผ่านมายังไม่ส่ามารถเดินเครื่องหรือก่อสร้างได้สำเร็จ ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าฯ เป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

แต่ประเด็นที่น่าสนใจในขณะนี้ คือมีกลุ่มทุนพลังงานจากประเทศเกาหลี ได้ร่วมทุนกับกลุ่มนักธุรกิจในไทย สนใจที่จะตั้งโรงไฟฟ้าในไทยซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากพืชพลังงาน ขนาดประมาณ 30 เมกะวัตต์หลายโรง และโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทโครงการทั่วไปที่กระทรวงพลังงานมีกำหนดตัวเลขไว้ที่ 600 เมกะวัตต์ โดยจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนแบบกระจายไปยังพื้นที่เป้าหมายที่ได้มีการไปสำรวจและมีการเจรจาไว้แล้วหลายจังหวัด

“กลุ่มทุนกลุ่มนี้ ใช้พืชพลังงานที่เป็น 'ไผ่' ชื่อว่า San Bamboo ไม่ได้ใช้หญ้าเนเปียร์ หรือพืชอื่นๆ ที่ใช้กัน เพราะกลุ่มนี้ได้มีการทำวิจัยและทำแปลงทดลองที่เมืองไทยไว้แล้วว่าการใช้ San Bamboo จะได้ผลดีกว่าหญ้าเนเปียร์ หรือพืชอื่นๆ แน่นอน”
จากการวิจัยและทดลอง พบว่าไผ่ชนิดนี้ เนื้อไม้ไผ่มีปริมาณมาก น้ำหนักดี ให้ค่าความร้อนที่สูงกว่าพืชพลังงานอื่นๆ และปลูกไผ่ครั้งแรกจะใช้เวลา 8 เดือน จึงเก็บเกี่ยวได้ แต่เมื่อเข้าปีที่ 2 เป็นต้นไป จะสามารถตัดได้ทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งแต่ละต้นมีอายุ 80-100 ปีขึ้นไป 

“ไผ่นี้ดูแลง่าย ทนน้ำทนฝน เพียงแต่ต้องดูแลเอาใจใส่ช่วงเป็นต้นกล้า ในช่วง 2-3 เดือนแรก จากนั้นก็ปล่อยผ่าน และลงทุนน้อย จริงๆ กลุ่มทุนเกาหลีได้มีการนำไผ่จากบ้านเราไปพัฒนาและทดลองปลูก ซึ่งทำให้รู้ว่าปลูกในเมืองไทยจะให้คุณสมบัติที่ดีกว่า และเขาก็ตั้งชื่อไผ่นี้ว่า San Bamboo เอามาปลูกเป็นแปลงทดลองไว้หลายพื้นที่ทั้งที่ใต้ อีสาน กลาง”

แหล่งข่าวระบุว่า จากผลการศึกษาการปลูกไผ่ San Bamboo จะมีต้นทุนไร่ละ14,000 บาท เมื่อระยะเวลาผ่านไป 8 เดือนจะสามารถตัดขายได้ ซึ่งจะสามารถคืนทุนได้ทันที และจะมีส่วนต่างไร่ละ ประมาณ 2 หมื่นบาท โดยกลุ่มทุนมีแผนจะตั้งโรงงานแปรรูป เพื่อจะส่งออกไผ่ในรูปของเชื้อเพลิงอัดเม็ดไปใช้ที่โรงไฟฟ้าในประเทศเกาหลีด้วย

“กลุ่มทุนเกรงว่าตามแผนที่จะขออนุมัติโรงไฟฟ้าชุมชนที่ภาคตะวันออกทั้งสระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และชลบุรี อาจจะไม่ได้ทั้ง 4 แห่ง ก็มีการเตรียมแก้สถานการณ์ที่มีการปลูกไผ่ทั้ง 4 จังหวัด เข้าโรงงานแปรรูปอัดเม็ดส่งออกที่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อไปใช้ที่เกาหลีแทน”

จากซ้าย: หญ้าเนเปียร์ -   San Bamboo

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
อย่างไรก็ดี กลุ่มทุนกลุ่มนี้ได้กำหนดแผนตั้งโรงงานแปรรูปไว้หลายแห่ง เพื่อต้องการทำให้ครบวงจร เนื่องเพราะเมื่อมีการปลูกไผ่เป็นพืชพลังงานแล้ว ก็ต้องมีเครื่องสับไผ่เป็นท่อนๆ เครื่องสับตัวละประมาณ 1,900,000 บาท จากนั้นนำเข้าเครื่องบดเป็นผง แล้วก็ต้องนำไผ่ที่บดไปอัดเม็ด เครื่องตัวนี้เกือบ 4 ล้านบาท ดังนั้นโรงงานแปรรูปแต่ละแห่งจะมีต้นทุนประมาณ 6 ล้าน ไม่รวมค่าที่ดินที่ต้องใช้ประมาณ 10 ไร่

แต่โครงการนี้จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินลงทุนแล้วสามารถดำเนินการได้ทันที ทุกอย่างต้องเดินตามเงื่อนไขที่กระทรวงพลังงานประกาศไว้ โดยเฉพาะในเรื่องของสัดส่วนการลงทุนจะประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนกับเอกชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์จากโครงการจริงๆ และการจะหาพื้นที่ปลูกพืชพลังงานก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะในการผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ ต้องใช้พืชที่ปลูกพืชพลังงาน 800-1,000 ไร่ ถ้าทำ 10 เมกะวัตต์ต้องใช้พืชที่ปลูกประมาณ 10,000 ไร่

ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้นักธุรกิจที่ต้องการทำโรงไฟฟ้าชุมชนไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ก็คือ จะรวบรวมหรือหาที่ดินเป็นจำนวนหลายพันไร่ได้จากที่ไหนในการปลูกพืชพลังงาน แต่สำหรับทุนกลุ่มนี้ เตรียมพร้อมเรื่องที่ดินปลูกไผ่ไว้แล้ว! ในหลายจังหวัด

“ตัวเลขที่เป็นมาตรฐานของกลุ่มทุนเกาหลี ก็คือ 10 เมกะวัตต์จะต้องใช้พื้นที่ปลูกไผ่ 12,000 ไร่ และใช้งบลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้รวมค่าพื้นที่ในการปลูกพืชพลังงาน”


อย่างไรก็ดี ในเรื่องของการเตรียมพื้นที่ปลูก San Bamboo นั้นได้มีการเตรียมการและประสานกับชุมชนที่จะเข้ามาร่วมกับโครงการนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว และในแต่ละแห่งจะมีโรงงานแปรรูปไว้พร้อม ซึ่งตามแผนการลงทุน จะมีที่จังหวัดนครราชสีมา 2 โรง, ชัยภูมิ 2 โรง, ขอนแก่น 2 โรง, สกลนคร 2 โรง, กำแพงเพชร 1 โรง, สุพรรณบุรี 1 โรง, ราชบุรี 1 โรง, จังหวัดกาญจนบุรี 1 โรง ส่วนที่ภาคตะวันออกจะมีที่ จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี

“เราเชื่อว่าการปลูกไผ่เพื่อทำเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนให้กับกลุ่มรากหญ้าที่เข้าร่วมโครงการได้แน่นอน ตรงนี้จะเป็นแผนงานที่กลุ่มทุนจะเสนอรัฐมนตรีพลังงานได้รับรู้ และจะชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรในพื้นที่จะมีรายได้มั่นคงเพราะไผ่ชนิด San Bamboo นอกจากจะให้พลังงานสูงมากกว่าไผ่ประเภทอื่นๆ แล้วยังมีอายุยืนยาวกว่า“

แหล่งข่าวบอกอีกว่า การจะทำโครงการไผ่พลังงานให้เกิดขึ้นได้จริง ต้องมีการแบ่งหน้าที่และภารกิจการทำงานออกไปหลายส่วน ทั้งเรื่องของการประสานฝ่ายการเมือง ส่วนราชการ ประชาชนในพื้นที่ให้เข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงกลุ่มทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว ก็ต้องมีการจัดสรรทุกอย่างให้ชัดเจนและต้องไม่ให้เกิดการประท้วงของมวลชน เพราะถ้ามีการประท้วงเกิดขึ้นจากการที่มีกลุ่มทุนเก่าหนุนหลัง ก็จะทำให้โครงการสะดุดได้เช่นกัน

'ทุกอย่างต้องเดินอย่างมีขั้นมีตอน ตอนนี้เราก็มีทั้งกลุ่มทุนเกาหลี กลุ่มทุนไทยทั้งในตลาดและนอกตลาด ร่วมทั้งพันธมิตรจากพื้นที่เข้าร่วมเจรจาแล้ว และอีกไม่นานก็จะมีการเปิดตัวได้”

ปัจจุบันทุนกลุ่มนี้ต้องรอกระทรวงพลังงานประกาศหลักเกณฑ์ของโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภททั่วไปในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ แต่ก็ได้มีการเคลื่อนไหวไว้แล้วว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ได้รับอนุมัตเป็นผู้ประกอบการผลิตในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 600 เมกะวัตต์ เพราะเป้าหมายของทุนกลุ่มนี้ต้องการผลักดันให้ไผ่ San Bamboo ถูกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของรากหญ้าให้มีงานทำ มีความกินดี อยู่ดี และมีความมั่นคงต่อไป

ทั้งหมดนี้คือแผนการลงทุนที่กลุ่มทุนดังกล่าวได้มีการนำเสนอต่อผู้มีอำนาจในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้แล้ว !?



กำลังโหลดความคิดเห็น