ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ภาคเอกชนรับลูกนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนหนุนความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก พร้อมประเดิมให้พิจารณาอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนที่ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ใช้วัตถุดิบจากหญ้าเนเปียร์ ตอซังข้าวโพดจากเกษตรกรในท้องถิ่น เผยจากเดิมขายข้าวโพด 1 ไร่ได้ไม่ถึงหมื่น/ปี แต่หากปลูกหญ้าส่งโรงไฟฟ้าได้ถึง 3 หมื่น/ปี
“โรงไฟฟ้าชุมชน” เป็นอีกนโยบายด้านพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ความสำคัญและพยายามจะเร่งผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมและก่อเกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นให้มากที่สุด เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงยั่งยืน โดยชุมชนที่มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่มีส่วนแบ่งรายได้กลับสู่ชุมชนผ่านทางกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งชุมชนจะเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนการทำธุรกิจผลิตและขายไฟฟ้าร่วมกับองค์กรของรัฐ และผู้ประกอบการผ่านทางวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจชุมชนเองจะร่วมกันจัดหาหรือผลิตเชื้อเพลิงส่งขายให้โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อใช้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า
การเดินทางลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่นของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงานเมื่อบ่ายวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อมอบนโยบายการพลังงานชุมชน ได้มีการรายงานข้อมูลแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนจากพลังงานจังหวัดในกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ (จ.ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และ มหาสารคาม)
ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมยังได้เปิดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนโครงการจากภาคเอกชนที่สนใจร่วมทำธุรกิจโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งจากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า ผู้ประกอบการธุรกิจปาล์มน้ำมันไบโอดีเซล ฯลฯ ในเขตพื้นที่อีกด้วย
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ขนาด 700 เมกะวัตต์ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ต้องการที่จะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด เพราะมั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน เมื่อเศรษฐกิจชุมชนมั่นคง เศรษฐกิจของชาติก็จะเติบโตแข็งแกร่ง ล่าสุดคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเตรียมประชุมพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์คัดเลือกโครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดยื่นเสนอโครงการในรูปแบบเร่งรัด หรือกลุ่ม Quick win ขนาด 100 เมกะวัตต์ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้
จากนั้นจะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ได้ภายในเดือนมีนาคม และคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ได้ภายในปี 2563 หลังจากนั้นก็จะถึงคิวในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบทั่วไป หรือกลุ่มสร้างใหม่จะเปิดให้ยื่นเสนอโครงการได้ภายในครึ่งแรกของปี 2563 จำนวน 600 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม โจทย์หลักสำคัญที่สุด คือ โรงไฟฟ้าชุมชนต้องเกิดประโยชน์แก่ประชาชนฐานรากในชุมชนไม่น้อยกว่า 60% สร้างเศรษฐกิจระดับล่างให้เข้มแข็ง ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถขายวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรต่างๆ ทั้งฟางข้าว ตอซังข้าวโพด ฯลฯ ให้โรงไฟฟ้าชุมชนเป็นรายได้ ทั้งยังช่วยลดหรือเลิกเผาตอซัง ใบอ้อยไปโดยปริยายเพราะนำไปขายเป็นรายได้แทน ท้ายสุดปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ก็หายไปด้วย
“การอนุมัติจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาร่วมกับตัวแทนของคนในชุมชน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานที่โปร่งใสและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกกระบวนการ หากมีเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องเรียกรับผลประโยชน์จากโครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะลงโทษสถานหนัก ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนต้องร่วมเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสด้วย” นายสนธิรัตน์กล่าวย้ำ
นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หนึ่งในตัวแทนผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า กล่าวว่า บริษัทยูเอซีมีโครงการทำโรงไฟฟ้าที่ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ดำเนินการก่อสร้างโรงงานเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงเตรียมการในเรื่องของชุมชน ทั้งจัดเตรียมวัตถุดิบ โดยเฉพาะผลผลิตของเกษตรกรในท้องถิ่นที่จะนำมาขายให้กับโรงไฟฟ้า เราเตรียมพร้อมทุกด้านที่จะเข้าร่วมโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนที่ อ.ภูผาม่าน
ทางบริษัทยูเอซีพร้อมเสนอโครงการให้กระทรวงพลังงานพิจารณา เรามีประสบการณ์มีความชำนาญด้านนี้อยู่แล้ว คือโรงไฟฟ้าที่มีลักษณะคล้ายกันอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้ามา 3-4 ปีแล้ว โดยใช้วัตถุดิบหลักคือหญ้าเนเปียร์กับข้าวโพด เป็นตอซังข้าวโพดที่รับซื้อจากชาวบ้าน เหมือนกับที่ท่านรัฐมนตรีพูดถึงว่าวัตถุดิบต้องเป็นวัสดุเหลือใช้จากผลผลิตทางการเกษตร และยอมรับว่าการรับซื้อวัสดุเหลือใช้จำพวกนี้ช่วยลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ จ.เชียงใหม่ได้มากเช่นกัน
นายกิตติบอกอีกว่า แต่ละปีโรงไฟฟ้าที่เชียงใหม่ใช้ตอซังข้าวโพดประมาณ 10,000 ตัน หรือประมาณ 100 ตันต่อวัน ดังนั้น โครงการโรงไฟฟ้าที่ อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เราจึงเตรียมทุกอย่างให้พร้อม และพร้อมนำเสนอให้ทางกระทรวงพลังงานพิจารณา ในฐานะผู้ประกอบการ เราพร้อมที่จะเดินเครื่องได้ทันทีที่ได้รับการอนุมัติ อุปกรณ์ติดตั้งเรียบร้อยหมดแล้ว
“เรามีโมเดลในเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนอยู่แล้วกรณีที่จังหวัดเชียงใหม่ โรงไฟฟ้าชุมชนชนของเรานั้นผลผลิตส่วนหนึ่งที่ออกมาจากโรงงานคือสารปรับปรุงดินหรือปุ๋ยชีวภาพเราก็นำคืนไปสู่ชุมชนด้วยการให้เขาเอาไปใช้ในบำรุงพืชผักที่เพาะปลูก เป็นการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกรในชุมชน” นายกิตติกล่าว
ด้านนายปรัชญา ทองแท่งไทย นายก อบต.วังสวาป อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น กล่าวเสริมว่า พื้นที่ อ.ภูผาม่าน เป็นพื้นที่แห้งแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ ทั้งมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตนเคยลงพื้นที่ไปคุยกับเกษตรกรแล้วว่าจะมีรายได้มากกว่าเดิม 2-3 เท่าจากที่เขาเคยปลูก จากเดิม 1 ไร่จะมีรายได้ไม่เกิน 10,000 หมื่นบาท เมื่อเข้าร่วมกับโรงไฟฟ้าชุมชน โดยปลูกหญ้าเนเปียร์ส่งขายให้โรงงานจะมีรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งได้ทดลองปลูกมา 3 ปีแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการซื้อขายจริงเพราะว่าโรงไฟฟ้ายังไม่ได้เปิดเป็นทางการ ขณะนี้รอเพียงความชัดเจนจากกระทรวงพลังงานเท่านั้น